|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ช่องทางการค้าปลีกที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อแบบขยายเครือข่ายเป็นลูกโซ่ผ่านการให้แฟรนไชส์อย่างร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นประสบความสำเร็จจนมีเครือข่ายการจำหน่ายขยายออกไปกว่า 36,842 แห่งทั่วโลก กระจายใน 18 ประเทศ แซงหน้าร้านอาหารฟาสต์ฟูดอย่างแมคโดนัลด์ประมาณ 1,000 ร้านค้า
ปัจจุบันเครือข่ายแฟรนไชส์และการกระจายแบบลูกโซ่ของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นที่ใหญ่ที่สุดคือในญี่ปุ่น สหรัฐฯ แคนาดา ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และไทย เรียงตามลำดับ
ในบรรดาสินค้าที่เป็นของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเอง มีอยู่ด้วยกันหลายอย่างรวมทั้ง สเลอร์ปี้ บิ๊ก กัลป์ ที่เริ่มเปิดตัวเมื่อปี 1980
ความสามารถทางการตลาดจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ทำให้ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นได้รับการจัดอันดับ หนึ่งในรายชื่อกิจการผู้ประกอบธุรกิจด้านแฟรนไชส์ใหญ่สุด 500 อันดับของโลก และยังอยู่ในอันดับ 38 ของกิจการแฟรนไชส์ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด และครองอันดับ 2 ของกิจการแฟรนไชส์ที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำที่สุดของโลก และเมื่อปีที่แล้ว ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นได้รับการจัดอันดับที่ 1 ของกิจการแฟรนไชส์ในสถานีรถไฟใต้ดิน และยังครองอันดับ 1 มากว่า 15 ปีติดต่อกันแล้ว
ในขณะนี้ ผู้บริหารร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในดัลลาส สหรัฐอเมริกา กำลังทดสอบตลาดเพื่อเตรียมขยายการตลาดแบบโมบายมาร์เกตติ้ง (mobile marketing) เป็นช่องทางการตลาดค้าปลีกอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ
การทดสอบเพื่อประเมินผลตอบรับต่อต้นแบบโมบายมาร์เกตติ้งของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นครอบคลุมร้านค้าใน 200 `แห่ง ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีนี้
แคมเปญที่ใช้ทดสอบเป็นการกำหนดให้ลูกค้าส่งข้อความทางเท็กส์ เมสเซจ คำว่า FAST หรือ RAPIDO ซึ่งเป็นภาษาสเปนของคำว่า FAST นั่นเอง ไปที่หมายเลข 72579 และหลังจากนั้นจะได้รับข้อความตอบกลับว่าลูกค้ารายนั้นๆ ได้รับคูปองที่จะไปรับบริการเครื่องดื่มฟรีที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น โดยโปรโมชั่นนี้จำกัดจำนวนเครื่องดื่มไว้ว่าจะได้เครื่องดื่มฟรีเพียงวันนี้ 1 แก้วต่อคนเท่านั้น
จากการรวบรวมผลการตอบรับของช่องทางใหม่ว่าลูกค้าสะดวกและยินดีใช้โมบายเป็นช่องทางการให้บริการหรือไม่ พบว่า เครื่องดื่มยอดนิยมที่ลูกค้าโปรดปรานสูงสุด 4 ประเภทคือ น้ำอัดลมแบบสเลอร์ปี้ เครื่องดื่มของบิ๊ก กัลป์แก้วใหญ่ กาแฟร้อนชนิดปรุงสด และไอซ์ คอฟฟี่
ก่อนหน้านี้ มีผลการศึกษาชี้ว่าในสหรัฐฯ นั้น จำนวนการส่งข้อความเท็กซ์ผ่านทาง SMS ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากกว่า voice call แล้ว โดยปริมาณการรับและส่งเท็กซ์ทางมือถือแต่ละเดือนอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 357 ครั้ง เทียบกับปริมาณการรับและโทร.ออกทางโทรศัพท์ที่เป็นการสนทนาตามปรกติอยู่ที่ระดับ 204 ครั้งต่อเดือน
ดังนั้น การปรับกลยุทธ์ช่องทางการส่งเสริมการตลาดและการจำหน่ายของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นสู่ตลาดโมบาย มาร์เกตติ้งนี้ นอกจากข้อมูลสนับสนุนจากผลการสำรวจดังกล่าวแล้ว น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ ประการแรก เป็นการทดสอบเพื่อทำให้แน่ใจว่าลูกค้ามีความสะดวก เต็มใจ และไม่รู้สึกว่ายุ่งยาก หรือว่าน่ารำคาญ หากจะมีการสั่งซื้อสินค้าทางช่องทางโมบายนี้ เพราะหากลูกค้าส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่สะดวกแล้ว ร้านก็คงไม่สามารถขยายช่องทางการตลาดแบบนี้ในระยะยาวได้
ประการที่สอง โมบายมาร์เกตติ้ง เป็นช่องทางการตลาดเพิ่มเติมของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม generation Y หรือ millennial generation ที่มีพฤติกรรมซึ่งไม่นิยมออกไปไหนโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ
กระบวนการสำคัญที่สุดของการดำเนินกิจกรรมการทดสอบตลาดครั้งนี้คือ เมื่อลูกค้าที่เข้าสู่การส่งข้อความได้รับการตอบรับว่าได้รับเครื่องดื่มฟรีที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น มีลูกค้ากี่รายที่ไปที่ร้านและแสดงข้อความที่ส่งผ่าน SMS ที่แสดงหน้าจอเป็น UPC Bar Code เพื่อที่จะสามารถสแกนได้ ณ จุดขาย และการทำงานด้วยระบบนี้สะดวกและเวิร์กแค่ไหน
การทำงานของการใช้ประโยชน์จากเท็กซ์ที่ฝากข้อความไว้บน SMS ของลูกค้าเพื่อสามารถนำไปรับเครื่องดื่มฟรีได้ ใช้ได้ทั้งกรณีที่ลูกค้าเข้าใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตและไม่เข้าสู่ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยพนักงานเก็บเงินหรือพนักงานในร้านจะสามารถเลือกโปรแกรมที่ดูรหัสที่เป็นโค้ดตัวเลขเพื่อทำการบันทึกรายการว่า การให้เครื่องดื่มฟรีนั้นๆ เป็นการส่งข้อความตอบรับรายการใดของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นได้เหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นการแก้ไขปัญหาในด้านของลูกค้าได้อย่างหนึ่ง
การทดสอบการทำงานของเท็กซ์ที่ฝากข้อความไว้ และการตอบรับของลูกค้าครั้งนี้ หากออกมาในทางบวกก็หมายความว่า 1.ลูกค้าเป้าหมายมีความเต็มใจที่จะทำการรับ-ส่งข้อความผ่าน SMS บนโทรศัพท์มือถือของตน เป็นช่องทางใหม่กับร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นอีกหลายๆ ครั้งในอนาคต โดยไม่เกิดความรำคาญหรือยุ่งยาก 2.ลูกค้าก็น่าจะสนใจเปิดรับข้อความที่เป็นข่าวสารที่ส่งไปจากร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเป็นครั้งคราว เพื่อแจ้งโปรแกรมโปรโมชั่นพิเศษ และข้อเสนอพิเศษสำหรับสมาชิก และ 3.กรณีที่ลูกค้าเป้าหมายสนใจแคมเปญหรือโปรโมชั่นใดๆ ก็จะเกิดการเข้าร่วมการพิมพ์ข้อความเช่นคำว่า YES และส่งกลับไปยังร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเพื่อร่วมกิจกรรมในลำดับต่อ ๆ ไป
จะเห็นว่า ความพยายามในการทำตลาดผ่านช่องทางโมบายของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นนี้ เป็นการสร้างกิจกรรมในการสื่อสารและการติดต่อกับลูกค้าเป้าหมายในลักษณะที่มีการโต้ตอบกันไป-มา ผ่านอุปกรณ์โมบายและเครือข่ายไร้สาย ซึ่งในกรณีของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเลือกที่จะใช้การดำเนินกิจกรรมผ่าน SMS นั่นเอง
ที่จริง การตลาดบนระบบโมบายได้เริ่มเข้าสู่ความนิยมมาตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของ SMS เมื่อต้นทศวรรษ 2000 โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรปและบางส่วนของภูมิภาคเอเชีย จากการที่ผู้ประกอบการเริ่มทำการรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ และส่งข้อความทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ไปหาลูกค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวัน
ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ SMS กลายเป็นช่องทางการโฆษณาในหลายภูมิภาคของโลกอย่างจริงๆ จังๆ และเริ่มมีการกำหนดขอบเขตความเป็นส่วนตัวที่พึงปฏิบัติของบรรดานักการตลาดทั้งหลายในการโฆษณาบนโมบายเหล่านี้ เมื่อปรากฏพฤติกรรมของการขายข้อมูลลูกค้าที่เป็นสมาชิกผ่านไปสู่บุคคลที่สาม โดยที่เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือไม่รู้ตัวหรือไม่ได้อนุญาตก่อน
เฉพาะในยุโรป มีการส่งข้อความที่เป็นงานการตลาดบน SMS เฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านครั้งในแต่ละเดือน และมีแนวโน้มว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ด้วย จนเป็นที่รำคาญของเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ต้องลบรายการข้อความขยะเหล่านี้ทุกวัน
กระนั้นก็ตาม การทดสอบของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นถือว่าเป็นขั้นตอนทางการตลาดที่มีความสำคัญมากที่ควรจะเป็นแบบอย่างของนักการตลาดทั้งหลาย หากไม่ต้องการให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของตนและของแบรนด์ออกมาในทางลบแทนที่จะเป็นบวก จนถึงขั้นที่ลูกค้าไม่ยอมรับฟังข้อมูลข่าวสารของแบรนด์นี้อีกต่อไป
|
|
|
|
|