|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

เมื่อลมหนาวเริ่มพัดสัมผัสกาย ยิ่งทำจิตใจหวนคำนึงถึงความทรงจำ บรรยากาศที่ไม่จำเป็นต้องค้นหา นั่นหมายถึงดินแดนแห่งมนตร์เสน่ห์ของเมืองเหนือ เมืองแห่งอารยธรรมล้านนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะเชียงใหม่เท่านั้น
ด้วยความผูกพันในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ งดงาม ความน่ารัก อัธยาศัยไมตรีที่น่าชื่นชมของเหล่าผู้คนพื้นถิ่น ที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย
เมื่อลมหนาวเริ่มพัดสัมผัสกาย ยิ่งทำจิตใจหวนคำนึงถึงความทรงจำ บรรยากาศที่ไม่จำเป็นต้องค้นหา นั่นหมายถึงดินแดน แห่งมนตร์เสน่ห์ของเมืองเหนือ เมืองแห่งอารยธรรมล้านนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะเชียงใหม่เท่านั้น จังหวัดรอบข้างแถบถิ่นนี้ เป็นดินแดนที่น่าสืบเสาะความเป็นมาด้วยกันแทบทั้งสิ้น
"ลำปาง" ดินแดนที่กำลังจะไปสัมผัสนี้ เป็นที่คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่โดดเด่น สถาปัตยกรรม วัดวาอารามที่เก่าแก่และ สวยงาม
พาหนะที่ใช้กันมาแต่ในอดีตและคู่เมืองมา คือรถม้า สัตว์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง "ช้าง" ซึ่งใช้ลากจูงเหล่าไม้ซุงที่บรรพบุรุษของเมืองนี้ยึดถือทำกันมาหลายชั่วอายุคน คือการทำไม้
แหล่งดินขาวธรรมชาติที่ลำปางมีมากที่แจ้ห่ม มีคุณสมบัติ ชั้นเยี่ยมในการทำเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก ที่มีชื่อกระฉ่อน
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่บริสุทธิ์สวยงามในหลายรูปแบบ มวลหมู่บุปผาชาติหลากสีสัน สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายให้เหล่านักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเยือนอย่างไม่ขาดสาย
กาญจนา ประชาพิพัฒ เลขาธิการเครือข่ายชมรมคนรักษ์ สิ่งแวดล้อม กรรมการสภาวัฒนธรรมลำปาง โดยเฉพาะการเป็นกรรมการกลุ่มลูกหลานเจ้านายฝ่ายเหนือ สืบสกุล "เจ้าเจ็ดตน" ได้เล่าโดยค้นคว้าจากตำราและได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมาว่า
เขลางค์นคร "นครลำปาง" สร้างเมื่อปี พ.ศ.1223 โดยพระสุพรหมฤาษีและนายพราน
เขลางค์นครในสมัยพระนางจามเทวีแห่งอาณาจักรหริภุญไชย ได้อัญเชิญเจ้าอินทวร หรือเจ้าอนันตยศกุมาร พระโอรสมา ปกครอง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์มงคลบุตรหรือชาวมอญ ได้ปกครองเขลางค์นครจนถึงสมัยพระเจ้าอาทิตยราช พุทธศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ผู้ครองเขลางค์นครเป็นเชื้อสายของขุนเจืองหรือลาวเจือง
พ.ศ.1725 "ไทยอำมาตย์" ผู้นำชาวไทยจากเขลางค์นครยึดครองนครหริภุญไชย
พ.ศ.1824 พญามังรายแห่งวงศ์ลวจักราชยึดนครหริภุญไชย รวมเข้ากับแคว้นโยนก เป็น "อาณาจักรล้านนา" และได้แต่งตั้งพระญาคราม พระโอรส "ขุนไชยเสนา" เป็นผู้ครอง "เขลางค์นคร" โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเชียงใหม่
พ.ศ.2101 พม่ายึดอาณาจักรล้านนาได้ ซึ่งในยุคนี้เรียก เขลางนครว่า "นคร" หรือ "ละกอน" แต่ยังคงให้อำนาจกษัตริย์เชียงใหม่แต่งตั้งหัวเมืองต่างๆ
พ.ศ.2207 พม่าส่งขุนนางมาปกครองล้านนาโดยตรง ในระยะนี้ชาวล้านนาดิ้นรนต่อต้านอำนาจพม่าแตกแยกเป็นกลุ่มแย่งชิงอำนาจกัน
ช่วงเวลานี้ได้บังเกิดวีรบุรุษขึ้นในเมือง "นคร" คือ "หนานทิพช้าง" มีบทบาทสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองและสร้างความเป็น ปึกแผ่นให้เกิดแก่อาณาจักรล้านนา เจ้าพญาสุลวะฤาไชยสงคราม ปฐมบูรพขัติยราชทิพจักราธิวงศ์ มีนามเดิมว่า "ทิพจักร" หรือหนานทิพช้าง ย่อมาจากขนานทิพช้าง ซึ่งหมายถึงผู้ผ่านการลงแพ ขนานเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุตามคตินิยมของพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ โดยใช้น้ำในแม่น้ำเป็นพัทธสีมา หรือนทีสีมา ถือกำเนิด ณ บ้านปงยางดก นครลำปาง เมื่อ พ.ศ.2217 เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด เข้มแข็งอดทน สามารถขับไล่ช้างที่มารบกวนพืชผลของชาวบ้าน จึงขนานนามว่า "หนานทิพ ช้าง" ด้วยเหตุนี้
พ.ศ.2275 พม่าส่งท้าวมหายศเป็นแม่ทัพจากลำพูน ยกทัพ มาปราบนครลำปางซึ่งขาดเจ้าผู้ครองเมือง
ครูบาเจ้าญานสมุทร วัดพระแก้วดอนเต้า (วัดพระแก้วชมพู) ยกให้ "หนานติ๊บจ๋าง" (หนานทิพช้าง) เป็นหัวหน้าขับไล่กองทัพเมืองลำพูนไปได้สำเร็จ วีรกรรมนี้พี่น้องชาวประชาจึงมีฉันทามติสถาปนา "เจ้าพ่อหนานติ๊บจ๊าง" เป็นผู้ครองนครลำปาง มีพระนาม ที่กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาตั้งคือ "เจ้าพญาสุลวะลือไขยสงคราม" และด้วยความชาญฉลาด เพื่อให้เกิดความสันติสุขในดินแดนแถบนี้ ได้มีไมตรีกับเจ้าอาลองพระยา กษัตริย์พม่าได้ขนานนามเพิ่มว่า "พญาไชยสงคราม" ด้วยการเป็นผู้นำที่มีบุญบารมี ความสามารถ จึงเป็นที่ยำเกรงของดินแดนข้างเคียง
ภายหลัง "เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว" ราชบุตร เป็นผู้ครองนคร สืบมา อันเป็นกำลังสำคัญของไทยฝ่ายเหนือในการกอบกู้บ้านเมือง ให้พ้นจากอำนาจพม่า ซึ่งเป็นต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน คือ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ และเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนและสายสกุลต่างๆ ที่แตกแขนงออกไปอีกมากในดินแดนล้านนา
ลำปางนั้นหมายถึงไม้ป้าง ตำนานเล่าว่าเป็นไม้ข้าวหลาม ที่ลัวะอ้ายกอนใช้หาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าว มะตูม มาถวายพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จมาบริเวณนี้ ก่อนจะปักไม้เอาทางปลายลง เกิดเป็นต้นขะจาว ที่เห็นอยู่ข้างวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง
ต้นขะจาวนี้มีลักษณะผิดแผกจากไม้อื่นด้วยกิ่งด้านบนชี้ลงดิน เป็นไม้มงคลของจังหวัดลำปางที่มีอายุกว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของนครลำปางมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว จากการที่ค้นพบภาพเขียนสี โครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนชิ้นส่วนของภาชนะดินเผาในสมัยหริภุญไชยและชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพง
ในอดีตลำปางมีชื่อเรียกกันอยู่หลายชื่อ ศรีนครชัย ลัมภกับปะนคร เขลางค์นคร และนครลำปาง (กุกกุฏนคร)
เขลางค์นครปรากฏอยู่ในตำนานตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นคำภาษาบาลี
คำว่า ละคร หรือเวียงละกอน
ยังมีตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จออกโปรด สัตว์มาถึง ณ เมืองนี้ พระอินทร์ได้ทราบ เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญใส่บาตร จึงแปลงเป็นไก่สีขาวขันปลุกชาวเมืองให้ตื่น จึงได้ชื่อว่าเมืองไก่ขาว "กุกกุฏนคร" ไก่ขาวจึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เราพบเห็นตามป้ายชื่อถนนบนสะพาน แม้แต่ชามตราไก่ที่ขึ้นชื่อของชาวลำปาง
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดลำปาง เป็นเมืองในหุบเขารูปแอ่งกระทะล้อมด้วยเทือกเขาที่สูงชันนั้นเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดการทับถมของตะกอนดินซากพืชซากสัตว์จนเป็นพื้นดินที่ราบ แหล่งน้ำมัน ถ่านหินลิกไนต์ บริเวณที่ราบภูเขาสูงและที่ราบริม ฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่ราบดินตกตะกอนเก่า
พื้นถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำวังเป็นแม่น้ำสายหลัก จึงเป็นแหล่งเกษตรกรรม มีบางส่วนเป็น ที่ราบสูงและภูเขาสลับซับซ้อนปกคลุมด้วยผืนป่าจึงเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ
สำหรับการเดินทางไปจังหวัดลำปางสะดวกด้วยประการทั้งปวง ถ้าเดิน ทางด้วยรถยนต์จะใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง ด้วยระยะทาง 635 กิโลเมตร
หากเร่งรีบจะต้องขึ้นเครื่องบินไปลงเชียงใหม่ ซึ่งมีหลายสายการบินไว้บริการ มีแท็กซี่จากสนามบินเชียงใหม่ วิ่งตรงถึงที่หมายในตัวจังหวัดลำปาง สนนราคา 600 บาท หรือถ้าต้องการป้องกันกระเป๋าแฟบก็ขึ้นรถประจำทางวิ่งระหว่างเชียงใหม่-น่าน หรือพิษณุโลก ด้วยรถบัสปรับอากาศ 32 ที่นั่ง มีของว่างและเครื่องดื่มบริการด้วยบัสโฮสเตส สวยในราคา 86 บาท กิริยามารยาทบ่งบอกแบบฉบับสาวจาวเหนือแต้ๆ ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว
ส่วนพวกที่ชอบสังสรรค์เฮฮา กินลมชมวิว ปลดปล่อยอารมณ์ โดยเฉพาะรถไฟเที่ยวค่ำจะถึงลำปางใกล้สว่างพอดี
เมื่อลงจากรถไฟจะได้ชื่นชมกับสถานีรถไฟที่มีความเก่าแก่และประวัติความเป็นมาที่น่ารับรู้ โดยสถานีรถไฟลำปางนี้เปิดรับขบวนรถไฟโดยสารครั้งแรกเมื่อวันขึ้นปีใหม่ไทย 1 เมษายน 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเมื่อเริ่มเปิดเดินรถไฟสายเหนือนั้น สถานีรถไฟนครลำปางเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทาง
ต่อมามีการพัฒนาเส้นทางด้วยการเจาะอุโมงค์ขุนตาลผ่าน ภูเขาเพื่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2464
เมื่อเดินออกจากสถานีรถไฟเหลือบมองทางขวามือ ตึก แถวห้องสุดท้ายจะเห็นทั้งคนเมืองและนักท่องเที่ยวนั่งรับประทาน ก๋วยจั๊บยามเช้าอย่างเอร็ดอร่อย
เมื่อก่อนย่านการค้าบริเวณนี้ "สบตุ๋ย" มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของการขนถ่ายสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ อาคารโบราณแถบนี้ยังหลงเหลือให้เห็นร่องรอยความเจริญของสถาปัตยกรรมความงดงามไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของชาวเมืองลำปางโดยแท้
สะพานรัษฎาภิเษกตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ที่ตั้งชื่อจากพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟมีอายุผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว รอดพ้นจากการโจมตี การทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ด้วยการทาสีพรางตาและด้วย การอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์จากนางลูชี สตาร์ลิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมิชชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพพันธมิตรในขณะนั้น
เป็นสะพานไม้เสริมเหล็กที่ชำรุดผุพัง จึงก่อสร้างใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อปี 2460 บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพาน ข้ามไปยังฝั่งตลาดรัษฎา หัวสะพานด้านซ้ายมือจะมีข้าวหลามหลายหน้า หวานมัน มีชื่อเสียงอยู่หลายเจ้าอวดความอร่อย
เสน่ห์ของลำปางที่ตลาดรัษฎาเป็นตลาดที่มีความคึกคักในยามเช้า มีทั้งอาหารพื้นเมือง ผักผลไม้พื้นบ้านจำหน่ายไว้ให้ลองชิมกัน
ที่น่าสนใจของเมืองอีกแห่งคือถนนตลาดเก่า หรือที่เรียกกันจนคุ้นปากว่าถนนตลาดจีน เป็นตลาดตรอกท่าน้ำวัง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตลาดมีความรุ่งเรืองมาก ชุมชนที่เข้ามาทำธุรกิจ เช่น จีน พม่า อังกฤษ โดยเฉพาะชาวจีนทำการค้ามากที่สุดจนกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ ร้านค้าบริเวณสอง ฟากฝั่งแม่น้ำ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรป จีน มีทั้งอาคารไม้หรือครึ่งตึกครึ่งไม้ที่สวยงามยังคงสภาพดีให้เห็นอยู่
ชุมชนท่ามะโอตั้งอยู่ฝั่งเหนือของสะพานข้ามแม่น้ำวังเป็นชุมชนเก่าแก่ของเมือง มีมาตั้งแต่สมัยที่ชาวพม่าเข้ามาค้าไม้สักกับชาวอังกฤษ ในช่วงเวลานั้นได้สร้างบ้านเรือนมากมาย เช่น บ้านเสานัก ตั้งอยู่บนถนนป่าไม้
"นัก" ภาษาพื้นเมืองหมายถึง "มาก" บ้านหลังนี้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2438 โดยหม่องจันโอง ต้นตระกูล "จันทรวิโรจน์"
ลักษณะบ้านเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างพม่ากับล้านนา ประกอบด้วยเรือนใหญ่เป็นเรือนหมู่ มีเสาไม้รองรับน้ำหนักจำนวน ถึง 116 ตันไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน โดยเฉพาะน้ำมะขามเย็นชุ่มคอชื่นใจดีแท้ที่ฝีมือหาตัวจับยาก
ซึ่งบางครั้งอาจจะพบบุคคลซึ่งนิยมมาจัดงานมงคลต่างๆ เช่นงานแต่งงาน โดยให้จัดขบวนแห่ขันโตก ช่างฟ้อนและพิธีกรรม แบบเมืองที่ "บ้านเสานัก" อีกด้วย
หรือจะเห็นนักท่องเที่ยวใช้พาหนะ รถม้า นั่งจากตัวเมืองเพื่อมาชมความงามของบ้านเสานักเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศอันร่มรื่นและเงียบสงบ จะได้เห็นต้นสารภียืนต้นตระหง่านอยู่บริเวณด้านหน้าของบ้านซึ่งมีมาก่อนเกิดบ้านหลังนี้ด้วยซ้ำไป
รถม้ามีบทบาทต่อชาวลำปางในสมัยหนึ่ง เช่นรับผู้โดยสาร รถไฟเข้าสู่ตัวเมือง รับส่งนักเรียน ขนของให้พ่อค้าแม่ขาย เป็นต้น
ปัจจุบันยังมีรถม้าบริการนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเส้นทางรอบเมือง นั่งกินลมชมบรรยากาศความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของชาวเมือง วิวทิวทัศน์รับอากาศยามเย็น สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ภายในตัวเมือง
จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่มีวัดวาอารามเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมามากมาย
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาคารามตั้งอยู่ที่ถนนสุชาดา เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979 นานถึง 32 ปี
ตำนานเล่าว่า พระมหาเถระของวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโมและนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป จึงได้เรียกขานชื่อนี้กันมา
ต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง จนถึงปัจจุบัน ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดนี้ คือองค์พระบรมธาตุ ดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าแก่พอๆ กับ วัดนี้
วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
วิหารพระเจ้าทองทิพย์สร้างโดยพระนางจามเทวีอายุกว่า 1,000 ปี ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ศิลปะสมัยเชียงแสน มณฑป หรือพญาธาตุเป็นศิลปะแบบพม่า
วิหารลายคำสุชาดาราม ฝีมือชาวเชียงแสน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายทองงดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนาเป็นแหล่งเก็บ รวบรวมศิลปวัตถุ เช่น สัตภัณฑ์ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยกระเบื้อง
วัดเจดีย์ซาวหลัง วัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้มีอายุกว่า 1,000 ปีมาแล้ว
องค์พระธาตุเจดีย์ซาวมีศิลปะแบบล้านนาผสมผสานไปกับศิลปะของพม่า ซึ่งเป็นเสน่ห์และจุดเด่น
ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ซึ่งชาวบ้านเรียกขานว่า "พระ พุทธรูปทันใจ"
พระอุโบสถหลังใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นพระประธานอยู่ บานประตูทั้งสามเป็น ของโบราณเขียนลวดลายรดน้ำละเอียดงดงาม
เสาซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับลวดลายกระจกสีเป็นศิลปะสมัยใหม่ และที่ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ชั้นเดียวด้านหลังพระอุโบสถ เป็นพิพิธภัณฑสถานเขลางค์นคร แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวายเมื่อ พ.ศ.2526 ชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาท 2 สลึง และมอบให้แก่ทางวัด
"พระแสนแซ่ทองคำ" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีขนาดหน้าตักกว้าง 7 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
วัดประตูป่อง เจดีย์วิหารสร้างเมื่อปี 2409 โดยเจ้าญานรังสี เจ้าผู้ครองนครลำปาง โบสถ์เป็นฝีมือช่างสิบสองปันนาโดยมีศิลปะจีนผสมอยู่ด้วย
วัดนี้มีสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์คือประตูเมืองโบราณ (ประตูป่อง) มีซากหอรบสมัยพระยากาวิละครองนครลำปาง เป็นปราการต่อสู้ทัพพม่าครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ.2330
วัดศรีรองเมือง เป็นวัดพม่าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยคหบดีที่มีความร่ำรวยจากการทำไม้ สถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ วิหารไม้ซึ่งมีหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นเล็กชั้นน้อย มียอดแหลม 8 ยอด เป็นศิลปะพม่า เพดานเป็นลายไม้แกะสลัก และเสากลมใหญ่จำหลักลวดลายประดับด้วยกระจกสี วิจิตรสวยงาม ฝีมือประณีตอย่างยิ่ง
วัดพม่าอีกวัดคือวัดศรีชุม ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2433 โดยนายอุโย คหบดีชาว พม่าซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำไม้ในประเทศไทย เมื่อมีฐานะดีขึ้นจึงสร้างวัดนี้ขึ้นมาเพื่อการทำบุญ
โดยมีพระวิหารเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ศิลปะแบบล้านนาผสมพม่า หลังคา เครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลาย (ไฟไหม้พระวิหารเมื่อ 16 มกราคม 2535)
ปัจจุบันจะเห็นร่องรอยความงามไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น เป็นลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่ง
ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่และยังมีชิ้นส่วนที่ประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้จัดแสดงไว้ด้านหลังวิหาร
วัดศรีชุมนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2524
วัดป่าฝาง สร้างโดยชาวพม่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระเจดีย์ ใหญ่สีทองสุกปลั่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากพม่าเมื่อ พ.ศ.2449 พระวิหารขนาดใหญ่เป็นเรือนไม้ทั้งหลัง หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ แบบพม่า พระอุโบสถขนาดเล็ก หลังคา เครื่องไม้แบบพม่า มีลวดลายเครือเถาปูนปั้นเหนือประตู ภายในประดิษฐานพระทับทิมพม่า ซึ่งองค์พระห่มจีวรประดับด้วยทับทิม สวยงามและหาดูได้ยาก
วัดไชยมงคลหรือวัดจองคา วิหารเป็นอาคารสีขาว หลังคาเครื่องไม้แบบพม่า หน้าประดับกระจกเป็นรูปเทวดา เสาประดับด้วยลวดโลหะสีทองขดเป็นลายเครือเถาประดับกระจกสีสวยงาม ม่านและระเบียงโดยรอบทำด้วยแผ่นไม้ฉลุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด สร้างจากเมืองมัณฑะเลย์ พม่า
วัดม่อนพญาแช่ มีพระเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามองเห็นวิวเมืองลำปางเด่นชัด วัดพัฒนาเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ "วนอุทยาน ม่อนพญาแช่" วัดให้มีเส้นทางศึกษาทางธรรมชาติบริเวณรอบอ่าง เก็บน้ำห้วยโจ้
วัดธาตุเสด็จ มีตำนานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี อุโบสถวิหารต่างๆ เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ ได้รับการบูรณะแต่ยังคงสภาพศิลปะบารณให้เห็น กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานแล้ว
ถ้าไปจังหวัดลำปางแล้วพลาดไม่ได้ที่จะต้องไปสักการะวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ตามตำนานกล่าวไว้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ของเมืองไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรม พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลู และเสร็จในปีฉลู ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอกบุด้วยทองจังโก้ ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักกุ้นเป็นลวดลายประจำตาม แบบต่างๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชยและพระบรมธาตุจอมทอง
ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระอัฐิจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์ พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่ "หนานทิพช้าง" ยิงท้าว มหายศปรากฏอยู่
วิหารหลวง วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2019 ภายในมีซุ้มประสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่เรื่องเทศชาติและพรหมจักร
วิหารพระพุทธ ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเปิดโล่ง ด้านหน้าเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ก่ออิฐก่อปูน ศิลปะ เชียงแสนและยังปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย
ด้านขวามือหากหันหน้าเข้าหาวิหารหลวงจะเห็นวิหารน้ำแต้มหรือวิหารภาพเขียนสี สร้างเมื่อ พ.ศ.2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังในภาคเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยงดงาม ภายในไม่มี ฝ้าเพดาน กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่เก่าแก่อายุราวพุทธศตวรรษที่ 2 ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก
ซุ้มพระบาทสร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานต่อขึ้นเป็นชั้น คล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อปี 1992 ภายในมองเห็นแสงหักเหปรากฏ เป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ ขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น
ในอำเภอต่างๆ ของนครลำปางยังมีวัดที่เกิดมาคู่ลำปาง ซึ่งมีความเก่าแก่และสวยงามอีกมากมายที่ให้เราได้ค้นหา หากมีเวลาพอ
นอกจากวัดในพระพุทธศาสนาแล้วยังมีโรงพยาบาลช้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ศูนย์ฝึกลูกช้าง บ่อน้ำแร่ บ่อน้ำร้อน อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล หรืออุโมงค์ขุนตาล วิศวกรจากเยอรมันสำรวจเจาะอุโมงค์ซึ่งเป็นหินแกรนิต เมื่อ พ.ศ.2450 ซึ่งขุดทะลุภูเขาบริเวณใจกลางอุทยานระหว่างจังหวัดลำปางและลำพูน ความยาว 1,352 เมตร รถไฟใช้เวลาวิ่ง ผ่านกว่า 5 นาที นับเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย อุทยานแห่งชาติ แจ้ซ้อนในอำเภอเมืองปาน ซึ่งมีบ่อน้ำร้อน น้ำตกแจ้ซ้อน เขื่อนกิ่วลมอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทางบริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือ แพ ชมทัศนียภาพที่สวยงามเช่น แหลมชาวเขียน ผาเกี๋ยง ผางาม ทะเลสาบพุ หมู่บ้านชาวประมง บ้านเสา
เหมืองลิกไนต์ แหล่งถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะและยังมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอีกมากมาย
พิมพ์ธิดา ดีบุกคำ คนลำปางโดย กำเนิด แม้ว่าสมัยมัธยมศึกษาเธอต้องไปศึกษาอยู่ที่เชียงใหม่ จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยในสาขาการละคร คณะอักษรศาสตร์
เธอเป็นคนหนึ่งที่ยังโหยหาในศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้อยู่คู่ลำปางให้นานแสนนาน เป็นผู้หนึ่งที่จะดูแลอนุรักษ์การแสดงแบบล้านนายุคดั้งเดิม เพราะถือว่าเป็น การแสดงชาติกำเนิดเผ่าพันธุ์ที่มีมา เป็นสมบัติอันล้ำค่า ของคนลำปางที่บรรพบุรุษได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาว นาน เธอบอกว่าอย่างวัดปงสนุก แถวสะพานรัษฎานั้น เป็นวัดที่เก่าแก่และน่าสนใจซึ่งคนต่างถิ่นไม่ค่อยรู้จัก โดยวัดนี้ได้รับรางวัล Award of Merit จากยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ.2551
เป็นวัดที่แสดงถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอายุกว่า 1,328 ปี ธรรมสถาน หนึ่งเดียวของไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ
วัดปงสนุกนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย เสด็จมาสร้างเขลางค์นครเมื่อ พ.ศ.1223
จากการศึกษาค้นคว้าจากตำราโบราณ ทำให้ทราบว่าเดิม วัดนี้มีชื่อถึง 4 ชื่อ คือวัดศรีจอมไคล วัดเชิงภูมิ วัดดอนแก้ว และ วัดพระยาว
พ.ศ.2429 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ ซ่อมแซมพระเจดีย์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่พอๆ กับวัดพระธาตุดอยสุเทพ คือกว่า 500 ปี วิหาร พระเจ้าพันองค์ เป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ รวบรวมจิตรกรรมผสมผสานศิลปะไทย จีน พม่าเข้าไว้ด้วยกัน บางครั้งเรียกกันว่าวิหาร 12 ราศี หรือวิหารสะเดาะเคราะห์ ด้วยเหตุที่ว่าสมัยก่อนบรรดาเจ้านายและประชาชนนิยมมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ณ พระ วิหารนี้
วัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองเสาแรกของลำปาง ก่อนจะไปประดิษฐาน ณ บริเวณศาลากลาง (หลังเก่า) ในปัจจุบัน
วัดปงสนุกนี้เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสำคัญที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม เช่น พระพุทธรูปไม้เสาหงส์ ซุ้มประตูโขง ภาพพระบฏ เขียนเรื่องพระเวสสันดรบนผ้าและกระดาษสา ธงช้างเผือกขนาดใหญ่ในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รวมไว้ในพิพิธภัณฑ์
รูปแบบของการบูรณะของวัด คือใช้วัสดุเดิมเกือบ 100% ในการซ่อมแซม มีการเพิ่มเติมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่บ้างที่ไม่กระทบองค์ประกอบหลัก เช่น การใช้น้ำยากันปลวก การทำชั้นรองกระเบื้อง เพื่อน้ำฝนไม่ไหลย้อนและซึม เป็นต้น
ส่วนในเรื่องศิลปะการแสดงของชาวลำปาง พิมเล่าว่า การละเล่นการแสดงพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลำปางโดยแท้ โดยเฉพาะการแสดงการเล่นเครื่องก๋องปู่จา (กลองบูชา) ซึ่งเป็นสิ่งที่หาชมได้ยากเป็นสิ่งที่คนภายนอกไม่ค่อยได้รับรู้หรือพบเห็นได้ง่ายนัก
ในวิถีชีวิตของชาวล้านนาแต่อดีตกาล ผู้คนในลำปางคุ้นเคย และรู้จักเป็นอย่างดี เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง
ก๋องปู่จาเป็นกลองขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 1.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานไม้สูงระดับอก และจะมีอยู่ในวัดทั่วทุกแห่ง เพื่อใช้ตีประกอบพิธีกรรมตีบอกเตือนในวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนใช้ตีบอกเวลาและแจ้งเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อกาลเวลาผันผ่านมีความเจริญด้านต่างๆ เข้ามาแทนที่ เช่น หอกระจายข่าว วิทยุ เสียงตามสาย นาฬิกา สิ่งเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป และก๋องปู่จาก็หมดบทบาท
ประมาณ 10 กว่าปีมานี้เองสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางได้ร่วมกันนำสิ่งดีงามของบ้านเมืองกลับมารื้อฟื้นเพื่อให้คนลำปางได้ภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมบรรพบุรุษที่งดงาม มีการจัดประกวดมหกรรมการตีกลองปู่จา โดยให้ทุกอำเภอมีส่วนร่วมฝึกซ้อมและเข้าประกวด เน้นความงดงามอลังการ ประกอบลีลาที่ประดิษฐ์คิดทำให้แปลกใหม่ มีลูกเล่นน่าดูชม พร้อมแต่งกายแบบล้านนาที่สวยงาม และในวันงานสำคัญๆ ของล้านนา เช่นวันปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) งานวันที่ระลึกรถไฟ-รถม้าลำปาง (1 เมษายน) ก็จะมีการตีก๋องปู่จา ประกวดลีลาให้ได้ชมกันเป็นที่ตื่นตาและภาคภูมิใจในศิลปะดั้งเดิม
ถึงเวลาอาหาร สำหรับร้านอาหารที่ลำปางนั้นมีให้เลือกมากมายหลากหลาย รสชาติ บรรยากาศ ร้านอาหารริมน้ำวังมีให้นักชิมได้ค้นหา พร้อมความชื่นมื่น
แต่สำหรับอาหารมื้อนี้ บริเวณที่ตั้งของร้านจะอยู่ริมถนนสายเอเชียใกล้สี่แยกลำปาง-แม่เมาะ-เด่นชัย ฝั่งตรงข้ามกับอนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง ดูโดดเด่น ร่มรื่น สบายตา เป็นร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นสวนอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นร้านแรกของจังหวัดลำปาง โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2509 ในเนื้อที่กว่า 6 ไร่ มีทั้งพื้นดิน พื้นน้ำ สวนลอย
ชื่อของสวนอาหารแห่งนี้คือ "เรือนแพ"
เรือนแพในยุคแรก บริหารงานโดยร้อยโทสวัสดี ประหารข้าศึก ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกเสริม ณ นคร
การที่หันมาสู่การทำร้านอาหารเรือนแพ ไม่ใช่เพราะชอบเพลงเรือนแพเป็นพิเศษ ซึ่งฮิตมากในสมัยนั้น แต่ด้วยเหตุที่ว่าหลังจากเดินทางไปร่วมรบที่เชียงตุงกลับมา เกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่มีความสุข อยากเปลี่ยนงานเลยหันมาศึกษาทางด้านการเงินและบัญชี และเข้าทำงานที่องค์การรับส่งพัสดุภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ
เพื่อนฝูงเห็นว่าจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่น่าอยู่น่าอาศัย มีความสงบเงียบ จึงชวนสวัสดีไปซื้อที่ซึ่งอยู่ชานเมืองลำปาง ที่ผู้คนยังไม่ค่อยสนใจ จึงมีราคาที่ไม่แพง มีน้ำเหมืองไหลผ่านจาก คลองชลประทาน ดูแล้วน้ำท่ามีความอุดมสมบูรณ์ ใช้ในการอุปโภคบริโภคได้เป็นอย่างดี
เมื่อตกลงใจได้แล้วก็เข้าไปปรับปรุงพื้นที่และได้ขุดบ่อซึ่งตั้งใจว่าจะทำอาชีพเลี้ยงปลา โดยปลูกสร้างเรือนแพเป็นที่พักผ่อน นั่งเล่น ญาติพี่น้องมาเห็นเข้าเลยชักชวนให้เปิดเป็นสวนอาหารในที่สุด ที่กล้าเปิดเพราะคุณปู่มีพื้นเพเป็นชาวเพชรบุรี มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของอาหารไทยภาคกลาง ส่วนคุณย่าเป็นคนจังหวัดน่าน มีรสมือเรื่องอาหารเมืองที่ฝีมือฉมัง
นอกจากสระน้ำอันกว้างใหญ่เห็นทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว ยังสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในร้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จุดเด่นโครงสร้างของ "เรือนแพ" มีการวางแผนการนำน้ำมาใช้ในบริเวณร้านได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันรัตนา เหมจินดา และศศิธร ตันติพงศ์ ลูกสาวร้อยโทสวัสดิ์ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของการดำเนินธุรกิจ กิจการในลักษณะของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่วยกันดูแลปรับปรุงด้วยความพิถีพิถัน
แม้ปัจจุบันจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นอย่างมาก ต้องอยู่ในสภาวการณ์แข่งขัน ด้านปริมาณ ร้านที่เพิ่มขึ้นให้ต้องประคอง ตัวรักษาความเป็นร้านที่เก่าแก่ไว้ให้ถึงที่สุด แม้ว่ารายรับกับรายจ่ายแทบจะใกล้เคียงกันแล้วก็ตาม
การบริหารกิจการของสองศรีพี่น้องเน้นให้ผู้ประกอบอาหารเอาใจใส่และปรับปรุงคุณภาพของอาหารให้คงรสชาติความอร่อย สะอาด ถูกสุขอนามัย และยังพัฒนาทักษะส่งเสริมให้เข้ารับการอบรมวิทยาการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ ให้ดูแลเอาใจใส่บริการลูกค้า โดยมอบคำขวัญ แก่พนักงานร้านให้ยึดถือคือ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ต้องน้อมรับคำติชมของลูกค้าด้วยความยินดี
นอกจากนี้ เรือนแพยังให้การสนับสนุนการฝึกงานของนักศึกษา เพื่อให้มีประสบการณ์ในด้านการประกอบอาหารและการให้บริการ เพราะการค้าขายต้องใช้ศิลปะ ฝีมือ โดยเฉพาะความอดทน
อาหารของที่ร้านจะมีความหลากหลาย ทั้งอาหารเมือง ซีฟู้ด อาหารไทยทั่วไป เช่น ออเดิร์ฟเมือง ลาบเมือง พระจันทร์ กระดาษ ปลาล่องซุง แกงแคหมูป่า แกงฮังเล น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ปลาทับทิมสมุนไพร สเต๊ก สลัด กุ้งพระนางหม้อดิน ปูผัดผงกะหรี่ ยำเอ็นปลา และมีให้ชิมอีกมากมาย แต่ที่ชอบคือ ยำหนังหมู และส้มตำ โดยเฉพาะไก่เรือนแพ ซึ่งที่ทำเมนูนี้ขึ้นมา และติดอกติดใจบรรดานักชิม โดยเห็นวัสดุในการอบไก่ คือฟางข้าวนั้นหาได้ไม่ยากนัก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปตามยุคสมัยยังคงใช้ ถ่านในการอบแทนในปัจจุบัน
ขั้นตอนการทำไก่เรือนแพรสชาติจะอร่อยได้ด้วยการหมักเริ่มขั้นแรกด้วยนมสดจืด ไก่ 1 ตัว ใส่นมสดครึ่งกระป๋องผสมน้ำสะอาดพอท่วมตัวไก่ ไก่จะหอมน่าทานด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทย ซีอิ๊วขาวเล็กน้อย หมักไก่ไว้ราว 1 ชั่วโมง แล้วนำไปอบ พอสุกเหลืองแล้วจึงนำมาทอด น้ำมันท่วมๆ สุกแล้ว ทาด้วยเนยเหลวให้หอม นี่คือเคล็ดลับเสน่ห์ของไก่เรือนแพ
แต่ศศิธรอดที่จะถอนหายใจในการดำเนินกิจการให้อยู่รอดให้ได้ โดยบอกว่าเมืองลำปางแม้จะมีเสน่ห์ในศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ให้ได้ชื่นชมหลากหลาย แต่การที่ลำปางเป็นเมืองผ่านเพื่อเดินทางไปจังหวัดต่างๆ นั้น ทำให้การประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการบริการไม่เจริญเท่าที่ควร จึงวอนว่าเมื่อท่านผ่านมาแล้วขอว่าอย่าผ่านเลยไป
"ช่วยแวะลำปางด้วยค่ะ"
|
|
 |
|
|