|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จากเมืองเล็กๆ ที่ไม่ตั้งใจไปก็ไปไม่ถึง เพราะไม่ใช่เมืองผ่าน น่านเป็นเมืองชายแดนที่ซ่อนตัวกลางขุนเขา จากเมืองที่ในอดีตแม้แต่คนไทยก็ยังไม่รู้จัก ถ้าไม่บอกว่าอยู่ติดหลวงพระบาง มาวันนี้ผู้คนแห่แหนไปน่านตามกระแสนิยม ยิ่งบวกกับคลื่นความเปลี่ยนแปลง หลายคนจึงอดห่วงไม่ได้ว่า น่านจะเป็นอีกเมืองเล็กที่ถูกการท่องเที่ยวทำร้ายอย่างเลือดเย็น หากขาดการตั้งรับที่ดีพอ
"ไปน่านมาหรือยัง?", "ทำไมไม่ไปน่าน?", "ใครๆ ก็ไปน่าน"
ประโยคเหล่านี้ได้ยินบ่อยขึ้นและ ดังขึ้นพร้อมกับลมหนาวแรกที่พัดเข้าประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ข่าวท่องเที่ยวเมื่อต้นปี 2552 ระบุว่าน่านติดอันดับ 1 ใน 3 สถานที่ท่องเที่ยวทางภาคเหนือ ส่วนเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมืองน่านเป็นข่าวอีกครั้งในฐานะเมืองที่มีนักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวมากเป็นประวัติการณ์
"เมื่อก่อนแม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่รู้จักน่าน ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนของประเทศ แต่พอบอกว่าอยู่ติดหลวงพระบาง หลายคน รู้จัก" ชาวน่านคนหนึ่งเล่าอย่างน้อยใจ
มาถึงวันนี้ น่านกลายเป็นเมืองเกิดใหม่บนแผนที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว
ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ อย่างสมบูรณ์ด้วยจุดขายของเมืองที่สงบเงียบเรียบร้อย มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อบอวลด้วยวัฒนธรรมอิงแอบกับธรรมชาติ มีหุบเขา มีลมหนาวให้สัมผัส โรแมนติกและที่สำคัญยังมีความสดใหม่ให้เอาไปเล่าต่อ
ว่ากันว่า กระแส "เที่ยวน่าน" อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล่มสลายของ "ปาย" เมืองหลวงแห่งความโรแมนติกกลางหุบเขา ซึ่งได้สูญเสียความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติและอัตลักษณ์ของวิถีชนบท ที่เรียบง่ายจนแทบไม่เหลือเสน่ห์เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ แบบเดิม
เมื่อเทียบกับสาวดอยผู้หลงแสงสีอย่าง "ปาย" เมืองน่านวันนี้จึงเป็นเสมือนโฉมงามวัยละอ่อนหน้าตาหมดจดจิ้มลิ้ม ไร้การปรุงแต่งและสดใสบริสุทธิ์
น่านเป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือ มีเนื้อที่กว่า 7 ล้านไร่เศษ ถือว่าใหญ่ เป็นอันดับที่ 13 ของประเทศไทย แต่พื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีประชากรเพียง 5 แสนกว่าคน เป็นเมืองชายแดนล้านนาที่มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจรดประเทศลาว
คนน่านมองว่า น่านเป็น "เมืองฝาแฝด" กับหลวงพระบาง เพราะผู้ที่สร้าง เมืองหลวงพระบางเมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้น เป็นน้องชายของเจ้าผู้ครองนครน่าน ลักษณะทางศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของทั้งสองเมืองจึงคล้ายคลึงกัน
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นท้องทะเล แห่งขุนเขา ทั้งยังมีเทือกเขาผีปันน้ำและเทือกเขาหลวงพระบางเป็นเสมือน ป้อมปราการธรรมชาติที่คอยบดบังเมืองน่านจากคนต่างถิ่น ทำให้กว่าจะมาถึงเมืองน่านก็ต้องนั่งรถผ่านหนทางคดเคี้ยวนับโค้งไม่ถ้วน
ครั้นจะหนีไปนั่งเครื่องบิน หลังจากที่ PB Air ปิดตัวลง ทุกวันนี้ก็เหลือผู้ให้บริการรับส่งเชิงพาณิชย์เป็นเพียงเครื่องบินเล็ก 12 ที่นั่งที่บินรับส่งจากเชียงใหม่
ยิ่งถ้ามาทางรถไฟก็ยิ่งลำบาก เพราะไม่มีรถไฟมาน่านโดยตรง ดังนั้นหลังจากต้องทนอยู่บนรถไฟนานนับ 10 ชม. นักท่องเที่ยวต้องทนนั่งรถทัวร์ หรือรถยนต์ต่อจากสถานีรถไฟ อ.เด่นชัย จ.แพร่ อีกเกือบ 2 ชม.เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองน่าน
ด้วยความที่เป็นเมืองที่เข้าถึงยาก นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น่านยังคงรักษาความเงียบสงบ เรียบง่าย และความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตมาได้จนถึงวันนี้
ขุนเขาไม่ได้เป็นเพียงปราการปกป้องน่าน แต่ความงามแห่งขุนเขายังเป็นเสมือนอาภรณ์ธรรมชาติที่ทำให้น่านมีทัศนียภาพที่สวยงาม ด้วยวิวพื้นที่ราบและท้องทุ่งนาสีเหลืองทองสลับกับเทือกเขาสีเขียว และการถูกห่มด้วยภูเขาจึงทำให้น่านมีภูมิอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบาย โดยมีสายลมและสายหมอกให้สัมผัสในช่วงหน้าหนาว
หลายคนบอกว่าบรรยากาศเช่นนี้ ยิ่งทำให้น่านดูคล้ายคลึงกับเมืองปาย โดยเฉพาะ ในอำเภอปัวของน่าน ที่ว่ากันว่าเป็น "ฝาแฝดเมืองปาย"
นอกจากความงามทางธรรมชาติ น่านยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ในเชิงประวัติ ศาสตร์ที่ยาวนานร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัย และอุดมด้วยความงามทางศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานทั้งกลิ่นอายล้านนาและสิบสองปันนา รวมทั้งศิลปะสุโขทัยที่หาดูได้จากโบราณ สถานที่อยู่กลางเมืองน่าน หรือ "เกาะเมืองน่าน"
อาทิ "วัดภูมินทร์" พระอุโบสถอายุกว่า 400 ปีที่มีความสวยงามโดดเด่นด้วยหลังคา ทรงจัตุรมุขสลักด้วยฝีมือช่างเมืองน่าน และจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 200 ปี ที่งดงามและทรงคุณค่าด้วยการแสดงเรื่องชาดกและวิถีความเป็นอยู่ของคนน่านในอดีต
"วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร" เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่อายุกว่า 600 ปี โดดเด่น ด้วยเจดีย์ช้างค้ำรูปช้างปูนปั้นเพียงครึ่งตัวแบกองค์พระเจดีย์ อันเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย และวัดวาโบราณอีกหลายแห่ง หรือห่างจากใจกลางเมืองราว 2 กม. ก็ยังมี "พระธาตุแช่แห้ง" ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านมานานกว่า 600 ปี
นอกจากนี้ เกาะเมืองน่านยังมี "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน" หรือ "หอคำ" สถานที่ว่าราชการของเจ้าผู้ครองนครน่านในอดีต และ "คุ้มเจ้าราชบุตร" บ้านพักของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ที่เก็บศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงร่องรอยอารยธรรมล้านนาของเมืองน่าน
ทั้งนี้ วัดวังและอาคารโบราณ รวมถึงบ้านเรือนเก่าแก่ที่กระจายอยู่ทุกหัวมุมถนนของเมืองน่าน ยังสะท้อน วิถีชีวิตเรียบง่ายและความศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวน่านที่ยังคงสืบต่อ มาจนทุกวันนี้ เมืองน่านจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองเก่าที่มีชีวิต"
ด้วยคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม เกาะเมืองน่านจึงได้รับการประกาศตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2548 ให้เป็นเมืองเก่าและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีเพียงสองแห่งในประเทศไทย โดยมีเกาะรัตนโกสินทร์เป็นแห่งแรก
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการที่จะเสนอต่อยูเนสโก (UNESCO) เพื่อขึ้นทะเบียนเมืองน่านให้เป็นมรดกโลกอีกครั้ง หลังจากที่เคยยื่นไปเมื่อหลายปีก่อน
เพราะเหตุนี้อาคารในพื้นที่ใจกลางเมืองน่านจึงถูกจำกัดความสูงไม่เกิน 3-5 ชั้น และมีการควบคุมแหล่งบันเทิงไม่ให้เปิดในพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งยังมีการปรับภูมิทัศน์และนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อความสวยงาม
เสน่ห์ของการชื่นชมสถาปัตยกรรมในเกาะเมืองน่าน คือระหว่างการปั่นจักรยานหรือเดินรับลมชมเมือง เพราะยังมีรถราไม่พลุกพล่าน
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับรอยยิ้ม ความเป็นมิตรและวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายของผู้คนเมืองน่าน ซึ่งเป็นอีกเสน่ห์ที่ผู้มาเยือนล้วนบอกตรงกันว่าประทับใจจนยากที่จะลืม
"ถามว่าทึ่งอะไรในเมืองน่าน หนึ่ง ความสงบ สอง ความสะอาด และสาม ผู้คนเป็นมิตร ก็เป็นไปได้ที่ผมจะมาใช้เวลาของชีวิตที่น่านมากขึ้นเรื่อยๆ" คำตอบของบัณฑูร ล่ำซำ หลังจากถูกถามถึงเสน่ห์ของเมืองน่านที่มัดใจให้อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่
เพราะเล็งเห็นว่า น่านยังมีโอกาสอีกมากมายในเรื่องของการท่องเที่ยว CEO ของธนาคารกสิกรไทยจึงลงทุนซื้อและรีโนเวตโรงแรมน่านฟ้า โรงแรมไม้สักที่มีอายุกว่า 75 ปี ในตัวเมืองน่าน โดยตั้งใจจะให้แล้วเสร็จทันกับกระแสไหลบ่าของนักท่องเที่ยวในหน้าหนาว ปลายปีนี้
แม้ไม่เคยมีตัวเลขคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาน่านในปี 2552 แต่ความสดใหม่ของน่าน บวกกับกระแสความนิยมที่ลดลงอย่างมากของปาย ทำให้หลายคน เชื่อว่า น่านจะมีอัตราเติบโตของนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้จะยิ่งพุ่งขึ้นทันทีที่ถนนจากด่านชายแดนห้วยโก๋นไปถึงหลวงพระบาง หรือเส้นทางสาย R2 แล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะไม่เกินปี 2555 ซึ่งจะทำให้ น่านกลายเป็นประตูสู่เมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางโดยสมบูรณ์ ด้วยเส้นทางที่ใกล้และใช้เวลาสั้นที่สุด
"ความฝันของคนน่านและนักท่องเที่ยวหลายคน ที่เคยฝันว่าจะออกเดินทางจากน่านตอนหัวเช้า แล้วไปรับประทานอาหารกลางวันที่หลวงพระบางก็กำลังจะเป็นจริงแล้ว" วรศักดิ์ วงศ์วรกุล กล่าวในฐานะกรรมการบริหารของบริษัทแพร่ธำรงวิทย์ ผู้รับเหมาสร้าง ถนนริมชายแดนลาว
นอกจากนี้เส้น R2 จากน่านยังสามารถวิ่งไปบรรจบกับเส้น R3 (เชียงของ-บ่อเต็น-สิบสองปันนา) ที่แยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทาในลาว มุ่งเข้าสู่คุนหมิงและสิบสองปันนาในจีนได้ด้วย
ทันทีที่โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 101 เส้นทางจากแพร่สู่น่านเป็นสี่ช่องจราจรแล้วเสร็จ นั่นก็หมายความว่า น่านจะกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยว
"อนาคตก็เป็นไปได้ว่า น่านอาจกลายเป็นเมืองท่าขนส่ง ไปประเทศเพื่อนบ้าน ก็คงหนีไม่ได้ที่จะเกิดมลภาวะ แต่ถ้าสังคม เข้มแข็งมันก็ยังพอบังคับควบคุมกันได้" นรินทร์ เหล่าอารยะ กล่าวในฐานะนายก อบจ.น่าน
นอกจากเป็นนายก อบจ.น่าน เขายังสืบทอดกิจการโรงแรมของครอบครัว ได้แก่โรงแรมเทวราชขนาด 160 ห้อง ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในตัวเมืองน่าน
"วันนี้ ปัญหาของน่านคือพอถึงหน้าหนาวทีไร ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักไม่เพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างในตัวเมือง ปีที่แล้วเรามีห้องพักแค่เกือบ 400 ห้อง รองรับแขกได้แค่ 800 คน" นรินทร์เล่าปัญหาที่ตนเองประสบทุกหน้าไฮซีซั่น
ผู้ประกอบการชาวน่านหลายคนเข้าใจดีว่า เหตุแห่งความเสียหายหนักของ "เมืองปาย" ซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาถึงความล้มเหลวของเมืองท่องเที่ยวขนาดเล็กๆ เกิดจากการเปลี่ยนมือจากผู้ประกอบการท้องถิ่นไปสู่มือผู้ประกอบการต่างถิ่นและนายทุนรายใหญ่ที่ถาโถมเข้าไปกอบโกยเม็ดเงิน จนลืมอัตลักษณ์ ที่เคยเป็นจุดขายของเมืองปาย
ด้วยเหตุนี้แนวทางการแก้ไขข้อจำกัดเรื่องสถานที่พักแรม ของเขาจึงออกมาเพื่อสนับสนุนเกสต์เฮาส์หรือโรงแรมขนาดเล็กที่มีคนน่านเป็นเจ้าของ
นอกจากจะเหมาะกับกระแสนิยมของการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ไม่นิยมพักโรงแรมใหญ่ และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของพื้นที่อนุรักษ์ ยังเป็นความพยายามสร้าง ชุมชนคนน่านให้เข้มแข็งเพื่อเป็นการป้องกัน และง่ายต่อการเยียวยาในอนาคต
"เรามีบทเรียนจากที่อื่น ฉะนั้นเราก็จะคอยเตือนตัวเองเสมอว่าไม่อยากให้น่านเป็นอย่างที่อื่น แต่เราไม่ได้กีดกันผู้ประกอบการที่อื่น เพียงแต่จะสร้างอะไรก็ต้องดูว่าสร้างตรงไหน อย่างไร และมากเกินไปหรือยัง" นรินทร์กล่าว
ถึงแม้จะมีความพยายามปกป้องเมืองน่านไม่ให้เจริญรอยตามเมืองปายมากเพียงไร แต่ ณ วันนี้ ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่กำลังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน ก็คือราคาที่ดินที่เริ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งบางส่วนเป็น การเก็งกำไรและบางส่วนก็เข้าซื้อโดยคนต่างถิ่น
แน่นอนว่า เมื่อน่านเริ่มเปิดตัวสู่โลกภายนอกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป วันนี้ คนน่านอาจจะต้องมาร่วมกันวางแผนตั้งรับอย่างจริงจังแล้วว่า โฉมหน้าของน่านจะต้องเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
...เป็นเมืองท่าขนส่งสินค้าที่มีการจราจรคับคั่ง
...เป็นเมืองคู่แฝดกับหลวงพระบาง
...เป็นเมืองเก่าและเมืองมรดกโลก
...หรือเป็นปายแห่งที่สอง
ความเปลี่ยนแปลงอาจต้องแลกทั้งด้านดีและไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ควรพึงสังวรก็คือ หากเมื่อไรที่คนน่านไม่สามารถควบคุมและตั้งรับกับความเจริญที่เข้ามาได้ เมืองน่านก็อาจต้องสูญเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งวิถีของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คน
ถึงวันนั้น นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนน่านก็คงไปเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเคยไป แต่ไม่ใช่เพื่อจะกลับไปอีกครั้ง... เช่นเดียวกับปาย
|
|
|
|
|