เมื่อคราวที่พัฒนาเงินทุนล้มแล้วทางการได้ออกประกาศหามาตรการช่วยเหลือนั้น
หลายคนในวงการคิดว่าปัญหาคงจะเริ่มดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงแต่การปลอบใจตัวเองเท่านั้น
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะดูเงียบสงบ และธนาคารชาติกำลังยุ่งกับมาตรการจำกัดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่
จนทุกคนคิดว่าปัญหาไปแนนซ์ก็คงจะหมดสิ้นไปแล้ว จนกระทั่งข่าวการจับกุม สุพจน์
เดชสกุลธร เกิดขึ้นถึงจะเริ่มมีการเปลี่ยนไปมองว่าวงการไฟแนนซ์ยังสบายดีอยู่หรือ
ธนาคารชาติเองก็เคยพูดเปรยๆ ออกมาว่า ยังมีอีกหลายแห่งที่ทำท่าจะไม่ดีในช่วงที่โดนสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าธนาคารชาติไม่ได้ทำหน้าที่ที่ตัวเองควรจะทำ
พอสื่อมวลชนถามว่า ถ้ารู้ว่าอันไหนไม่ดีทำไมไม่บอกประชาชนล่ะ ธนาคารชาติก็อ้างว่า
ทำไม่ได้ อำนาจตามกฎหมายไม่ให้ จนกระทั่งรัฐมนตรีคลังหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีประกาศออกมาว่า
ต่อไปนี้จะบอกให้ประชาชนทราบถึงบริษัทเงินทุนที่มีสภาพไม่ดีให้หมด แต่จนบัดนี้ธนาคารชาติก็ยังคงปิดปากเงียบ
ล่าสุดที่ประชาชนมาร้องทุกข์กับสื่อมวลชนก็มีอยู่หลายราย “ผู้จัดการ”
จะขอรายงานเฉพาะรายที่หนักๆ ก่อนก็แล้วกัน
ที่เพียบที่สุดก็คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหไทย จำกัด ซึ่งอยู่แถวสวนมะลิ
ซึ่งกรรมการผู้จัดการคือ นายธงชัย หรือที่ในสังคมคนจีนเรียกกันว่า “โค้งเฮงท้ง”
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหไทยได้หยุดการจ่ายเงินทุกประเภทรวมทั้งการจ่ายดอกเบี้ยด้วยเป็นเวลามาร่วมสอง-สามเดือนแล้ว
ทางบริษัทได้ให้สัญญาว่า ธนาคารแหลมทองจะเข้ามาบริหารแทน แต่ผู้ถือตั๋วจะต้องยอมรับเงื่อนไขการจ่ายเงินคืนภายในห้าปีพร้อมดอกเบี้ย
6% ซึ่งในสายตาของสหไทยแล้วดีกว่าไปให้สหธนกิจจ่ายภายใน 10 ปี และไม่มีดอกเบี้ย
ธนาคารแหลมทองเองก็อยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะตัวเองได้ถลำไปอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของสหไทยไว้ไม่น้อย
(ตัวเลขตามที่แหล่งข่าวให้มาไม่ตรงกัน แต่เชื่อว่าคงจะอยู่ในวงเงินหลายร้อยล้านบาท)
ธนาคารแหลมทองเองก็ไม่ใช่สถาบันการเงินที่มีฐานใหญ่มารองรับสหไทยได้อย่างไม่ติดขัด
ทรัพย์สินรวมของธนาคารแหลมทองก็มากกว่าสหไทยเพียงสองเท่าเอง เงินฝากประชาชนก็แค่
2,000 ล้าน มิหนำซ้ำธนาคารแหลมทองยังมีภาระการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของกลุ่มสุระ
จันทร์ศรีชวาลา อีกก้อนหนึ่ง (รายละเอียดใน “ผู้จัดการ” ฉบับที่
4 เดือนธันวาคม 2526)
ธนาคารแหลมทองได้มีการเพิ่มทุนขึ้นเป็นการด่วนแต่การเข้าไปในสหไทยนั้นก็ยังไม่มีอะไรเด็ดขาด
ก็คงจะต้องอีกสักพักหนึ่งที่ธนาคารชาติจะได้ต้อนรับขบวนของผู้ถือตั๋วสหไทย
อีกรายหนึ่งอยู่แถวๆ สี่แยกราชวงศ์ข้างๆ ห้างใต้ฟ้าเก่า คือ บริษัทเงินทุนสหไฟแนนซ์
จำกัด ซึ่งกรรมการผู้จัดการได้หลบหนีหายเข้ากลีบเมฆ
พัลลภ อัศวเนตรมณี กรรมการผู้จัดการเงินทุนสหไฟแนนซ์ กำลังมีคนอยากพบอยู่มาก
แต่คงจะมีโอกาสได้พบยาก
พัลลภเองก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอดีตเป็นเจ้าของกิจการประเภทอาบอบนวดอยู่แถวๆ
ย่านคนจีน มีเงินขึ้นมาบ้างก็จับแพะชนแกะเอาเงินคนอื่นมาตั้งบริษัทเงินทุน แล้วก็เอาคุณสมบัติเจ้าของโรงนวดเข้ามาบริหารเงิน
(อันนี้ก็ต้องไปถามธนาคารชาติว่า ทำไมถึงไม่คัดเลือกคุณสมบัติคนให้ดีหน่อยทั้งที่กฎหมายเก่าก็ให้อำนาจมากพออยู่แล้ว
สำหรับรายบริษัทเงินทุนสหไฟแนนซ์ก็ยังไม่ได้มีเสียงตอบมาจากธนาคารชาติ
ล่าสุดในขณะนั้นคือบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์สยามเงินทุน ของ นายฟู ฟูคุณหลอง
ที่เคยมีข่าวเกรียวกราวมาครั้งหนึ่งในเรื่องสัมปทานการทำแร่ที่อ่าวกะรน ภูเก็ต
เมื่อไม่กี่ปีมานี้
ฟู ฟูคุณหลอง (คนสิงคโปร์แปลงสัญชาติเป็นไทย) เป็นเจ้าของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามเงินทุน
ซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารสีบุญเรือง 1 ริมถนนสีลม ได้ออกแถลงการณ์มา
3 หน้า สรุปสั้นๆ ว่า ตอนนี้ไม่มีเงิน เพราะเอาเงินไปทำเหมืองที่ภูเก็ต แล้วถูกรัฐบาลถอนสัมปทาน
ขณะนี้กำลังฟ้องรัฐบาลอยู่ ฉะนั้นขอให้ผู้ถือตั๋วใจเย็นๆ เอาไว้
ในกรณีสยามเงินทุนหลังจากได้อ่านแถลงการณ์แล้วก็เห็นได้ชัดว่า มันเป็นบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งถึงการล้มหรือความง่อนแง่นของทรัสต์ว่า
ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเจ้าของหรือผู้บริหารทรัสต์ได้เอาเงินฝากประชาชนไปลงทุนในกิจการของตัวเอง
ซึ่งถ้ากิจการร่ำรวยของตัวเองก็เท่ากับจับเสือได้ด้วยมือเปล่า แต่ถ้ากิจการย่ำแย่อย่างกรณีเหมืองของนายฟู
ฟูคุณหลอง ผู้ฝากเงินก็ต้องมาเอาเรื่องกับนิติบุคคล เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามเงินทุนเอง
ธนาคารชาติก็คงจะเงียบต่อไปตามแบบฉบับของบรรดาผู้ได้เงินเดือนสูง มีปริญญาจากต่างประเทศ
และมีลักษณะของนักวิชาการที่ถูกอยู่ฝ่ายเดียว
เอาเป็นว่า “ผู้จัดการ” จะคอยรายงานให้เป็นระยะๆ กับท่านผู้อ่านก็แล้วกัน
ถึงแม้ที่นี่จะไม่ได้กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่จะทำหน้าที่แจ้งอะไรดีหรือไม่ดีให้แทนผู้ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ก็แล้วกัน