วงวิชาการประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ กำลังช่วยฟอกชื่อเสียงให้ แฮร์รี
เด็กซ์เตอร์ ไวท์ (Harry Dexter White) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกาในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ไวท์มีชื่อเสียงแปดเปื้อนด้วย ข้อกล่าวหาว่าเป็นสายลับ สหภาพโซเวียต และถูกตีตราว่าเป็นบุรุษผู้ทรยศต่อชาติบ้านเมือง
อันเป็นมลทินแห่งชีวิต
แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวท์ เกิดในเดือนตุลาคม 2435 ณ นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา
ในครอบครัวชาวยิวที่อพยพจากประเทศลิทัวเนีย เขารับราชการในกองทัพบกอเมริกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหา วิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในขณะอายุ 31 ปี และได้ปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในปี 2473 เมื่อสำเร็จการศึกษา ไวท์ประกอบอาชีพอาจารย์สอนหนังสืออยู่เพียง
4 ปี เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจบลงที่ Lawrence College ในมลรัฐวิสคอนซิน
หลังจากนั้นแปรสภาพเป็นข้ารัฐการกระทรวงการคลังในยุครัฐบาลประธานาธิบดีแฟรงกลิน
รูสเวล์ต ทั้งนี้ตามคำชักชวนของศาสตราจารย์ จาค็อบ ไวเนอร์ (Jacob Viner)
ผู้เป็นอาจารย์
ไวท์เจริญในหน้าที่การงานภาย ในกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา จนในปี
2484 เฮนรี มอร์เกนธอ จูเนียร์ (Henry Morgenthau, Jr.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
แต่งตั้งให้ไวท์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ไวท์ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี
2489 เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีเฮนรี ทรูแมน
(Henry S. Truman) เลือกแต่งตั้งไวท์ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร (Executive
Director) องค์กรโลกบาลแห่งนี้ในฐานะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา ไวท์อยู่ในตำแหน่งเพียงปีเศษ
ก็ลาออกไปประกอบอาชีพอิสระ และถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจในเดือนสิงหาคม 2491
สิริรวมอายุ 54 ปี
แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวท์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับสหภาพโซเวียต ทั้งนี้โดยการให้การของ
เดวิด วิทเทกเกอร์ แชมเบอร์ส (David Whittaker Chambers) และ เอลิซาเบ็ธ
เทอร์ริลล์ เบ็นต์ลีย์ (Elizabeth Terrill Bentley)
แชมเบอร์สเป็นผู้ปฏิบัติการใต้ดิน ในนครวอชิงตันของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐ
อเมริกา แชมเบอร์สอ้างว่า ไวท์มีความสัมพันธ์กับสายลับ รัสเซีย โดยอ้างอิงเหตุ
การณ์อย่างน้อย 3 เหตุการณ์
เหตุการณ์แรก บอริส ไบคอฟ (Boris Bykov) สายลับรัสเซียมอบเงิน 600 ดอลลาร์อเมริกันให้แชมเบอร์สในเดือนธันวาคม
2479 เพื่อจัดซื้อพรมมอบเป็นของขวัญให้แก่ไวท์ เพื่อตอบแทนบริการ ที่ได้รับจากไวท์
เหตุการณ์ที่สอง แชมเบอร์สไปพบไวท์ที่บ้านในมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ในเดือนสิงหาคม
2480 ขอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเงินในสหภาพโซเวียต ต่อมา ไวท์ได้เขียนบันทึกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่งผ่านคน
กลางไปให้แชมเบอร์ส ซึ่งส่งต่อให้บอริส ไบคอฟอีกทอดหนึ่ง
เหตุการณ์ที่สาม ไวท์มอบบันทึก ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศให้แชมเบอร์ส
เมื่อต้นปี 2481 ซึ่งส่งต่อให้สายลับรัสเซียอีกทอดหนึ่ง ต่อมาในปี 2491 แชมเบอร์สส่งมอบเอกสารนี้ให้กระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการกล่าวหาไวท์
ในเดือนมีนาคม 2488 แชม เบอร์ส เริ่มให้ข่าวสารแก่ FBI โดยกล่าว หาว่า
ไวท์เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งสหรัฐอเมริกา และช่วยเหลือสมาชิก พรรคคอมมิวนิสต์อเมริกันให้เข้าทำงานในกระทรวงการคลัง
ในเดือนพฤศจิกายน 2488 เอลิซาเบ็ธ เบ็นต์ลีย์ ส่งมอบรายชื่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกันให้
FBI โดยมีชื่อไวท์อยู่ด้วย เบ็นต์ลีย์ทำงานเป็นสายลับรัสเซีย แม้จะมิได้รู้จักไวท์โดย
ตรง แต่เบ็นท์ลีย์กล่าวหาว่า ไวท์ส่งผ่านข้อมูลลับให้ นาธาน เกร็กกอรี ซิลเวอร์มาสเตอร์
(Nathan Gregory Silver-master) ซึ่งส่งมอบให้เบ็นต์ลีย์ โดยที่เบ็นต์ลีย์ส่งต่อให้สายลับรัสเซียอีกทอดหนึ่ง
FBI สนใจตรวจสอบประพฤติกรรมของไวท์ และปักใจเชื่อว่าไวท์เป็นสายลับรัสเซีย
จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (John Edgar Hoover) ผู้อำนวยการ FBI มีบันทึกลับถึงประธานาธิบดีทรูแมน
รายงานผลการสอบสวนเรื่องนี้ พร้อมทั้ง ส่งรายงานให้ เจมส์ ไบร์นส์ (James
F. Byrnes) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ ทอม คลาร์ก (Tom Clark)
อัยการสูงสุด รายงานลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2488 ในเวลานั้น รัฐบาลอเมริกันกำลังแต่งตั้งไวท์เป็นผู้แทนสหรัฐอเมริกาในคณะกรรมการบริหาร
(Executive Board) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว
ประธานาธิบดีทรูแมนมิได้ดำเนินการใดๆ ในการเล่นงานหรือลงโทษไวท์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง กระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกาทวีความรุนแรงตามลำดับ
และขึ้นสู่ระดับสูงสุดเมื่อ ลัทธิแม็กคาร์ธี (McCarthyism) ทรงอิทธิพลระหว่าง
ปี 2493-2497 ในเดือนมีนาคม 2490 คณะลูกขุนใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา (Federal
Grand Jury) ซึ่งแต่งตั้งโดย ศาล Southern District of New York เริ่มสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจกรรม
ของพรรคคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาในฤดูร้อนปี 2491 คณะกรรมาธิการว่าด้วยกิจกรรมอันไม่เป็นอเมริกันแห่งสภาผู้แทนราษฎร
(House of Representatives Committee on Un-American Activities = HUAC)
ก็ไต่สวนเรื่องเดียวกัน โดยมีแชมเบอร์ส และเบ็นต์ลีย์เป็นผู้ให้การสำคัญ
ไวท์เมื่อได้รับทราบรายงานข่าวการไต่สวนของคณะลูกขุนใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา
และการสอบปากคำของ HUAC ก็รู้สึกตกใจอย่างยิ่ง จึงเสนอตัวเข้าให้การต่อ HUAC
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2491 รายงานข่าวและบทวิเคราะห์ที่เป็นกลางระบุว่า
ไวท์ตอบคำถามได้หมดจดและสง่างาม ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วย ว่า HUAC เป็นกลไกสำคัญในการกล่าวหาและเล่นงานปรปักษ์การเมืองในยุค
หมอผีครองเมือง
ไวท์ขับรถกลับบ้านหลังการให้ปากคำแก่ HUAC และถูกโรคหัวใจเล่นงานอย่างรุนแรง
ไวท์ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 16 สิงหาคม 2491
ข้อกล่าวหาไวท์มิได้มาจากเดวิด วิทเท็กเกอร์ แชมเบอร์ส และเอลิซาเบ็ธ เบ็นต์ลีย์
เท่านั้น หากยังมาจากเครือข่าย ความสัมพันธ์และผู้คนที่แวดล้อมไวท์อีกด้วย
ไวท์มีเครือข่ายสัมพันธ์กับนักวิชาการและข้ารัฐการฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย
ภายในกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อนร่วมงานที่ไวท์สนิทชิดเชื้อด้วยมีชื่อเสียงเป็นมาร์กซิสต์ถึง
2 คน ได้แก่ แฟรงก์ โคว (Frank Coe) และโซโลมอน แอดเลอร์ (Solomon Adler)
มิตรสนิทของไวท์ถึง 4 คนต้องสงสัยว่าเป็นสายลับรัสเซีย ได้แก่ นาธาน เกร็กกอรี
ซิลเวอร์มาสเตอร์ (Nathan Gregory Silvermaster) ลุดวิก อุลล์ แมนน์ (Ludwig
Ullmann) ฮาโรลด์ กลาสเซอร์ (Harold Glasser) และ ยอร์จ ซิลเวอร์แมน (George
Silver-man) เครือข่ายความสัมพันธ์เช่นนี้เองทำให้ไวท์ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับรัสเซีย
ด้วย
ไวท์ถูกกล่าวหาด้วยว่า เป็นตัวการผลักดันให้รัฐบาลอเมริกัน จุนเจือสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่สองมากเกินสมควร
รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้สหภาพโซเวียตเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ในอีกด้านหนึ่ง ไวท์กลับเตะถ่วงการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลพรรคก๊กมิน ตั๋งแห่งประเทศจีน
จนเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ยึดจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2492
ได้
เมื่อไวท์ถึงแก่กรรมไปแล้ว 5 ปี ข้อกล่าวหาเรื่องไวท์เป็นสายลับรัสเซีย
ปะทุเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่งในยุคที่ลัทธิแม็กคาร์ธีทรงอิทธิพล เมื่อ เจ.
เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการ FBI และ เฮอร์ เบิร์ต บราวเนลล์ (Herbert Brownell)
อัยการสูงสุด ร่วมกันกล่าวหาในปี 2496 ว่า ประธานาธิบดีทรูแมน มิได้ลงโทษไวท์
ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเชื่อถือได้ว่า ไวท์เป็นสายลับรัสเซีย และแอบส่งเอกสารลับของทางราชการให้แก่สหภาพโซเวียต
ประธานาธิบดีทรูแมน ซึ่งในเวลานั้นออกจากตำแหน่งแล้ว ตอบโต้ว่า ประจักษ์พยานที่กล่าวหาไวท์ไม่ชัดเจน
การที่รัฐบาลทรูแมนตัดสินใจแต่งตั้งให้ไวท์ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เป็นปฏิบัติการที่ตัดขาดไวท์จากรัฐการอเมริกัน
ข้อกล่าวหาที่ว่าแฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวท์ เป็นสายลับรัสเซีย สร้างความประหลาดใจในหมู่นักศึกษาประวัติ
ศาสตร์เศรษฐกิจ ในเมื่อไวท์ได้ชื่อว่า เป็น บิดาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก
ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ซึ่งช่วยธำรงเสถียรภาพของระบบทุนนิยมโลก
ภายหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นโจมตี Pearl Harbour มอร์เก็นธอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐ
อเมริกา มอบหมายให้ไวท์ร่างข้อเสนอใน การจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศเมื่อวันที่
14 ธันวาคม 2484 ข้อเสนอเบื้องต้นปรากฏเป็นรูปเป็นร่างเมื่อต้นปี 2485 สาระสำคัญของข้อเสนอนี้
ก็คือ การจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก เพื่อทำหน้าที่จัดและดูแลระเบียบการเงินระหว่างประเทศ
ข้อเสนอซึ่งมีการขัดเกลาและพัฒนาต่อมานี้รู้จักกันในนาม White Plan
ทางอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก กระทรวงการคลังอังกฤษมอมหมายให้ จอห์น
เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) จัดทำข้อเสนอลักษณะเดียวกัน ซึ่งปรากฏรูปร่างในปี
2485 และตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2486 เคนส์เสนอให้จัดตั้ง International Clearing
Union ทำหน้าที่ประดุจธนาคารกลางของโลก โดยมีเงินตราสกุล หลักของโลก ซึ่งเคนส์ตั้งชื่อว่า
Bancor ข้อเสนอนี้รู้จักกันในนาม Keynes Plan
รัฐบาลอังกฤษและอเมริกันประชุมปรึกษาหารือกันหลายรอบ โดย ที่ไวท์มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเคนส์หลายครั้ง
จนเกิดความสนิทสนมชนิดที่เรียกชื่อเล่นกันได้ ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยึด
White Plan เป็นหลัก โดยมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ ภายหลังการประชุม
United Nations Monetary and Financial Conference ณ เมือง Bretton Woods
มลรัฐ New Hampshire ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม 2487 ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF) และธนาคารโลก (IBRD)
ตลอดช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ที่ผ่านมา ชื่อเสียงของแฮร์รี เด็กซ์เตอร์
ไวท์ มัวหมองด้วยข้อหาสายลับรัสเซีย แต่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยอดกังขามิได้ว่า
หากไวท์เป็นคอม มิวนิสต์ เหตุใดจึงทุ่มเทชีวิตในการจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศเพื่อการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยมโลก
ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโซเวียต การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบ สายลับของสหภาพโซเวียตเบ่งบาน
ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลอเมริกันพยายามถอดรหัสโทรเลขที่ส่งระหว่างมอสโคว์กับนักการทูตโซเวียตประจำสหรัฐ
อเมริกา โครงการถอดรหัสโทรเลขดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า VENONA Project ข้อมูลของ
VENONA Project เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชนนับตั้งแต่ปี 2539 เป็น ต้นมา (ดู
www.nsa.gov) นอกจากการ ศึกษาข้อมูลจาก VENONA Project แล้ว ยังมีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารลับของ
KGB อีกด้วย ผลการศึกษาระบบสายลับของสหภาพโซเวียตจากแหล่งข้อมูลทั้งสองนี้
ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวท์ เป็นสายลับรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม เจมส์ เอ็ม. บัฟตัน (James M. Boughton) แห่ง St. Antonys
College มหาวิทยาลัยออกซ์ ฟอร์ด พยายามประมวลข้อกล่าวหาบรรดามีเกี่ยวกับแฮร์รี
เด็กซ์เตอร์ ไวท์ พร้อมทั้งตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลทั้งมวล แล้วสรุปว่า
ข้อกล่าวหาไวท์ในฐานะสายลับรัสเซีย ยังไม่มีประจักษ์พยานอันเป็นข้อยุติที่ปราศจากข้อกังขา
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า วิศวกร ผู้สร้างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นคอมมิวนิสต์
หมายเหตุ 1. บันทึกความทรงจำที่กล่าวหาว่า ไวท์เป็นสายลับรัสเซียดู Elizabeth
Bent-ley, Out of Bondage. New York : Devin-Adair, 1951. David Whittaker
Chambers, Witness. New York : Random House, 1952.
2. หนังสือที่พยายามนำเสนอชีวประวัติของไวท์ด้วยความเป็นกลาง ดู David
Rees, Harry Dexter White : A Study in Paradox. New York : Coward. McCann,
and Geoghagan, 1973.
3. หนังสือที่ศึกษาระบบสายลับของสหภาพโซเวียต จากข้อมูลของ VENO-NA Project
และเอกสารลับของ KGB ซึ่งบ่งชี้ว่า แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวท์ ทรยศต่อชาติ
ดู Christopher Andrew and Vasili Mitrokhin, The Sword and the Shield :
The Mitrokhin Archive and the Secret History of KGB. New York : Basic
Books, 1999. John Earl Haynes and Harvey Klehr, VENONA : Decoding Soviet
Espionage in America. New Haven : Yale University Press, 1999. Nigel West,
VENONA : The Greatest Secret of Cold War. London : HarperCollins, 1999.
Allen Weinstein and Alexander Vassiliev, The Haunted Wood : Soviet Espionage
in America-The Stalin Era. New York : Random House, 1999.
4. ความพยายามในการฟอกชื่อเสียงของไวท์ ดู James M. Boughton, "The Case
Against Harry Dexter White : Still Not Proven." IMF Working paper WP/00/149
(August 2000) ดู www.imf.org