|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"จาการ์ตาน่าเบื่อ...รถติด ไม่มีอะไรน่าสนใจ" เป็นคำพูดที่ผู้เขียนได้ยินจากเพื่อนที่เคยไปเยือนนครหลวงของประเทศที่มีประชากรกว่า 228 ล้านคนมาแล้ว
แต่อย่างที่หนุ่มสกอตแลนด์รายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียมานาน เขียนไว้ใน Blog ของเขาว่า "ยิ่งอยู่ที่นี่นานเท่าไหร่ก็ยิ่งพบกับสิ่งที่คาดไม่ถึงเล็กๆ น้อยๆ มากมายที่ผู้คนมักมองข้ามเสมอ"
ผู้เขียนก็เช่นกัน กลับพบว่าชีวิตและความเป็นไปบนท้องถนนในกรุงจาการ์ตานั่นล่ะเป็นสิ่งที่น่าสนใจของเมืองนี้
สิ่งแรกที่โดดเด่นในกรุงจาการ์ตาแต่นักท่องเที่ยวมักไม่ค่อย ให้ความสนใจก็คือระบบรถเมล์ด่วน (Bus Rapid Transit: BRT)
อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกๆ ในทวีปเอเชียที่นำระบบรถเมล์ด่วนเข้ามาใช้ ทั้งในเมืองหลวงคือกรุงจาการ์ตา และเมืองสำคัญๆ อีกหลายแห่ง เช่น ยกยาการ์ตา (Yokyakarta) เมืองแห่งเจดีย์โบโรบูดู (Borobudur) อันเลื่องชื่อ
อาจผิดคาดไปสักนิด ถ้าจะบอกว่าเมืองที่นำระบบรถเมล์ด่วนมาใช้เป็นครั้งแรกของโลกไม่ได้อยู่ในยุโรปหรืออเมริกา
แต่กลับเป็นเมืองคุริทิบา (Curitiba) แห่งประเทศบราซิล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบของเมืองที่มีการวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ระบบรถเมล์ด่วนเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีความสะดวกรวดเร็วพอๆ กับรถไฟฟ้าแต่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เนื่องจากสามารถ ใช้เครือข่ายถนนหนทางที่มีการสร้างไว้แล้ว คล้ายกับระบบรถราง ในสมัยก่อน แทนการที่จะต้องสร้างรางรถไฟใหม่ทั้งหมด
ดังนั้นเพียงแค่กั้นเลนบนท้องถนนเพิ่มขึ้นสำหรับรถเมล์ด่วน โดยเฉพาะ และสร้างสถานีรอรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น รถเมล์ด่วนก็สามารถวิ่งรับส่งผู้คนได้เป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหา รถติด เพราะแม้จะยังต้องจอดรอสัญญาณไฟจราจรเหมือนกับรถคันอื่นๆ บนท้องถนน แต่รถเมล์ด่วนก็มีสิทธิได้ทางไปก่อน เมื่อสัญญาณไฟเขียวขึ้น
ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าระบบรถไฟฟ้ามาก ทำให้ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้นำระบบรถเมล์ด่วนมาใช้ ทั้งในเมืองหลวงของตนและเมืองสำคัญใหญ่ๆ ของตน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งประเทศในแถบละตินอเมริกา เช่น เม็กซิโก (3 เมือง) กัวเตมาลา (1 เมือง) โคลอมเบีย (7) บราซิล (9) ชิลี (2) เอกวาดอร์ (2) เวเนซุเอลา (5) และเปรู (1)1
แต่ระบบของรถเมล์ด่วนที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบันคือระบบ TransMilenio ของกรุงโบโกตา (Bogota) เมืองหลวงของประเทศโคลอม เบีย ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากระบบรถเมล์ ด่วนของเมืองคูริทิบานั่นเอง
TransMilenio มีทั้งหมด 6 สาย ความยาว 84 กิโลเมตรดำเนินการโดยบริษัทเอกชนทั้งหมด 6 บริษัทที่รวมกลุ่มและประสานงานกัน ว่ากันว่ารถเมล์ด่วนของ Bogota นั้นวิ่งเร็วกว่าระบบรถเมล์ด่วนของนครนิวยอร์กถึงเกือบ 3 เท่า ความเร็วเฉลี่ย ของรถนั้นสูงถึง 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและ บางเส้นทางสามารถวิ่งได้เร็วถึง 40 กม./ชม. สามารถขนส่งผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 20,000 คนต่อชั่วโมงต่อเส้นทางในช่วงชั่วโมงเร่งรีบ และใน 1 วันสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 1.45 ล้านคน ทั้งนี้ การเดินทางของรถเมล์ ด่วนทุกคันจะอยู่ในความดูแลของศูนย์ควบ คุมการจราจรของ TransMilenio ซึ่งในชั่วโมงเร่งรีบทางศูนย์จะต้องควบคุมดูแลรถเมล์ถึงประมาณ 1,000 คันต่อชั่วโมง2
สิ่งที่ทำให้ TransMilenio เป็นที่โจษขานในบรรดาระบบรถเมล์ด่วนทั่วโลก คือการใช้ระบบนำรถเมล์เล็ก (หรือที่เรียกว่า Feeder Bus) ออกรับผู้โดยสารตามตรอกซอกซอย และถนนสายย่อยๆ และนำผู้โดย สารไปส่งตามสถานีที่รถเมล์ด่วน TransMilenio วิ่งผ่าน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ผู้โดย สารจะจ่ายค่าโดยสารเฉพาะเมื่อถึงสถานีของรถเมล์ด่วนเท่านั้น ทำให้ช่วยประหยัดเวลาในการเก็บค่าโดยสารได้มาก โดยราคา ค่าโดยสารต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 50 บาท และไม่มีการยกเว้นหรือลดราคาให้แก่ผู้โดย สารรายใด นอกจากเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีเท่านั้นที่จะให้ขึ้นฟรี ทั้งนี้ทาง TransMilenio กล่าวว่าการเก็บค่าโดยสารในอัตราดังกล่าว นั้นก็เพื่อที่จะให้บริการของ TransMilenio สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐ
นอกจากนี้ทาง TransMilenio ยังมีการสร้างโรงเก็บรถจักรยานสำหรับผู้ที่ขี่จักรยานมาขึ้นรถเมล์ด่วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเดินทาง โดยใช้จักรยานมากขึ้นเป็นการลดมลภาวะ และช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างได้ ผล โรงเก็บจักรยานแต่ละแห่งสามารถรอง รับจักรยานได้ถึง 750 คัน ใช้ระบบแขวนจักรยานไว้กับรางกลางอากาศเพื่อประหยัด พื้นที่ ปัจจุบัน TranMilenio จัดสร้างโรงเก็บจักรยานทั้งหมด 4 แห่ง คือที่สถานีปลายทาง 3 แห่งและสถานีหลักอีก 1 แห่ง
ระบบรถเมล์ด่วนของจาการ์ตาหรือที่เรียกว่า TransJakarta (แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า Busway) นั้น เริ่มเปิดใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2004 เพื่อแก้ปัญหาการขนส่งมวลชนของนครหลวงที่มีประชากรหนาแน่น โดยเปิดเส้นทาง Koridor I Blok M-Kota เป็นเส้นแรก ซึ่งวิ่งเส้นเหนือ-ใต้ผ่าใจกลางย่านธุรกิจหลักของกรุงจาการ์ตา ที่คลาคล่ำไปด้วยห้างสรรพสินค้า ธนาคารและโรงแรมหรู ปัจจุบัน Trans-Jakarta ดำเนินการทั้งหมด 8 เส้นทางทั่วเมืองหลวง ความยาวทั้งสิ้น 124 กิโลเมตร ขนส่งผู้โดย สารได้ประมาณวันละ 230,000 คน และใน ชั่วโมงเร่งรีบสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 4,000 คนต่อเส้นทาง สำหรับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการนั้นเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องทุกปี จาก 38.8 ล้านคนในปี 2006 เป็น 61.4 และ 74.6 ล้านคนในปี 2007 และ 2008 ตามลำดับ3
ทั้งนี้ด้วยค่าโดยสารเพียงเที่ยวละ 3,500 รูเปียตลอดเส้นทาง (ประมาณ 12 บาท) กอปรกับความรวดเร็ว สะดวกสบาย เมื่อเทียบกับรถเมล์ขนาดเล็กตัวรถบุโรทั่งสายอื่นๆ อย่างเช่นรถเมล์เล็กสีเขียวในบ้าน เรา ทำให้ TransJakarta หรือ Busway เป็นที่นิยมมากในหมู่พลเมืองจาการ์ตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานที่ต้องการเดินทางไปถึงที่ทำงานอย่างรวดเร็ว
แต่หากเทียบ TransMilenio ของโบโกตากับ TransJakarta ของจาการ์ตาแล้ว ต้องสรุปว่าแตกต่างกันอย่างเทียบกันไม่ติด
ทั้งด้านความรวดเร็ว ความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เนื่องจากรถเมล์ของ TransMilenio นั้น เทียบท่าได้แนบสนิทชิดกับขอบสถานี ทำให้คนพิการสามารถเข็นรถเข็นเข้าในตัวรถได้เองอย่างรวดเร็ว ผิดกับรถเมล์ของ TransJakarta ที่จอดห่างจากขอบสถานีประมาณ 1 ช่วงก้าว ทำให้การเดินเข้า-ออกระหว่างสถานีกับตัวรถนั้นอันตรายพอสมควร ดังนั้นคนพิการจึงไม่สามารถใช้บริการรถเมล์ด่วนได้อย่างสะดวกนัก นอกจากนี้ แต่ละสถานีไม่มีการติดตั้งลิฟต์ คนพิการจะต้องเข็นรถเข็นขึ้นทางเดินที่ลาดชันเพื่อข้ามฟากจากฝั่งหนึ่งไปยังตัวสถานีที่ตั้งอยู่ใจกลางถนน ทำให้เป็นไปได้ยากที่คนพิการจะเดินทางกับ TransJakarta ด้วยตนเอง อีกทั้งการยกพื้นของสถานีให้สูงกว่าระดับถนนมาก และประตูของบางสถานีก็ไม่ได้ปิดตลอดเวลาระหว่างรอรถ ทำให้โอกาสที่ผู้โดยสารหรือเด็กๆ จะพลาดพลั้งตกจากขอบสถานีที่สูงลงสู่บนพื้นถนนนั้นมีอยู่ไม่น้อย
ด้วยความที่รถเมล์ของ TransJakarta นั้นมักมีเพียงตู้เดียว ในขณะที่รถของ TransMilenio มี 2-4 ตู้ ดังนั้น ความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวของ TransJakarta จึงมีจำกัด ทำให้รถทุกคันของ TransJakarta จะต้องมีพนักงานดูแลประจำ บนรถ คอยนับจำนวนผู้โดยสารที่จะสามารถ ขึ้นรถได้ต่อสถานี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วขึ้นได้เพียง 10 คนต่อสถานีเท่านั้น ในชั่วโมงเร่งรีบอาจขึ้นได้เพียง 2-3 คน เพราะพนักงาน มักจะกันไม่ให้ผู้โดยสารจากแต่ละสถานีขึ้นรถมากเกินไป เพื่อเผื่อพื้นที่ภายในรถให้แก่ผู้โดยสารป้ายถัดๆ ไป ทำให้บางครั้ง ผู้โดยสารต้องรอรถถึง 6-7 คันกว่าจะได้ขึ้น บางครั้งรถมาช้าขาดความต่อเนื่อง การรอเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมงจึงเป็นเรื่องปกติ
เปรียบเทียบกับ TransMilenio ซึ่งจัดให้มีรถหลายประเภทวิ่งคละกัน เช่นรถด่วนมาก (Express Services) ซึ่งจะจอดรับผู้โดยสารเพียงบางสถานีหลักๆ เท่านั้นและรถทั่วไป (Ordinary Services) ที่จอดรับผู้โดยสาร ทุกสถานี รวมทั้งมีรถ Feeder bus ขนาดเล็กที่ขนผู้โดยสารจากตรอกซอกซอยและถนนสายย่อยๆ มายังสถานีของรถเมล์ด่วนทำให้ TransMilenio สามารถ ขนส่งผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมากต่อเที่ยว
นี่เป็นบทเรียนที่ทาง TransJakarta อาจต้องเรียนรู้เพื่อนำไปปรับปรุงระบบรถเมล์ด่วนของตน
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียด้วยกัน คงต้องยกให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำในด้านการนำระบบรถเมล์ด่วนมาใช้ เพราะปัจจุบันอินโดนีเซียมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ขนส่งมวลชนแล้วถึง 6 เมือง และกำลังก่อสร้างในอีก 1 เมืองคือเมือง Medan เทียบกับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอิสราเอล ซึ่งนำระบบนี้มาใช้ในประเทศของตนเพียงประเทศละ 1 เมืองเท่านั้น และประเทศไทยที่แม้จะมีการก่อสร้างสถานีและเส้นทางไว้แล้วหลายจุดในกรุงเทพฯ แต่ก็ยังไร้วี่แววว่าจะเปิดใช้บริการได้เมื่อไหร่
ยกเว้นแต่ประเทศจีนที่ดูจะจริงจัง กับการนำระบบ BRT มาใช้มาก เราสามารถ พบระบบรถเมล์ด่วนในเมืองสำคัญๆ หลาย เมืองของจีน เช่น ปักกิ่ง ฉางโจว ฉงชิ่ง ต้าเลี่ยน หางโจว จี่หนาน เซียะเหมิน และเฉิงโจว4
รากเหง้าของปัญหาการจราจรของจาการ์ตานั้นไม่ได้ต่างจากกรุงเทพฯ บ้านเรานัก เพราะเป็นผลพวงมาจากนโยบายของรัฐสมัยก่อนๆ ที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ ส่วนบุคคล ก่อให้เกิดการสร้างทางด่วนและ ถนนหนทางมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รถยนต์สำหรับคนกลุ่มน้อย แทนที่จะมุ่งหน้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสำหรับประชาชนส่วนใหญ่
ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มจริง จังที่จะแก้ปัญหาจราจรของตนเพิ่มขึ้นมาอีก ระดับหนึ่งโดยการนำระบบ 3 in 1' มาใช้
ระบบ 3 in 1' คือกฎที่บังคับให้รถ ทุกคันที่ต้องการใช้ถนนเส้นหลักๆ ของกรุง จาการ์ตาในชั่วโมงเร่งรีบคือเวลา 7.30-10.00 น. และ 16.30-19.00 น. จะต้องมีผู้โดยสาร นั่งไปด้วยทั้งหมดอย่างน้อย 3 คน (รวมคนขับด้วย) ในรถ 1 คัน
ข้อกำหนดดังกล่าวก่อให้เกิด "อาชีพ พิเศษ" ในหมู่คนยากคนจนข้างถนนของกรุง จาการ์ตา คือการอาสานั่งไปกับรถยนต์ที่ต้องการใช้ถนนสายหลักๆ ในชั่วโมงต้องห้ามแต่มีผู้โดยสารไม่ครบ 3 คน ซึ่งผู้อาสา จะนั่งไปในรถจนกว่าจะพ้นเขต 3 in 1' จึงจะถูกปล่อยลงข้างทางและจะได้รับค่าตอบแทนเพียงไม่กี่พันรูเปียต่อเที่ยว แล้วแต่น้ำใจของเจ้าของรถแต่ละคัน (1,000 รูเปียเท่ากับประมาณ 3.50 บาท)
อาชีพที่ว่านี้บางครั้งอาจไม่คุ้มกับเงิน ที่ได้ เพราะคนยากคนจนและเด็กข้างถนน เหล่านั้นต้องใช้เงินที่ได้มาเป็นค่ารถกลับบ้านเอง และอาจต้องเสี่ยงต่อความปลอด ภัยในชีวิตของตน หากเจอคนขับรถประเภท จิตวิตถารที่ต้องการทำมิดีมิร้ายกับตนเข้า
"อาชีพข้างถนน" อีกอาชีพหนึ่งที่ผู้เขียนค้นพบโดยบังเอิญระหว่างเดินอยู่บนท้องถนนของกรุงจาการ์ตาในวันฝนตก คือบริการให้ "เช่า" ร่ม โดยในช่วงฝนตก เด็กๆข้างถนนจำนวนมากมายจะมายืนดักรอผู้คน ตามหน้าตึก สถานที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า หรือตามสถานีรถเมล์ด่วนต่างๆ พร้อมกับร่มคันใหญ่ในมือ ซึ่งตนพร้อมที่จะยื่นให้แก่ผู้คนทั้งหลายที่กำลังเดินทางแต่ไม่ได้พกร่มมาด้วย โดยจะได้ค่าตอบแทนเพียงไม่กี่พันรูเปียเท่านั้นอีกเช่นกัน และผู้เช่าร่มบางคนก็ไม่ค่อยมีน้ำใจ ได้แต่ถือร่มบังศีรษะของตน แต่กลับปล่อยให้เด็กเจ้าของร่มต้องเดินตากฝนเปียกปอนไปทั้งตัวและบางครั้งก็ลืมคืนร่มให้แก่เด็ก ทำให้เด็กขาด เครื่องมือประกอบอาชีพไปในบัดดล
ชีวิตของคนจนและเด็กๆ ข้างถนนที่ โลดแล่นขนานไปกับเส้นทางของรถเมล์ด่วน TransJakarta ท่ามกลางมลพิษและปัญหา มากมายของเมืองหลวง เป็นสิ่งที่ทำให้จาการ์ตามีอะไรน่าค้นหาอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้เขียน
บางครั้งเมืองที่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว โดดเด่น ไร้ระเบียบ มีแต่ความแออัดยัดเยียด และไม่ศิวิไลซ์ดังเมืองในเทพนิยายของยุโรป ก็สามารถเป็นเมืองที่มีความน่าสนใจขึ้นมาได้
เพราะภายใต้ความยุ่งเหยิงของชีวิตนั้น มีเรื่องราวมากมายที่รอให้ผู้คนเข้ามาค้นหา
คุณผู้อ่านว่าไหมล่ะ
|
|
|
|
|