|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การเจริญเติบโตของ True ทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "ศุภชัย เจียรวนนท์" มีส่วนร่วมสร้างมากับมือ แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะศุภชัยนามสกุล "เจียรวนนท์" หรือเป็นเพราะว่า "ฝีมือ" ของเขากันแน่?
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น วัย 43 ปี เขาเป็นผู้บริหารหนุ่มที่หลายๆ คนอิจฉาเพราะเกิดมาในตระกูลดัง และยังมีเส้นทางการทำงานที่ถูกกำหนดไว้อย่างสมบูรณ์แบบ บวกกับหน้าตาดี ยิ่งเสริมให้เขามีบุคลิกโดดเด่น
แม้ว่าศุภชัยจะเป็นลูกชายของธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้สร้างธุรกิจให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อย่างยิ่งใหญ่ในประเทศไทย และขยายอาณาจักรไปต่างประเทศภายใต้แนวคิดครัวของโลก จึงทำให้หลายต่อหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า เขามีทุกอย่างได้ เพราะบิดา สร้างไว้ให้?
แต่ภาพของศุภชัยใน พ.ศ.นี้ ยากจะปฏิเสธได้ว่าเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้บริหารรุ่นใหม่ นักธุรกิจหนุ่มที่ยืนอยู่แถวหน้าลำดับต้นๆ ของเมืองไทย
บทบาทความเคลื่อนไหวของเขาจะถูกจับตามองทุกครั้ง ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งสำคัญที่สุดการเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางโทรคมนาคมไทยผ่านหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน
ประสบการณ์การทำงาน 17 ปีในกลุ่มธุรกิจทรูได้สร้างศุภชัยให้มีบุคลิกเป็นนักบริหารที่มีความมั่นใจ ตัดสินใจเร็ว ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่มีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับผู้อาวุโส
"คุณศุภชัยเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ อดทนสูง ทำงานหนัก แม้แต่เสาร์-อาทิตย์ก็ไม่หยุด เพราะการบริหารธุรกิจกลุ่มทรูไม่ใช่เรื่องง่าย" ผู้บริหารรายหนึ่งที่ร่วมงานกับศุภชัยอย่างใกล้ชิดเล่าให้ ผู้จัดการ 360 ํ ฟัง
บุคลิกภายนอกที่เปลี่ยนไปผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะการแต่งกายด้วยเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ในงานเปิดตัวของกลุ่มทรูในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ศุภชัยบอกว่าเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่ผู้บริหารในอุตสาหกรรมสื่อสารต้องมีวัฒนธรรมแต่งสูท ผูกไท และมีบุคลิกเคร่งขรึม
ความอุตสาหะของเขาทำให้ผ่านเหตุการณ์สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้บริหารปรับโครงสร้างหนี้กว่า 3 หมื่นล้านในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 หรือแม้แต่การถอนหุ้นของกลุ่มออเรนจ์ ประเทศอังกฤษ ในยุคที่ธุรกิจต้องเร่งขยายแผน การลงทุน การทำงานที่ผ่านมา ศุภชัยถูกพิสูจน์ฝีมืออยู่หลายครั้งหลายครา
ศุภชัยโชคดีที่ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง เขามีที่ปรึกษาที่ดี โดยเฉพาะบิดาของเขา ธนินท์ เจียรวนนท์ ปัจจุบันนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการของทรู แม้แต่ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับศุภชัยตั้งแต่อายุ 25 ปี ซึ่งในตอนนั้นบริษัทยังใช้ชื่อว่า เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในทุกวันนี้
ในขณะที่ศุภชัยบอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ ว่า การที่กลุ่มธุรกิจทรูขยายกิจการได้จนถึงทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากเขาแต่เพียงผู้เดียว นอกจากจะมีบิดาของเขาและ ดร. อาชว์แล้วยังมีทีมงานที่ทำวันต่อวัน โดยเฉพาะทีมงานผู้บริหารระดับผู้อำนวยการจำนวน 40 คน มีผู้บริหารระดับปฏิบัติการอีก 400-500 คนที่ช่วยผลักดันเป็นองค์กรที่มีพลังขับเคลื่อนสูงด้วยพนักงาน 15,000 คน
กลุ่มทรูเป็นองค์กรดำเนินธุรกิจสื่อ สารโทรคมนาคมครบวงจรตั้งแต่โทรศัพท์ บ้าน โทรศัพท์มือถือ "ทรูมูฟ" บริการเคเบิล ทีวี "ทรูวิชั่นส์" บริการอินเทอร์เน็ต "ทรู ออนไลน์" รวมไปถึงเปิดร้านอินเทอร์เน็ตควบคู่กับขายกาแฟ "ทรู คอฟฟี่"
บริการที่หลากหลายกลายเป็นจุดแข็งของทรูสามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องใช้บริการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเป็นโทรศัพท์มือถือ บริการอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ บ้าน หรือเคเบิลทีวี หรือลูกค้าบางคนอาจแทบไม่รู้ตัวก็ได้ว่าขณะนี้ได้ใช้บริการของทรูครบเกือบทุกอย่างไปแล้วก็เป็นได้
กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ของทรูอยู่ในเมือง และใช้ชีวิตในรูปแบบไลฟ์สไตล์ สอดคล้องกับผลโหวตของผู้อ่านนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ จำนวนร้อยละ 75 อาศัยอยู่ในเมือง และมีอายุระหว่าง 30-40 กว่าปี ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับศุภชัย
ยุทธศาสตร์ convergence ของกลุ่มทรูกลายเป็นกรณีศึกษาที่ขายบริการให้ลูกค้าในรูปแบบแพ็กเกจ เป็นกลยุทธ์การตลาดของทรู มีเป้าหมายเข้าถึงครัวเรือนในประเทศไทย เจาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้ชีวิตอย่างมีสไตล์ทันสมัยและเป็นตัวของตัวเอง
ภาพลักษณ์ของกลุ่มทรูจึงกลายเป็นองค์กรขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างเช่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับไอโฟนเปิดตัวให้บริการทดลอง 3G จนสร้างปรากฏการณ์ talk of the town ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แม้ว่าเทคโนโลยี 3G ยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะยังไม่ได้รับ ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แต่ผู้ให้บริการสื่อสาร ในเมืองไทย ไม่ว่าทรู เอไอเอส ดีแทค เปิดทดลองให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์มากว่าหนึ่งปี แม้แต่ค่ายทีโอทีก็เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552
การเปิดให้บริการ 3G จะไม่มีความหมายเลย หากไม่มีคอนเทนต์มารองรับการให้บริการ เพราะเทคโนโลยี 3G เปรียบเสมือนถนนทางด่วนที่ให้ข้อมูล ภาพ และเสียง วิ่งด้วยความเร็วสูงมากขึ้น แต่ถ้าหากไม่มีรถที่เปรียบเหมือนข้อมูลเข้ามาวิ่ง ผู้ใช้บริการก็อาจไม่สนใจที่จะใช้ทางด่วนสายนี้
เทคโนโลยี 3G เป็นสิ่งที่กลุ่มทรูรอคอยมานาน เพราะเทคโนโลยีนี้จะไม่เป็นเพียง 3G เท่านั้นแต่เทคโนโลยีสามารถขยายไปถึงระดับ 4G ได้เลย และเมื่อถึงวันนั้นการสื่อสาร ที่รวดเร็วด้วยเทคโนโลยีบรอดแบรนด์จะเป็นการปลดปล่อยการสื่อสารของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
เมื่อเทคโนโลยีที่รวดเร็วจะทำให้ข้อมูล (คอนเทนต์) เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้มากขึ้น และ ทรูได้กำหนดยุทธศาสตร์ในส่วนของคอนเทนต์ไว้ล่วงหน้าไปแล้วหลายปี โดยเฉพาะคอนเทนต์ในทรู วิชั่น ปัจจุบันมี 110 ช่อง ส่วนหนึ่งสามารถผลิตรายการได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการอาคาเดมี่ แฟนเทเซีย ประกวดร้องเพลง เป็นคอนเทนต์ที่สร้างความฮือฮา อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ได้ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ทำให้ทรูสามารถอ้างได้ว่าเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย และคอนเทนต์ที่อยู่ในมือมีมากกว่าความต้องการของลูกค้าเลยทีเดียว
แม้ว่าทรูจะให้บริการอย่างครบวงจร แต่ผลกำไรและผลประกอบการเมื่อปี 2551 ต้องสะดุดลง เพราะขาดทุน 2,355 ล้านบาท จากรายได้ 61,891 ล้านบาท ผลเนื่องมาจากมีปัญหาทางการเมืองและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่ในปี 2552 ใน 9 เดือนที่ผ่านมา ผลกำไรเริ่มดีขึ้นเป็น 1,192 ล้านบาท และมีรายได้ 46,467 ล้านบาท
การขับเคลื่อนกลุ่มทรูภายใต้การดูแลของศุภชัยมากว่าทศวรรษ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้แสดงฝีมือมาได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะเขาได้รับโอกาส
"ผมได้รับโอกาสที่ดี เป็นโอกาสที่คนอื่นไม่มี ทำโอกาสนั้นให้เต็มที่ สร้างโอกาสให้มีคุณค่า จะทำให้เรามีคุณค่าไปด้วย"
ดูเหมือนว่าศุภชัยตระหนักดีว่าเหตุผลที่เขาได้มาเป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจทรู เป็นเพราะบิดามอบโอกาสให้เขา และสิ่งที่ทำให้เขาทำงานได้จนถึงทุกวันนี้เป็นเพราะฐานครอบครัวที่เขาต้องการดูแลบิดามารดา พี่น้องของเขาให้ดี รวมถึงภรรยาและลูกอีก 3 คน ที่อยู่ในวัยเรียนซึ่งมีอายุ 13 ปี 8 ปีและ 5 ปี ตามลำดับ เขาจึงสนุกกับงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่ศุภชัยปรารถนาจะได้เห็นธุรกิจกลุ่มทรูในอีก 5 ปีข้างหน้า เริ่มจากบริการของทรูที่มีอยู่ เปรียบเหมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เข้าถึงทุกครัวเรือนในประเทศไทย เพราะหมายถึงคนไทยสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูล
แต่ความหวังของศุภชัยไม่ได้หยุดแค่เพียงภายในประเทศแล้วในตอนนี้ เพราะความฝันของเขาได้ก้าวข้ามไปเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคและตลาดโลก เป็นสิ่งที่เขาปรารถนาจะเห็นในช่วงชีวิตของเขา
มีผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่า ศุภชัยจะไม่เป็นเพียง Role Model ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เขาจะยังครองตำแหน่งนี้ไปอีกนาน เพราะวัย 43 ปีของเขาเป็นช่วงที่เขากำลังยืนอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์
|
|
|
|
|