"คุณนึกดูซิทำอย่างนี้ได้ยังไง เขาประชุมกันวันที่ 27 ธันวาคม วันที่
28 ธันวาคม เพื่อนคู่คิดก็ปฏิบัติการเลย ตัดวงเงิน CBD ล้างตัวแดง ผมก็อ้วกน่ะซิ"
พ่อค้าระดับกลางคนหนึ่งถ่ายทอดให้ฟังอย่างชนิดที่เรียกว่าน้ำลายเป็นฝอยกระเด็นออกมาด้วยความแค้น
ตั้งแต่ปลายธันวาคม 2526 มาจนถึงกุมภาพันธ์ 2527ใครก็ตามถ้าไม่ใหญ่จริงใช้บริการธนาคารกรุงเทพแล้วมือเติบใช้เกินวงเงินที่เขาให้
ต่างพากันหน้ามืดเป็นลมกลางแดดตามๆ กัน
"ความจริงมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกมาตั้งแต่ต้น ลูกค้ามีวงเงินแค่ไหนก็ควรใช้แค่นั้นการใช้เกินมันก็ไม่ถูกอยู่แล้ว"
เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพระดับสูงคนหนึ่งชี้แจงให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
ความโกลาหลในเรื่องนี้มีมากพอสมควรและมีผลกระทบเข้าสถาบันการเงินอื่นด้วยเพราะส่วนแบ่งตลาดของธนาคารกรุงเทพ
มีกว่า 30% ก็เป็นของแน่นอนว่าใครที่ค้าขายกับลูกค้าธนาคารกรุงเทพก็ต้องอ่วมอรทัยไปเหมือนกัน
"ผมไม่ได้ใช้บริการของธนาคารกรุงเทพ เงินผมไม่ฝืด แต่มาเจอเช็คลูกค้าผมซึ่งใช้ธนาคารกรุงเทพเด้งหลายๆ
ราย ก็เล่นเอาผมหน้ามืดเหมือนกัน" พ่อค้าอีกรายหนึ่งชี้แจงให้ฟัง
แท้จริงแล้วธนาคารกรุงเทพ กำลังประสบปัญหาของเงินกองทุนกับอัตราเสี่ยง
ซึ่งใกล้จะถึงเส้นอันตราย ก็เลยตัดสินใจตัดสินเชื่อที่เคยอะลุ้มอล่วยกันว่าเกินได้บ้าง
พร้อมกับเร่งการเพิ่มทุนเป็นการใหญ่เพื่อให้มีความสามารถปล่อยได้อีกหลายพันล้านบาท
"ตอนประชุมผู้จัดการสาขากัน เขาก็วางเป็นนโยบายที่สำคัญหลักๆ ว่า
หนึ่ง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเงินเกินหนึ่งบาทก็ไม่ได้ สอง อำนาจผู้จัดการในเรื่องสินเชื่อถูกเรียกกลับหมด
สาม จะเอาเช็คแลกเพื่อล้างตัวแดงก็ไม่ได้ และสี่ สัญญาเบิกเกินบัญชีหมดเมื่อไรก็ให้พิจารณาใหม่เป็นรายๆ
ไป ไม่มีการต่อโดยอัตโนมัติ" เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพที่ทำงานด้านสินเชื่อแย้มให้ฟัง
ผลกระทบของการบีบสินเชื่อครั้งนี้ก็มีอยู่ทั่วไปและสามารถจะรู้สึกกันได้ในวงการค้า
บางรายถึงกับปิดและเลิกใช้บริการธนาคารกรุงเทพหันไปใช้บริการธนาคารอื่น แต่ธนาคารกรุงเทพก็ไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนเท่าไรนัก
เพราะจำนวนลูกค้าที่มากและความใหญ่ที่ใหญ่กว่าคนอื่นหลายๆ เท่าทำให้ลูกค้าหลายรายที่อยากจะตีจากไปก็ตีจากไปไม่ได้ก็ต้องทนหวานอมขมกลืนไป
"ผมว่ามาตรการนี้กลับจะเป็นผลดีกับธนาคารกรุงเทพเสียอีก เพราะเป็นบทเรียนทางการเงินที่ลูกค้าต้องเริ่มมีวินัยกันมากขึ้นและหลังจากที่สถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติแล้ว
ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพก็คงจะต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้นไม่ให้มีการใช้สินเชื่อเกินวงเงิน"
เจ้าหน้าที่สินเชื่อคนเดิมกล่าวเสริม
แรงกระทบบางแห่งกระจายไปถึงกับมีการรวมตัวกันในระหว่างลูกค้าธนาคารกรุงเทพ
เช่น บรรดาพ่อค้าพลอยที่จันทบุรี ถึงกับทำแถลงการณ์ออกมาตอบโต้เรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพแก้ไขภาวะวิกฤตนี้โดยด่วน
และนับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ธนาคารที่ลูกค้ารวมตัวกันออกแถลงการณ์
ธนาคารกรุงเทพเองก็ไวต่อเหตุการณ์นี้ ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารก็ออกมาปลอบใจทันควันว่าอดทนจนถึงหลังตรุษจีนนี้ก็คงจะดีขึ้น
เพราะธนาคารมีเงินสำรองไว้หลายพันล้านบาทสำหรับช่วยผ่อนคลายเรื่องสินเชื่อแล้ว
ดร.อำนวยก็ยังตบท้ายด้วยการแนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้ term loan จะดีกว่า
เสียงของแถลงการณ์เพิ่งจะหมดไปหมาดๆ แชร์ทางพัทลุงก็ล้มครืนเป็นเงินกว่า
200 ล้านบาท เหตุผลก็เพราะธนาคารสั่งให้ลูกค้ามาเคลียร์บัญชีปิดโอดีแล้วสัญญาว่าจะให้เปิดใหม่แต่ก็ไม่ยอมเปิดและให้สินเชื่อ
ความวุ่นวายทางการเงินก็เกิดขึ้นในพัทลุง
นอกจากนี้ดอกเบี้ยแลกเช็คนอกระบบก็พลอยกระโจนขึ้นเป็นร้อยละ 3 ต่อเดือน
หรือ 36% ต่อปี
สำหรับลูกค้ารายใหญ่ๆ ของธนาคารกรุงเทพ ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนเท่าใดนักเพราะพวกนี้เป็นลูกค้าหลักที่ธนาคารต้องเก็บเอาไว้
"ปัญหาเรื่องการให้เกินหรือไม่ให้เกินนั้น ผมว่าทุกคนไม่แคร์ แต่ถ้าคุณจะทำอะไร
คุณให้โอกาสชาวบ้านเขาตั้งตัวหน่อยได้ไหมล่ะ ไม่ใช่ประชุมวันที่ 27 และทำกันในวันที่
28 เลย ทำอย่างนี้ธุรกิจขนาดเล็กกับขนาดกลางก็ตายกันหมด เหมือนกับจะส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดกันในหมู่ลูกค้าขนาดใหญ่"
พ่อค้าเจ้าเก่าที่กระอักเลือดกับธนาคารกรุงเทพพูดต่อ
ส่วนนโยบายธนาคารชาติที่บีบไม่ให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเกินกว่า 18% ต่อปี
ก็ยิ่งเหมือนเวรกรรมที่ซ้ำเติมบรรดาพ่อค้าทั้งหลายไปอีกชั้นหนึ่ง
ใครๆ ก็ว่า ปี 2526 เป็นปีแห่งความซวยในเรื่องการเงิน และใครก็ตามที่หวังว่า
2527 คงจะดีขึ้น ก็เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป
"คุณโทษค่าเงินบาทก็แล้วกันมันเฮงซวย มันอ่อนแต่เสือกทำมันแข็งแล้วกัดฟันบอกว่ามันยังแข็งน่ะ
แบงก์กรุงเทพเลยไม่กล้าเอาเงินจากต่างประเทศเข้ามา" ผู้ที่คิดว่าตัวเองรู้เรื่องการเงินดีตบท้ายให้ฟัง