Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2553
บุญทักษ์ หวังเจริญ Dare to Change             
โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
 

   
related stories

1 ทศวรรษ Role Model
บัณฑูร ล่ำซำ กับ “ข้อเท็จจริง” ของประเทศไทยที่อ่อนแอ
ศุภลักษณ์ อัมพุช The Challenger
สาระ ล่ำซำ Changes Driver
วิชา พูลวรลักษณ์ Recovery Mission
ศุภชัย เจียรวนนท์ The Challenged CEO

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารทหารไทย

   
search resources

ธนาคารทหารไทย
บุญทักษ์ หวังเจริญ
Banking




ชื่อ "บุญทักษ์ หวังเจริญ" เพิ่งติดทำเนียบ 50 Role Model ปี 2552 ภายหลังจากที่เขาได้เข้ามารับภาระหนัก ที่หลายคนเปรียบว่าเป็นเหมือน "เผือกร้อน" ในธนาคารทหารไทย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นนักการธนาคารที่มีบทบาทสูงมากคนหนึ่งในแวดวงธนาคารของไทย ทำไมผู้อ่านของเราจึงให้ความมั่นใจกับเขาเช่นนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการแสวงหาคำตอบ

ในวัย 52 ปี วันนี้บุญทักษ์ หวังเจริญเพิ่งจะได้ชื่อว่าได้เป็นนายแบงก์อย่างเต็มตัว มาเป็นเวลาเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย

ในฐานะที่ทำงานธนาคารสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า บุญทักษ์คือนายแบงก์ที่คร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจการเงินมาตลอดชีวิต

เขาเริ่มงานที่ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 และทำงานให้กับธนาคารแห่งนี้มาเป็นเวลา 27 ปีเต็ม

ประสบการณ์และระยะเวลาทำงานที่ยาวนานของบุญทักษ์ในธนาคารกสิกรไทย ทำให้เขามีความผูกพันกับธนาคารแห่งนี้ไม่น้อย

เพราะอย่างน้อยการที่เขาได้รับทุนจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อไปศึกษา ต่อระดับปริญญาโท สาขา International Business Finance ที่ New York University สหรัฐอเมริกา ก็เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ทำให้สามารถหลีกหนีอาชีพวิศวกรที่เขาถูกบังคับกลายๆ จากครอบครัวและสังคมให้เรียนในระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมเคมี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วเขาเองไม่ชอบ

"สังคมไทยยุคนั้นยังแคบ คนเรียนวิทย์ในระดับมัธยมปลาย ถ้าไม่เลือกเรียนต่อหมอก็ต้องเป็นวิศวะ" บุญทักษ์สะท้อนภาพสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการทหารและกำลังย่างเข้าสู่ยุคทุนนิยมเบ่งบานในตอนต้นๆ

หลังเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา บุญทักษ์ เริ่มต้นอาชีพธนาคารในฝ่ายกิจการต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้อำนวยการฝ่าย เมื่อธนาคารกสิกรไทยมีแผนที่จะเพิ่มฝ่ายวาณิชธนกิจขึ้นมา เขาก็เข้าไปรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายคนแรก

เขาผ่านหน้าที่รับผิดชอบในธนาคารกสิกรไทยมาหลายสายงาน ทั้งสายงานบรรษัทธุรกิจ สายงานธุรกิจลูกค้าและผู้ประกอบการ สายงานตลาดทุน จนกระทั่งรับตำแหน่งสูงสุดเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานสุดท้ายของเขาในธนาคารแห่งนี้

แม้ว่าความผูกพันของบุญทักษ์กับธนาคารกสิกรไทยและเพื่อนร่วมงานจะมีมากเพียงใด แต่มีจุดหักเหเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้เขาตัดสินใจลาออก

ระยะเวลาที่ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยมานาน จึงเป็นภาวะที่ตัดสินใจได้ค่อนข้างลำบากในการเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองในครั้งนั้น

"ในความคิดเห็นผมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มันท้าทาย ถ้าคิดแบบนี้ ท้าทายการทำงาน รูปแบบเก่า แล้วพยายามทำรูปแบบใหม่ ทุกอย่างมันสนุกหมดเลย"

คำกล่าวของบุญทักษ์ที่ให้สัมภาษณ์ ผู้จัดการ 360 ํ แสดงให้เห็นนัยว่าตัวเขาเองก็รู้ตัวว่าได้เวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว

บุญทักษ์ตัดสินใจสมัครเป็นผู้บริหาร ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หลังจากที่กลุ่มไอเอ็นจี ประเทศเนเธอร์แลนด์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 26.4 ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคาร ทหารไทยประสบภาวะขาดทุนมากที่สุดถึง 43,676 ล้านบาท ทำให้กลุ่มไอเอ็นจีเลือก สรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทน สุภัค ศิวะรักษ์

ตำแหน่งประธานเจ้าที่บริหารไม่ได้มีบุญทักษ์สมัครเพียงรายเดียวแต่มีคู่แข่ง อาทิ ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และศุภจี สุธรรมพันธุ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

บุญทักษ์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ธนาคารทหารไทย มีวาระ การดำรงตำแหน่ง 4 ปีครึ่ง โดยคณะกรรมการสรรหาให้เหตุผลที่เลือกบุญทักษ์ เพราะว่าเขาท้าทายเรื่องผลการดำเนินงาน ของธนาคารทหารไทยที่ประสบภาวะขาด ทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นและผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผล

ดูเหมือนว่าบุญทักษ์กำลังนำพาธนาคารทหารไทยที่มีสินทรัพย์ 610,985 ล้านบาทและเป็นธนาคารอันดับที่ 5 ให้ไต่ระดับสูงขึ้นไปอีก ว่ากันว่าบุญทักษ์กำหนดเป้าหมายให้ธนาคารแห่งนี้ก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ธนาคารชั้นนำของประเทศ ไทย ภายใต้ช่วงการบริหารของเขา

แต่กระนั้นเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ในไทยมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Universal Banking) ทำให้ทุกธนาคารต่างออก ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในรูปแบบ ที่คล้ายกันจนแทบแยกกันไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินฝาก การปล่อยสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ การขายกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันภัย ขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น

โจทย์ที่ท้าทายบุญทักษ์คือ ทำอย่างไรเขาจะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารทหารไทย เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ

บุญทักษ์เริ่มทำงานมาแล้วกว่า 1 ปีครึ่ง เขาต้องเรียนรู้งาน รู้จักผู้บริหารและพนักงาน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างไอเอ็นจี เพราะธนาคารแห่งนี้กลายเป็นธนาคาร ลูกครึ่งไปแล้ว ดังนั้น ผู้บริหารและแนวคิดการทำงานจึงเป็นในรูปแบบผสมผสาน

รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพนักงานของธนาคารทหารไทยมีที่มาที่หลากหลาย อันเกิดจากการควบรวมกิจการกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) เมื่อ 5 ปีก่อน

การหลอมรวมวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียวโดยมีจุดมุ่งหมายให้ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารชั้นนำ มาตรฐานระดับโลก เป็นแผนธุรกิจของธนาคารทหารไทยในอีก 5 ปีข้างหน้านับจากนี้

ในแผน 5 ปียังแบ่งเป็นแผนย่อยใน 2 ปีแรก เฟสที่ 1 คือการปรับโครงสร้างกระบวนการทำงาน เรียนรู้ลูกค้า เฟสที่ 2 สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเฟสสุดท้าย การเป็นผู้นำสถาบันการเงินในประเทศไทย

การสร้างวัฒนธรรมใหม่พร้อมกับพนักงานองค์กรทั้งหมดกว่า 8,000 คนไม่ใช่เรื่องง่าย บุญทักษ์ได้เริ่มสร้างวัฒนธรรมที่เรียกว่า TMB WAY เป็นค่านิยมใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน

ผู้บริหารธนาคารทหารไทยรายหนึ่ง บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า พนักงานต้องเข้าใจว่าการเข้ามาของบุญทักษ์ เขามาสร้างธนาคารใหม่ไม่ได้มารื้อองค์กรเพื่อปรับโครงสร้างเท่านั้น

การสร้างธนาคารใหม่ทำให้บุญทักษ์ มีงานหลายอย่างทำพร้อมๆ กัน เขาสร้าง โอกาสให้พนักงานเลือกงานที่ชอบจริงๆ หรือสามารถย้ายแผนกงาน โดยหัวหน้าที่ดูแลอยู่เดิมต้องปล่อยพนักงานให้ย้ายออกไปได้ภายใน 45 วัน ซึ่งบางกรณีเขาต้องมา ดูด้วยตนเองเพื่อให้หัวหน้าอนุมัติ

แม้แต่วิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกัน ธนาคารได้ทำนิตยสารภายในเรียกว่า ฟุต ฟิต ฟอ ฟ้า เป็นการบอกเล่าความเคลื่อนไหวในกิจกรรม ต่างๆ

ไม่ว่าวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานจะสื่อสารกันด้วยวิธีใหม่ๆ รวมไปถึงหล่อหลอมให้มีวัฒนธรรมเดียว แต่สิ่งที่จะประเมินผลงาน ของพนักงาน รวมทั้งผู้บริหารได้ต้องถูกกำหนดอย่างชัดเจนด้วยตัวเลข ส่วนผลตอบแทนจะได้รับกลับมา คือโบนัส

บุญทักษ์เริ่มวัดผลการทำงานของพนักงานและผู้บริหาร ในส่วนของพนักงาน ประจำสาขาประเมินจากยอดขาย พนักงาน ที่ทำงานได้ตามเป้าจะได้รับโบนัสทุกๆ 3 เดือน ส่วนพนักงานทั่วไปประเมินจากประสิทธิภาพของการทำงาน ด้านผู้บริหาร ได้ผลตอบแทนจาก Return on Equity (ROE)

บุญทักษ์ในฐานะผู้บริหารใหม่กำลัง ขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสถาบันการเงินแห่งนี้

ประสบการณ์ของบุญทักษ์ที่อยู่ในธุรกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศมาตลอดชีวิต ทำให้เขาพบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้บริการลูกค้ายังไม่ดีพอ สิ่งที่เขาเห็นจึงเป็นโอกาสของธนาคารทหารไทย

แต่ประสบการณ์การทำงานของบุญทักษ์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเขาจะคลุกคลีกับองค์กรธุรกิจระดับคอร์ปอเรทเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ธุรกิจการเงินที่ให้บริการลูกค้า ระดับรีเทล เขามีโอกาสได้สัมผัสน้อย

แต่เขาเชื่อว่าระบบการทำงานระหว่างลูกค้าคอร์ปอเรท ธุรกิจเอสเอ็มอี และรีเทล มีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว การทำงานจึงแยกกันไม่ออก

สิ่งที่เขาคิดและลงมือทำไปแล้วคือการเปลี่ยนความคิดใหม่ในการให้บริการทางด้านการเงินแบบนอกกรอบ ด้วยการลดข้อจำกัดต่างๆ ของธนาคารทุกแห่งในประเทศไทยที่เคยตั้งกันขึ้นมา ทั้งที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว

ข้อจำกัดเหล่านี้ อาทิ การที่ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากประจำสามารถถอนเงินออกมาได้ก่อนระยะเวลากำหนดโดยไม่เสียค่าปรับและยังคงได้รับดอกเบี้ยในอัตรา เดิม ที่สำคัญคือลูกค้ายังมีสถานภาพเป็นลูกค้าเงินฝากประจำอยู่

เขากล้าเปลี่ยนปรัชญาของธุรกรรม รับเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ล้วนปฏิบัติตามกันจนกลายเป็นธรรมเนียม ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนด ไว้โดยใคร แต่ทุกคนต่างต้องทำตาม

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบัญชีเงินฝากประจำกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บางลงไปอย่างเห็นได้ชัด

"ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่ผู้สอบบัญชีก็ยังไม่รู้ว่าจะลงบัญชีอย่างไร"

ก่อนหน้าที่จะออกแคมเปญเงินฝากประจำที่สามารถถอนได้ก่อนกำหนด บุญทักษ์ ยังได้ปรับวิธีคิดในการเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินสด หรือโอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มของธนาคาร โดยผู้ถือบัตรเอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย สามารถนำบัตรไปทำธุรกรรมกับเครื่องของทุกธนาคารได้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม บริการนี้เรียกว่า No Fee No Limit

ทั้งแคมเปญเงินฝากประจำที่ถอนได้ก่อนกำหนด หรือการยกเว้นการเก็บค่าธรรม เนียมกับบัตรเอทีเอ็มในการไปทำธุรกรรมกับตู้ของธนาคารอื่นๆ หรือนอกพื้นที่ บุญทักษ์บอกว่าได้ผ่านการคำนวณทางสถิติเอาไว้แล้วว่าจะไม่ทำให้ธนาคารเสียผลประโยชน์

จากสถิติมีลูกค้าที่ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากประจำก่อนกำหนดเพียงไม่กี่ราย ไม่มีผลต่อการล็อกต้นทุนทางการเงินของธนาคาร

หรือกรณีของค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มนั้น ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมจากลูกค้าครั้งแรกเลยที่ 300 บาทต่อบัตร หลังจากนั้นลูกค้าก็ไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ไปอีก 3 ปี จากปกติต้องเสียค่าบริการบัตรละ 200 บาทต่อปี

จากการคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายแล้ว บุญทักษ์มองว่าคุ้ม เพราะข้อมูลสถิติบอกว่าลูกค้าใช้บริการเอทีเอ็มไม่เกิน 20 ครั้งต่อเดือนต่อคน

แต่แคมเปญที่ดูจะสร้างความฮือฮาให้กับเพื่อนร่วมอาชีพธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน คือการให้บริการสินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ธนาคารทหารไทยกล้าปล่อยเงินให้สูงถึง 3 เท่าของหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้าน บาท

มากกว่าธนาคารทั่วไปที่มักให้กู้เพียง 1 เท่า หรือไม่เกินร้อยละ 80 ของหลักประกัน

รวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่สั้นกว่าเพียง 15 วันทำการเท่านั้น

ที่ว่าน่าจะสร้างความฮือฮาก็คือ แคมเปญโฆษณาที่ธนาคารยิงออกมา ซึ่งเปรียบธนาคารอื่นๆ ว่าเป็นไดโนเสาร์!!!

ล่าสุด ธนาคารทหารไทยยังได้เปิดบริการฝาก ถอน โอน หรือเปิดบัญชีใหม่ โดย ที่ลูกค้าไม่ต้องกรอกเอกสารอีกต่อไป เพียงแต่แจ้งเจ้าหน้าที่ธนาคารหน้าเคาน์เตอร์ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทันที โดยใช้เวลา 6-7 นาทีเท่านั้น

การฉีกรูปแบบการให้บริการ เป็นแนวคิดของบุญทักษ์ที่ต้องการให้ผู้บริหาร หรือแม้แต่ทีมงานได้ขบคิดถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ และทำอย่างไรจึงจะลดข้อจำกัดเหล่านั้นลงมาให้ได้

การเปลี่ยนแปลงในความคิดของบุญทักษ์ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์ในการทำงานเท่านั้น แต่เขามองไปไกลมากกว่านั้นว่า ธนาคารทหารไทยจะต้อง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมทางด้านการเงิน ไม่ใช่เป็นผู้ตาม เพราะผู้ตาม จะถูกผู้นำลากจูงไปในทิศทางที่เขาต้องการ

บริการทางด้านการเงินที่บุญทักษ์สร้างขึ้นให้กับธนาคารแห่งนี้ เขามองว่าไม่ใช่เป็นการสร้างความแตกต่าง เพื่อต้องการให้แตกต่าง

แต่เป็นการสร้างความแตกต่าง เพราะความต้องการของลูกค้า เนื่องจากบริการแบบเดิมๆ และข้อจำกัดเดิมๆ ที่ธนาคารทุกแห่งสร้างเงื่อนไขกันขึ้นมา ล้วนเป็นฝั่งของธนาคารเป็นผู้กำหนดขึ้นเองทั้งสิ้น จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

บุญทักษ์ยอมรับว่าเงื่อนไขเหล่านี้กำหนดขึ้นมาตั้งแต่เขาเกิด และลูกค้าธนาคารทุกคนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกมา ทั้งที่อาจจะไม่ใช่เป็นความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

แนวคิดของบุญทักษ์ไม่ได้เกินเลยความเป็นจริงของบริการธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าระบบความคิดของเขา คือบริการทางการเงินที่ออกมา ลูกค้าต้องเป็นศูนย์กลาง โดยผสมผสาน 3 สิ่งเข้าไว้ด้วยกัน

คือเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์บริการโดย อยู่บนปัจจัยพื้นฐานของความเป็นจริงและทลายแนวคิดเดิมๆ ที่เป็นอุปสรรค

รูปแบบบริการทางการเงินที่เปลี่ยน แปลงไป แม้ว่าจะไม่ใช่บรรทัดฐานแต่สิ่งที่เขาทำเชื่อว่าจะมีผู้เดินตามในไม่ช้า

"มันเป็นความฝันของผม ผมตั้งใจทำสิ่งนี้ให้มันเกิด คือความคิดรูปแบบใหม่ บริการทางการเงินใหม่ นอกจากทำให้ทหารไทยเติบโตมาเป็นธนาคารชั้นนำได้ ต้องทำให้ระบบการเงินมันเปลี่ยนไปด้วย นั่นคือความฝันอันสูงสุด"

เปรียบไปแล้วสิ่งที่บุญทักษ์กำลังทำ อยู่ในธนาคารทหารไทยขณะนี้ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งที่บรรณวิทย์ บุญรัตน์นำความคิดไปเสนอกับชาตรี โสภณพนิชที่ธนาคารกรุงเทพฯ ให้นำเครื่องเอทีเอ็มเข้ามาใช้เมื่อเกือบ 30 กว่าปีที่แล้ว แต่ถูกชาตรีปฏิเสธจนบรรณวิทย์ต้องหอบโครงการไปเสนอกับธนาคารไทยพาณิชย์แทน

หรือเมื่อครั้งที่นิวัตต์ จิตตาลาน ประกาศว่าบัตรเครดิตของ KTC จะไม่คิดค่าธรรมเนียมรายปีจากลูกค้าผู้ถือบัตรตลอดชีวิตเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน

เพราะผลที่แสดงออกมาในทุกวันนี้ บัตรเอทีเอ็มได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีประจำในกระเป๋าของทุกคน ขณะเดียวกันธนาคาร พาณิชย์ผู้ออกบัตรเครดิตทุกรายก็ไม่มีใครที่กล้าคิดค่าธรรมเนียมรายปีกับลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตต่อไปอีกแล้ว!?!

การเปลี่ยนแปลงของธนาคารทหาร ไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าเริ่มจับตามองความเป็นไปของธนาคารแห่งนี้ และมีส่วนหนึ่งต้องการมาใช้บริการ เพราะบุญทักษ์เปิดเผย ผลการวิจัยสำรวจเมื่อ 5-6 เดือนก่อน มีลูกค้าเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ มีแนวคิดจะใช้บริการของธนาคารทหารไทยเท่านั้น

แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า 50 เปอร์เซ็นต์สนใจใช้บริการแต่ยังไม่ได้ใช้บริการจริงๆ

สิ่งใหม่ๆ ได้ริเริ่มและมีอีกหลายอย่างที่บุญทักษ์ตั้งใจจะทำ กำหนดบทบาท ให้ธนาคารเป็นซัปพลายเชน ทำหน้าที่เข้าไปให้บริการสินเชื่อให้กับลูกค้าหลายๆกลุ่ม เพราะระบบการทำงานระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และ ลูกค้ารายย่อย ล้วนเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน

ผู้ค้ารายใหญ่จะดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี และให้บริการสินเชื่อในรูปแบบ account receiver ธนาคารสามารถเข้าไปปล่อยสินเชื่อแทนผู้ค้ารายใหญ่และให้บริการอื่นเพิ่มเติม นโยบายนี้จะเริ่มเห็นในปีหน้า

นอกเหนือจากการคิดค้นบริการใหม่ๆ แล้ว ธนาคารได้กำหนดแผนระดมเงินฝาก โดยต้องมีสัดส่วนเงินฝากเพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของทั้งระบบภายใน 3 ปี

หากวิเคราะห์จากตัวเลขสัดส่วนเงินฝากที่มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของระบบได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่บุญทักษ์ตั้งใจจะยกระดับธนาคารทหารไทยให้ขึ้นไปเทียบ เคียงกับธนาคารใดได้ในระดับหนึ่ง

เพราะปัจจุบันจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝากรวมของทั้งระบบในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ 6,514,530 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนเงินฝากสูงที่สุดคือ 1,346,573 ล้านบาท รองลงมาคือธนาคารกรุงไทย 1,145,087 ล้านบาท

มีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ที่มีสัดส่วนเงินฝากอยู่ในระดับร้อยละ 14 ของทั้งระบบ คือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเงินฝากรวม 954,308 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.64

กับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีเงินฝากรวม 938,190 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.40

ส่วนธนาคารทหารไทยมีเงินฝากรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ที่ 405,277 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.22 เท่านั้น

แผนการระดมเงินฝากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร และเพื่อใช้เป็นเงินทุนปล่อยสินเชื่อต่อไป แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการปล่อยสินเชื่อจะลดลงร้อยละ 10 ในปีนี้

การปล่อยสินเชื่อลดลงในปีนี้ของธนาคารทหารไทย บุญทักษ์บอกว่าเป็นความตั้งใจ ของธนาคารต้องการให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างการทำงานของธนาคาร โดยเฉพาะการแยกบริการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี และคอร์ปอเรทออกจากสาขา และโอนลูกค้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของเอสเอ็มอีฮับ 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแตกต่างออกไป สถานการณ์ที่ผ่านมาจึงเป็นการปรับตัวและคาดว่าจะเริ่มดีขึ้น

การปล่อยสินเชื่อให้อยู่ในภาวะอ่อนแอในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่บุญทักษ์ได้ประเมินไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นไม่ว่าสถานการณ์ ของธนาคารจะอยู่ในภาวะอ่อนแอหรือประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ธนาคารได้คาดการณ์ ไว้ล่วงหน้า และไม่ได้เกิดจากเหตุบังเอิญ หรือฟลุกแต่อย่างใด

การบริหารงานธนาคารทหารไทยภายใต้การดูแลของบุญทักษ์ในช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เขาสามารถล้างผลขาดทุน 43,676 ล้านบาทในปี 2550 พลิกมาเป็นกำไร ในปี 2551 จำนวน 423 ล้านบาท ส่วนในปีนี้มีกำไรในช่วง 9 เดือนแรก 1,355 ล้านบาท

ผลกำไรของธนาคารทหารไทยเกิดจากผลการดำเนินงานส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่ง เป็นกำไรตัวเลขทางบัญชีจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เคยตั้งสำรอง หนี้สูญเอาไว้ เมื่อมีการปรับโครงสร้างจนกลายมาเป็นลูกหนี้ตามปกติทำให้ธนาคารได้เงินสำรองกลับคืนมาเป็นรายได้

หรือแม้แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ขั้นที่ 1 ธนาคารออกขายเมื่อ 3 ปีที่แล้วในต่างประเทศราคา 1 เหรียญ แต่ราคาตลาดได้ลดลงเหลือเพียง 55 เซ็นต์ จากปัญหาเศรษฐกิจในช่วง ที่ผ่านมา ธนาคารจึงถือโอกาสซื้อคืนกลับมา ทำให้มีกำไร 3,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมิได้นำยอดกำไรดังกล่าวไปลงในบัญชี แต่นำไปตั้งเป็นเงินสำรองแทน เพราะธนาคารมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แม้ว่าจะขายเอ็นพีแอลไปได้ 2 หมื่น ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ยังขาดทุนอยู่ถึง 3 พันล้านบาท

แม้ว่าระบบโครงสร้างทางการเงินอยู่ระหว่างการปรับปรุงก็ตาม แต่ผลกำไรที่ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี และบุญทักษ์ก็คาดหวังว่าในปีนี้จะล้างหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดจน ทำให้ในปีหน้าผู้ถือหุ้นจะเริ่มได้รับเงินปันผล

ตลอดระยะเวลาที่ ผู้จัดการ 360 ํ สัมภาษณ์บุญทักษ์ เขาจะกล่าวบ่อยครั้งว่า การเข้ามาทำงานในธนาคารทหารไทยเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเขา และมองว่าเป็นงานที่สนุกมีสิ่งใหม่ๆ ให้ได้คิดและทำตลอดเวลา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงธนาคารจากที่มีผลการดำเนินงานติดลบ

"ที่ผมกล้าเปลี่ยนที่นี่ เพราะเป็นการเปลี่ยนจากที่เริ่มจากศูนย์ หากเป็นที่อื่นคง จะเปลี่ยนได้ยาก"

ความสนุกในการทำงานของเขาแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากหลายๆ ด้าน แต่เขาก็มีเป้าหมายชัดเจนที่จะสร้างธนาคารทหารไทยให้เป็นธนาคารชั้นนำ แตกต่างจากธนาคาร พาณิชย์ชั้นนำที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว อาจทำให้ความสำเร็จกลายเป็นอุปสรรคในการกำหนดวิสัยทัศน์จนไม่สามารถหาทางออกให้กับธุรกิจ

หากมองย้อนไปในอดีต เส้นทางการศึกษาของบุญทักษ์ไม่ได้ตั้งใจมาเป็นนายแบงก์แม้แต่น้อย แต่เขาต้องเรียนวิศวกรรมสาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยงานธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการทางด้านเคมี เขาชอบเรียนวิชาคำนวณ แต่ไม่ชอบเรียนทางด้านเคมี

เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ชอบ เขาจึงตัดสินใจสอบชิงทุนของธนาคารกสิกรไทยไปเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขา International Business Finance ที่ New York University สหรัฐอเมริกา และกลับมาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย ตอนนั้นบุญทักษ์บอกว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้เขาทำงานด้านการเงินมาเกือบตลอดชีวิตตั้งแต่จบการศึกษา

หากถามถึงความฝันสิ่งที่อยากทำมากที่สุด กลับได้รับคำตอบว่าเขาปรารถนา เป็นวิศวกรโยธา เพราะเขาชอบการสร้างสิ่งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึก สร้างเขื่อน หากในตอนนั้นได้มีโอกาสเลือกเรียน วิศวกรโยธา ชีวิตของเขาอาจไม่ได้อยู่บนเส้นทางธุรกิจการเงินไปแล้ว

แม้ว่าโลกความฝันและโลกความเป็นจริงจะห่างไกลกัน แต่การเป็นนายแบงก์ ก็เป็นสิ่งท้าทายเขาอยู่ไม่น้อย เพราะเขาต้องอวดฝีมือให้เห็นว่า เขาเป็นมืออาชีพที่กำลังท้าทายตัวจริงหรือเปล่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us