Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2553
บัณฑูร ล่ำซำ กับ “ข้อเท็จจริง” ของประเทศไทยที่อ่อนแอ             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

1 ทศวรรษ Role Model
ศุภลักษณ์ อัมพุช The Challenger
บุญทักษ์ หวังเจริญ Dare to Change
สาระ ล่ำซำ Changes Driver
วิชา พูลวรลักษณ์ Recovery Mission
ศุภชัย เจียรวนนท์ The Challenged CEO

   
search resources

บัณฑูร ล่ำซำ




10 ปีของกิจกรรมโหวตคัดเลือก Role Model กับ 4 ปีเต็ม ในฐานะที่ได้รับการโหวตให้เป็น Role Model อันดับ 1 ต่อเนื่องกัน โอกาสนี้บัณฑูร ล่ำซำ พูดถึงข้อเท็จจริงของประเทศไทยชนิดกะเทาะเข้าไปถึงแก่น

"ผม Visible ผมยืนพูด" เป็นวิสัชนาที่บัณฑูร ล่ำซำบอกในการสนทนาเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 หลังจากได้รับการโหวตให้ขึ้นเป็น Role Model อันดับ 1 ครั้งแรก ในปุจฉาที่ว่าทำไมสังคมธุรกิจไทยยอมรับเขาเป็น Role Model อย่างเหนียวแน่น

(อ่านเรื่อง "ผม Visible ผมยืนพูด" เรื่องจากปก นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2549 หรือใน www. gotomanager.com ประกอบ)

หลังจากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบัณฑูรในครั้งนั้นเป็นระยะเวลา 3 ปีเต็มๆ ที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ไม่ได้เขียนถึงเขาโดยละเอียดอีกเลย

แต่ใน 3 ปีมานี้ผู้อ่านนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ยังคงให้การยอมรับและโหวตให้เขาเป็น Role Model อันดับ 1 ติดต่อกันชนิดที่มีคะแนนทิ้งห่างจากผู้อื่น

ในโอกาสที่กิจกรรมโหวตเลือก Role Model ดำเนินมาครบ 10 ปีเต็มในวันนี้ นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ จึงต้องสนทนากับบัณฑูรอีกครั้ง

ในการสนทนาครั้งนี้เขาได้พูดถึงข้อเท็จจริงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญอยู่

เขาพูดตรงๆ ตามบุคลิก

สาระที่เขาพูดออกมานั้น ไม่เน้นเฉพาะเรื่องการเมือง สังคมหรือเศรษฐกิจ

แต่แน่นอนที่สุดเป็นสาระที่มีประโยชน์อย่างยิ่งจน ผู้จัดการ 360 ํ มิอาจจะตัดทอนเนื้อหาใดๆ ออกไปได้

จึงขอนำเสนอบทสนทนานี้โดยละเอียด

>> อยากให้คุณบัณฑูรได้พูดอะไรบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ยังจำได้ว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณบัณฑูรเคยเล่าว่าต้องหิ้วกระเป๋าตระเวนไปตามประเทศต่างๆ เพื่อขอเงินเข้ามาช่วยธนาคาร แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป อยากให้ช่วยมองว่า 10 ปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้ตกผลึกข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง และปรากฏการณ์ถัดจากนี้ไป สิ่งที่นักธุรกิจต้องคำนึงถึงนั้นมีอะไรบ้าง

สำหรับประเทศไทยทศวรรษนี้ ตอนต้นทศวรรษเป็นช่วงที่ต้องอุดรูรั่วก่อน ตอนนั้นทุกอย่างพังหมด โดยเฉพาะเงินทุนของสถาบันการเงินตอนนั้นก็ใช้เวลาอยู่ 2-3 ปีกว่าประเทศจะโงหัวขึ้น เพราะว่าเจ็บกันหมด

แต่คนไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วความเสียหายมันต้องใช้กันไปถึงรุ่นลูก เพราะว่าออกมาในรูปหนี้ของรัฐบาล สมมุติว่าไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 ก็จะไม่มีหนี้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ว่าเผอิญหนี้ของประเทศไทยนั้นไม่ถึงกับสูงมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่น คนก็เลยรู้สึกว่าลืมๆ ไปแล้ว

แต่จริงๆ แล้วความเสียหายมันเกิดขึ้นกับผู้เสียภาษี ประชาชนโดยรวมด้วย คือการที่มีหนี้สาธารณะเกิดขึ้นมากเกินไป ถึงจุดหนึ่งก็เกิดเงินเฟ้อ เงินเฟ้อมันก็โดนกับกระเป๋าของทุกคน ภาษีก็โดนกระเป๋าคนที่เสียภาษี คนที่ไม่เสียภาษีอาจจะไม่รู้สึกอะไร

อันนั้นก็โชคดีที่ว่าพอรับความเสียหายเข้ามาอยู่ในระบบได้ หลังจากนั้นก็เป็นช่วงที่ฟื้น

สำหรับในระบบสถาบันการเงินได้เรียนรู้บทเรียนที่ดีมาก แบงก์ชาติก็เข้มงวดจึงทำให้เรารอดจากรอบนี้ รอบนี้ของเราเลยไม่เดือดร้อนไปด้วย เพราะว่าสถาบันการเงินไม่สามารถไปปล่อยกู้ ไปซื้อหุ้น หรือตราสารอนุพันธ์แบบประหลาดๆ ที่คนอื่นซื้อกันนั้น ฝั่งไทยไม่...อาจมีซื้อบ้างแต่ไม่เยอะ ซื้อแบบไม่ถึงกับต้องล่มจม ลองๆ ไป อย่างมากก็แค่เจ็บตัวนิดๆ หน่อยๆ ก็จบ

เพราะว่าอะไร เพราะว่าแบงก์ชาติสั่ง บอกว่าถ้าแบงก์จะซื้ออะไรคณะกรรมการต้องดูด้วย แล้วคณะกรรมการส่วนใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจก็บอกว่า งั้นไม่ทำดีกว่า ก็กลายเป็นว่า ความระมัดระวังทำให้ไม่เสียหาย

เพราะฉะนั้นรอบนี้ความเสียหายไม่เกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ประเทศไม่ถึงกับล้ม อย่างมากก็แค่อืด อืดเพราะว่าโลกได้ชะลอการซื้อของเราจึงอืดตามไปด้วย แต่ตอนนี้จะฟื้นกลับคืนขึ้นมาแล้ว

สำหรับโจทย์ทางธุรกิจมีข้อหนึ่งที่ท้าทายคือ คู่แข่งมากขึ้น จีนก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ตอนนี้บุกเต็มที่ คนอื่นแข็งแกร่งเริ่มฟื้นกันหมด มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย พวกนี้คือคู่แข่งที่มีเข้ามามากขึ้น

ไม่ต้องดูอะไร ดูแค่เหรียญทองซีเกมส์นี่ก็สลบแล้ว ใช่ไหม จากที่เคยได้ที่ 1 แบบหมูในอวย นี่ทิ้งกันเป็น 10 เหรียญ

(ผู้จัดการ 360 ํ ได้สนทนากับบัณฑูรช่วงบ่ายวันที่ 17 ธันวาคมซึ่งสรุปเหรียญทองซีเกมส์ ณ วันที่ 16 ธันวาคม เวียดนามได้แซงขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้ 76 เหรียญทอง ส่วนประเทศไทยหล่นลงมาเป็นอันดับ 2 ได้ 69 เหรียญทอง)

เป็นภาพสะท้อนอันหนึ่งซึ่งยิ่งกว่าเรื่องเศรษฐกิจก็คือการพัฒนาในทุกด้านของมนุษยชาติในแต่ละประเทศ ทุกคนมีโจทย์ที่ต้องลุยกันเต็มที่ กีฬาก็เป็นภาพสะท้อนภาคหนึ่งของการแข่งขันเช่นกัน ถ้าเอาตัวนี้มาเป็นตัววัด จะพบว่าความจริง เราถอย

ในโลกธุรกิจนั้นถ้าความสามารถในการสร้างนวัตกรรม หรืออะไรต่างๆ ในบริษัทที่เป็นไทย ถ้าไม่เท่ากับที่ตลาดโลก เขากำลังไป เราก็ถอย เห็นได้ชัด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มาจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั่นเองที่จะทำให้คนในประเทศ ทั้งคนที่เป็นบุคคล และคนที่เป็นนิติบุคคล ก็คือบริษัททั้งหลายมีความแข็งแกร่งได้มากขนาดไหน

ถามว่าแต่ละคนดิ้นรนไหม ก็ดิ้นรน บุคคลแต่ละคนก็ดิ้นรนไปเรียนหนังสือ ไปเรียนเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัทก็มีการอบรม พัฒนาต่างๆ แต่ถามว่าโครงสร้างใหญ่ของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอยู่บนระบบการเมืองและสังคมของประเทศ เป็นโครงสร้างที่แน่นไหม อันนี้เป็นโจทย์ที่ถ้าให้ประเมินตอนนี้ คือไม่แน่น

>> โครงสร้างตรงนี้ ใครที่ต้องเป็นคนสร้าง

ก็ประชาชนนี่แหละเป็นคนสร้าง ประเทศเป็นอย่างนี้ ก็เพราะประชาชนนี่แหละมีส่วนที่ทำให้เป็น จะบอกว่าคนที่เข้ามาปกครองประเทศทำให้เป็นอย่างนี้ก็มีส่วนถูก แต่เขาเหล่านั้น ก็มาจากกระบวนการการเลือกตั้งทั้งนั้น ส่วนเขาเข้ามาแล้ว ทำไม่ได้ผล ทำเสียหาย แล้วไม่มีการปรับเปลี่ยนตัวให้เกิดความรู้สึกว่าถ้าไม่เพอร์ฟอร์มแล้วจะต้องออกไปนั้น เท่าที่ผมดูโดยรวม ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น

ก็หน้าเดิมๆ แถมยังส่งต่อให้ลูกได้อีก ใช่ไหม คือไม่มีลักษณะที่เรียกว่า ถ้าฉันจัดการประเทศไม่ดีแล้ว ฉันจะต้องถอยออกไปให้คนอีกรุ่นเข้ามา ก็คนชุดเดิมๆ อีกนั่นแหละ

อาจจะเปลี่ยนหน้ากันบ้าง เข้ากระทรวงนั้น กระทรวงนี้ แต่ก็ยังเป็นคนชุดเดิมๆ

แม้กระทั่งคนไม่มีสิทธิ์ทางกฎหมายที่จะเล่นการเมือง แต่ก็ยังมีบทบาทได้

ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องบอกว่าบ้านเมืองไทยเป็นอย่างนี้เอง แล้วหลายคนก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ถึงกับจะเดือดร้อนอะไรที่จะเป็นอย่างนี้

แต่ถามว่าโดยรวม โครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีการก่อสร้างอย่างทันกาล ทันเวลาไหม อันนี้เกรงว่าจะสู้เขาไม่ได้

นี่ไม่ทันไร เวียดนามเขากำลังจะมีรถไฟหัวกระสุนแล้ว แต่ของเราก็ยังเป็นรถทัวร์อยู่นั่นแหละ รถไฟก็กลัว นั่งไปเดี๋ยวตกราง หรือว่าวันรุ่งขึ้นจะไม่มีคนมาขับ

ใช่ไหม คือง่อยกันอยู่แบบนี้ก็อยู่ๆ กันไป เมืองไทยก็อยู่ๆ กันไป ไม่แตะกัน

แล้วสังคมไทยก็เป็นแบบนี้ คือคนนั้นรู้จักคนนี้ เกรงใจคนนั้น คนนี้ไม่แตะกัน แล้วถ้าคนหนึ่งทำได้ ก็มีคำถามว่าแล้วทำไมฉันจะทำไม่ได้ คนหนึ่งขนของ 500 กิโลกรัมขึ้นเครื่องบินได้ ทำไมฉันทำไม่ได้บ้าง ทุกคนเกรงใจกันไปเกรงใจกันมา นี่คือสังคมไทย

ข้อดีก็คือก็มีวิธีที่รอมชอมกันไป

แต่ข้อเสียก็คือ ผิดไม่ถูกแก้ ดีไม่ถูกสร้างไว้ ถ้าคูณเป็นภาพใหญ่ขึ้น ประเทศก็อ่อนแอ

>> แล้วภาคธุรกิจจะทำอย่างไร ภายใต้สิ่งแวดล้อมแบบนี้

ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่พูดไป ภาคธุรกิจก็ช่วยตัวเองไป ทำมาหากินเท่าที่จะทำได้ก็อบรม ศึกษากันไป

โครงสร้างใหญ่ของประเทศต้องมี เพราะจะทำให้ทุกคนเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะรู้สึกว่ามีพลังมากขึ้น

แต่ถ้าตื่นเช้าขึ้นมาระบบการศึกษาก็ไม่ได้เรื่อง ระบบโทรคมนาคมก็ไม่ได้เรื่อง ระบบกติกา กฏหมายอะไรก็ไม่ชัดเจน จะทำอะไร ก็ทำไม่ได้เต็มที่ ก็เหมือนพื้นที่ไม่แน่น พื้นไม่แน่น ถ้าจะกระโดด ก็กระโดดไม่ได้สูงหรอก เหยียบลงไปก็ยวบๆๆ

ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ประเทศเป็นอย่างนี้

อย่างที่พูด รัฐบาลนี้ก็ไม่ใช่เป็นคนไม่ดี ก็ตั้งใจดี แต่ถามว่าเขาทำอะไร อย่างโครงการเฉพาะหน้า เช่นการกระตุ้นอะไรอย่างนี้ กระตุ้นนี่โครงการเฉพาะหน้านะ ไม่มีสาระอะไรยาวหรอก ทุกคนก็ทำกัน เหมือนฉีดยาโด๊ป ทุกประเทศก็ทำกัน แต่โครงสร้างพื้นฐานถามว่า สร้างได้ไหม สร้างไม่ได้ ไม่มีข้อสรุปอะไรทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ณ วันที่ผ่านไป เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่เคยมีข้อสรุป มีแต่โจทย์ค้างคาอยู่ รถไฟก็ค้างคา ฮือกันมาสักพัก พอตกลงกันได้ก็กลับไปอยู่รูปแบบเดิม ถามว่ามีการปฏิรูปอะไรเกิดขึ้นไหม ไม่มี ก็จบกันไป

การศึกษานี่ไม่ต้องพูดถึงเลยนะ เคยพูดว่าถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ฉันจะควบรัฐมนตรีศึกษา แต่วันดีคืนดีไม่ทำตามนั้น ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร มีแต่เรียนฟรี เรียนฟรีเฉยๆ ไม่ได้เป็นการปฏิรูป ใครก็พูดได้ เรียนฟรี แล้วตอนนี้ทำไปทำมา ก็ลด แลก แจก แถม ไม่ได้เป็นการแก้โครงสร้างพื้นฐานอะไร แค่กินยาแก้ปวดไปวันๆ เท่านั้น

ขึ้นรถเมล์ฟรียังสู้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมแต่ละอย่างที่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ อย่างนั้นทุกคนได้ประโยชน์ ประเทศโดยรวมได้ประโยชน์ ระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสินค้าจะได้ประโยชน์ แต่นี่ไม่ทำ

โครงสร้างกฎหมายยิ่งแล้วใหญ่ ประเด็นของโครงสร้างกฎหมายเมืองไทยมี 2 ประเด็นด้วยกัน หนึ่ง กฎหมายไม่ได้เรื่อง คือกฎหมายเลยเวลาของมันไปแล้ว ก็ไม่มีการมาสังคายนาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกธุรกิจ เพราะฉะนั้นคนจะทำก็ติดโน่นติดนี่ ทำไม่ได้ ไม่มีความชัดเจน ทำไปก็ผิด อันนั้นผิดอันนี้ก็สะดุด ทั้งที่จริงๆ ไม่น่าจะสะดุด น่าจะเอาไปพัฒนาธุรกิจได้

อันที่สอง กฎหมายดี แต่บังคับใช้ไม่ได้ เช่นกฎหมายควบคุมสภาพสิ่งแวดล้อมดี บังคับใช้ไม่ได้ วันดีคืนดีมีคนโวยขึ้นมาก็ตกใจกันไปตามๆ กัน เมืองไทยก็เป็นเสียอย่างนี้

>> สิ่งที่คุณบัณฑูรพูด ดูเหมือนต้องใช้เวลาอีกนานมาก

ก็ต้องใช้เวลาทั้งนั้น แต่ว่าเท่าที่ดู ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีใครที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม รัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ไม่ได้วาดภาพยุทธศาสตร์อันนี้ ว่าฉันจะแก้โครงสร้างอันนี้นะ แก้โครงสร้างอย่างนี้นะ ไม่มี แต่ละวันเมื่อดูไปก็ลดแลกแจกแถม กับสู้คดีการเมืองกัน ก็หมดเวลาแล้วใช่ไหม นานๆ หน่อยก็ตะครุบปฏิทินโป๊สักที ก็หมดเวลาแล้ว

>> แล้วนักธุรกิจจะหาโอกาสอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ นอกจากอยู่ไปวันๆ

เราก็ทำไปในโจทย์ของเรา มีกำลังอย่างไร เราก็ทำไปอย่างนั้น

แต่ว่าจะไม่ดีกว่าหรือถ้าคนในประเทศได้รับการศึกษาที่ยกระดับความรู้ความคิดต่างๆ ได้

จะไม่ดีกว่าหรือที่ระบบขนส่ง ระบบโทรคมนาคมต่างๆ มีประสิทธิภาพทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ มีต้นทุนต่อรายการที่ถูกลง

จะไม่ดีกว่าหรือถ้าระบบกฎหมายต่างๆ เอื้ออำนวยให้คนที่ทำถูกได้ความเจริญก้าวหน้า แล้วคนที่ทำผิด ถูกตีมือหรือติดคุก

วันนี้ถ้าทำผิด ไม่มีใครจะทำอะไรได้ ก็มีข้ออ้างกันไปได้เรื่อยๆ แล้วข้ออ้างที่ตลกที่สุดคือ เมื่อคนอื่นทำได้ ทำไมฉันทำไม่ได้ แสดงว่าถ้าคนอื่นทำผิดได้แล้วไม่ผิด ทุกคนก็สามารถที่จะทำผิดได้แล้วไม่ผิดเหมือนกัน อันนั้นคือข้อเสียหายที่สุดของสังคมมนุษย์ ที่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่รู้ว่าผิดถูกคืออะไร เพราะไม่ต้องรู้กัน เพราะต่อให้ถูกจับได้คาหนังคาเขา ฉันก็ตอบได้ว่าก็คนอื่นเขาก็ทำกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่มีรางวัลสำหรับการที่ทำให้ถูกต้อง แล้วก็ไม่ได้มีโทษสำหรับการที่ทำไม่ถูกต้อง ก็เลยเป็นสังคมที่อ่อนแอ พอสังคมอ่อนแอ พลังที่จะทำมาหากิน พัฒนา แก้ไขปัญหา อะไรต่างๆ ก็แผ่วไป

แต่ก็มีข้อดีที่ว่า ไม่ฆ่ากัน เป็นสังคมที่ไม่ฆ่ากัน น้อยมากที่จะลุกขึ้นมาฆ่ากัน ก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเห็นกันบ่อยๆส่วนใหญ่ก็มักจะบอกว่าเป็นพรรคพวกกัน ก็เป็นเสียอย่างนั้น

>> แล้วสภาพที่เป็นแบบนี้ แบงก์จะทำอย่างไร

แบงก์ทำอะไรไม่ได้ ผมพูดกับพวกนักวิเคราะห์ นักลงทุนทั้งหลายบอกว่า ยูจะมาเอาอะไรกับประเทศไทย คือพวกนี้เขาต้องการลงทุนในที่ที่มีโอกาสโต ใช่ไหม ที่ไหนมีโอกาสโต พวกนี้มีเงินก็จะรีบวิ่งมาจองที่ก่อน เพราะว่าเมื่อโตแล้ว ฉันจะได้รวยด้วย

เราก็บอกว่าจะมาเอาอะไรกับการโตเร็วของประเทศไทย ไม่มี ก็โตปานกลาง จีดีพีโต 3-4% นี่ก็ใช้ได้แล้ว

>> ก็คือโตไปเรื่อยๆ

โตไปเรื่อยๆ คือไม่มีพลังอะไรที่จะวิ่งได้เร็วกว่านี้ ทำไมจีนเขาโตเร็ว เพราะเขามีการลงทุน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เขามีงาน เขาปั่นกันจี๋เลย

แต่ไทย อันโน้นก็ไม่ทำ อันนี้ก็ไม่ได้ทำ แต่ไม่ใช่ไม่ทำงานนะ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำงาน แต่ทำงานบนโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ปั่นไปได้ขั้นหนึ่งเท่านั้นปั่นเต็มที่ไม่ได้ ปั่นได้ขั้นหนึ่งเท่านั้นเอง

สรุปก็คือว่า เมืองไทย ข้อที่เป็นที่ผิดหวังคือไม่โตเร็ว อันนี้ผิดหวังในมุมของคนที่จะมาลงทุน ไม่โตเร็ว โตปานกลาง แต่ข้อดีคือสภาพแวดล้อมโดยรวม มีความอุดมสมบูรณ์ ได้เปรียบทางจุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แล้วสังคมก็มีความมั่นคง ไม่ได้ลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน ก็มีทั้งข้อดี ข้อไม่ดี

แล้วเมืองไทยนี่ ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือดีหรือไม่ดีอย่างไร คนก็ยังชอบมา

แต่ขออย่างเดียว อย่าไปปิดสนามบิน ถ้าไม่ปิดสนามบินเดี๋ยวก็มีคนมาเที่ยว ปีใหม่เดี๋ยวก็มีคนมาเที่ยว ก็เป็นอย่างนี้

>> แบงก์ก็ต้องเกาะสถานการณ์ไปอย่างนี้

แบงก์ก็อยู่ไป ก็แก้ปัญหากันไป คิดสินค้าใหม่ๆ บริหารต้นทุนให้แน่ใจว่าต้นทุนไม่ท่วมหัวเรา ก็เป็นแบบนี้

แล้วแบงก์จะไปดีกว่าเศรษฐกิจนั้น เป็นไปไม่ได้ แบงก์จะไปดีกว่าผู้ประกอบการโดยรวม เป็นไปไม่ได้ ถ้าผู้ประกอบการแป๊ก แบงก์ก็แป๊กไปด้วย ใช่ไหม

>> ภายในประเทศที่เป็นลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆ อย่างนี้ แล้วสถานการณ์โดยรวมภายนอกที่เกิดขึ้นจากวิกฤติรอบนี้

มีประเด็นหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าราคาของเงินต่ำลง อัตราดอกเบี้ยที่ไม่โตขึ้นจากวิกฤติของอเมริกา แบงก์หากินกับราคาของเงินตรงนี้มาตลอด แล้วแบงก์จะมีช่องว่างตรงไหนที่จะทำรายได้เพิ่มขึ้น

ก็ไม่มี ส่วนต่างของดอกเบี้ยก็คงไม่ได้ดีไปกว่านี้ แค่นี้ก็สูงถึงขั้นหนึ่งแล้ว มากกว่านี้คงเป็นไปไม่ได้ การแข่งขันต่างๆ ก็จะบีบให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลงมา ที่เหลือเราก็ต้องไปทำสินค้า ค่าธรรมเนียมอะไรต่างๆ

จะเห็นว่าเศรษฐกิจถ้าไม่มีการลงทุน ไม่มีการประสบความสำเร็จในการค้าขาย ในการคิดของใหม่ๆ แล้ว สักพักก็แผ่ว ถ้าสู้ไม่ได้ถึงขั้นหนึ่งก็ปิดโรงงาน ก็เกิดขึ้นในบางที

แต่อันหนึ่งที่ขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องสังวรมากที่สุด ก็คือการแข่งขัน เราเคยดูถูกเพื่อนบ้านทั้งหลายว่าเขาเป็นประเทศล้าหลัง เขาเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ปิดประเทศ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ทุกคนก็มาร์เก็ตอีโคโนมีกันทั้งนั้น ลองไปดูเวียดนาม ตื่นมาตอนตีห้าแล้วลองมองลงไปบนถนนสิ คนอยู่กันเต็มไปหมดเลย ทุกคนก็ปั่นกันเต็มที่ ไม่มีใครรอใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศที่ต้องจัดการให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้มีการพัฒนากันได้ แต่เขาก็ไม่ทำกัน หรือทำกันไม่ได้

>> จะถึงขั้นเลวร้ายมากไหมในเรื่องของการแข่งขัน

เมืองไทยก็เห็นพูดเลวร้ายกันมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังง่อกๆ แง่กๆ มาอย่างนี้ ก็ไปอย่างนี้ ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ถ้าพูดเลวร้าย พวกนักโวยทั้งหลายแหล่ก็ว่าต้องแย่แน่เลย แต่ไม่เห็น...ก็พอไปได้

>> ภายใต้ตัวแปร หรือสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ถ้าคนที่คิดจะลงทุนอะไรสักอย่างในสถานการณ์เช่นนี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไร

เขาก็ลงทุนได้ ก็แล้วแต่ว่าลงทุนอะไร คนที่จะลงทุนก็ต้องไปคิดโจทย์ของเขาว่า ถ้าผลิตของแบบนี้มาแล้ว จะไปขายใคร ก็เป็นเรื่องปกติ

คือนักธุรกิจในมุมมองของเขา เขาต้องคิดตรงนี้อยู่แล้ว

แต่ผมคิดว่าประเทศนั้นน่าจะมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพได้สูงกว่านี้จากการที่มีโครงสร้างที่ดี

>> ฟังดูเหนื่อยเหมือนกัน

ไม่เหนื่อยหรอก ก็ทำอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ก็ชินๆ ไป ก็เป็นอย่างนี้ใช่ไหม แต่ก่อนก็จะมีคนบอก โอย...ประเทศแย่แล้ว ต้องแย่แล้ว แต่ก็ยังพอไปได้

>> ก็ยังไปได้เรื่อยๆ

ใช่ แต่ถามว่าดีไหม...ไม่

ถามว่าเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว ทำท่าจะถอยหลังไหม ... ใช่...   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us