|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บรรดาหนังสือที่พยายามจะไล่จับและเข้าใจ Steve Jobs ผู้ลึกลับ
Steve Jobs เป็นที่สนใจของคนทั่วโลกและถูกกล่าวขวัญถึงมากมายทั้งในทางดีและทางร้ายตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีประโยคหนึ่งที่อาจจะพบซ้ำๆ ในหนังสือที่เกี่ยวกับ Jobs ซึ่งเป็นคำพูดของพนักงานคนหนึ่งใน Apple ในยุคแรกๆ "เขาเยี่ยม ขนาดเป็นราชาของฝรั่งเศสได้" และแม้กระทั่งพระราชาก็อาจจะต้องอิจฉา Jobs เมื่อดูจากความสนใจที่สื่อมวลชนเทให้กับเขา เพื่อจะพยายามอธิบายให้พวกเราได้เข้าใจว่า "ราชา Steve" ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
มีหนังสือทั้งหมด 21 เล่มที่พยายามจะค้นหาตัวตนที่แท้จริงของ Steve Jobs แต่หนังสือเหล่านี้มักอ้างอิงกันเองไปมา และเมื่อสืบสาวไปจนถึงข้อมูลที่เป็นต้นตอแรกสุดแล้ว ก็มักจะพบว่ามา จากหนังสือเล่มเดียวเท่านั้น นั่นคือ The Little Kingdom เขียนโดย Michael Moritz อดีตนักข่าวที่ขณะนี้ผันตัวเองมาเป็นนักลงทุน venture capitalist ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน Silicon Valley และประโยคเด็ดที่เปรียบ Jobs ว่ายิ่งใหญ่ราวกับราชาจนกลายเป็นคำพูดที่แพร่ไปทั่วในหนังสือที่เกี่ยวกับ Jobs ก็มีต้นตอมาจากหนังสือเล่มนี้ของ Moritz นั่นเอง เขาเป็นคนเดียวที่ Jobs ยอมให้เข้าถึงตัวได้มากที่สุด
ในช่วงต้นทศวรรษ 80 Jobs ยอมให้ Moritz เข้าถึงแทบทุกซอกทุกมุมของชีวิตส่วนตัวของเขาและของ Apple อย่างสมบูรณ์ที่สุด เกิดผล 2 อย่างขึ้นหลังจากนั้น หนึ่งคือหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และสองคือ Jobs ปิดประตูใส่หน้านักข่าวคนอื่นๆ ทุกคนหลังจาก Mortiz (แม้ Jobs จะมียกเว้นบ้าง แต่ก็ให้บังเอิญที่การยกเว้นแทบทุกครั้งนั้นมักจะบังเอิญตรงกับเวลาที่ Apple กำลัง จะเปิดตัวสินค้าใหม่พอดี)
นับตั้งแต่ The Little Kingdom เผยโฉมในปี 1984 Jobs ก็ต้องผ่านคลื่นลมมากมายตลอด 25 ปีหลังจากนั้น ถูกปลดออกจากบริษัทที่ก่อตั้งมากับมือ แต่ก็สามารถกลับไปอีกครั้งอย่างเหลือ เชื่อ การเกิดขึ้นของ iPod, iPhone บันไดแก้วที่เหมือนลอยอยู่กลาง อากาศ และโรคร้ายที่คุกคาม แม้ว่าหนังสือเกี่ยวกับ Jobs และ Apple หลังจากนั้นมักจะอ้างอิง The Little Kingdom อยู่มาก แต่หนังสือเหล่านั้นก็ช่วยให้เราเข้าใจ "ราชา Jobs" มากขึ้น
หนังสือทั้งหมดที่เกี่ยวกับ Jobs อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหรือ 3 ยุค ยุคแรกจะเป็นการพูดถึงพัฒนาการของ Macintosh และความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอื่นๆ และแน่นอนยุคนี้ Jobs เป็นฮีโร่ หนังสือเกี่ยวกับ Jobs ในยุคแรกนี้อาจเรียกว่าเป็นยุค "อัจฉริยะ Jobs" ยุคที่ 2 เริ่มเมื่อบริษัทเริ่มตกต่ำทางการเงิน และ Jobs ถูกปลดในช่วงทศวรรษ 1990 หนังสือยุคนี้หันไปพูดถึงข้อเสียของ Jobs อาจจะเรียกว่าเป็นยุค "Jobs ผู้น่าพรั่นพรึง" ยุคที่ 3 เน้นที่ การกลับคืนสู่ Apple ของ Jobs และการเกิดขึ้นของ iPod และ iPhone แต่ก็ยังไม่วายพูดถึงข้อเสียของ Jobs ต่อไป ยุคนี้อาจเรียกว่า เป็นยุค "อัจฉริยะผู้น่าพรั่นพรึง"
ตัวอย่างหนังสือที่ดีที่สุดของยุคแรกมี 2 เล่มที่บังเอิญเขียนโดยคนเดียวกัน คือ Steven Levy เล่มแรกชื่อ Insanely Great ในปี 1994 เกี่ยวกับวิวัฒนาการของ Macintosh 12 ปีให้หลัง Levy เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Jobs อีกเล่มชื่อ The Perfect Thing เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ iPod Levy ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เคยเขียนให้กับ Newsweek และขณะนี้เขียนให้กับ Wired ไม่เคยแตะต้องเรื่องส่วนตัวของ Jobs และพูดถึงความดุดันของ Jobs ก็เฉพาะในเวลาทำงานเท่านั้น Levy จะเน้นที่ทักษะทางธุรกิจของ Jobs มากกว่า และคงเพราะเหตุนี้ ทำให้ Levy ได้รับความร่วมมือ จาก Jobs เป็นอย่างดีในการเขียนหนังสือทั้ง 2 เล่ม ซึ่งทำให้หนังสือทั้ง 2 เล่มได้ข้อมูลเชิงลึก อย่างที่หนังสือเกี่ยวกับ Jobs ยุคหลัง Moritz ไม่สามารถจะเข้าถึงได้
หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งออกเมื่อปีที่แล้วแต่ยังจัดอยู่ในกลุ่ม แรกคือ Inside Steve's Brain โดย Leander Kahney แต่ก็ยังคงเลี่ยงไม่พ้นเรื่องข้อเสียของ Jobs เช่นความอีโก้จัดของเขา อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้เน้นจุดแข็งของ Jobs อย่างการที่เขาเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียดแบบหยุมหยิมที่สุด เช่นการที่เขาสั่งให้ทีมออกแบบปรับปรุงแถบ scrollbar ในระบบปฏิบัติการ OS X โดยใช้ เวลานานถึง 6 เดือน และความเชื่ออย่างฝังหัวของ Jobs ที่ว่าการวิจัยลูกค้าคือตัวปิดกั้นนวัตกรรม Kahney บอกว่า Jobs เชื่ออย่าง ไม่คลอนแคลนว่า ลูกค้าไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร 15 ปีก่อนหน้านั้น Randall E. Stross เขียนไว้ในหนังสือ Steve Jobs and the NeXT big Thing ว่า การไม่ยอมฟังลูกค้าของ Jobs คือข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของเขา และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Jobs ต้องตกต่ำ หนังสือเล่มนี้พูดถึงความล้มเหลวของบริษัท Next Computing ที่ Jobs ตั้งขึ้น หลังถูกอัปเปหิออกจาก Apple และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเล่มหนึ่งสำหรับหนังสือในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเน้นถึงนิสัยส่วนตัวอันน่าพรั่นพรึงของ Jobs หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยถ้อยคำโจมตี Jobs อย่างเผ็ดร้อน จึงไม่แปลกที่ Stross จะเป็นนักข่าวคนหนึ่งที่ Jobs ปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือใดๆ และนั่นคงทำให้ Stross โกรธไม่น้อย จึงเป็นที่มาของถ้อยคำเผ็ดร้อนต่างๆ ที่เขาใช้เขียนในหนังสือเล่มนี้เช่น ใจร้าย หัวสูง ไม่รู้จักคำว่าขอโทษ กักขังตัวเองอยู่แต่ในสิ่งที่เลือกจะจำ เป็นต้น
อีกเล่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือ Apple: The Inside Story of Intrigue Egomania, and Business Blunders เขียนโดย Jim Carlton ซึ่งเขียนในบทส่งท้ายของหนังสือว่า เขารู้สึกว่า Apple อาจจะไปไม่รอดและต้อง การปาฏิหาริย์
ปาฏิหาริย์ที่ว่าก็ถูกบันทึกไว้ ใน The Second Coming of Steve Jobs ของ Alan Deutschman อดีตนักเขียนของ Fortune เล่มนี้นับเป็นรอยต่อจากยุค 2 เข้าสู่ยุค 3 ยุค "อัจฉริยะผู้น่าพรั่นพรึง" และอาจเป็นหนังสือเกี่ยวกับ Jobs ที่ขายดีที่สุด Deutschman ยอมรับ ในสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งความสำเร็จของ Jobs และเป็นหนังสือที่บันทึกการพลิกฟื้น Apple ของ Jobs แต่ Deutschman ก็ยังคงไม่ลืมที่จะเขียนถึงข้อเสียในบุคลิกภาพของ Jobs ด้วย
หนังสือที่น่าพูดถึงอื่นๆ ก็เช่น iCon: Steve Jobs, the Greatest Second Act in the History of Business (2005) ของ Jeffrey S. Young และ William L. Simon เพราะเป็นหนังสือที่ทำให้ Jobs โกรธมาก จนผู้บริหาร Apple ต้องตัดสินใจเอาหนังสือทุกเล่มของสำนักพิมพ์เดียวกันออกไปจากร้าน Apple Store ทั้งหมด ส่วนเล่มที่ชื่อ Options: The Secret Life of Steve Jobs ของ Daniel Lyons น่าสนใจตรงที่คนมักเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า Fake Steve Jobs ส่วน Apple Confidential 2.0: The Definitive History of the World's Most Colorful Company (2004) ของ Owen W' Linzmayer เป็นเล่มที่รวบรวมคำพูดที่ใครๆ พูดถึง Jobs และ Apple ไว้อย่างน่าสนใจ เช่นตอนที่มีนักข่าวไปถาม Bill Gates ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Jobs ว่า Microsoft จะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับบริษัท Next ของ Jobs ไหม แล้ว Gates ตอบว่า "ทำซอฟต์แวร์ ให้หรือผมจะฉี่รดมันน่ะสิ"
ส่วนการต่อสู้ระหว่าง Jobs กับ John Sculley อดีต CEO ของ Apple และเป็นคนที่ไล่ Jobs ออกจาก Apple เมื่อปี 1985 ถูกพูดถึงในหนังสือ 3 เล่ม West of Eden (1989) โดย Frank Rose และหนังสือที่ Sculley เขียนเองชื่อ Odyssey: Pepsi to Apple กับอีกเล่มคือ On the Firing Line เขียนโดย Gil Amelio เหตุการณ์สั้นๆ ตอนที่ Jobs ดึงตัว Sculley มาจาก Pepsi ซึ่ง Sculley เล่าไว้ในหนังสือของเขา อาจจะทำให้เห็นนิสัยใจคอและวิสัยทัศน์ของ Jobs ได้มากกว่าหนังสือทั้งเล่มหรือหลายเล่มที่พูดถึง Jobs ไม่ว่าจะในทางดีหรือทางร้าย เหตุการณ์นั้นคือเมื่อ Jobs ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 27 ปี โยนคำถามใส่หน้า Sculley ว่า "คุณอยากจะใช้ชีวิตที่เหลือของคุณ ให้หมดไปกับการขายน้ำหวาน หรืออยากจะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงโลก"
แต่นักอ่านที่ปรารถนาจะเข้าใจคนที่ชื่อ Steve Jobs อย่างแท้จริง อาจได้พบข้อมูลที่อาจจะน่า เชื่อถือที่สุดเกี่ยวกับ Jobs ได้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ไม่แม้แต่จะเอ่ยถึง ชื่อของ Apple ยิ่งไม่มีการเอ่ยถึง Next หรือ Pixar และไม่แม้กระทั่งเอ่ยชื่อของ Steve Jobs เพราะหนังสือที่ว่านั้นเป็นนิยาย
A Regular Guy นิยายปี 1996 ที่แต่งโดยนักเขียนนิยายชื่อดัง Mona Simpson ซึ่งไม่ได้พยายามที่จะอ้อมค้อมเลยว่ากำลังเขียนถึงใคร นับตั้งแต่ประโยคเปิดเรื่อง "เขาเป็นชายที่ยุ่งเกินกว่าจะกดชักโครก" คุณก็รู้แล้วว่า พระเอกของเรื่องคือใคร Thomas Rudolf Owen พระเอกของเรื่องนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Steve Jobs เขาฉลาดหลักแหลม หลงตัวเอง แม้จะมีเงินหลายล้าน แต่ชอบคิดว่าตัวเองเป็น "หนุ่มใส่ยีนส์ เปลือยเท้าเปล่าในห้องประชุม" เขาถูกไล่ออกจากบริษัทโดยคนที่เขาขุนมาเองกับมือ ยกบ้านให้อดีตแฟนสาวเพื่อแลกกับการให้เธอเซ็นข้อตกลงปกปิดข้อมูล Owen มีลูกสาวที่ตอนแรกเขาไม่ยอมรับ แต่ต่อมาก็ยอมรับเป็นพ่อ (ด้วยการพูดว่า คนที่อาจ เป็นพ่อของเธอได้อาจมีถึง 3% ของประชากรโลก) เขารับมุกตลกได้ช้ามาก และเขามีชีวิตที่เต็มไปด้วยโชค แต่เขาทั้งปราดเปรื่อง มีเสน่ห์เหลือร้าย และภักดีต่อคนที่เขาใส่ใจจริงๆ เท่านั้น
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 23 พฤศจิกายน
|
|
|
|
|