Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2553
2553...ปีทองของข้าวไทย             
 


   
search resources

Agriculture




วงการค้าข้าวคาดหมายว่าปี 2553 จะเป็นปีทองของข้าวไทย เนื่องจากปริมาณการผลิตข้าวในตลาดโลกลดลงจากผลกระทบสภาพอากาศแปรปรวน ในขณะที่ความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายจากมรสุม ส่วนอินเดียประสบปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้อินเดียพลิกสถานะจากผู้ส่งออกข้าวมาเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวแทน

ขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของไทยในปี 2553 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่จะสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยข้าวที่จะได้รับอานิสงส์คือข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ปลาย ข้าว และข้าวเหนียว ส่วนข้าวขาวนั้นแม้ว่าจะมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม และความเสี่ยงจากราคาข้าวที่อาจจะผันผวน อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลของทั้งประเทศที่ส่งออกและนำเข้าข้าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ประมาณการผลผลิต ข้าวในตลาดโลกในปี 2552/53 ว่าจะมีปริมาณลดลงมาอยู่ที่ 432.1 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียประสบปัญหาแห้งแล้งทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิต ข้าวของอินเดียจะลดลงเหลือ 80.0 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงถึงร้อยละ 19.3 ส่งผลให้ในเดือนกันยายน 2552 อินเดียประกาศ งดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติต่อเนื่องไปอีก หลังจากที่ในปี 2551 อินเดียก็งดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 อินเดียประกาศจะนำเข้าข้าว ทำให้ในปี 2553 อินเดียจะพลิกฐานะจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว ส่วนเวียดนามคาดว่าผลผลิตข้าวในปี 2552/53 จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 23.80 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 2.6 เนื่องจากเนื้อที่ปลูก ข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม สำหรับประเทศ ไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในปี 2552/53 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 20.0 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

ปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวอยู่ที่สภาพอากาศแห้งแล้ง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวมากขึ้น ทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และละตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิลและเวเนซุเอลา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวของโลกโดยรวมมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของประเทศรายเล็ก แต่น่าจับตามองทั้งพม่าและกัมพูชา ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2552/53 ปริมาณการผลิตข้าวของพม่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากพม่าได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกเพื่อการพัฒนาระบบชลประทาน

ส่วนปริมาณการผลิตข้าวของกัมพูชาในปี 2552/53 เพิ่มขึ้นเป็น 4.63 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 โดยกัมพูชาร่วมมือ กับเวียดนามในการพัฒนาข้าว รวมทั้งยังได้รับเงินทุนจากคูเวต ซึ่งทั้งพม่าและกัมพูชามีแนวโน้มที่จะขยายปริมาณการผลิตข้าวตอบสนองต่อราคาข้าวที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2553

การค้าข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 29.54 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าการค้าข้าวในตลาดโลกกลับมาคึกคักขึ้นหลังจากในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาการค้าข้าวในตลาดโลกหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 ทิศทางการค้าข้าวจะหวนกลับมาเป็นตลาดของผู้ส่งออกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่น่าจะปรับตัวดังที่ได้เคยเกิดขึ้นในปี 2551 เนื่องจากบางปัจจัยที่ดึงราคาข้าว ในตลาดโลกในปี 2551 นั้นไม่เกิดขึ้นในปี 2553 โดยเฉพาะราคา น้ำมันไม่น่าจะสูงไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะวิตกว่าจะเกิดภาวะวิกฤติอาหารจากการแย่งพื้นที่ ปลูกระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน

สถานการณ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก คาดว่าในปี 2553 ปริมาณการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2551 ที่ 10 ล้านตัน และอาจเพิ่มขึ้นได้อีกในกรณีที่รัฐบาลและผู้ส่งออกข้าวของไทยประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดข้าว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ราคาข้าว ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นโอกาสดีในการส่งออกข้าว แต่ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามเช่นเดียวกับในปี 2552

โดยเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลก งดทำสัญญาส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสสองของปี 2552 เนื่องจากปริมาณการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกเป็นไปตามเป้าหมายในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 แล้ว และเพื่อรอดูสถานการณ์ราคาข้าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 เวียดนามเซ็นสัญญาส่งออกไปแล้ว 6.45 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้น ร้อยละ 55 ส่วนหนึ่งเป็นการเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวขาวจากไทย โดยอาศัยกลยุทธ์ทางด้านราคาซึ่งเกือบตลอดทั้งปี 2552 ราคาข้าวทั้งหมดเฉลี่ยของเวียดนามต่ำกว่าไทยประมาณ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ส่วนต่างของราคาข้าวเวียดนามและข้าวไทยเริ่มลดลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคาดว่าเวียดนามยังคงเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด ส่งออกข้าวขาวต่อไป

ปัจจัยที่น่าสนใจประการสำคัญอยู่ที่ปริมาณสต็อกข้าวของโลกในปี 2553 ที่คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5 มาอยู่ที่ 85.9 ล้านตัน ซึ่งนับว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยปริมาณสต็อกข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้หลาย ประเทศต้องเพิ่มการนำเข้าข้าวเพื่อเก็บเข้าสต็อก เพื่อความมั่นคง ทางด้านอาหารของประเทศ และป้องกันการเกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งจากราคาข้าว

สำหรับประเทศไทย สต็อกข้าวรัฐบาลไทยเคยอยู่ในเกณฑ์ สูงถึง 6 ล้านตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2548 อันเป็นผลมาจากปัญหาการส่งออกข้าวในปี 2552 ทำให้ชาวนาเข้าจำนำข้าวกับรัฐบาล ทั้งในช่วงนาปีของฤดูการผลิต 2551/52 และนาปรังปี 2552 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปรับเกณฑ์การระบายสต็อก โดยการให้ภาคเอกชนประมูลผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแทนการเสนอประมูลผ่านกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ส่งผลให้สต็อกข้าวรัฐบาลลดลงเหลือประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งนับว่ายังสูงกว่าเวียดนามที่คาดว่าจะมีสต็อกข้าวเพียง 1.6 ล้านตันเท่านั้น ปริมาณสต็อกข้าวที่อยู่ในระดับสูงนั้น จะเป็นปัจจัยที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวใช้ในการต่อรองราคาซื้อขายข้าว รวมทั้งรัฐบาลต้องระมัดระวังในการระบายสต็อกข้าว เนื่องจากการระบายสต็อกข้าวส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อราคาข้าว อย่างไรก็ตาม การที่ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นนี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีของรัฐบาลในการทยอยระบายสต็อกข้าว โดยเฉพาะการเจรจาซื้อขายในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล สถานการณ์ข้าวในตลาดโลกที่ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศไทยและราคาส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยราคาข้าวหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าข้าวขาว

เนื่องจากคาดว่าข้าวขาวยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ในขณะที่ราคาข้าวบัสมาติของอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งขันโดยตรงของข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดโลกอยู่ในระดับที่สูงกว่า ทำให้ความต้องการข้าวหอมมะลิของไทยเพิ่มขึ้น

ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อราคาและการแข่งขันในตลาดข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลนำเข้าข้าวเร็วกว่าปกติของฟิลิปปินส์ การประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติของอินเดีย การประกาศนำเข้าข้าวของอินเดีย รวมไปถึงการประกาศ ลดค่าเงินด่องของเวียดนามที่ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามยิ่งมีราคาถูกกว่าข้าวไทยลงไปอีกในสายตาของประเทศผู้นำเข้าข้าว ซึ่งกระทบต่อสถานะของข้าวไทยในตลาดโลก และโอกาสการแย่งชิงตลาดข้าวในปี 2553

ขณะที่การเปลี่ยนนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวของไทย จากมาตรการจำนำเป็นมาตรการประกันรายได้เกษตรกร นับเป็นปัจจัยฉุดให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งขึ้นช้ากว่าราคาข้าวในตลาดโลก และราคาข้าวจะผันผวนไปตามสถานการณ์ของตลาด

นอกจากนี้ การลดภาษีนำเข้าข้าวของไทยตามกรอบข้อตกลงอาฟตาเหลือร้อยละ 0 ผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวของไทยยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อไป ทั้งในแง่ของโอกาสที่ข้าวจากพม่าและกัมพูชาจะทะลักเข้ามาในประเทศ กดดันให้ราคาข้าวในประเทศลดต่ำลง รวมทั้งโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการเจรจาขอชดเชย กรณีที่ฟิลิปปินส์ไม่ลดภาษีนำเข้าข้าวตามข้อผูกพันกับอาฟตา ภายใต้แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวจะได้รับอานิสงส์ ในขณะที่ชาวนาที่ปลูกข้าวขาวที่ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับเวียดนาม ยังคงต้องรอจังหวะที่เวียดนามส่งออกหมดแล้ว และต้องรอผลผลิตข้าวฤดูใหม่ เนื่องจากราคาข้าวขาวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเวียดนาม และเวียดนามใช้กลยุทธ์ราคาเบียดแย่งสัดส่วนตลาดข้าวขาวของไทย

อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สร้างผลกำไรให้กับ ชาวนาผู้ประกอบการมากนัก เพราะต้นทุนปัจจัยการผลิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งราคาปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และเมล็ด พันธุ์ก็มีราคาเพิ่มขึ้น และมีปัญหาขาดแคลน ส่วนราคาเช่าที่ดินก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รวมทั้งมีการเรียกเก็บเป็นรายฤดูนา ไม่ใช่รายปีเหมือนเดิม

ขณะที่ผู้ส่งออกและโรงสีเริ่มเก็บสต็อกข้าว ในช่วงที่ราคา ข้าวปรับตัวขึ้นอาจพบกับความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนที่ต่อเนื่อง ไปสู่การรับคำสั่งซื้อไว้แล้วแต่หาซื้อข้าวเพื่อการส่งมอบไม่ได้หรือต้องซื้อข้าวในราคาที่แพงขึ้นกว่าราคาที่รับคำสั่งซื้อไว้

สำหรับผู้บริโภคข้าวในประเทศ ราคาข้าวมีแนวโน้มจะแพง ขึ้น และอาจจะเกิดปัญหาความตื่นตระหนกเกรงว่าข้าวจะขาดตลาด ทำให้มีการซื้อข้าวไปกักตุนในครัวเรือน จนกระทั่งเกิดภาวะที่ผู้ประกอบการส่งข้าวไปให้ทางโมเดิร์นเทรดไม่ทัน ข้าวถุง จึงไม่มีวางตามชั้นจำหน่าย คาดว่าในช่วงต้นปี 2553 ราคาข้าวสาร บรรจุถุงมีแนวโน้มแพงขึ้นประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากราคาข้าว มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวถุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปี 2553 จึงอาจนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวของไทย จากการปรับตัวของราคาข้าวที่กลับมาเป็นช่วงขาขึ้นอีกครั้ง แต่หากประเมินในมิติของประโยชน์ที่ชาวนา ผู้ประกอบการและผู้คนในสังคมวงกว้างจะได้รับ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะข้าวยากหมากแพงครั้งใหม่ก็เป็นได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us