ความเจริญเติบโตของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมในขณะนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยของคนในเมืองหลวงต่อไปในอนาคตอันใกล้
เพราะคอนโดมิเนียมเป็นออกที่ดีสำหรับการอยู่อาศัยในชุมชนที่มีสภาพการจราจรแออัด
และสภาพการอยู่รวมตัวของธุรกิจในบริเวณใจกลางเมืองหลวง และการขาดเส้นทางด่วนที่จะขยายตัวชุมชนและธุรกิจออกไปทางชานเมืองให้ได้รวดเร็วเพียงพอกับการขยายตัวของชุมชนที่เกิดขึ้นใจกลางเมือง
รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจในบริเวณเดียวกัน
การอยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมจึงเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องการจราจร
และในเรื่องค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาบ้าน
(ค่าทำสวน, คนสวน, คนรับใช้, เป็นต้น) ค่าน้ำมันรถและค่าซ่อมรถหรือค่าผ่อนรถ
(เนื่องจากมีการใช้รถน้อยลง หรือไม่มีเพราะไม่จำเป็นต้องใช้รถ เพราะสามารถเดินหรือขึ้นรถประจำทางหรือรถขนส่งของบริษัทที่มารับไปทำงานได้)
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคอนโดมิเนียมจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาหลายๆ
อย่างให้แก่ผู้อยู่อาศัย แต่คอนโดมิเนียมก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาหลายๆ อย่างแก่ผู้อยู่อาศัย
และของผู้บริหารงานคอนโดหลังการก่อสร้าง หากปัญหาเหล่านี้มิได้รับการวางแผนควบคุมแก้ไขหรือป้องกัน
ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นได้แก่ :-
1. ปัญหาอันเนื่องมาจากโครงการ หรืองานก่อสร้าง
2. ปัญหาอันเนื่องมาจากการอยู่อาศัยร่วมกัน
ปัญหาข้างต้นทั้งสอง เป็นปัญหาหลักขั้นมูลฐานที่เกิดขึ้นตามปกติวิสัยในคอนโดทุกๆ
แห่งที่มีการก่อสร้าง และมีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพของคอนโดแต่ละแห่ง
และขีดความสามารถของผู้บริหารงานคอนโดหลังการก่อสร้างแต่ละแห่งนั้นด้วย
แต่ปัญหาดังกล่าวจะน้อยลงหรือไม่มีเลย หากผู้เป็นเจ้าของโครงการเล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ
นี้ และป้องกันหรือควบคุมและวางแผนตั้งแต่ในขณะก่อสร้าง ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นการเสริมสร้างให้มีคอนโดมิเนียมที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้น
ซึ่งในอนาคตคอนโดมิเนียมที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อสรรหา เพราะผู้ซื้อที่มีวิจารณญาณจะเฟ้นหาแต่สิ่งที่สมบูรณ์แบบ
หรือใกล้เคียงสมบูรณ์แบบที่สุดเท่านั้น
ความสมบูรณ์แบบนั้นประกอบด้วย
1.สถานที่ตั้งโครงการ โครงการคอนโดมิเนียมควรจะตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย
ที่ไม่มีมลภาวะ หรือสิ่งกระทบกระเทือนจากเสียงหรือแรงสั่นสะเทือนที่จะทำให้โครงสร้างหรือระบบของอาคารชุดเป็นอันตรายได้
และไม่ควรจะตั้งอยู่ในบริเวณที่มีปัญหาการจราจรหรือทางเข้าออกไม่สะดวก และเนื้อที่ดินที่ตั้งโครงการไม่ควรจะเล็กจนเกินไป
เพราะจะต้องมีที่จอดรถให้พอเพียง และมีสถานที่ส่วนกลางหรือสวนหย่อมสำหรับความสวยงามและร่มรื่น
และมีสถานที่ส่วนกลางสำหรับใช้ในการให้บริการและในการอำนวยความสะดวกต่างๆ
2. การรักษามาตรฐานในการลงทุนและการออกแบบ เนื่องจากการก่อสร้างอาคารชุดมีส่วนสัมพันธ์ยิ่งกับเงินลงทุนของผู้เป็นเจ้าของโครงการที่ต้องการใช้ในการก่อสร้างและการออกแบบของโครงการ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะออกแบบตามจำนวนทุนที่เจ้าของโครงการต้องการลงทุนในโครงการนั้นๆ
โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนจะพยายามลงทุนน้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด
แต่สำหรับการลงทุนสร้างคอนโดนั้น เนื่องจากคอนโดจะต้องเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมกัน
ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาในด้านการอยู่อาศัยและการดูแลรักษาที่จะเกิดขึ้น
การลงทุนจึงไม่ควรต่ำกว่าจำนวนทุนที่จะทำให้ได้ระดับมาตรฐาน แต่เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดกำหนดว่ามาตรฐานเหล่านั้นอยู่ที่ไหน
ผู้เขียนจึงคิดว่าผู้ซื้อควรจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานนั้นเอง กล่าวคือ หากเขาเห็นว่าคอนโดใดไม่อยู่ในมาตรฐานแล้ว
เขาก็จะไม่ซื้อ ไม่ว่าจะราคาถูกสักปานใด เพราะปัญหาในการอยู่อาศัยและการดูแลรักษาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
มาตรฐานที่ควรกำหนดนั้นได้แก่
1. ความปลอดภัย ความมั่นคง และการใช้วัสดุที่มีคุณภาพตามสมควรในการก่อสร้าง
2. การจัดแบ่งทรัพย์ส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลางให้ชัดเจนและเป็นธรรม
การจัดระบบการถ่ายเทของเสียมิให้เกิดมลภาวะ และมีระบบสาธารณูปโภคที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ตลอดจนระบบการทำความสะอาดและทิ้งขยะ ที่ถูกแบบแผนและเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. การป้องกันการรั่วซึมของน้ำจากภายนอก และการถ่ายเทน้ำในวิธีการที่ถูกต้องและถูกจุด
4. การมีมาตรการที่สะดวกในการเข้าดูแลรักษาซ่อมแซมทรัพย์สินหรือส่วนของอาคารชุด
โดยให้กระทบกระเทือนผู้อยู่อาศัยน้อยที่สุด
6. มีทางหนีไฟ และระบบการดับเพลิงและมีการทำทางเข้าออกที่รัดกุมและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาความปลอดภัย
7. มีที่จอดรถที่พอควรต่อความต้องการตามฐานะของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด
8. มีสถานที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกให้พอควรต่อความต้องการตามฐานะของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดและราคาห้องชุดที่เสนอขาย
ในภายภาคหน้า เมื่อผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเหล่านั้นขึ้นก็เป็นที่เชื่อได้อย่างแน่นอนว่า
ผู้ออกแบบโครงการจะต้องบรรจุมาตรฐานเหล่านั้นลงไปในการออกแบบโครงการให้พอเหมาะกับการลงทุน
และราคาห้องชุดที่เสนอขายและความต้องการหรือค่านิยมของผู้ซื้อที่ต้องการซื้อแต่ของถูกประสบปัญหาในภายหน้าก็จะหมดไป
3. การรับประกันและรับผิดชอบงานก่อสร้าง เนื่องจากเจ้าของโครงการเป็นผู้ขายห้องชุดและเป็นผู้ทำสัญญาต่างๆ
กับผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของโครงการจึงควรกำหนดให้ผู้รับเหมาทำการค้ำประกันผลงานหลังการก่อสร้าง
โดยมีกำหนดเวลา และมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันทุกราย และเจ้าของโครงการควรทำหนังสือรับผิดชอบหรือค้ำประกันผลงานก่อสร้างโดยมีกำหนดเวลาเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อห้องชุดอีกโสดหนึ่งด้วย
เพราะผู้ที่จะบังคับให้ผู้รับเหมาทำการซ่อมแซมสิ่งที่บกพร่องให้ได้รวดเร็วและได้ผลที่สุดนั้นก็คือ
เจ้าของโครงการ เพราะเป็นผู้ที่มีสัญญาโดยตรงกับผู้รับเหมา และในด้านความรับผิดชอบผู้เป็นเจ้าของโครงการก็มีผู้รับเหมารับผิดชอบแทนซ้อนอยู่
จึงมีหน้าที่เพียงต้องติดตามผู้รับเหมาให้มาช่วยแซมตามสัญญาที่รับผิดชอบเท่านั้น
โดยทั่วไปผู้บริหารงานอาคารชุดมักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้แทนเจ้าของโครงการเพราะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเจ้าของห้องชุดมากที่สุด
ทำให้เวลาทำงานของผู้บริหารงานโครงการในเรื่องการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและการให้บริการอื่นๆ
ต้องสูญเสียทำให้งานบกพร่องไป เพราะต้องมาทำงานส่วนใหญ่ในเรื่องความบกพร่องต่างๆ
อันเนื่องมาจากการก่อสร้างซึ่งเป็นงานที่เจ้าของโครงการและผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบ
หากเจ้าของโครงการมีหน่วยงานช่วยรับผิดชอบติดตามเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว
ความมีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการซ่อมแซมจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีในหมู่ผู้อยู่อาศัย
และผู้บริหารงานอันจะเป็นเครื่องสร้างสรรค์ให้ทุกคนมีความสุขและมีความสบายใจในการอยู่อาศัยในคอนโด
ที่ปราศจากปัญหาจากงานก่อสร้างซึ่งเป็นปัญหาหลัก เพราะปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขโดยถูกจุดโดยผู้ที่สร้างและผู้ที่ขายอาคารนั้นเอง
ซึ่งคำสัญญาหรือคำชี้ชวนต่างๆ ที่ได้พูดกันไว้ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือคำพูดปากเปล่าก็ได้รับการปฏิบัติทุกประการ
4. การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นข้อผูกมัดในสัญญาซื้อขาย โดยเหตุที่การอยู่อาศัยในคอนโดนั้นผู้อยู่อาศัยจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อาคารชุด
ดังนั้น เพื่อควบคุมมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง ผู้เป็นเจ้าของโครงการควรทำสัญญาผูกมัดกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ
หรือกำหนดสิทธิ และรายละเอียดของสิทธิที่มีอยู่ หรือการจำกัดสิทธิของแต่ละห้องชุดไว้ให้ชัดเจนในสัญญา
และให้สัญญานั้นมีผลให้อาคารชุดใช้บังคับเจ้าของห้องชุดได้ด้วย เช่น การกำหนดข้อบังคับของอาคารชุดให้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายตั้งแต่แรกเริ่ม
การกำหนดที่จอดรถหรือมาตรการในการเลือกที่จอดรถ
การกำหนดอัตราเฉลี่ยค่าใช้จ่ายหรือมาตรการในการกำหนดอัตราเฉลี่ย
การกำหนดให้สิทธิหรือการจำกัดสิทธิ เช่น การกำหนดให้ห้องชุดหนึ่งต่อเติมห้องพิเศษได้เพราะตำแหน่งของห้องชุดนั้นมีลักษณะเป็นพิเศษที่สามารถทำได้
แต่จำกัดสิทธิมิให้ห้องชุดอื่นทำ เช่นนี้เป็นต้น
เมื่อผู้ซื้อห้องชุดได้ทราบข้อบังคับ กฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่มและยอมถูกผูกมัดอยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาแล้ว
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลังที่ผู้ซื้อห้องชุดไม่ยอมปฏิบัติจะไม่มี หรือหากมีผู้บริหารงานอาคารชุดก็สามารถควบคุมได้
แต่ในทางตรงกันข้าม หากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผู้ซื้อไม่ทราบเพราะไม่มีกำหนดไว้แต่แรกและไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน
การไม่ยอมรับและการไม่ปฏิบัติมักจะเกิดขึ้นโดยง่าย เพราะผู้ซื้อจะถือว่าตนเป็นเจ้าของบ้านมาด้วยน้ำพักน้ำแรง
และตอนที่จะซื้อห้องชุดก็ไม่เห็นผู้ขายพูดว่ากระไร บอกเพียงว่าไม่มีปัญหา
ตนก็เลยซื้อไป ดังนั้น ก็คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเนื่องจากเป็นห้องชุดของตน
ปัญหาก็จะเกิดแก่ผู้บริหารงาน และกระทบกระเทือนถึงผู้อยู่อาศัยอื่นๆ ที่แสวงหาความมีมาตรฐานและความเป็นระเบียบเรียบร้อยอื่นๆ
ด้วย
5. การเฉลี่ยค่าใช้จ่ายร่วมกัน การอยู่อาศัยในอาคารชุด จะต้องมีการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นหัวใจของการอยู่อาศัยร่วมกัน
การเฉลี่ยค่าใช้จ่ายนี้ กฎหมายได้กำหนดอัตราเฉลี่ยไว้ให้แล้วคือกำหนดให้เฉลี่ยตามอัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ส่วนกลาง
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง
ให้เฉลี่ยตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
แต่เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงวิธีการเฉลี่ยนี้ และไม่ทราบถึงจำนวนเงินที่เป็นผลของการเฉลี่ยที่ผู้เป็นเจ้าของห้องชุดจะต้องจ่ายแต่ละเดือน
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ผู้ขายควรแจ้งให้ผู้ซื้อทราบตั้งแต่แรกโดยชัดเจนว่า
ผู้ซื้อจะเสียค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าใด โดยคำนวณจากประมาณการค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่จะต้องทำประมาณการออกมา
เพื่อที่ผู้ซื้อจะไม่มีความรู้สึกในภายหลังว่าถูกหลอกให้มาซื้อ ซึ่งจะทำให้เสียความรู้สึกและความสัมพันธ์อันดีไป
ผู้ขายมักจะมองว่าเรื่องค่าใช้จ่ายประจำเดือนของคอนโดว่าเป็นส่วนลบที่ถ่วงการขายเพราะหากผู้ซื้อทราบว่าจะเสียค่าใช้จ่ายทุกเดือนแล้วจะทำให้ขายไม่ได้
หรือบางรายก็เกรงว่าจะขายไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายแพง
แต่ความจริงแล้ว การเสียค่าใช้จ่ายประจำเดือนนั้น หากแสดงให้ผู้ซื้อเห็นโดยชัดเจนแล้วจะเป็นแง่บวกให้แก่การขาย
เพราะผู้ขายจะสามารถทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่า อาคารชุดมีการจัดการและการดูแลรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพขึ้นมาตรฐาน
เพราะมีการจ้างบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อจัดการงานทุกแผนก โดยมีการทำความสะอาด
การรักษาความปลอดภัย การดูแลรักษาอาคารชุด การให้บริการต่างๆ การจัดทำเอกสาร
การจัดประชุม การจัดทำบัญชี การเฉลี่ยและการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย การจัดการเรื่องการเงิน
และการเป็นตัวกลางในการติดต่อเชื่อมโยงและแก้ปัญหาและสร้างความสัมพันธ์ต่างๆ
ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบายไร้กังวล คุ้มค่าเงินที่ได้เสียไป
นอกจากนี้ ผู้ขายก็จะสามารถชี้แจงให้ผู้ซื้อเห็นได้ชัดว่าการเสียเงินค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเป็นสิ่งจำเป็นเพราะการอยู่อาศัยร่วมกันในอาคารเดียวกันที่ใช้โครงสร้างเดียวกัน
ใช้ทางเข้าออกและสถานที่ร่วมกัน จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และการจัดการที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาและปกป้องสิทธิของแต่ละบุคคลและของอาคารชุดมิให้เสื่อมเสียหรือถูกล่วงล้ำแต่ประการใด
เพราะหากไม่ร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายนี้แล้ว จะให้ใครเล่าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้
นอกจากนี้ผู้ขายยังสามารถชี้แจงให้ผู้ซื้อทราบอีกด้วยว่าค่าใช้จ่ายที่เสียนี้เป็นส่วนแลกเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยกับสิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับตอบแทนซึ่งมีค่ามากกว่า
กล่าวคือ ผู้ซื้อจะได้รับการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้ซื้อเคยเสียโดยลำพังตนเองเมื่ออยู่อาศัยที่บ้านและที่ดินที่เป็นของตน
เช่น ค่าทำสวน ค่าดูแลรักษาบ้าน ค่าสวัสดิการประจำเดือนของหมู่บ้าน ค่าคนสวน
ค่าลูกจ้างทำงานบ้าน (ที่ต้องมีหลายคน) แต่เมื่อมาอยู่อาศัยในคอนโดแล้วผู้ซื้อสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ทั้งหมด
ลูกจ้างทำงานบ้านที่เคยมีหลายคนก็อาจจะลดลงมาเหลือเพียงคนเดียวได้
นอกจากนี้การอยู่อาศัยในคอนโดผู้ซื้อยังเป็นเจ้าของและได้ใช้ประโยชน์ทรัพย์สินหลายอย่างที่ผู้ซื้ออาจไม่มีที่บ้านของตน
เช่น ความสวยงามและความสง่างามที่เป็นหน้าเป็นตาของตัวอาคาร และทรัพย์ส่วนกลาง
เช่น สระว่ายน้ำ ลิฟต์ ห้องออกกำลังกาย ระบบโทรศัพท์ ระบบการรักษาความปลอดภัย
เป็นต้น
6. การวางแผนงบการลงทุน การตั้งราคาขายและการขาย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
และอาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของโครงการและผู้เป็นเจ้าของโครงการควรจะสนใจเรื่องนี้ให้มาก
เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการในการวางแผนให้รัดกุม และเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อในการพิจารณาว่า
โครงการใดมีความเป็นไปได้ตามแบบแผนที่ผู้เป็นเจ้าของโครงการวาดภาพไว้เพียงใด
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนการลงทุนและการเงินให้รัดกุม ที่สามารถแสดงให้ผู้ซื้อได้เห็นเพื่อเกิดความมั่นใจได้ว่า
การก่อสร้างตามแบบนั้นสามารถไปตลอดรอดฝั่งแน่ โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการขายเพราะเงินลงทุนได้จัดไว้แล้วและสัญญาก่อสร้างโครงการตามแบบแปลนก็ได้ทำแล้วกับบริษัทที่เชื่อถือได้
โดยมีธนาคารค้ำประกัน
ผู้ประกอบการไม่ควรที่จะหวังในความสำเร็จของการขายมากจนเกินไปในระยะก่อสร้าง
จนถึงจุดที่ว่าไม่ได้วางแผนการเงินไว้สำหรับส่วนที่จะขายไม่ได้ตามเป้า เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจเกิดภาวะการก่อสร้างชะงักงันเพราะขาดเงิน
ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ซื้อที่ไม่สามารถเข้าอยู่เป็นลูกโซ่จะตามมา ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจสำหรับโครงการที่มีปัญหานั้น
การวางแผนการลงทุนและการเงินของโครงการอาคารชุที่สมบูรณ์แบบควรจะต้องจัดระบบการลงทุนให้ครบทั้งโครงการ
และควรวางแผนให้สอดคล้องกับการขายและการบริหารงานหลังการก่อสร้าง โดยที่ทีมงานการขายจะต้องเป็นทีมงานที่มีประสิทธิภาพสามารถชี้แจงรายละเอียดต่างๆ
ให้ลูกค้าฟังได้ชัดเจนจนปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยหรือเข้าใจผิดใดๆ
และนอกจากนี้ การลงทุนควรรวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่ต้องใช้ในการบริหารงานหลังการก่อสร้างด้วย
เช่น เก้าอี้รับแขก เฟอร์นิเจอร์ ล็อบบี้ เฟอร์นิเจอร์ สระน้ำ เครื่องตกแต่งต่างๆ
เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน และสิ่งต่างๆ ที่ต้องใช้ในการบริหารงาน และการดูแลรักษาให้ครบครันสิ่งต่างๆ
เหล่านี้ ความจริงราคาค่างวดเป็นตัวเงินก็ไม่เท่าไร แต่บางโครงการไม่รวมไว้ในการลงทุน
ทำให้ผู้ซื้อต้องมาลงทุนกันเองภายหลัง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าการอยู่อาคารชุด
ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางมากมาย เข้ามาอยู่อาคารชุดในปีแรกต้องเสียค่าดูแลรักษา
ค่าซื้อทรัพย์สินต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และการซื้อทรัพย์สินต่างๆ บางครั้งผู้ซื้อก็ต้องการให้ซื้อถูกๆ
เพราะต้องเป็นผู้ออกเงิน ทำให้ทรัพย์สินหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ได้ไม่ถูกแบบ
ไม่สมความสง่างามของตัวอาคารที่ทำไว้อีกระดับหนึ่ง เป็นต้น
ความรู้สึกเช่นว่านั้นสามารถวางแผนให้ไม่เกิดขึ้นได้ โดยผู้เป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ลงทุนเสียเอง
โดยจัดให้มีพร้อมสรรพทุกอย่างและคิดเฉลี่ยไปในราคาขายห้องชุดแต่ละห้อง
นอกจากนี้ยังมีวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่สามารถรวมไปในโครงการเสมือนเป็นการลงทุนและเฉลี่ยไปในราคาขายได้
นั่นก็คือการกันเงินส่วนหนึ่งให้เป็นทุนของอาคารชุดหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ
ซึ่งในขณะนี้มีโครงการหนึ่งทำอยู่ เพื่อให้นำเงินจำนวนนี้ไปฝาก (โดยอาจฝากกับเจ้าของโครงการที่มีธนาคารค้ำประกันก็ได้)
เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยมาช่วยค่าใช้จ่ายประจำเดือนของอาคารชุด ถ้าเงินทุนที่กันไว้ให้นี้มีจำนวนนมากพอ
ดอกเบี้ยที่ได้รับแต่ละเดือนก็อาจนำมาใช้ชำระค่าใช้จ่ายของอาคารชุดได้หมด
โดยผู้เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดไม่ต้องควักกระเป๋าเลย อย่างไรก็ตาม การวางโครงการในระบบนี้
ผู้ซื้อจะต้องซื้อห้องชุดในราคาที่แพงขึ้น แต่เป็นราคาที่คุ้มอย่างยิ่ง และผู้ซื้อเองก็จะไม่รู้สึกว่าแพงขึ้นแต่อย่างใด
เพราะคุณค่าที่เป็น goodwill ของโครงการที่มีระบบงานเช่นนี้มีมากกว่า และราคาตลาดในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาที่ตั้งไว้อีกอย่างแน่นอนซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้กำไรจากราคาขายอีกด้วย
นอกจากนี้ คอนโดที่สมบูรณ์แบบอาจวางแผนกำหนดการลงทุนและราคาขายให้รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และสิ่งตกแต่งครบครันในห้องชุดด้วย
หมายความว่าหากซื้อห้องชุดแล้วจะต้องตกแต่งห้องด้วยให้แล้วเสร็จ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้สามารถควบคุมการตกแต่งห้องได้
เพราะผู้ประกอบการเป็นผู้ทำเองและจะช่วยลดความเดือดร้อนรำคาญที่เกิดขึ้นจากการที่ขายแต่ห้องเปล่า
และปล่อยให้ผู้ซื้อตกแต่งเอง ซึ่งผู้ซื้อก็ใช้ผู้รับเหมาต่างๆ รายกัน บางโครงการมีผู้รับเหมามากมาย
ควบคุมกันไม่หวาดไม่ไหว ทำให้เกิดการทำความเสียหายให้แก่ระบบต่างๆ ของอาคารชุด
โดยความมักง่ายหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การทำให้ท่อตัน หรือทำให้พื้นที่ส่วนกลางเสียหาย
เป็นต้น และกำหนดเวลาในการตกแต่งห้องก็ไม่สามารถคุมได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ซื้อที่จะเลือกว่าจะตกแต่งเมื่อไหร่
บางรายซื้อห้องชุดมาแล้วทิ้งไว้ 6 เดือน แล้วยังไม่ตกแต่งก็มี ทำให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดต้องได้รับความรำคาญจากการก่อสร้างตกแต่งของห้องข้างเคียง
หรือห้องอื่นๆ ในอาคารชุดที่ต้องขนปูน ทราย และคนงานผ่านสถานที่ส่วนกลางตลอดทั้งปี
สรุปแล้ว คอนโดเป็นสิ่งจำเป็นและควรได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์แบบหรือใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบที่สุด
ผู้ที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียมให้ได้ผลที่สุดนั้นก็คือ ผู้ซื้อที่จะต้องจ่ายเงินและอยู่อาศัยในอาคารชุดนั้นเอง
ท่านจะต้องเป็นผู้เลือกว่าท่านชอบปัญหาน้อย หรือปัญหามาก หรือไม่มีปัญหา
โดยพิจารณาความพร้อมของตัวท่านและกำลังทรัพย์ของท่านเป็นอันดับแรก และในอันดับต่อไปท่านต้องใช้สติปัญญาและวิจารณญาณของท่านเอง
ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีการวางแผนการเงิน การขาย การก่อสร้าง และระบบการบริหารงานและการดูแลรักษาหลังการก่อสร้างที่ดี
และเมื่อท่านทำเช่นนั้นได้แล้วท่านจะเป็นผู้สร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนาคอนโดมิเนียมไปสู่ความสมบูรณ์แบบหรือใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบต่อไปในที่สุด