แอลจีชู 4S ชิงบัลลังก์ผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศในเมืองไทย พร้อมครีเอตแวลู เพิ่มมูลค่าสินค้า ยกระดับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคให้หันมาใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นที่ดีขึ้น หวังสร้างฐานลูกค้าพรีเมียม
แอลจี เดินเกมสู่พรีเมียมแบรนด์ ต่อจิ๊กซอว์ตัวใหม่ อัปเกรดตลาดเครื่องปรับอากาศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หลังจากต้องเผชิญกับสงครามราคา ประกอบกับภาษีสรรพสามิตที่ลดเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ส่งผลให้ราคาขายปลีกเครื่องปรับอากาศของหลายแบรนด์ต่ำลง ทว่าผู้บริโภคมองหาเครื่องปรับอากาศที่ให้ความเงียบขณะใช้งาน ความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน และความสวยงาม นำไปสู่คอนเซ็ปต์ 4S ซึ่งประกอบด้วย SILENT, SAFE, SAVING และ STYLISH
'ปี 2552 นอกจากเราจะลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว เรายังลงทุนในเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ที่มีระดับและเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกับคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้าน การพัฒนาบุคลากรด้านการขาย รวมไปถึงตำแหน่งผลิตภัณฑ์ในร้าน ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้แอลจีประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาและในปีต่อๆไป ซึ่งแอลจีคาดว่าตลาดรวมเครื่องปรับอากาศจะมีการเติบโต 10% ในปี 2553 ขณะที่แอลจีตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้มากถึง 30% ซึ่งจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดในปีถัดไป' อลงกรณ์ ชูจิตร รองกรรมการผู้จัดการ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว
แอลจีทุ่มงบ 400 ล้านบาทในการทำการตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2553 ซึ่งมากกว่าปี 2552 ที่ใช้ไปเพียง 300 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้แอลจีจะเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยมีการเชิญ บัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าวมาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ โดยชูคีย์เวิร์ดที่ว่า 'ยิ่งเงียบ ยิ่งประหยัด ยิ่งน่าลงทุน' เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ที่ช่วยประหยัดค่าไฟกว่ารุ่นเก่า
ทั้งนี้ แอลจีมีการเพิ่มรุ่นจากปีก่อนที่ลอนช์ไป 11 รุ่น เพิ่มเป็น 16 รุ่นในปีนี้ โดยแบ่งเป็น 4 ซีรีส์ ประกอบด้วย เฮลธ์พลัส อินเวอร์เตอร์, เฮลธ์พลัสดีลักซ์, เฮลธ์พลัสอีโคโน่ และอาร์ทคูล โดยแต่ละซีรีส์จะแบ่งเป็น 4 รุ่น ตามขนาด คือ 9,000, 12,000, 18,000 และ 24,000 บีทียู
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ของแอลจีมีการใส่ฟังก์ชั่นต่างๆ เข้าไปภายใต้คอนเซ็ปต์ 4S ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยรุ่นที่ถูกที่สุดคือ 9,000 บีทียู มีราคาอยู่ที่ 17,900 บาท ซึ่งแพงกว่ารุ่นธรรมดา 1,000-2,000 บาท เป็นช่องว่างที่แคบพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นเล็กน้อยเพื่อประหยัดค่าไฟในระยะยาว และเป็นการอัปเกรดไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคให้ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่ายอดขายให้กับแอลจี
'กลยุทธ์การตลาดในปี 2553 บริษัทจะมุ่งเน้นในด้านการสร้าง Brand Awareness และ Brand Preference ของเครื่องปรับอากาศแอลจี โดยบริษัทจะเน้นการจัดกิจกรรมด้าน Above the line โดยทุ่มงบ 70% ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้สามารถทำการสื่อสารได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด อาทิ ภาพยนตร์โฆษณา, Tie-in program, Informative Ad, สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อวิทยุ, สื่อกลางแจ้ง และสื่อออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของเครื่องปรับอากาศแอลจี บริษัทได้ทำการเปิดตัวคุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าวและนักวิเคราะห์การลงทุนชื่อดัง เพื่อมาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ให้กับเครื่องปรับอากาศแอลจี ซึ่งภาพลักษณ์ของคุณบัญชาสามารถสะท้อนคุณสมบัติของเครื่องปรับอากาศแอลจี ที่คุ้มค่ากับการลงทุนได้เป็นอย่างดี' เฮียน วู (ฮาเวิร์ด) ลี กรรมการผู้จัดการ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว
ปัจจุบันอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศของครัวเรือนไทยมีเพียง 20% โอกาสในการขยายตลาดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆที่มักติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันหลายค่ายต่างมีทีมขายเจาะตลาดโครงการโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างตลาดรีเพลสเมนต์ หรือการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ใช้เครื่องปรับอากาศอยู่แล้วเปลี่ยนมาใช้เครื่องรุ่นใหม่แทน โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ด้วยการเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่น้อยกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้เครื่องปรับอากาศที่ดีซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟในระยะยาว
นอกจากนี้แอลจียังมีการทำโรดโชว์รูปแบบ Portable Showroom ซึ่งเป็นเสมือนโชว์รูมเคลื่อนที่ ซึ่งจะเดินทางไปตามหัวเมืองของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมมีการจัดกิจกรรมพิเศษ รวมทั้งการให้บริการหลังการขายให้กับลูกค้าที่เข้ามาร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสสินค้า และเป็นการกระตุ้นยอดขายให้กับตัวแทนจำหน่ายได้อีกทาง
ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายจะมีการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพในการขายและบริการหลังการขายให้ดีขึ้น ตลอดจนการตกแต่งดิสเพลย์สินค้าให้สวยงามทันสมัย พร้อมทำ Demonstration Tool ขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้ทดลอง และสัมผัสการทำงานของสินค้าและเปรียบเทียบสินค้ากับคู่แข่ง เพื่อทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
'ภาพรวมในปี 2553 น่าจะดีขึ้น ภาษีสรรพสามิตที่ปรับลดลงไปเมื่อ 3 เดือนที่แล้วส่งผลให้ราคาปลีกเครื่องปรับอากาศลดลง ช่วยกระตุ้นให้ตลาดเครื่องปรับอากาศมีการเติบโตขึ้น 15% ซึ่งในส่วนของแอลจีเองสามารถปิดยอดขายได้ 150,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 2,100 ล้านบาท เติบโต 15% ส่วนในปี 2553คาดว่าจะสามารถปิดยอดขายได้ 180,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 2,800 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% อลงกรณ์ กล่าว
เช่นเดียวกับซัมซุงที่พยายามอัปเกรดไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค โดยเริ่มหันมาเน้นเครื่องปรับอากาศรุ่นอินเวอร์เตอร์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์มีไม่เกิน 10% ของความต้องการในตลาดโดยรวม ดังนั้น โอกาสยังเปิดกว้างในการสวิตชิ่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันซัมซุงมีเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ 2 รุ่น โดยในปี 2553 จะเพิ่มอีก 4 รุ่น พร้อมกันนี้ยังเปิดตัวพรีเซนเตอร์คู่ใหม่ หมิว ลลิตา-ก้อง-นรบดี ศศิประภา เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ในการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของครอบครัวยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น โดยซัมซุงชูกุญแจหลักในการพัฒนาสินค้าซึ่งประกอบด้วยการใช้งานง่าย ประหยัดแรงงานและเวลา ดีไซน์สวยงามเป็นเอกลักษณ์ และตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภค
ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศมีปริมาณความต้องการอยู่ที่ 880,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2553 คาดว่าปริมาณความต้องการจะเพิ่มเป็น 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันแอลจีอยู่อันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 16% ซึ่งห่างจากพานาโซนิคที่อยู่อันดับ 3 ไม่ถึง 0.5% ขณะที่ผู้นำตลาดคือมิตซูบิชิ มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 21% ทั้งนี้ แอลจีตั้งเป้าว่าในปี 2554 จะสามารถแซงมิตซูบิชิขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 22% คิดเป็นยอดขายมากกว่า 2 แสนเครื่อง
|