เป็นธรรมดาที่บริษัทใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทย เมื่อผู้จัดการใหญ่ใกล้จะต้องพ้นวาระไปก็ย่อมมีคนในใจว่า
ใครจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน
ความจริงแล้ว จรัส ชูโต จะต้องเกษียณอายุภายในสิ้นปี 2526 แต่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้ต่ออายุอีกหนึ่งปีจนสิ้นปี
2527
โครงสร้างของระดับต่ำจากผู้จัดการใหญ่ในเครือซิเมนต์ไทยนั้นมีอยู่ 5 ตำแหน่ง
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ที่เท่าเทียมกันหมดโดยมี
...พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การบริหารกลาง
...บุญเติม อมาตยกุล เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เทคนิคและโครงการ
...อมเรศ ศิลาอ่อน เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การเงิน
...ทวี บุตรสุนทร เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ซีเมนต์และวัสดุทนไฟ (ฝ่ายผลิต)
...ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การตลาด
ทั้ง 5 คนนี้มีตัวเลขและสถิติที่น่าสนใจพอสมควรในการประกอบการพิจารณา เช่นว่าอายุของแต่ละคน
(ยกเว้นของพารณกับบุญเติมที่เท่ากัน จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันประมาณ 6 ปี
)แต่ถ้านับตามอาวุโสการทำงานแล้ว บุญเติม อมาตยกุล อาวุโสที่สุด เพราะเริ่มงานมาตั้งแต่พ.ศ.2490
รองลงมาก็เป็น ทวี บุตรสุนทร ซึ่งพอจบวิศวจุฬาเกียรตินิยมเหรียญทองสอนหนังสืออยู่เพียง
2 ปี ก็เข้าทำงานในปี 2505 อันดับสามคืออมเรศ ศิลาอ่อน เข้าในปี 2510 และก็เป็นพารณ
อิศรเสนา ณ อยุธยา ในปี 2512 ตบท้ายด้วยชุมพล ณ ลำเลียง เข้ามาในปี 2515
แต่ถ้าจะเลือกผู้จัดการใหญ่โดยใช้อาวุโสในการทำงานเป็นหลักเกณฑ์แล้ว จรัส
ชูโต เองก็คงจะไม่ได้เป็นผู้จัดการใหญ่คงจะต้องเป็นหลายคนที่เข้าทำงานก่อน
จรัส ชูโต เข้าเสียอีก
ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยนั้นเป็นตำแหน่งที่ต้องมีทั้งฝีมือและบารมีซึ่งฝีมือนั้นทั้ง
5 ผู้ช่วยผู้จัดการก็มีกันคนละแบบ แต่บารมีก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกๆ
ฝ่าย
จุดเด่นของผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทยนั้นอยู่ที่ทีมเวิร์ค เพราะแต่ละคนเก่งกันคนละอย่างและผลงานในอดีตก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
ต้องใช้การทำงานกันเป็นทีมจริงๆ อย่างเช่นกรณีของสยามคราฟท์ ซึ่งในปี 2517
ถึงปี 2518 เป็นช่วงที่ประสบกับปัญหาเรื่องการเงินอย่างรุนแรง และบริษัทปูนซิเมนต์ไทยถูกขอร้องให้เข้าไปบริหารเพราะมีความเกี่ยวพันกันหลายประการตั้งแต่เป็นผู้ซื้อถุงกระดาษไปจนถึงเป็นเจ้าหนี้บางส่วนด้วย
การเข้าไปแก้ปัญหาสยามคราฟท์ก็เป็นการเข้าไปเป็นทีมเริ่มด้วย ชุมพล ณ ลำเลียง
เข้าดูทางการเงินไป restructure เรื่องหนี้ต่างๆ ค่อยตามด้วย พารณ อิศรเสนาฯ
เข้าไปในแง่ organization แล้วปิดท้ายด้วยการส่ง อมเรศ ศิลาอ่อน เข้าไปเป็นแม่ทัพใหญ่พานาวาสยามคราฟท์ให้รอดพ้นจากการพินาศไปได้
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่แต่ละคนมี depth กันไปคนละแนวทาง
ถ้าจะพูดกันถึงพื้นฐานการศึกษาแล้วทุกคนจะจบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ยกเว้น อมเรศ
ที่เรียนมาด้านเศรษฐศาสตร์
และทุกคนก็แทบจะได้พิสูจน์ฝีไม้ลายมือกันมามากพอสมควรตั้งแต่อมเรศ ศิลาอ่อน
ซึ่งจับ บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด ชุมพล ณ ลำเลียง เคยจับ บริษัทเหล็กสยาม
จำกัด และบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด (เดิมชื่อค้าวัตถุก่อสร้าง) และบริษัท
เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด พารณ อิศรเสนาฯ จับ บริษัทสยามคูโบต้าดีเซล จำกัด
และบริษัท สยามคราฟท์ จำกัด ในยุคแรกก่อนอมเรศ ส่วนทวี บุตรสุนทร ก็เคยจับ
บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด ต่อจากยุคอมเรศและก็มาบริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด
เรียกได้ว่าผ่านขั้นตอนของการเป็น Line Managers กันมาแล้วทั้งนั้น
ตอนนี้ทุกคนกลับมารวมอยู่ที่ Corporate Office หลังจากที่ได้บุกเบิกกันมานานพอสมควร
ในปูนซิเมนต์ไทยนั้นถ้าจะพูดกันเรื่องตัวเลขหรือการเงินการทอง หรือจะมีการกู้เงินเจรจายืดหนี้ใหม่งานนี้ก็ต้องยกให้
ชุมพล ณ ลำเลียง เพราะหลังจากจบ MBA ที่ฮาร์วาร์ดแล้วชุมพลก็เข้าทำงานที่
World Bank ต่อมาก็ที่ TISCO แล้วค่อยมาเริ่มกับปูนซิเมนต์ไทยในปี 2515
ชุมพลเป็นคนเรียบง่ายและความจำเป็นเลิศโดยเฉพาะในเรื่องของตัวเลข โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนไม่มีพิธีรีตองอะไร
เราอาจจะเห็นชุมพลเดินกินไอติมแล้วก็ยืนคุยกับสตาฟฟ์ได้อย่างหน้าตาเฉย ซึ่งคนอื่นในระดับชุมพลจะไม่กล้าทำกันแต่ชุมพลเป็นคนกันเองกับลูกน้องกับลูกน้องและนิสัยค่อนข้างฝรั่งมากอาจเป็นเพราะใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนานพอสมควร
ทั้งในด้านการศึกษาและการทำงาน ชุมพลอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ทั้ง
5 คน และโอกาสขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ยังมีอีกมากแต่ไม่ใช่ขณะนี้
บุญเติม อมาตยกุล นั้นความจริงแล้วเป็นคนเก่าแก่ที่ทำงานมานาน แต่บุญเติมจะชอบเป็นประเภททำงานหลังบ้านมากกว่าเช่น
เป็นผู้อำนวยการโรงงานทุ่งสง ที่จะออกมาทางการเงินการตลาดหรือการบริหาร
บุญเติม อมาตยกุล ปีนี้ 56 และเริ่มงานกับปูนซิเมนต์ไทยมา 26 ปีแล้ว พูดถึงอาวุโสมากที่สุดแต่โดยลักษณะของบุญเติมจะชอบงานด้านโรงงานมากกว่าที่จะไปอยู่ในตำแหน่งซึ่งต้องการ
Public Activities มาก
ทวี บุตรสุนทร เป็นคนที่ low profile มาก คนข้างนอกไม่ค่อยจะรู้จักแต่ทวีเป็นคนเก่งและรักบริษัทมากจนคณะกรรมการชมเชยเป็นตัวอย่าง
ตอนนี้ทวีคุมด้านการผลิตของปูนซิเมนต์ ทวีเป็นคนคมในฝัก และคนที่เคยฟังเขาพูดจะบอกว่าทวีเป็นคนพูดได้เก่งมาก
ในแง่ของ Public Activity ทวีแทบจะไม่มีเลย
จากการที่อมเรศ ศิลาอ่อน เข้าไปลุยงานในสยามคราฟท์ในช่วงปี 2517-2522
ก็พอจะบอกได้ว่า เขาเป็นนักการตลาดที่ชอบรุกมากกว่ารับ ความชำนาญและแหลมคมของอมเรศอยู่ที่การตลาด
ประชาสัมพันธ์และโฆษณา ซึ่งก็เป็นเส้นเลือดที่เลี้ยงปูนซิเมนต์ไทยอยู่ ถ้าให้อมเรศบุกเรื่องการตลาดแล้วละก้อรับรองได้ว่าคงจะต้องกระจุยกันไปข้างหนึ่ง
ส่วนเรื่องโฆษณานั้นว่ากันว่า อมเรศมีความเฉียบขาดมากในการพิจารณาถึงแผนงาน
และแม้แต่ชิ้นโฆษณาซึ่งความเห็นของเขาแม้แต่คนที่ไม่ชอบเขาก็ต้องยอมรับ อมเรศเป็น
Public Man มีบทบาทกับสังคมกลุ่มต่างๆ และได้รับการยอมรับว่าเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง
เขาอาจจะมีข้อเสียก็ตรงที่ว่าอมเรศมีลักษณะเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษ ซึ่งก็เป็นอิทธิพลที่ได้มาเมื่อเรียนอยู่อังกฤษจนมีคนมองอมเรศว่ามีลักษณะเป็นเจ้าขุนมูลนายมากไปหน่อย
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นเพื่อนนักเรียนที่ MIT และจุฬาฯ กับ เชาว์ ณ
ศีลวันต์ องคมนตรีและกรรมการคนหนึ่งของปูนซิเมนต์ไทย พารณ มีทั้งชาติวุฒิ
คุณวุฒิ (ปริญญาตรีสองแขนงด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมเครื่องกล ปริญญาโทจาก
MIT)และวัยวุฒิ(56 ปี)บทบาทของพารณอยู่ที่ภาครัฐบาลซึ่งพารณเป็นตัวเชื่อมระหว่างปูนซิเมนต์ไทยกับภาครัฐบาลทุกรัฐบาล
พารณโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนกันเองกับพนักงานทุกคนและชอบเรียกชื่อเล่นพนักงานมากกว่าชื่อจริง
ความใหญ่ของปูนซิเมนต์ไทยซึ่งนับวันจะต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับรัฐบาลมากขึ้นเป็นเงาตามตัวย่อมทำให้บทบาทของพารณ
เด่นและมีคุณค่ามากขึ้น
และถ้าเราจะมองจากประสบการณ์ สายสัมพันธ์ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ แล้ว ก็น่าจะเป็น
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ควรจะได้ตำแหน่งต่อจากจรัส ชูโต ซึ่งในตอนนั้นพารณก็มีเวลาเหลืออีก
3 ปีก่อนเกษียณที่จะทำความเจริญให้ปูนซิเมนต์ไทย
นี่ก็เป็นการคาดคะเนเท่านั้นเอง จากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปียังมีเวลาอีกมากพอที่จะมีตัวแปรตัวอื่นเข้ามาช่วยในการตัดสินใจได้
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะไม่มีม้ามืดจากวงการอื่นที่ถูกส่งเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยเป็นแน่แท้