บางทีการที่เป็นบริษัทที่ใหญ่จนเกินไปนอกจากจะเริ่มอืดอาดและไม่คล่องตัวแล้วก็ยังเริ่มเสียเปรียบคู่ต่อสู้ในด้านการค้าอีกด้วย
ข้อเสียเปรียบที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิต
เมื่อตัวเองยังเล็กอยู่ ก็สามารถจะรับได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่สงครามจรยุทธ์เป็นต้นไป
แต่พอตัวเองเริ่มใหญ่ขึ้นมาพลพรรคที่เป็นกองโจรก็ต้องรวบรวมมาเป็นกองทัพและต้องใช้งบประมาณในการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างสูง
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย มีบริษัทในเครือแห่งหนึ่งที่ชื่อ บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง
จำกัด
งานหลักของบริษัทนี้แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ด้านแรกคือ โรงงานทำเสาเข็มซีแพค
โรงงานที่สองคือ โรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ โรงงานที่สาม คือ โรงงานกระเบื้องโมเนีย
โรงงานที่สี่คือ โรงงานคอนกรีตสำเร็จรูป
ในบรรดาทั้ง 4 โรงงานนั้น ถ้าจะนับถึงตัวที่ทำกำไรให้แก่บริษัทมาตั้งแต่ต้นนั้นก็เห็นจะเป็นโรงงานผลิตเสาเข็มซีแพค
ทั้งนี้เพราะบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีอันนี้ ก็เลยทำให้เสาเข็มซีแพคเป็นเจ้าที่ครองตลาดเสาเข็มมาตั้งแต่
20 กว่าปีที่แล้ว จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2526 เสาเข็มซีแพคจำเป็นต้องลาจากวงการก่อสร้างไป
เหตุผลเพราะต้นทุนของเสาเข็มซีแพคสูงเกินไปที่จะมาแข่งขันในตลาดเสาเข็มที่เทคโนโลยีด้านนี้เริ่มแพร่กระจายออกไปมากทำให้มีคนผลิตเสาเข็มแข่งขันมากกว่า
40 กว่าเจ้า
โรงงานเสาเข็มซีแพคเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว เหตุผลประการหนึ่งนอกจากราคาที่คู่แข่งขันสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่ามากแล้ว
ก็ยังมีค่าเสียหายซึ่งเกิดจากผลของการตอกเสาเข็ม ที่ทำให้อาคารใกล้เคียงทรุดหรือร้าวไปซึ่งผู้ตอกต้องรับผิดชอบอีก
"ค่าประกันในการตอกเสาเข็มไม่มีบริษัทประกันภัยไหนกล้ารับ ก่อนหน้านั้นยังมีการประกันอยู่
แต่ต่อมาภายหลังไม่มีใครกล้ารับประกันอีกแล้ว" คนวงการเสาเข็มเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ต้นทุนก็เป็นองค์ประกอบใหญ่อีกองค์ประกอบหนึ่ง
จากการที่เป็นบริษัทที่ใหญ่จนเกินไป ทำให้ค่าแรงของโรงงานเสาเข็มซีแพคสูงกว่าค่าแรงงานของโรงงานเสาเข็มอื่นถึง
3-4 เท่าตัว "ค่าแรงของเสาเข็มซีแพค เราจ้างโดยเฉลี่ยแล้วตกประมาณ 200
กว่าบาท ในขณะที่คู่แข่งขันจ้างเพียง 61 บาทเท่านั้นเอง" คนที่รู้เรื่องซีแพคดีเล่าให้เราฟัง
ด้วยเหตุนี้ราคาขายที่เสาเข็มซีแพคเคยขายอยู่เป็นราคาเท่ากับ Total Variable
Cost ซึ่งยังไม่ได้บวกต้นทุนตรงเลยแม้แต่บาทเดียวก็เลยทำให้ผู้บริหารปูนซิเมนต์ไทยคิดตกว่าจำเป็นที่จะต้องปิดเสาเข็มซีแพคลงไป
ซึ่งการปิดสินค้าชนิดนี้ ความจริงก็ไม่ใช่เป็นของใหม่สำหรับผู้บริหารปูนซิเมนต์ไทยเพราะแม้กระทั่งสมัยที่
จรัส ชูโต เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง เมื่อปี
พ.ศ.2519 ก็ได้เคยยกเลิกสินค้าที่ขาดทุนหรือมีลู่ทางที่ไม่แจ่มใสมาก่อน
อุทาหรณ์เรื่องนี้ก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่า บริษัทที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่าคนอื่นย่อมสามารถที่จะกอบโกยและตักตวงผลประโยชน์จากความล้ำหน้าของตนเองไปได้ระยะหนึ่ง
จนกระทั่งเทคโนโลยีนั้นเริ่มแพร่หลายและกระจายไปในหมู่มากเมื่อใดแล้ว ก็ถึงเวลาที่บริษัทนั้นจะต้องผันแปรตัวเองไปริเริ่มสินค้าตัวใหม่
ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตระหว่างบริษัทที่รบแบบกองโจรกับบริษัทที่ใช้กองทัพรบย่อมมีข้อแตกต่างกันมาก
และนี่ก็คือข้อเสียข้อหนึ่งของการที่เป็นบริษัทที่ใหญ่เกินไป