Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2527
ความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง             
 

   
related stories

จากจินตนาการสู่ความเป็นจริง
การต่อสู้ดิ้นรนระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา
ระยะฟื้นตัวและการขยายงาน
เบื้องหลังของท่าหลวง
ใหญ่เกินไปก็มีข้อเสีย

   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย

   
search resources

ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.
Cement




เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการสะสมความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมาถึงห้าสิบปีเต็ม บริษัทปูนซิเมนต์ไทยซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปช้างเผือกก็พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในด้านการขยายงานด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการผลิต การปรับปรุงระบบการจัดการให้ทันสมัย การนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ตลอดจนการเสริมฐานทางการเงินของบริษัทให้มั่นคงและคล่องตัวยิ่งขึ้นจากแหล่งการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ในปี พ.ศ.2507 หม้อเผาที่ 5 ของโรงงานบางซื่อติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มทำการผลิตด้วยกำลังผลิตปีละ 100,000 ตัน และหลังจากนั้นอีกเพียง 3 ปีโรงงานแห่งนี้ก็เพิ่มกำลังผลิตอีกครั้งด้วยการติดตั้งหม้อเผาที่ 6 ซึ่งมีกำลังผลิตปีละ 190,000 ตัน และเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา รวมกำลังผลิตสูงสุดของโรงงานแห่งนี้ถึงปีละ 390,000 ตัน และเพื่อสนองตอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของรัฐ ซึ่งมุ่งจะพัฒนาประเทศในทุกๆ ภาค บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซิเมนต์แห่งใหม่ เป็นโรงงานที่ 3 ขึ้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2505 โดยกำหนดให้เป็นโรงงานที่ใช้ระบบการผลิตแบบแห้งอันเป็นระบบที่เหมาะแก่สภาพวัตถุดิบในบริเวณนั้น และเป็นการประหยัดพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประเทศชาติด้วย โดยเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ได้ในปลายปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา ด้วยกำลังผลิตในขั้นแรกปีละ 460,000 ตัน และต่อมาได้มีการขยายโรงงานติดตั้งหม้อเผาที่ 3 ขึ้น จนในที่สุดกำลังผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 910,000 ตันในปี พ.ศ.2523

แต่เนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเพราะเป็นระยะสิ้นสุดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 2 ต่อกับการเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 3 ประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 34.4 ล้านคน ทางหลวงแผ่นดินของประเทศเพิ่ขึ้นเป็น 26,101 กิโลเมตร ความต้องการปูนซีเมนต์เพิ่มทวีขึ้นอีกอย่างคาดไม่ถึง บริษัทจึงต้องสร้างโรงงานปูนซีเมนต์โรงที่ 4 ขึ้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โรงงานแห่งนี้แล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2514 ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบแห้งเช่นกันโดยมีกำลังผลิตสูงถึงปีละ 570,000 ตัน และอีก 4 ปีต่อมาคือในปี พ.ศ.2518 ได้เพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็นปีละ 1,670,000 ตัน

ส่วนที่โรงงานท่าหลวงก็ได้มีการพัฒนากรรมวิธีการผลิตและติดตั้งหม้อเผาเพิ่มกำลังผลิตอยู่ตลอดเวลา โดยในปี พ.ศ.2511 ได้ติดตั้งหม้อเผาที่ 5 โดยมีกำลังผลิตปีละ 600,000 ตัน นอกจากนั้นหม้อเผาที่ 6 ซึ่งเป็นหม้อเผาล่าสุดของโรงงานและใช้ระบบการผลิตที่ทันสมัยก็สามารถดำเนินการได้ในปี พ.ศ.2524 ด้วยกำลังผลิตปีละ 1,600,000 ตัน ในปีต่อมาเมื่อการปรับระบบการผลิตของหม้อเผาที่ 5 จากเดิมซึ่งเป็นระบบเปียกมาเป็นระบบแห้งที่ทันสมัยทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงและเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็นปีละ 1,600,000 ตัน แล้วเสร็จในตอนปลายปี โรงงานท่าหลวงจึงได้หยุดการผลิตของหม้อเผาที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งใช้ระบบการผลิตแบบเปียกที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้วทำการผลิตเฉพาะหม้อเผาที่ 5 และ 6 ซึ่งใช้ระบบการผลิตแบบแห้ง โดยมีกำลังผลิตรวมปีละ 3,200,000 ตัน

สำหรับที่ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อนั้น เมื่อแรกสร้างก็เป็นบริเวณชานเมืองที่ห่างไกลชุมชน ครั้นต่อมาผู้คนในกรุงเทพฯ หนาแน่นขึ้น มีการขยายแหล่งที่อยู่อาศัยออกมาตามบริเวณรอบนอกตัวเมืองมากขึ้น ส่งผลให้บางซื่อกลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่นี้เกิดปัญหาด้านมลภาวะ บริษัทจึงได้ตัดสินใจติตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากโรงงานไปทำความเดือดร้อนแก่ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงโรงงาน โดยบริษัทได้ลงทุนไปในการนี้เป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท และต่อมาก็ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นที่มีประสิทธิสูงกับโรงงานท่าหลวง ทุ่งสง และแก่งคอยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เวลาได้ผ่านพ้นไปหลายสิบปี กรรมวิธีในการผลิตปูนซีเมนต์ได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้บริษัทดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประหยัดพลังงานและสามารถเพิ่มผลผลิตได้มาก จนเป็นที่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศแล้ว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการผลิตที่โรงงานบางซื่อซึ่งใช้กรรมวิธีการผลิตแบบเก่าตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ซึ่งการหยุดการผลิตของโรงงานบางซื่อทำให้หม้อเผาที่ 3 ซึ่งเคยใช้เผาปูนซีเมนต์ขาวในระบบเปียกต้องพลอยหยุดผลิตในปีต่อมาด้วย อย่างไรก็ตาม ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ขาวของบริษัทที่เขาวง ต.หน้าพระลาน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี แล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตปูนซีเมนต์ขาวออกมาสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบแห้งที่ทันสมัย โดยมีกำลังผลิตปีละ 50,000 ตัน

ด้านกิจการวัสดุทนไฟได้เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคนิคในการผลิตอิฐทนไฟเสียใหม่ในปี พ.ศ.2517 โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัทฮาร์บิสัน-วอล์คเกอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้อิฐทนไฟของโรงงานท่าหลวงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล กิจการนี้มีกำลังผลิตทั้งสิ้นปีละ 30,000 ตัน

ทางด้านบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย การขยายงานได้ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้งในทุกๆ กิจการ กล่าวคือ บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย ได้ขยายงานไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่หลายประเภท ในปี พ.ศ.2509 การก่อสร้างโรงงานผลิตท่อซีเมนต์ใยหินที่ จ.นนทบุรีแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการผลิตท่อซีเมนต์ใยหินชนิดรับแรงดันสูง โดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเป็นโรงงานแรกในประเทศ นอกจากนั้นบริษัทได้มองเห็นประโยชน์จากปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้จำนวนมากจากโรงงานปูนซีเมนต์ทุ่งสง จึงสร้างโรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินที่ผลิตได้จำนวนมากจากโรงงานปูนซิเมนต์ทุ่งสง จึงสร้างดรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกันนั่นเอง ถึงปี พ.ศ.2511 โรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินที่ทุ่งสงก็เปิดดำเนินการผลิตสินค้ารับใช้ประชาชนทางภาคใต้เรื่อยมา การขยายงานของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยไม่หยุดยั้งแต่เพียงเท่านั้น กล่าวคือ โรงงานที่บางซื่อได้ผลิตแผ่นกลาซโซลิทชนิดรูปลอน เช่นเดียวกับกระเบื้องมุงหลังคาที่แสงสว่างสามารถผ่านได้ขึ้นภายในประเทศในปี พ.ศ.2511 และได้เปิดโรงงานแห่งที่สี่ ขึ้นที่ จ.สระบุรี ในปีเดียวกัน ซึ่งโรงงานนี้เป็นเสมือนโรงงานหลักของบริษัท คือมีกำลังผลิตกระเบื้องมุงหลังคาชนิดลอนคู่ ลูกฟูก ลอนเล็ก และกระเบื้องแผ่นเรียบถึงปีละ 228,000 ตัน นอกจากนั้นโรงงานที่นนทบุรีของบริษัทได้ก้าวเข้าสู่ยุคพลาสติก โดยเริ่มผลิตท่อดี-พลาสต์ (พีวีซี) ขนาดต่างๆ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2525 ผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัมของบริษัทได้เริ่มออกสู่ตลาดด้วยกำลังผลิตปีละ 95,000 ตัน

สำหรับบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างนอกจากจะขยายประเภทของผลิตภัณฑ์ออกไปอีกหลายชนิด เช่น การผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ซีแพคโมเนียแล้ว ยังได้เปิดโรงงานใหม่เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเสมอ อาทิ ในปี พ.ศ.2513 ได้เปิดโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป ที่สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พร้อมทั้งเปิดโรงงานผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงที่ จ.ขอนแก่น และโรงงานผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กที่ จ.ลำปาง ในปีเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้เริ่มผลิตท่อส่งน้ำคอนกรีตอัดแรง ซีแพคร็อคล่าออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2515 ด้วย

ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมเหล็กนั้น กิจการเหล็กของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้แยกตัวออกมาจดทะเบียนเป็นบริษัทเหล็กสยาม จำกัด ในเดือนเมษายน พ.ศ.2509 เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและขยายงาน โดยการตั้งโรงงานรีดเหล็กเพื่อผลิตเหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้ตัดสินใจดำเนินการในเรื่องสำคัญหลายเรื่องอันเป็นผลดีต่ออนาคตของบริษัท เช่นในปี พ.ศ.2520 ได้โอนงานด้านเหล็กหล่อจากบริษัทเหล็กสยามมาก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท นวโลหะไทย จำกัด โดยเริ่มผลิตสินค้าเหล็กหล่อแบบต่างๆ ให้แก่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ น้ำตาล ปูนซีเมนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องยนต์ ฯลฯ ได้ในปี พ.ศ.2521 ต่อมาในปี พ.ศ.2522 บริษัทนวโลหะไทยได้ติดตั้งเครื่องจักรอัตดนมัติเป็นเครื่องแรกในประเทศเพือ่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตสินค้าตามสั่ง โดยเน้นด้านชิ้นส่วนและอะไหล่ของเครื่องยนต์และรถบรรทุก ซึ่งสามารถผลิตได้คราวละมากๆ เป็นหลัก บริษัทนวโลหะไทยเป็นบริษัทแรกในเครือซิเมนต์ไทยที่จัดให้มีกลุ่มส่งเสริมคุณภาพหรือคิวซี เซอร์เคิล อย่างจริงจังและส่งผลให้ช่วยลดการสิ้นเปลืองในการผลิต และเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการชี้แนะปัญหาและเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขและปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพได้เป็นอย่างมาก

ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา เครือซิเมนต์ไทยได้เริ่มขยายการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมด้านวัสดุก่อสร้างโดยเริ่มที่บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด ผู้ผลิตกระดาษคราฟท์รายใหญ่ของประเทศ ซึ่งภายในเวลาไม่นานนัก บริษัทสยามคราฟท์ ที่เคยมีฐานะการเงินตกต่ำใกล้ล้มละลาย จนกลุ่มผู้ถือหุ้นต้องขอร้องให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเข้าไปบริหารงาน ก็สามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ

ปี พ.ศ.2521 เป็นปีที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้เริ่มให้ความสนใจในธุรกิจด้านพาณิชยนาวีโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการขาดแคลนปูนซีเมนต์ในประเทศ อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าปูนซีเมนต์ในระยะ 3-4 ปีก่อนหน้านั้น ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งร่วมกันรับภาระด้านการนำเข้าครั้งนี้ต้องเสียค่าระวางสินค้าให้แก่บริษัทเดินเรือต่างประเทศเป็นเงินจำนวนมาก บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท เอสซีจี คอร์ปอเรชั่น เอส.เอ ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการลงทุนในต่างประเทศ และพร้อมกันนั้นก็ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท พรอสเพอริตี สตีมชิป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพาณิชยนาวีในฮ่องกง จัดตั้งบริษัทสยามพรอสเพอริตี ชิปปิ้ง เอส.เอ.ขึ้นโดยงานชิ้นแรกคือการซื้อเรือ "เอ็ม.วี.ท่าหลวง" ขนาดระวางบรรทุก 16,000 ตัน มาทำการขนส่งปูนซีเมนต์ผงจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มายังประเทศไทยเป็นประจำ นับเป็นการเริ่มต้นในการศึกษาหาความชำนาญในธุรกิจด้านนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อเครือซิเมนต์ไทยเป็นอันมาก

ก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการลงทุนในระยะสิบปีที่ผ่านมา คือการตกลงใจร่วมทุนกับบริษัทคูโบต้าแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทสยามคูโบต้าดีเซล จำกัด ขึ้นเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กเพื่อการเกษตรและอื่นๆ ภายในประเทศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2521 และสามารถผลิตเครื่องยนต์เครื่องแรกออกมาสู่ตลาดได้ในปี พ.ศ.2523 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัทนวโลหะไทยได้ทุ่มเทการผลิตส่วนใหญ่ให้กับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องยนต์ดังกล่าวด้วย

การตัดสินใจของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่จะส่งผลไกลที่สุด การตัดสินใจเข้าดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไทย เปลี่ยนชื่อบริษัทค้าวัตถุก่อสร้างเป็นค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2521 เพื่อรับผิดชอบทางด้านการจัดจำหน่ายสินค้าของเครือซิเมนต์ไทยในต่างประเทศ โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้รับโอนงานด้านการจัดจำหน่ายในประเทศมาดำเนินเอง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อสนองตอบคำเชิญชวนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ปรารถนาจะได้เห็นบริษัทคนไทยตั้งบริษัทธุรกิจประเภทนี้ขึ้น เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดดุลการค้า ซึ่งธุรกิจประเภทนี้บริษัทในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เคยดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นเป้าหมายของบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจึงอยู่ที่การขยายตลาดผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยให้ส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายนี้ บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจึงได้เปิดบริษัทสาขาขึ้นที่นครลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกา ชื่อว่า บริษัท เอสซีที (ยูเอสเอ) อิงค์ และตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในอีกหลายจุด คือโตเกียวประเทศ ญี่ปุ่น ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายกับลูกค้าต่างประเทศ และเพื่อจะได้จัดซื้อวัตถุดิบได้ตามที่วงการอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องการ

ในปี พ.ศ.2522 บริษัทปูนซิเมนตืไทยและบริษัทสยามคราฟท์ได้ขยายกิจการไปสู่อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกล่องกระดาษ โดยร่วมลงทุนในบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด และร่วมลงทุนในบริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกในอีก 2 ปีถัดมา และในปี พ.ศ.2522 เครือซิเมนต์ไทยก็ได้ซื้อกิจการของบริษัทผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของกิจการประสงค์จะให้เครือซิเมนต์ไทยเข้าไปลงทุนและบริหาร โดยได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย จำกัด และหลังจากนั้นไม่นานกิจการของบริษัทนี้ก็กระเตื้องขึ้นมาตามลำดับเช่นกัน

ในปี พ.ศ.2525 และ 2526 เครือซิเมนต์ไทยได้ขยายกิจการออกไปสู่ทิศทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในหลายๆ ด้าน เช่น การเข้าไปลงทุนในบริษัทยางไฟร์สโตน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2525 ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทยางสยาม จำกัด และในปี พ.ศ. 2526 บริษัทโดยบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยได้ซื้อกิจการของบริษัทแพน ซัพพลายส์ จำกัด และลงทุนในบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการจำหน่ายเครื่องจักรกลขนาดหนัก รวมทั้งเสนอขออนุมัติสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อผลิตไฮเดนซิตี โพลีเอททิลีน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันก็ได้ตัดสินใจขยายกำลังที่โรงงานปูนซีเมนต์แก่งคอย ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้เพราะบริษัทตระหนักดีถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของการพัฒนาประเทศ จึงมีนโยบายแน่วแน่ที่จะลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตปูนซีเมนต์ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2526 เป็นต้นมา และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าในราวปี พ.ศ.2530 ก็จะทำให้โรงงานแก่งคอยมีกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นอีกปีละ 1,600,000 ตัน

จากจุดเริ่มต้นในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2456 จนถึง 2526 จะเห็นได้ว่าเครือซิเมนต์ไทยได้มีการปรับปรุงและพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเครือซิเมนต์ไทยมิเคยหยุดนิ่งหรือแม้เพียงคิดจะหยุดนิ่ง หากแต่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us