ในห้วงเวลา 2-3 ปีมานี้ถือเป็นช่วงแห่งความกังวลใจของผู้ประกอบการสื่อนิตยสาร ที่ต้องคอยสดรับตรับฟังถึงสัญญาณเตือนว่าสื่อนิตยสารใกล้จะตายแล้ว หลังจากมีสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่ ประกอบกับในต่างประเทศมีตัวอย่างของสื่อสิ่งพิมพ์ของค่ายยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องปิดตัวเองลง หลังผลประกอบการย่ำแย่ ขณะเดียวกับก็มีการคิดค้นการอ่านหนังสือรูปแบบใหม่ในระบบดิจิตอล หรืออี-บุ๊กส์ เข้ามาแจ้งเกิดในตลาดทั้งคินเดิลของค่ายอะเมซอน, หรือโซนี่ รีดเดอร์ของค่ายโซนี่ และอีกหลายค่ายที่กำลังตามมา ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการสื่อนิตยสารต่างพะวงว่าการอยู่รอดของตนคงกำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า
สำหรับบ้านเรา หากดูตัวเลขการเติบโตของสื่ออินเทอร์เน็ตในช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบันพบว่า โตกว่า 200 % ขณะที่สื่อนิตยสารตัวเลข 11 เดือนล่าสุด ติดลบ 12.61 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือถ้าดูเป็นเม็ดเงินก็จะอยู่ที่ 4,796 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วอยู่ที่ 5,480ล้านบาท สิ่งที่ปรากฏขึ้นเช่นนี้ยิ่งทำให้ผู้ผลิตสื่อนิตยสารกังวลหนักยิ่งขึ้นไปอีก
แต่เอาเข้าจริงแม้ตัวเลขจะหดหายไปบ้าง ทว่า ผู้ประกอบการสื่อนิตยสารหลายค่ายต่างออกมาประสานเสียงเป็นคีย์เดียวกันว่า การเติบโตของอินเทอร์เน็ตไม่มีผลต่อสื่อนิตยสาร ตรงกกันข้ามสื่ออินเทอร์เน็ตจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เป็นประโยชน์และจะคอยช่วยให้สื่อนิตยสารมีความครอบคลุมมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการสื่อนิตยสารเกิดความมั่นใจคือ ภาพรวมของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมไปถึงการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตของคนไทยยังมีน้อย ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา สัดส่วนของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตยังมีแค่ 10% เท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยข้อมูลของผู้ใช้มีเพียง 1%เท่านั้น ในการเข้าหาสื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต แต่ในส่วนของมือถือนั้น ในประเทศไทยถือว่ามีอัตราการเติบโตที่สูง ปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 63.25 ล้านคน มีผู้ที่ใช้มือถือโดยแบ่งสัดส่วนออกเป็นผู้ที่ใช้มือถือระบบเอไอเอส 43.44% ดีแทค 29.95% ทรูมูฟ 23.72% และฮัทช์ 2.68%
พลิกสื่อออนไลน์
สู่ตัวช่วยสื่อหลัก
การเติบโตของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสารหลายราย อาทิ ระริน อุทกะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัท อัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมไปถึง ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ นายกสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทย ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ สื่อออนไลน์จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสื่อหลัก และจะช่วยขยายฐานผู้อ่านให้มากขึ้น ซึ่งหากสื่อหลักมีการปรับตัวในส่วนนี้ก็จะทำให้มีความครอบคลุมด้านเนื้อหา และในอนาคตช่องทางผ่านสื่อออนไลน์จะช่วยนำรายได้ส่วนหนึ่งเข้ามากับนิตยสาร นอกจากนั้นแล้วยังมองว่าจุดด้อยของสื่อออนไลน์ คือความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่นิตยสารมีเหนือกว่า
เมื่อเห็นช่องทางดังกล่าว ผู้ประกอบการสื่อนิตยสารก็มีการวางนโยบายเพื่อให้รับกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น โดยบริษัทอัมรินทร์ฯจะพัฒนาเว็บไซต์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น โดยจะมีตั้งเว็บ เอดิเตอร์ ที่ช่วยดูแลนิตยสารเล่มต่างๆเพื่อดูแลเนื้อหาและทุกกระบวนการของทุกเว็บไซต์โดยเฉพาะและนโยบายสำคัญที่จะผลักดันในปีหน้าคือ การนำเอาความแข็งแกร่งของนิตยสารแต่ละเล่มมาจัดเป็นหมวดหมู่ และผนึกรวมกัน คาดว่าเมื่อมีการรวมตัวกันแล้วจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งได้อีกทางหนึ่ง โดยอัมรินทร์ฯมีการตั้งเป้าหมายรายได้ที่จะมาจากเว็บไซต์ให้ได้ 10% ภายใน 5 ปี
"สิ่งที่เรามองเห็นคือจุดเด่นและจุดด้อยของสื่อแต่ละประเภท ยกตัวอย่างในสื่อออนไลน์ที่หลายคนกังวล หากมองกันจริงๆแล้วจะพบว่ามีจุดอ่อนคือความน่าเชื่อถือของเนื้อหา หรือข้อมูล แต่เมื่อไรก็ตามที่ถูกแก้ไข สื่อประเภทนี้ก็จะแข็งแกร่งขึ้นมา ตรงจุดนี้เราเลยมองว่าการพัฒนาเว็บไซต์ให้ทันสมัย และมีคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งของนิตยสารในเครือเราที่สนับสนุนก็จะยิ่งทำให้นิตยสารของเรามีความแข็งแกร่ง เพราะมีการเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันอยู่ โดยปัจจุบันกลุ่มเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอัมรินทร์ฯ คือบ้านและสวน ซึ่งแต่เดิมเราเป็นที่ 1 แต่ปีหน้าเราที่เราจะมีการพัฒนาก็ยังคงอยากเป็นที่ 1 และอยากครองมาร์เก็ตแชร์ที่มาจากเว็บไซต์ด้วย" โดยอัมรินทร์จะเตรียมเสริมทัพด้านสื่อออนไลน์ในปีหน้าแล้ว ในส่วนของสื่อหลักคือนิตยสาร ยังคงมีแผนการที่จะเปิดตัวใหม่อีก 1 หัวในปีหน้า
นิตยสารไม่ตาย
เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดีกว่า
ด้วยความที่สื่อนิตยสารสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนกว่า จึงตอบสนองต่อเจ้าของสินค้าที่ต้องการลงโฆษณาได้มากกว่า อาทิ สินค้าต้องการจับกลุ่มผู้หญิงที่รักสุขภาพ ก็จะเลือกนิตยสารที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความสวยความงาม หรือ สินค้าที่เป็นยานยนต์ ก็จะเลือกนิตยสารที่เกี่ยวข้อง ขณะที่คุณภาพของงานนิตยสารในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วจะพบว่า มีกระบวนการการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งด้านเนื้อหาที่เชื่อถือได้ การออกแบบรูปเล่ม เลย์เอาท์ ต่างๆ อย่างไรก็ตามแม้จะมีจุดเด่นแต่เหล่าเจ้าของสินค้าก็ต้องการให้สื่อนิตยสารมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถสู้กับสื่ออื่นๆได้
ปัจจัยที่ทำให้ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือ เพราะนิตยสารในปัจจุบันมีเนื้อหาเหมือนกันหมด ทำให้เข้าของสินค้าลำบากใจเวลาจะต้องคัดเลือกลงโฆษณา นอกจากนั้นแล้วสื่อนิตยสารต้องมีการศึกษาเช่นเดียวกันว่าผู้อ่านของตนเองต้องการอะไร เนื้อหาแบบไหน รวมไปถึงการทำสื่อนิตยสารให้เป็นศิลปะ เพราะโดยส่วนมากเป็นสื่อที่ผู้อ่านซื้อแล้วไม่ทิ้ง แต่จะเก็บไว้ หรือ การเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้มีข้อเสนอแนะแล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยและทวีปเอเชีย ถือเป็นกลุ่มที่มีการใช้ Social Network กันมาก จึงควรใช้ช่องทางจุดนี้ให้เป็นประโยชน์
"สื่อนิตยสารเป็นสื่อที่มีกลุ่มผู้อ่านชัดเจน และความชัดเจนตรงนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่เทรนด์ในอนาคตนิตยสารจะเป็นนิชมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นกังวลคือ การที่นิตยสารที่เคยทำออกมาและมีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม แต่กลับปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อเข้าหาแมสมากขึ้น ก็จะทำให้โพสิชั่นหรือเจ้าของสินค้าตัดสินใจเปลี่ยนตามเมื่อไม่ได้ดังที่นิตยสารเคยบอก" เป็นความเห็นของ ชาญวิทย์ เขียวนาวาวงษ์ศา Deputy Director : Brand Management & Marketing Communication บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น
ด้านอี-แพลตฟอร์ม หรือการเปิดช่องทางใหม่ๆก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้อ่านได้รู้สึก และสัมผัสได้ หรือหากสื่อนิตยสารมีเครื่องมืออื่นๆอาทิ โทรทัศน์,สิ่งพิมพ์ และดิจิตอล ก็ควรมีการนำสื่อต่างๆมารวมกันและใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมไปถึงการทำแคมเปญแล้วนำข้อมูลมาศึกษาว่าผลเป็นอย่างไร
ด้วยความที่นักการตลาดหลายคนมองว่าสื่อนิตยสารยังจำเป็นกับสินค้าอยู่ ดังนั้นเมื่อต้องอาศัยพึ่งพิงกันสิ่งที่เจ้าของสินค้าต้องการได้จากสื่อนิตยสารช่วยก็คือ 1.ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน2.ต้องมีคุณภาพทั้งในแง่ของคอนเทนต์ และกระบวนการผลิตทั้งหมดและ 3.การมีอินโนเวทีฟ ไอเดีย
อินโนเวทีฟ ไอเดีย
ตัวเสริมความอยู่รอดนิตยสาร
ไม่ใช่แค่เพียงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยทำให้นิตยสารอยู่รอดได้ แต่อินโนเวทีฟ ไอเดีย ก้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นิตยสารยังมีลมหายใจต่อเนื่อง ไม่สะดุดเหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์หลายประเภท
อินโนเวทีฟ ไอเดีย คือ ความคิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมทางความคิดใหม่ๆ ที่ต้องการให้นิตยสารเป็นผู้สื่อสารแบรนด์สินค้าออกไป และทำให้เกิดแรงบรรดาลใจ เพื่อช่วยกันพัฒนาแคมเปญ โดยเจ้าของสินค้าไม่ได้ต้องการเพียงแค่นำเสนอข้อมูลให้กับผู้อ่าน แต่ต้องการให้นิตยสารเป็นตัวขับเคลื่อนให้สินค้าเราไปสู่ผู้อ่านหรือผู้บริโภค ดังนั้นเรื่องการครีเอทแคมเปญถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และหากเจ้านิตยสารสามารถมีบุคลากรหรือหน่วยงานมาช่วยก็จะถือเป็นการทำงานร่วมกันและน่าจะได้ผลที่มากกว่าการลงโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว
"คอนเทนต์ หรือ เนื้อหาของนิตยสารถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเจ้าของตัดสินใจลงโฆษณา นอกจากนั้นแล้วยังต้องมีครีเอทีฟ ไอเดีย เข้ามาใช้ในนิตยสาร ขณะเดียวกันนิตยสารต้องเข้าถึงกลุ่มผู้อ่าน ,สร้างความน่าสนใจ,การบูรณาการสื่อต่างๆให้เข้ามาช่วยสนับสนุนกัน อาทิ การนำสื่อออนไลน์เข้ามาช่วยเสริม" เป็นความเห็นของ เมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารทางการตลาดและองค์กร บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีสินค้าสำหรับอุปโภคหลากหลายแบรนด์ อาทิ รีจอยส์ ,แพนทีน
นิตยสารแมสกับนิช
โอกาสอยุ่รอดยังพอกัน
หากสินค้าแชมพู โลชั่นบำรุงผิว เครื่องสำอาง เหมาะกับนิตยสารผู้หญิงที่เป็นแมส สินค้าเครื่องสำอางประเภทแอนตี้ เอจจิ้ง หรือเครื่องสำอางแบรนด์เนมที่วางขายตามเคานต์เตอร์หรูในห้างสรรพสินค้า ก็น่าจะเหมาะกับนิตยสารสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น หรือมีกำลังซื้อมากขึ้นมาอีก แต่มีอีกหลายสินค้าที่แม้จะมีราคาแพงอย่างรถยนต์ที่บางครั้งเราอาจเห็นว่าสามารถหว่านเงินลงโฆษณาในสื่อนิตยสารแทบทุกประเภท และทุกกลุ่มเป้าหมาย
"สินค้ารถยนต์จะแตกต่างกับสินค้าอื่นๆที่จะมีความหลากหลาย ไม่ซ้ำใคร แต่ในส่วนของรถยนต์กว่า 90% จะมีหน้าปกหรือคอนเทนต์ที่เหมือนๆกัน เพราะข้อมูลรายละเอียดทางด้านตัวรถ หรือ เทคนิคต่างๆมาจากบริษัทรถยนต์เหมือนกัน จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่รูปแบบการจัดวาง อย่างไรก็ตามสื่อนิตยสารถือเป็นส่วนหนึ่งที่รถยนต์ให้ความสำคัญโดยเฉพาะกับรถที่เป็นแมส แต่ในส่วนของเมอร์เซเดส-เบนซ์ สื่อนิตยสารจะเป็นตัวเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์มากกว่า" ฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
หรือหากนิตยสารต้องการเม็ดเงินโฆษณาให้ไหลเข้าไปหา ก็ต้องมีกลุ่มผู้อ่าน ,เนื้อหา ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะช่วยกันขับเคลื่อนให้นิตยสารเข้าสู่ผู้อ่านได้ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับในปีหน้าเรื่องราวของเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนมาก อาทิ ระบบ 3 G ก็จะทำให้มีการรับส่งข้อมูลกันเพิ่มขึ้น และหลากหลายทาง ดังนั้นหากเจ้าของสื่อนิตยสารสามารถมีวิธีการแบบบูรณาการเชื่อมโยงสื่อต่างๆเข้าหากันได้ก็จะทำให้ได้เปรียบนิตยสารคู่แข่ง
ศาศวัต ตัณมานุศิริ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท TSL International Co.,Ltd. ผู้นำเข้าแบรนด์นาฬิกา อาทิ แทก ฮอยเออร์ ซึ่งถือเป็นแบรนด์สินค้าที่จองปกหลังนิตยสารหลายเล่มๆแสดงความเห็นสอดคล้องกับเจ้าของสินค้าอื่นๆว่า การจะตัดสินใจลงโฆษณาในแต่ละเล่มนั้น กลุ่มผู้อ่านสำคัญที่สุด นอกจากนั้นแล้วยังต้องการให้สื่อนิตยสารเป็นเสมือนสื่อที่ชี้นำเทรนด์ด้านต่างๆ
เรียกได้ว่าปัจจัยหลักที่เจ้าของสินค้าเห็นพ้องต้องกัน และต้องการให้สื่อนิตยสารสนับสนุนมากที่สุด คือการมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมไปถึงคุณภาพด้านต่างๆอาทิเนื้อหา ,การออกแบบรูปเล่ม และการมีส่วนร่วมของเจ้าของสินค้าและสื่อนิตยสารที่ต้องการมากกว่าแค่โฆษณาในหน้านิตยสารแต่ยังต้องการให้นิตยสารเป็นสื่อที่ให้ผู้อ่านได้มากกว่า ซึ่งนิตยสารที่ต้องการอยู่รอดปลอดภัยก็คงต้องปรับตัวเพื่อรับกับความต้องการกับเทรนด์ของตลาดในปัจจุบัน
ตลาดนิตยสารปีหน้ายังรุ่ง
แม้ตัวเลขงบโฆษณา 11 เดือนจะอยู่ที่ 4,796 ล้านบาท ลดลงกว่า 12.61% แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นลดน้อยถอยลงมาไม่ได้มาจากการที่สื่อออนไลน์เติบโต แต่เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการลดหรือหั่นงบประมาณและมีการโยกย้ายเม็ดเงินไปสู่สื่ออื่นๆนายกสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดนิตยสารในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบมาจากตลาดต่างประเทศที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ประกอบกับเห็นสัญญาณในต่างประเทศที่เกิดขึ้น จึงมีการตั้งแผนรับมือ โดยคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันจะแย่น้อยลง ส่วนปีหน้าคาดว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ของตลาดนิตยสารในเอเชียที่มีแนวโน้มเติบโต อาทิ ในประเทศจีนตลาดเติบโต8-10% ขณะที่อินเดียก็เติบโต ดังนั้นคาดว่าปีหน้าตลาดนิตยสารของเอเชียจะเติบโตและฟื้นคืนชีพเร็วกว่าตลาดอื่นๆปัจจุบันมีนิตยสารที่มีความเคลื่อนไหวในตลาดจำนวน 293 หัว โดยในปี 2552 มีนิตยสารที่เปิดใหม่จำนวน 39หัว อาทิ กราเซีย และมาธาร์ สจ๊วต ขณะที่นิตยสารทิ่ปิดตัวไปมีจำนวน 2 หัว คาดว่าในปีหน้าจะมีการเปิดนิตยสารหัวใหม่ๆเข้ามาในตลาดอีกต่อเนื่อง ยกตัวอย่างค่ายอัมรินทร์ที่เตรียมจะเปิดตัวใหม่อีก 1 เล่มในปีหน้า
ขณะที่ฝั่งเจ้าของสินค้าก็ออกมาประสานเสียงเกี่ยวกับงบโฆษณาที่จะหว่านลงมาในสื่อนิตยสาร โดยในส่วนของแบรนด์ทรู มองว่าจะมีการใช้งบประมาณมากกว่าปี2552 ที่ใช้ประมาณ 27 ล้านบาท คาดว่าในปีหน้าน่าจะใช้เงินถึง 30 ล้านบาท เพราะมีโปรเจคใหม่ๆออกมามากมาย ขณะที่ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ในปีนี้มีงบประมาณกับนิตยสารน้อยลง และหันไปใช้สื่อหนังสือพิมพ์แทน เนื่องจากต้องการเน้นการประชาสัมพันธ์แคมเปญหรือกิจกรรมมากกว่า ดังนั้นในปีหน้าจะเริ่มหันกลับมาใช้นิตยสารมากขึ้น และจะมีวิธีการพิจารณานิตยสารแต่ละเล่มมากขึ้นด้วย เพราะในปัจจุบันนิตยสารที่เกี่ยวกับรถยนต์มีประมาณ 40 กว่าหัว แต่ว่าที่มีกลุ่มผู้อ่านจริงๆไม่เกิน 7 หัว จึงทำให้ต้องมีการเลือกมากขึ้น ขณะที่นิตยสารแบบไลฟ์สไตล์จะมีโอกาสได้โฆษณาของเมอร์เซเดส-เบนซ์เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันเรื่องราวของเทคโนโลยี รถยนต์ ถือเป็นสิ่งที่ผู้อ่านทั่วไปให้ความสนใจมากขึ้น
ด้าน TSL International Co.,Ltd.ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าหลักที่ใช้บริการจากสื่อนิตยสารมากที่สุด ก็ออกมายืนยันให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดนิตยสารที่ยังคงได้รับความนิยม โดยจะมีการอัดเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ประกอบกับในปีหน้าจะมีโครงการใหญ่ เป็นไพรอท โปรเจค ที่ประเทศอังกฤษมีการจัด ทำให้ในประเทศไทยจะมีการทำแคมเปญเช่นเดียวกัน อีกทั้งสินค้าก็จะมีออกใหม่ในเดือนมีนาคมไปจนถึงปลายปี ซึ่งสินค้าเหล่านั้นจะมีนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามานำเสนออย่างต่อเนื่อง
ส่วนพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาดีขึ้น เทรนด์ของสินค้าที่เป็นแคธิกอรี่ใหม่ๆก็จะเข้ามาแจ้งเกิด ทำให้รูปแบบของการโฆษณามันจะต้องถูกสื่อสารออกมา เรียกได้ว่าเม็ดเงินไม่ต่ำลงอย่างแน่นอน ขณะที่ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ก็เตรียมงบประมาณไว้เรียบร้อยทั้งในตลาดโลก รวมไปถึงประเทศไทย คาดว่าไม่ต่ำกว่าปีนี้อย่างแน่นอน แต่จะมีการเปลี่ยน อาทิ นิตยสารเล่มไหนเป็นแมสก็จะไม่ลงซ้ำๆและหันไปใช้บริการนิตยสารที่เป็นนิช หรือเฉพาะกลุ่มมากขึ้น หรือหากเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ก็อาจจะมองหาสื่อนิตยสารที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ
|