เมื่อสงครามซึ่งไม่ให้ประโยชน์กับผู้ใดไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะได้จบสิ้นลง ก็ถึงคราวที่จะต้องมีการฟื้นฟูบูรณะประเทศอย่างใหญ่หลวงและโดยเร่งด่วน บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้รับสมัครพนักงานใหม่และสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาใหม่ ทั้งนี้โดยจิตสำนึกที่ว่า บริษัทจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณะและพัฒนาประเทศด้วย สิ่งหนึ่งที่บริษัทคำนึงถึงพร้อมๆ กันก็คือการส่งออก เพราะในระยะก่อนสงครามการที่บริษัทส่งปูนซีเมนต์เป็นสินค้าออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีส่วนช่วยนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก และตลาดเหล่านั้นก็ยังคงมีความต้องการปูนซีเมนต์จากประเทศไทยอยู่เช่นเดิม
ในขณะเดียวกันความต้องการในประเทศก็มีอัตราสูงเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ มาทดแทนของเก่าที่ถูกทำลาย บริษัทจึงได้รื้อฟื้นโครงการก่อสร้างโรงงานท่าหลวงที่ต้องชะงักระหว่างสงครามมาดำเนินต่อไปอย่างเร่งด่วน
โรงงานแห่งนี้มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมเนื่องจากเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่าใกล้แม่น้ำป่าสักทำให้สามารถขนส่งปูนซีเมนต์ทางน้ำได้และอยู่ห่างจากบ่อดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ ต.บ้านหมอเพียง 10 กม. เท่านั้น นอกจากนั้นเพื่อความสะดวกในการจัดส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก บริษัทจึงลงทุนสร้างทางรถไฟมีความยาว 8 กม. เชื่อมระหว่างโรงงานกับทางรถไฟสวายเหนือที่สถานีบ้านหมอด้วยเงินของบริษัทเอง แล้วมอบให้เป็นสมบัติของรัฐในเวลาต่อมา
การก่อสร้างโรงงานท่าหลวงแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ในปลายปี พ.ศ.2491 ด้วยกำลังผลิตปีละ 130,000 ตัน ซึ่งเพียงพอที่จะแบ่งผลผลิตให้แก่บริษัทกระเบื้องกระดาษไทยได้ โรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินที่บางซื่อจึงเริ่มทำการผลิตอีกครั้งหนึ่ง โดยรับพนักงานเก่าเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิมเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นกิจการของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยก็ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี และเมื่อความต้องการของตลาดในการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าเก่า และเพิ่มกำลังผลิตจากปี 4,500 ตันในระยะเริ่มต้นเป็นปีละ 20,000 ตัน ในปี พ.ศ.2494
ในขณะเดียวกันฝ่ายผลิตเหล็กและเหล็กกล้าซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควรในการผลิตระหว่างสงครามก็ก้าวหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ
โดยย้ายหน่วยงานด้านการผลิตเหล็กทั้งหมดไปรวมอยู่ที่โรงงานท่าหลวง ผลจากการพยายามแสวงหาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการผลิตอยู่เสมอทำให้กิจการเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ในปี พ.ศ.2491 โรงงานถลุงเหล็กแบบใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย ก็ได้จัดตั้งขึ้น และสามารถผลิตเหล็กเหนียวแท่งได้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2493 และต่อมาบริษัทได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตโดยเปลี่ยนเตาถลุงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2494 โรงงานแห่งนี้ยังได้เปิดแผนกเหล็กหล่อรูปพรรณขึ้นเพื่อผลิตอะไหล่สำหรับใช้ในเครื่องจักรของบริษัทแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศด้วย
บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการก่อสร้างขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่ยุคของคอนกรีตเสริมเหล็กและคอนกรีตอัดแรง จากแรงบันดาลใจและสำนึกในความรับผิดชอบต่อการพัฒนาการใช้ปูนซีเมนต์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาและได้ผลเต็มที่
แนวความคิดในการเป็นผู้นำทางด้านการผลิตวัสดุก่อสร้างจึงเกิดขึ้น ประกอบกับความพร้อมทั้งทางด้านพนักงาน
ความรู้ด้านเทคโนโลยีและเงินทุน บริษัทจึงได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2495 โดยวางแนวนโยบายที่จะผลิตวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในการผสมคอนกรีตให้ได้คุณภาพดี
ตลอดจนผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตเสริมเหล็กและคอนกรีตอัดแรงในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาการก่อสร้างของประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้า ในระยะแรกได้ตั้งโรงงานเล็กๆ เป็นขั้นทดลองอยู่ภายในบริเวณโรงงานบางซื่อ ต่อมาได้มีการจัดซื้อที่ดินและตั้งโรงงานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานราม 6 บางซ่อน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นับเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงแห่งแรกในประเทศ ทำการผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เสาไฟฟ้า เสาโทรเลข และคานสะพาน โดยได้มีพิธีเปิดโรงงานในปี
พ.ศ.2496 ครั้นเมื่อวงการก่อสร้างเกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงประกอบกับมีผู้ผลิตสินค้าคอนกรีตในรูปอื่นๆ ต่อไปเป็นการช่วยกระตุ้นให้การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ในปี พ.ศ.2496 โรงงานอิฐทนไฟของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 และเป็นโรงงานแห่งแรกในประเทศก็เริ่มนำผลผลิตออกสู่ตลาด และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้บริษัทตัดสินใจขยายงานด้านการผลิตอิฐทนไฟครั้งใหญ่ขึ้นในอีก 6 ปีต่อมา และในปี พ.ศ.2496 นี้เช่นกัน โรงงานท่าหลวงของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้เริ่มเดินเครื่องหม้อเผาที่ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละ 130,000 ตัน และต่อมาหม้อเผาที่ 3 ซึ่งมีกำลังผลิตปีละ 210,000 ตันก็เริ่มผลิตได้ในปี พ.ศ.2500
นับแต่ปี พ.ศ.2502 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ทุ่มเทความสามารถให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงเริ่มสำรวจหาแนวทางที่จะขยายกิจการใหม่ๆ หลายด้านด้วยกัน เช่น มองหาแหล่งวัตถุดิบทางภาคใต้ เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการปูนซีเมนต์ของวงการก่อสร้างทางภาคใต้โดยเฉพาะ และเมื่อเหลือใช้ก็จะสามารถส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย
สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ได้สะดวกและประหยัดค่าขนส่งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย ก็พิจารณาตั้งโรงงานใหม่ที่นนทบุรีเพื่อผลิตท่อระบายน้ำซีเมนต์ใยหินและท่ออัดแรงซีเมนต์ใยหิน
และในปี พ.ศ.2504 บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง ได้ริเริ่มผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กตามมาตรฐานสากลโดยใช้เครื่องจักรเป็นบริษัทแรกในประเทศไทย สำหรับนำไปใช้กับระบบระบายน้ำของถนนมิตรภาพที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับโรงงานท่าหลวงของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยก็ได้ติดตั้งหม้อเผาที่ 4 ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ด้วยกำลังผลิตปีละ 210,000 ตัน นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2505 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ยังได้จัดตั้งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินการด้านการจัดจำหน่ายสินค้าของเครือซิเมนต์ไทยทั้งหมดในประเทศและต่างประเทศ
ปีถัดมา การติดตั้งหม้อเผาที่ 4 ของโรงงานปูนซิเมนต์ที่บางซื่อก็แล้วเสร็จ และเริ่มผลิตได้ด้วยกำลังผลิตปีละ 100,000 ตัน ขณะเดียวกันบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างก็ได้จัดตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จขึ้นเป็นแห่งแรกที่บางซ่อน โดยใช้ระบบผสมแห้งและมีการนำเอารถผสมคอนกรีตมาใช้งานเป็นครั้งแรกด้วย สรุปได้ว่างานทุกด้านเจริญรุดหน้าไปอย่างน่าภาคภูมิใจยิ่ง
ดังนั้น เมื่อถึงวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการดำเนินงานใน พ.ศ.2507 จึงได้มีงานเลี้ยงฉลองความก้าวหน้าของบริษัท ณ บริเวณโรงงานบางซื่อ อันเป็นจุดกำเนิดของบริษัทเมื่อ 50 ปีก่อน ในวันนั้นผู้ถือหุ้นพร้อมทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานต่างพากันปลาบปลื้มเป็นที่ยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในงาน และพระราชทานพรอันเป็นมหามงคลแก่บริษัท พร้อมกันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นบริษัทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระกรุณาธิคุณต่อบริษัทและพนักงานของบริษัทเป็นล้นพ้น