|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
หนึ่งเหตุให้วิกฤตสังคมไทยยืดเยื้อคือเน้น ‘หาตัวผู้รับผิด’ มากกว่า ‘หาสาเหตุ’ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลังประณามหรือลงโทษผู้กระทำผิดแล้วก็ทำราวกับปัญหาได้ถูกแก้ไขไปแล้ว และไม่คิดคำนึงถึงความผิดพลาดนั้นอีก ท้ายสุดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
เพราะเพียงหาตัวผู้รับผิดไม่อาจป้องกันความผิดพลาดครั้งต่อไปได้ รังแต่จะทำให้ความผิดพลาดเกิดซ้ำซากมากกว่า การสืบหาสาเหตุให้รู้ว่าทำไมถึงเกิดความผิดพลาดขึ้นอย่างถ่องแท้ถูกต้องจึงสำคัญกว่าเพราะสามารถนำมากำหนดมาตรการป้องกันความผิดพลาดได้ ดังอุบัติเหตุทางท้องถนนที่เกิดลักษณะเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากฤทธิ์เหล้าเบียร์ทั้งห้วงยามปกติและเทศกาลปีใหม่ ที่ถึงที่สุดแล้วการหาสาเหตุของความผิดพลาดที่ซ่อนเร้นเป็นสิ่งสำคัญกว่าหาตัวคนผิดที่โจ่งแจ้ง
แม้นความผิดของคนเมาแล้วขับจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักหน่วงรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะเป็นการละเลยกฎหมายโดยจงใจด้วยถือได้ว่าตั้งใจจะทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น หากกระนั้นก็ต้องคำนึงถึงสาเหตุแท้จริงของอุบัติเหตุเมาแล้วขับที่มักถูกลดทอนบิดเบือนให้เหลือเพียงแค่ความผิดของคนเมาแล้วขับโดยไร้เงาความผิดของบรรษัทเหล้าเบียร์ผู้ผลิต/นำเข้าควบคู่ไปด้วย
ด้วยความผิดพลาดที่ถูกถ่ายทอดโดยขาดการระบุสาเหตุแท้จริงจักนำไปป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับไม่ได้ ดังเช่นแบบรายงานอุบัติเหตุที่เก็บๆ กันไปถึงจะบันทึกความเป็นจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุได้ถูกต้อง แต่ก็มองไม่เห็นความผิดพลาดที่ซ่อนเร้นเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ทำให้ไทยมากมายดื่มแล้วขับ คล้ายคลึงกับการที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมบรรษัทเหล้าเบียร์ที่ทุ่มเทเม็ดเงินสื่อสารการตลาดเพื่อขายสินค้า ส่งเสริมการขาย และสร้างภาพลักษณ์ โดยเฉพาะกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่ทำให้บริษัทดูดีมีความรับผิดชอบสูง
ดังนั้น เพื่อคลี่คลายความผิดพลาดซ้ำซากจากเมาแล้วขับ เบื้องต้นประเทศไทยจะต้องกล้าหาญลงโทษกักขังแทนการรอลงอาญาในกลุ่มกระทำผิดซ้ำ หรือระดับแอลกอฮอล์สูงเกิน 100 mg/dl ขึ้นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย หลังกำหนดโทษเมาแล้วขับไว้เพียงปรับ ระงับหรือเพิกถอนใบขับขี่ หรือรอลงอาญา เหมือนดังหลายประเทศที่กำหนดมาตรการลงโทษเฉพาะสำหรับผู้กระทำผิดซ้ำ ทั้งโทษจำคุก ปรับและยึดใบขับขี่ ยึดทะเบียนรถหรือยึดรถ และให้เข้ารับการบำบัดการติดสุรา
หรือจะดูแบบปฏิบัติที่ดีจากประเทศญี่ปุ่นก็ได้ เพราะดินแดนอาทิตย์อุทัยมีมาตรการตรวจวัดเข้มงวดและค่าปรับที่สูงถึง 3 แสนเยนถ้าระดับแอลกอฮอล์เกินกำหนด ตลอดจนผู้นั่งรถที่มีคนเมาขับก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน ทั้งยังมีมาตรการสังคมและกฎเหล็กหน่วยงานเข้มแข็งขนาดให้คนเมาแล้วขับที่ก่ออุบัติเหตุออกจากราชการหรือบริษัท กระทั่งจีนก็กำลังเพิ่มโทษปรับและจำ รวมทั้งเร่งรัดแก้ไขกฎหมายเอาผิดผู้โดยสารเหมือนกับญี่ปุ่น หลังประสบปัญหาคนเมาแล้วขับฆ่าคนบนถนนมหาศาล
ควบคู่กันนั้นทั้งภาครัฐและประชาสังคมก็ต้องผลักดันให้ธุรกิจเหล้าเบียร์ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มุ่งลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ สร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ตลอดจนป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย อันเป็นหลักการขั้นที่ 1 (Mandatory Level) จากทั้งหมด 4 ขั้นตามแนวทาง CSR ที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องปฏิบัติ
ยิ่งบริษัทเหล้าเบียร์อวดอ้างว่าทำ CSR เข้มแข็งเท่าใด ก็ยิ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มข้นขึ้นเท่านั้น เพราะนี่คือวิถีแท้จริงของ CSR ที่ต่างจากการสร้างภาพลักษณ์ฉาบฉวยด้วยเม็ดเงินมหาศาลแล้วลวงหลอกผู้คนว่าประกอบธุรกิจบนพื้นฐานการมุ่งประโยชน์ของสังคมโดยความสมัครใจ (Voluntary Level) อันเป็นขั้นที่ 4 ของ CSR ทั้งๆ ที่ขั้นที่ 1 ยังขัดขืนฝืนฝ่า
เพราะมุ่งแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนไม่อนาทรว่าจะเบียดเบียนสังคมทั้งทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมแค่ไหน ขอให้เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ วิธีใดก็ใช้ได้แม้แต่ดึงเซ็กซ์มาเป็นตัวกระตุ้นยอดขายน้ำเมา ทั้งยังไม่สำเหนียกที่จะขอโทษกับการกระทำที่ผิดพลาดไปแต่อย่างใด
นั่นทำให้การปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) อันเป็นหลักการขั้นที่ 3 (Preemptive Level) ที่หมายถึงสามารถสร้างกำไรแก่ผู้ถือหุ้นได้ในอัตราเหมาะสม และผู้ประกอบธุรกิจใส่ใจเพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สังคมที่อยู่หรือใกล้เคียงมากขึ้น ซึ่งต่อยอดมาจากการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยกำไรไม่ได้เกิดจากการเบียดเบียนสังคมอันเป็นขั้นที่ 2 (Elementary Level) ตามหลัก CSR ไม่มีทางเป็นจริงภาคปฏิบัติ
สังคมที่ต้องรับผิดชอบในแง่มุมบรรษัทเหล้าเบียร์จึงคับแคบแค่กลุ่มผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับธุรกิจโดยตรง เช่น ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ พนักงานและครอบครัว ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน เท่านั้น หาได้มีส่วนเสี้ยวสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยอ้อม โดยเฉพาะประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนทั่วไปแต่อย่างใดไม่
ยิ่งกว่านั้น ธุรกิจเหล้าเบียร์โดยคุณลักษณะตัวเองก็บาปอยู่แล้ว ยังดำเนินธุรกิจที่ทำลายความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลัก Triple Bottom Line เรื่อยมา เพราะมุ่งเอาแต่กำไร (Profit) ไม่ใส่ใจโลก (Planet) และสังคม (People) แต่อย่างใด ในทางรูปธรรมบรรษัทเหล่านี้จะให้นำหนักกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกว่าผลตอบแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทว่าจะใช้กลยุทธ์ CSR สร้างภาพห่วงใยใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านการปลูกป่าหรือแจกผ้าห่มเสมอๆ
ขนาดธุรกิจเหล้าเบียร์สัญชาติไทยยังไม่ห่วงหาอนาทรคนไทยด้วยกันเองเลย แล้วหลังเปิดเสรีการค้าในวันที่ 1 มกราคม 2553 ที่สินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกลงจะหลั่งไหลสู่ไทย ไม่ว่าจะเป็นเหล้าสกอร์ตวิสกี้ที่ใช้ฐานประเทศฟิลิปปินส์ในการผลิต และเบียร์จากจีนราคา 3 ขวด 50 บาท หรือถูกกว่านั้น จะไม่ทำให้คนไทยติดเหล้าเบียร์สูงขึ้นได้อย่างไร กระทั่งอันดับที่ 5 ของโลกในการบริโภคสุราอาจกลายเป็นอดีตในไม่ช้าจากการขยับสูงขึ้นอีกเพราะมีซัปพลายเยอะขึ้น
ซึ่งผู้บริโภคสุราส่วนใหญ่คือเยาวชน ดังข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า 11 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2539-2550 เยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 เฉพาะปี 2550 เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มสุราสูงถึง 19.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงถึง 2.3 ล้านคน โดยปัจจุบันเยาวชนและคนที่เข้าสู่วัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจแอลกอฮอล์ และอายุเฉลี่ยของนักดื่มหน้าใหม่ก็เริ่มลดลงจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษามาเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา
ทั้งปัจจุบันประเทศไทยก็สูญเสียให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท โดย 2 แสนล้านบาทจากการสูบเลือดเนื้อผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทมาจากภาษีประชาชนที่รัฐบาลนำไปใช้เยียวยาความสูญเสีย โดยเฉพาะการเมาแล้วขับ กระทั่งวันนี้ถือได้ว่าประเทศไทยพ่ายแพ้ล้มเหลวแล้ว
ล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายดังที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คะแนนมาตรการแก้ปัญหาเมาแล้วขับของไทยแค่ 5 เต็ม 10 และล้มเหลวยิ่งกว่าในการควบคุมบรรษัทเหล้าเบียร์ไม่ให้ทำแผนสื่อสารการตลาดโดยใช้กลยุทธ์ CSR สร้างภาพลักษณ์สวยงามเริ่ดหรูทางสื่อทุกแขนง
CSR เหล้าเบียร์จึงเป็นหนึ่งในวิกฤตซ้อนวิกฤตกรณีเมาแล้วขับ หากถึงที่สุดก็ไม่มีใครกล้าขุดคุ้ยวิเคราะห์ถึงความผิดพลาดที่ยากมองเห็นแต่ยึดโยงอย่างแนบแน่นนี้จริงจัง คงต้องรอวันที่ถ้อยคำสัจจะของ Bjorn Stigson ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WBCSD) ที่ว่า ‘ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว’ สำแดงเดช เมื่อนั้นบรรษัทน้ำเมาเหล่านี้คงจะขยับทางบวกเพื่อความอยู่รอดเอง แม้นไม่ได้มาจากความปรารถนารับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ ก็ตามที
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
|
|
 |
|
|