วงการคอมมอดิตี้เขาเล่าว่า การจะวัดว่าใครต้องการจะเล่นคอมมอดิตี้จริงๆ
หรือต้องการเพียงใช้ประโยชน์จากราคาตามตลาดกลางต่างๆ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นตลาดโคเม็กซ์,
ตลาดกลางโตเกียว หรือตลาดชิคาโก (ส่วนใหญ่บ้านเราใช้ราคาตลาดโตเกียว) เป็นการพนันขันต่ออย่างหนึ่งแล้ว
วัดได้ไม่ยาก
"ใครก็ตามที่พยายามผลักดันให้เกิดตลาดกลางฯ ขึ้นในบ้านเรา คนนั้นเป็นนักเล่นคอมมอดิตี้จริง
ส่วนใครเฉยๆ หรือคัดค้านคนนั้นไม่ใช่ เป็นพวกฉวยโอกาส" แหล่งข่าวระดับผู้ชำนาญการแยกแยะให้ฟัง
อาจจะมีบางคนสงสัยว่า ทำไมวงการคอมมอดิตี้บางกลุ่มจึงพยายามผลักดันให้เกิดตลาดกลางฯ
อันนี้คำตอบก็ไม่ยากเช่นกัน สาเหตุก็เพราะนับแต่มีธุรกิจคอมมอดิตี้เกิดขึ้นในเมืองไทยจนถึงบัดนี้
ยังไม่มีบริษัทหนึ่งใดที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตลาดกลางในต่างประเทศสักแห่งเดียว
การนำราคาทองหรือราคาพืชผลจากตลาดกลางต่างๆ มาเล่นที่ทำๆ กันนั้น ล้วนเป็นการดักฟังจากเทเล็กซ์
หาได้มีการนำใบสั่งซื้อหรือขายส่งไปยังกลางก็หาไม่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ปรากฏว่ามีการส่งมอบสินค้าที่ทำการซื้อขายล่วงหน้ากันแต่ประการใด
"อย่างบ้านเราเขามักใช้ตลาดกลางที่โตเกียว ตลาดนี้ 6 เดือนจะส่งมอบสินค้ากันครั้งหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเขาจะเล่นกันเฉพาะเดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 5 ส่งมอบไม่มีใครเล่นกัน
อันนี้รู้ดีทั้งเจ้าของบริษัทคอมมอดิตี้และผู้เล่น" แหล่งข่าวท่านหนึ่งอธิบาย
และก็เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นการพนันโดยอาศัยราคาขึ้นลงของสินค้าคอมมอดิตี้เป็นเครื่องมือก็ย่อมมีเจ้ามือที่คอยรับกินและรับจ่าย
ว่ากันว่ามีเจ้ามือระดับใหญ่โตมีบริษัทเครือข่ายที่ต้องส่งใบสั่งซื้อหรือขายของลูกค้าไปให้แห่งละหลายบริษัทอยู่
4 แห่ง
แห่งแรก ดำเนินงานและเป็นเจ้าของทุนโดยชาวฮ่องกง 4-5 คน ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่แถวโรงแรมเอเชีย
ราชเทวี นับเป็นเจ้าเก่าเจ้าแก่ หากินตั้งแต่ครั้งตั๋วทองบูมนั่นแล้ว
แห่งที่สอง เป็นคนในชมรมฯ นั่นแหละศูนย์ตั้งอยู่แถวอาคารญาดา สีลม
แห่งที่สาม ก็เป็นเจ้าเจ้าแก่เหมือนกันและค่อนข้างจะมีชื่อในเรื่องความกระดูกขัดมันในการชักเปอร์เซ็นต์จากใบสั่งซื้อที่ส่งเข้ามา
(ปกติชัก 10 เปอร์เซ็นต์ต่อยูนิต แต่นี่ชัก 15 เปอร์เซ็นต์) ศูนย์ตั้งอยู่แถวโรงหนังออสการ์
แห่งสุดท้าย จัดเป็นแหล่งที่หมุนเงินมากที่สุด ตั้งศูนย์บัญชาการแถวถนนอโศก-ดินแดง
(เดิมศูนย์อยู่แถวเพลินจิต) และก็แห่งนี้แหละที่มีบุคคลระดับดอกเตอร์ (ห้องแถว)
ชักใยอยู่เบื้องหลัง