แบงก์ชาติคาดการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากความไม่มั่นใจรัฐบาลจะต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกไปหรือไม่ เป็นแรงผลักดันให้
ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้น บวกกับได้รับแรงหนุนจากสถาบันการเงินต่างงัดกลยุทธ์ใหม่ๆ
เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามเป้าหมายปีนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานถึงสถานการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง
7 เดือนแรกของปี 2546 ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งในแง่ของด้านอุปสงค์
และอุปทาน โดยอุปสงค์เร่งตัวอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีอุปทานหรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ
ทยอยเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
โดยดัชนีชี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งมูลค่าการซื้อขายที่ดินและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ
33.8 และร้อยละ 28.6 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 29.3
ขณะที่การฟื้นตัวของโครงการอาคารชุดยังคงจำกัดอยู่ในเฉพาะทำเลธุรกิจในกลางเมืองมากกว่าชานเมือง
ขณะที่อาคารสำนักงานยังไม่มีอุปทานใหม่ แต่มีแนวโน้มที่จะมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ด้านอัตราค่าเช่าสำนักงานอาคาร ที่ตั้งใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ ยังคงมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง
โดยธนาคารพาณิชย์ได้มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2546 มียอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัย 431,766 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 ส่วนยอดคงค้างของสินเชื่อพัฒนาโครงการ
มีทั้งสิ้น 253,835 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้สินเชื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง เกิดจากการที่ผู้ประกอบการมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น
ทำให้ผู้ประกอบการนำรายได้จากการดำเนินงานมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการ
โดยไม่ต้องอาศัยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางรายสามารถระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้
ทำให้ความจำเป็นในการขอสินเชื่อลดลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการลดค่าธรรมเนียมอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้
จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นและเร่งภาวะการซื้อขายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปี
ขณะที่ราคาบ้านมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะวัสดุในกลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก
และราคาที่ดินในบางพื้นที่ที่เริ่มมีการปรับราคาขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์จะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โดยกลยุทธ์ที่แต่ละธนาคารนำมาใช้เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับตัวเอง ก็คือ
การนำแคมเปญทางด้านอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 มาใช้