เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น หรือ ทีเอ ภายใต้การบริหารของ ศุภชัย เจียรวนนท์
กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารของทีเอ กำลังเป็นแรงผลักดันไปสู่การเปลี่ยนครั้งสำคัญทางธุรกิจครั้งใหญ่
ตามยุทธศาสตร์ที่ศุภชัยวางไว้นั้น แม้ว่ายังไม่สามารถเฉลยรายละเอียดได้ทั้งหมดในเวลานี้
แต่วิชั่นที่ได้ถ่ายทอดออกมาเท่าที่สามารถเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ทำให้เข้าใจได้ว่าทีเอได้พัฒนารูปแบบใหม่ๆ
ในลักษณะที่ใช้เรื่องของการตลาดเป็นตัวนำพาธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้า
"เรากำลังอยู่ระหว่างการจัดแต่งบ้าน เตรียมกำลังคน ปรับระบบกระบวนการทำงานภายใน
รวมทั้งค่านิยมวัฒนธรรมขององค์กรไปตามแนวทางบริหารยุคใหม่ ซึ่งจะใช้เรื่องการตลาดเป็นตัวนำ
ปฏิบัติการเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือการสร้างความพึงพอใจสูงสุดสำหรับลูกค้า"
กระบวนการปรับโครงสร้างการบริหารและแนวทางการทำงานของทีเอที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ปรับจากภายในองค์กรทีละหน่วยทีละฝ่ายให้เข้ากับวิชั่นของแบรนด์ที่จะเปลี่ยนไปเป็น
"ทรู คอร์ปอเรชั่น" ในช่วงปี 2547 อย่างเร็วก็ต้นปีหน้า หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาสที่สอง
ศุภชัยกล่าวว่าในขั้นตอนการบริหารธุรกิจไปยังแนวคิดใหม่ภาพลักษณ์ใหม่ ต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง
ให้ทุกคนในองค์กรมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน มองแบรนด์ใหม่จากข้างในไปสู่ข้างนอกองค์กร
เมื่อทำได้ทุกอย่างก็สามารถที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าและสาธารณชนตามที่ทีเอต้องการได้
"แบรนด์ทรูจะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราในครั้งนี้ การให้น้ำหนักความสำคัญของแบรนด์คือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในองค์กร"
การเปลี่ยนทีเอจะเปลี่ยนทีเดียวจบเลยเป็นเรื่องที่ลำบาก เนื่องจากทีเอโตมาจาก
Engineer driven, Infrastructure driven สู่การเป็น Marketing driven ต้องใช้เวลา
ทีเอจึงพยายามให้คุณค่าเพิ่มแก่ลูกค้า โดยคิดว่าจะสามารถทำได้อย่างไร เมื่อทีเอให้ลูกค้าได้แล้ว
ลูกค้าก็จะเป็นส่วนที่จะเพิ่มคุณค่ากลับมายังทีเอ
สิ่งที่ทีเอโฟกัสคือการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้า แต่จากอดีตที่ลูกค้าจะต้องเข้ามาหาและเลือกใช้บริการของทีเอ
จะกลับกลายเป็นปฏิบัติการเชิงรุกจากทีเอที่จะเข้าไปหาลูกค้าเอง ในลักษณะจากเคลื่อนที่จากการโฟกัสตลาด
แบ่งกลุ่มเซกเมนต์เตชั่น คอมมิวนิเคชั่นที่จะสื่อสารไปยังลูกค้า และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
ความหลากหลายในสินค้าและบริการถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีเอมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ศุภชัยได้อธิบายธุรกิจ ณ วันนี้ต้องการที่จะให้เกิดความเป็นไดนามิกในตัวสินค้ามากที่สุด
มีทั้งของถูก ของแพง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกรูปแบบ ความหลากหลายที่เกิดขึ้นช่วยให้ทีเอมีรายได้และผลกำไรมากขึ้นตามไปด้วย
จากที่ต้องมุ่งการดำเนินธุรกิจไปในด้านเดียวอย่างอดีตที่ผ่านมา
ทีเอในปี 2547 ยังได้รับคำยืนยันว่าจะเน้นในเรื่องของโซลูชั่น แอปพลิเคชั่น
คอนเทนต์ และเรื่องของบรอดแบนด์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของบรอดแบนด์คาดว่าการใช้งานในกรุงเทพฯ
น่าจะเติบโตขึ้นมากกว่า 100% ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากตลาดการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย
"เรื่องของบรอดแบนด์ในไทยยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการเติบโตอยู่ หากมีการพัฒนาคอนเทนต์ซัปพอร์ตการใช้งานมากยิ่งขึ้นเท่าไร
จะมีผลต่อการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว อย่างการใช้งานในประเทศเกาหลี
ถือเป็นแบบอย่างตลาดบรอดแบนด์สำคัญของโลก มีการใช้งานกันแทบจะทุกครัวเรือน รัฐบาลมีการผลักดัน
เอกชนมีคอนเทนต์ซัปพอร์ตมากมาย"
พีซีทีอนาคตดี
สำหรับการทำธุรกิจพีซีที ศุภชัยยังมีความมั่นใจว่าพีซีทีมีอนาคตที่ดี เพราะประเทศไต้หวัน
ญี่ปุ่น จีน มีการใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ใช้จำนวนมากด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี มีผู้ใช้พีซีทีมากกว่า 20 ล้านคน
ที่สำคัญเวลานี้กำลังจะมีโทรศัพท์พีซีทีแบบดูอัลโหมด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งพีซีทีและการเป็นโทรศัพท์มือถือในระบบจีเอสเอ็ม
"เรากำลังติดตามโทรศัพท์แบบดูอัลโหมดว่าจะสามารถนำเข้ามาให้บริการในประเทศไทยได้หรือไม่
เนื่องจากจะช่วยตัดปัญหาการใช้งานในต่างจังหวัดของพีซีทีได้ ทำให้สามารถขยายตลาดได้กว้างมากยิ่งขึ้น"เขากล่าวและว่า
นอกจากนี้พีซีทียังมีอนาคตเรื่องการใช้งานทางด้านเดต้าค่อนข้างสูง จากการที่พีซีทีได้เปิดให้บริการพีซีทีเน็กซ์
ตลาดมีความสนใจและนิยมใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเมื่อมีเครื่องพีซีทีรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ
ด้านเดต้าเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น น่าที่จะเป็นตัวผลักดันตลาดได้อีกส่วนหนึ่ง
ในความเห็นของศุภชัย พีซีทีมาสะดุดตอนที่ตลาดมือถือในประเทศไทยเติบโตอย่างสูงสุดเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา
แต่สถานการณ์ตอนนี้ทั้งตลาดพีซีทีและมือถือค่อนข้างที่จะนิ่งแล้ว ไม่หวือหวาเมื่อช่วงปีกว่าที่ผ่านมา
แนวโน้มต่อไปทั้งสองส่วนนี้น่าที่จะมีอัตราการเติบโตไปได้พร้อมๆ กัน เพราะมีตลาดที่แตกต่างกัน
"พีซีทีถือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำมาก เนื่องจากมีพื้นฐานการให้บริการอยู่บนการเป็นโทรศัพท์พื้นฐาน
รายได้จากพีซีทีทุกวันนี้ลงจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นรายได้จำนวนมากกว่า
1,500 ล้านบาทให้กับทีเอ"
ออเร้นจ์รอต่อยหนัก
ศุภชัย กล่าวว่าธุรกิจของทีเอออเร้นจ์ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดบ้านเช่นเดียวกับทีเอ
เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบันแต่ละค่าย อยู่ในช่วงที่ไต่ระดับเก็บเกี่ยวฐานลูกค้ากันทุกค่าย
ปัจจุบันลูกค้าออเร้นจ์กว่า 1.7 ล้านราย ทางบริษัทเน้นการเอาใจใส่เรื่องของคุณภาพ
เน้นเรื่องของคัสโตเมอร์เซอร์วิสให้ดี พยายามทำสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ในลักษณะแบบซึม
ลึกเข้าไปอยู่ในใจลูกค้า
"ทุกวันนี้เราได้ลูกค้าดีๆ จากการบอกต่อของลูกค้า เรามั่นใจว่าบริการ ที่ให้ลูกค้ามีความยุติธรรมมากที่สุดในผู้ให้บริการทั้งหมด
โดยเฉพาะเรื่องของการคิดค่าบริการเป็นวินาที สิ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์การให้บริการลูกค้าในอนาคตได้"
เขามองว่าสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจมือถือทุกค่ายใกล้ๆ กันหมด โดยเน้นเรื่องของการสร้างยอดขาย
เห็นได้จากการเปิดฉากอัดเรื่องของโปรโมชั่นและรูปแบบการนำเสนอบริการในลักษณะต่างๆ
ออกสู่ตลาด เร็วๆ นี้ออเร้นจ์กำลังจะสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
"เราไม่ได้เงียบหายไปไหนช่วงที่ผ่านมา เพราะเราก็มีแพกเกจใหม่ๆ เป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้า
สถานการณ์ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าเราอึดและรอคอยที่จะเก็บเกี่ยว เพราะเราเป็นประเภทต่อยหนักและได้ผลลัพธ์ที่ดี
เสมอ"