เมื่อ 13 ปีก่อน การประกาศโครงการร่วมทุนกับเครือซิเมนต์ไทย ของการ์เดียน
อินดัสตรีส-์ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระจกในประเทศไทย
ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากกระจกไทย-อาซาฮี ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น
แต่ด้วยแรงผลักดันจากเครือซิเมนต์ไทย พาร์ตเนอร์คนไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ที่มีอำนาจต่อรองสูงมากในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงบูมสุดขีด ทำให้โครงการดังกล่าวเป็นรูปเป็นร่าง
"สยามการ์เดียน" บริษัทร่วมทุนระหว่างเครือซิเมนต์ไทย และการ์เดียน อินดัสตรีส์สามารถ
ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างราบรื่น และยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังจากประเทศไทย ต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ
ทั้งกระจกไทย-อาซาฮี และสยามการ์เดียน ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดกระจกภายในประเทศรวมกันถึงกว่า
90% ต่างต้องบอบช้ำจากกำลัง ซื้อในประเทศที่ลดต่ำลง
ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมกระจกในขณะนั้น คือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
โดยเฉพาะโครงการอาคารชุด ต่าง ตายสนิทโดยสิ้นเชิง
และยังต้องถูกซ้ำเติมจากกระจกนำเข้าจากประเทศจีน ที่มีผู้นำเข้ามาในภายหลัง
โดยดัมพ์ราคาขายต่ำกว่าราคาตลาดในประเทศถึง 20% อีกเป็นจำนวนมาก
วันที่ 27 ตุลาคม 2542 คณะกรรมการ บริษัทปูนซิเมนต์ ไทย ได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด
7 ล้านหุ้น ในสยามการ์เดียนคืนให้กับการ์เดียน อินดัสตรีส์ โดยในการขายหุ้นครั้งนี้
ปูนซิเมนต์ไทยต้องขาดทุนถึง 603 ล้านบาท
"แม้โครงสร้างการถือหุ้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่นโยบายโดยรวมของเรายังคงเหมือนเดิม
โดยจะเน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก" อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้จัดการฝ่าย
การตลาด สยามการ์เดียน กล่าวในการแถลงแผนการตลาดปี 2544 เมื่อกลางเดือนก่อน
ปัจจุบันสยามการ์เดียน ซึ่งถือหุ้น 100% โดยการ์เดียน อินดัสตรีส-์ มีโรงงานผลิตอยู่
2 แห่งที่จังหวัดสระบุรี และระยอง มีกำลังการผลิตรวม 300,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ
30% ที่เหลืออีก 70% เป็นการส่งออก โดยมีตลาดหลักอยู่ในประเทศย่านเอเชีย
เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศในยุโรปอีกบางประเทศ
"กำลังซื้อในประเทศ มีไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่เรามีอยู่" อภิวุฒิบอก
ตลาดรวมของอุตสาหกรรมกระจกภายในประเทศไทย ในปี 2543 มีมูลค่า 2,500 ล้านบาท
และได้รับการคาดหมายว่า ในปี 2544 จะเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 6-7% สยามการ์เดียน
ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 30% ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดให้ได้เท่าเดิม
ตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นตลาดเป้าหมาย ของสยามการ์เดียน เพราะเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่แสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด
โดยมียอดขายรวมถึง 262,250 คัน ในปี 2543 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2542 ถึง 20%
และในปี 2544 ก็มีการคาดหมายว่ายอดขายจะเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่า 20%
ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เคยเป็นตลาดหลัก นั้น อภิวุฒิมองแนวโน้มว่าจะค่อยๆ
ฟื้นตัวจากปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับสูง แต่กลุ่มอาคารสูง
ซึ่งต้องใช้กระจกในปริมาณมากนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนาน
ปีที่ผ่านมา สยามการ์เดียนมียอดขายทั้งจากการส่งออก และขายในประเทศรวม
2,500 ล้านบาท แต่ผลประกอบการยังมีการขาดทุนสะสมอยู่ เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
โดยโรงงานทั้ง 2 แห่ง มีการลงทุนก่อสร้างโรงงานละประมาณ 3,000 ล้านบาท