"มูดี้ส์" ประกาศทบทวนเรตติ้งของไทยโดยมีความเป็นไปได้ที่จะอัปเกรดให้ ด้านคลังมั่นใจยักษ์ใหญ่จัดอันดับความน่าเชื่อถือรายนี้ต้องปรับเรตติ้งไทยไม่เกินสิ้นปีนี้
คาดนำร่องขึ้นอันดับตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่โบรกเกอร์ก็เตรียมปรับประมาณการราคาเป้าหมายกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย
หากมูดี้ส์มีการอัปเกรดเครดิตแบงก์และประเทศเพิ่ม
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หนึ่งในสถาบันชั้นนำของโลกด้านการจัดเครดิตเรตติ้ง
ออกมาประกาศวานนี้ (2) ว่า นำไทยขึ้นบัญชีทบทวนโดยมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือให้
เนื่องจากเห็นแนวโน้มเด็ดๆ ในเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะการส่งออกที่แข็งแกร่ง หรือ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงวี่แววความสามารถที่จะชำระคืนหนี้ต่างประเทศที่ดีขึ้นอย่างมากมาย
อย่างไรก็ตาม มูดี้ส์ไม่สู้จะวางใจนักกับประเด็นฐานะการคลังของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร ซึ่งมีแววมือเติบสร้างภาระหนี้สินภาครัฐให้บวมบึ้มขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากที่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นครองอำนาจในปี
พ.ศ. 2544
"รูปการณ์ด้านหนี้ต่างประเทศของไทยกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในหลายๆ
ปีนับจากเหตุวิกฤตการเงินปี 2540 ... ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว ความเปราะบางต่อแรงกระแทกจากภายนอกประเทศจึงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด"
มูดี้ส์ว่าไว้อย่างนั้นในตอนหนึ่งของคำแถลงที่ปรากฏออกมาวันวาน (2)
การนำตัวเลขข้อมูลของไทยไปทบทวนเพื่อปรับเพิ่มเรตติ้งดังกล่าวนั้น เป็นไปเพราะ
"เห็นเค้าลางความเข้มแข็งของฐานะการชำระหนี้ต่างประเทศของไทย เห็นผลงานการรักษาระดับการ
ส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นมากและเห็นโอกาสที่ไทยจะสืบเนื่องการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปได้"
มูดี้ส์ระบุไว้
ขณะที่คำแถลงของมูดี้ส์ได้มองแนวโน้มแห่งเศรษฐกิจไทยในทางบวก อย่างไรก็ตาม สำหรับด้าน
ฐานะการคลังของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว มูดี้ส์สะท้อนความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยไว้
แต่ก็มองผลงานการบริหารงบประมาณว่ากระเตื้องขึ้นและโปร่งใสดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ มูดี้ส์จึงชี้ว่าต้องรอเวลาอีกสักระยะ เพื่อให้รัฐบาลทักษิณลดสัดส่วนหนี้ลงสู่ระดับที่แลว่าแข็งแรงกว่าปัจจุบัน
"การทบทวนซึ่งอาจนำไปสู่การปรับขึ้นเรตติ้งให้ไทยครั้งนี้ จะเน้นที่ความสามารถของรัฐบาลที่จะธำรงไว้ซึ่งโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอันเข้มแข็ง
พร้อมกับปรับปรุงความสามารถของไทยที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ" คำแถลงของมูดี้ส์บอก
นโยบายอันรอบคอบเป็นเรื่องจำเป็นถ้าไทยอยากป้องกันปัญหาความอสมดุล ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการดีๆ
ที่ไทยได้รับมานับจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540-2541 มูดี้ส์แสดงความเห็นอย่างนั้น
เมื่อเดือนที่แล้ว ฟิทช์ เรตติ้งส์ สถาบันการจัดอันดับค่ายลอนดอน ลงมือยกเกรดความน่าเชื่อถือให้ไทยในระดับประเทศไปแล้ว
แถมยังสรรเสริญว่าไทยเป็น "โมเดลแห่งการปรับตัวรับการปัจจัยภายนอกประเทศ" หลังวิกฤตการเงินเอเชียปี
2540-2541
ขุนคลังคาดได้อัปเกรดในปีนี้แน่
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง เปิดเผยวานนี้ ถึงมูดี้ส์จะพิจารณาปรับอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะสั้น
ทั้งในและต่างประเทศของไทย ว่าเขาได้รับจดหมายจากมูดี้ส์ ที่ส่งให้วานนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี ที่มูดี้ส์อยู่ระหว่างพิจารณาปรับอันดับให้กับประเทศไทย
จากปัจจุบัน อันดับความน่าเชื่อถือของไทย BBB- โดยที่ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ เรตติ้งส์
และสถาบันจัดอันดับจากญี่ปุ่น ก็ได้เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่ไทยไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะยังเป็นห่วงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สถาบันการเงินในประเทศ
แต่กระทรวงการคลังยืนยัน และชี้แจงให้สถาบันเหล่านี้ รับทราบมาตลอดว่า ขณะนี้ปัญหาดังกล่าว
รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างแก้ไขต่อเนื่อง ล่าสุดการแก้ปัญหาหนี้ซึ่งโอนให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) ก็แก้ไขปัญหาลุล่วงแล้วถึง 75% อีก 25% คาดว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ได้หมดภายในสิ้นปีนี้
"ในส่วนของสถาบันการเงินหลายแห่ง ก็เอาหนี้เน่าออกไปบริหารกันเองมากแล้ว ส่วนที่ยังมีเหลืออยู่
ล่าสุดทางแบงก์ชาติกำลังดำเนินการแก้ไข ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จสิ้นภายในเร็วๆ นี้"
ร.อ.สุชาติกล่าว
ความเป็นห่วงอีกเรื่องของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ คือการที่รัฐบาลนำเงินอัดฉีดสถาบันการเงิน
เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจรากหญ้า โดยการใช้เงินธนาคารพาณิชย์รัฐ หรือเงินนอกเหนือจากงบประมาณกระตุ้น
เรื่องนี้เขาก็ชี้แจงให้ทราบหลายครั้งแล้วว่า ต่างประเทศเป็นห่วงมากเกินไป ซึ่งเขายืนยันอีกครั้งว่า
รัฐบาลใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าที่ผ่านมาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรายรับรัฐบาล
"ความจริง เรื่องนี้ต่างชาติกังวลกันมาก แต่เราก็ได้มีการชี้แจงจนความกังวลเหล่านี้ลดลงไปแล้ว
แต่หากยังมีความเป็นห่วงกันอยู่ ก็จะชี้แจงให้ทราบว่า เงินจำนวนนี้น้อยมาก เช่น
ในส่วนของโครงการธนาคารประชาชน รัฐได้ใช้ไปเพียง 10,000 ล้านบาทเท่านั้น เป็นภาระไม่มากนัก
เมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับเข้ามา ซึ่งการปล่อยกู้ในส่วนนี้นายกฯ ได้ยืนยันแล้วว่า
มีอัตราการจ่ายจริงสูงมากถึง 97% โดยมีเอ็นพีแอลเพียง 2-3% ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยให้ภาคธุรกิจเสียอีก"
ทางด้านนางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า ในส่วนของมูดี้ส์
กระทรวงการคลังได้รับรายงานเรื่องการพิจารณาจะปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ 1
เดือนที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งคาดว่ามูดี้ส์จะปรับเพิ่มเรตติ้งไทยภายใน 1-3 เดือน หรือไม่เกินสิ้นปีนี้
สำหรับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ คาดว่าจะเน้นหนักตราสารหนี้ระยะสั้นภายในประเทศและต่างประเทศ
ควบคู่กัน เพราะถือเป็นการประเมินสถานะความมั่นคงของรัฐบาล ส่วนกรณีมูดี้ส์ทบทวนความน่าเชื่อถือสถาบันการเงินด้วยหรือไม่นั้น
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มูดี้ส์ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพราะการปรับความน่าเชื่อถือของมูดี้ส์ต่อประเทศไทย
ต้องรวมภาคการเงินด้วย
เตรียมปรับเพิ่มราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มแบงก์
นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) กล่าวว่า
หากสถาบันจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ อัปเกรดเรตติ้งหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่
และเรตติ้งประเทศเพิ่มขึ้น จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยเสริมทางบวก เชื่อว่าน่าจะปรับระยะเวลาอันใกล้
ซึ่งหุ้นกลุ่มธนาคาร น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น
"การที่มูดี้ส์เริ่มปรับอันดับเครดิตจะมีผลต่อสถาบันการจัดอันดับเครดิตอื่นๆ
โดยมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มตามด้วยมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยตอนนี้อยู่ในเชิงบวก"
นายนิเวศน์กล่าว ส่วนการประชุมเอเปกกลาง ต.ค.นี้ หากการประชุมผ่านไปด้วยดี เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ
ว่าสามารถควบคุมการก่อการร้ายได้ดี ทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นไทยมากขึ้นด้วย
ทางด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด กล่าวว่าการที่มูดี้ส์มีแนวทางจะปรับเครดิตธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย
จะมีผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นได้ และทำให้นักวิเคราะห์ต้องปรับประมาณการราคาเป้าหมายกลุ่มแบงก์ใหม่อีกครั้ง
แต่ทั้งนี้คงต้องพิจารณากันเมื่อมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
"หากพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐานของแบงก์ขนาดใหญ่แล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยงแปลง และภาพรวมของกลุ่มแบงก์ในระยะยาวมีทิศทางที่ดีขึ้น
การปรับเครดิตในครั้งนี้แสดงให้เห็นสัญญาณเชิงบวกว่า แบงก์ไทยมีศักยภาพในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิม"
นักวิเคราะห์กล่าว
สำหรับหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่มีราคาเป้าหมายกับราคาหุ้นในปัจจุบันขณะนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันในบางแห่ง
ซึ่งคงจะต้องพิจาณาอีกครั้งควรจะปรับราคาเป้าหมายเพิ่มหรือไม่ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย
ราคาเป้าหมายในปีนี้อยู่ที่ 11 บาทต่อหุ้น และราคาเป้าหมายในปี 2547 มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น
เนื่องจากมีปัจจัยเข้ามามีผลกระทบกับหุ้นคือเรื่องของการเพิ่มทุนจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
หุ้นธนาคารกสิกรไทย ราคาเป้าหมายปีนี้ 45 บาท มีโอกาสจะปรับเพิ่มขึ้นอีก หากผลประกอบการในงวดไตรมาส3/46
ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ราคาหุ้นที่เหมาะสมปีนี้อยู่ที่
43 บาท หุ้นของธนาคารกรุงเทพ ราคาเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 79 บาท มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีกหากพื้นฐานเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ในปี 2547 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
เพราะจะมีการไถ่ถอน Slip/Cap และผลการดำเนินงานจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้