|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์คาดการณ์จีดีพีปีหน้าโต 3.7% หลังเกิดกรณีมาบตาพุด ชี้ส่งผลต่อศก.ในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านการลงทุน จี้หน่วยงานรัฐต้องกำหนดบทบาทและทิศทางเศรษฐกิจไทยให้ชัดเจน รับในช่วงต่อไปแบงก์จะเข้มงวดปล่อยสินเชื่อโครงการลงทุนที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนแผนงานปีหน้าจะไม่อิงจีดีพีมากนัก
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าไว้ที่ระดับ 3.7% ซึ่งการประเมินดังกล่าวได้นำประเด็นของมาบาบตาพุดมาพิจารณาร่วมแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงไม่มากนักในระยะสั้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือผลเสียต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะยาว ที่นักลงทุนต่างชาติจะขาดความเชื่อมั่น เพราะไม่มั่นใจในกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเหมือนเป็นการเปลี่ยนกติกาให้นักลงทุนใหม่และอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโตได้น้อยลง
ขณะที่ปัจจัยการเมืองยังมีโอกาสวุ่นวายอีกพอสมควร แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาบ่อยครั้ง ด้านปัจจัยบวกก็ยังพอมีอยู่บ้างคือจะเห็นได้ว่ากลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยจะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวในแถบยุโรปและเอเซียได้กลับเข้ามามากขึ้น ซึ่งสำคัญมากกับภาพรวมทางเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงาน อีกทั้งได้รับผลจากการกระตุ้นของรัฐบาล แม้งบประมาณที่ออกมาเบ็ดเสร็จจะไม่ได้มีจำนวนมากนัก
"ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องมีการจับตามองต่อไปคือปัจจัยภายในประเทศยังได้แก่ กรณีมาบตาพุด ซึ่งกระทบด้านความเชื่อมั่นที่ไม่เพียงสะท้อนออกมาในรูปแบบตัวเลขและการจ้างงาน เนื่องจากโครงการต่างๆ มีอัตราการจ้างงานเพียง 0.5% ซึ่งถือว่าน้อย และจะกระทบต่อจีดีพีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ประมาณ 0.2%"
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและความชัดเจนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ในอดีตได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต่อจากนี้ไปควรแสดงบทบาทและวางแผนนโยบายในทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยว่าจะเติบโตในอนาคตอย่างไร และจะมีบทบาทอย่างไรในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งพบว่าในปัจจุบันทิศทางดังกล่าวเริ่มไม่ชัดเจนดังเช่นในอดีต เพื่อลดวงจรการพึ่งพิงการส่งออกของไทยและกลับเข้าสู่วงจรพึ่งพิงอุปสงค์ภายในประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาการลงทุนและผลิตภาพแรงงาน และเครื่องจักรมากขึ้นซึ่งในปัจจุบันการลงทุนของไทยและอัตราค่าจ้างล้าหลัง
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธนาคารในกรณีของมาบตาพุดนั้น ยอมรับว่ามีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้าที่มีลักษณะโครงสร้างการลงทุนคล้ายกับ 76 โครงการดังกล่าวให้เข้มงวดมากขึ้น จากเดิมที่ธนาคารจะพิจารณาเพียงแค่ปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเท่านั้น แต่ธนาคารจะนำปัจจัยที่มีผลกระทบด้านอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่ว่าจะเป็นแนวทางการวางแผนลงทุนที่ต้องไม่ขัดต่อระเบียบหรือข้อกฎหมาย
“ธนาคารก็คงพิจารณากลุ่มที่มีลักษณะเดียวกันนี้มากขึ้น จากที่พิจารณาแค่ปัจจัยพื้นฐานทางการเงินคงไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่นั้นผลกระทบต่อยอดคือด้านบรรยากาศการลงทุน สมมุติผมเป็นนักธุรกิจก็ทำตามกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลบอกให้ทำ ซึ่งผมก็คิดว่าทำถูกต้องหมดแล้ว แต่พอมีคนมาบอกว่าทำผิดแล้วเช่นนั้นในอนาคตใครจะเป็นผู้ชัดถึงความชัดเจน ทำให้เกิดความระแวงด้านความเชื่อมั่นเพิ่มเข้ามา ซึ่งยอดสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่ลงทุนโครงการในมาบตาพุดก็มีพอสมควร” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2553 ก็ยังสามารถจะเติบโตได้แต่ไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสินเชื่อจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าภายหลังจากการที่รัฐบาลลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อปูทางให้ภาคเอกชนลงทุนต่อนั้น อาจไม่ได้รับผลมากนัก แต่อย่างไรก็ดีธนาคารขอยืนยันว่ามีสภาพคล่องที่ส่วนเกินอยู่มาก และพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ได้พิจารณาว่าเป็นลูกค้ากลุ่มไหน แต่ดูจากว่าธนาคารรู้จักลูกค้าดังกล่าวดีเพียงพอหรือไม่
โดยแผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ในปีหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากเดิมที่ธนาคารตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อรวมและเงินฝากด้วยการอ้างอิงกับตัวเลขจีดีพี โดยสินเชื่อจะต้องโตมากกว่าจีดีพีเป็นกี่เท่า มาเป็นการวางเป้าหมายที่คำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการสินเชื่อของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร แต่คาดว่าสินเชื่อรวมของธนาคารจะต้องเติบโตมากกว่าระบบอย่างแน่นอน
“ประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกประมาณ 70% ซึ่งธนาคารไม่ได้มีลูกค้าในกลุ่มนี้มากนัก ธนาคารจึงได้ทำการปรับเปลี่ยนแผนงาน โดยไม่ยึดติดกับอัตราการขยายตัวของประเทศ ทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝาก ซึ่งธนาคารมีลูกค้าสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคการลงทุนภาคเอกชนมากกว่า และเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสินเชื่อมากกว่าภาคการส่งออก ดังนั้นการอ้างอิงกับตัวเลขจีดีพี จึงไม่ได้สื่อออกมาชัดเจนนัก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นคาดว่าจะเริ่มขยับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยมองว่าทั้งปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1.25% ซึ่งสาเหตุที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพราะมองว่าในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ตาม รวมทั้งยังคงต้องพิจารณารอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อน หากดอกเบี้ยของไทยปรับขึ้นก่อนเฟดก็จะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นอีกได้ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคาร คาดว่าค่าเงินบาทสิ้นปีหน้ามีโอกาสที่จะแข็งค่าไปอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่าลงได้อีก
|
|
|
|
|