|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

"เราต้องมีความศรัทธาในเมล็ดพันธุ์พืชซึ่งมีสัญญาณแห่งชีวิตอัศจรรย์หลับรออยู่ตรงนั้นว่ามันจะกลายเป็นต้นไม้ร้อยอ้อมผู้ให้ชีวิตในชั่วพริบตานั้นไม่ได้ ต้องถูกบ่มเพาะในเนื้อนาบุญอันอุดม และอาจต้องใช้เวลานานพอสมควร"
ถ้อยคำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ฟังดูคมคายและหนักแน่น ไม่ต่างจากเวลาที่ช่างวาดรูปอาวุโสผู้นี้บิดมือสะบัดฝีแปรงในแต่ละครั้ง
วาทกรรมข้างต้นเกิดขึ้นระหว่างการบรรยายในหัวข้อ "ทำไมผมจึงประสบความสำเร็จในเส้นทางศิลปะ" อันเป็นกิจกรรมปฐมนิเทศเพื่อต้อนรับศิลปินรุ่นหลานผู้เข้าร่วมในโครงการแข่งขันวาดภาพชิงรางวัล "ศิลปินดาวเด่นจิตรกรรม บัวหลวง" หรือ "ดาวเด่นบัวหลวง" ปีที่ 2
ขณะที่ปีแรกการบรรยายในหัวข้อนี้เป็นหน้าที่ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เจ้าของรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง เมื่อ 30 ปีก่อน
เพราะความประทับใจในผลงานที่ได้รับ "ดาวเด่นบัวหลวง" ปีแรก ที่ยังคงชุ่มฉ่ำอยู่ในความรู้สึกของบรมครูทางศิลปะผู้นี้ ในปีนี้อาจารย์ถวัลย์จึงตั้งใจรอคอยดาวเด่นดวงใหม่ ด้วยความคาดหมายว่าจะมีประกายแสงแจ่มจ้าไม่แพ้กัน
"ปีที่แล้วมีเด็กคนหนึ่งได้รางวัลจากการเขียนรูปตัวเหี้ย แล้วผมก็ชอบรูปตัวเหี้ยของมันมาก เพราะมันเขียนตัวเหี้ยทุกเกล็ด เหมือนกับตัวเหี้ยเขียนภาพตัวเอง ครั้งนี้ผมก็หวังว่า จะมีดาวรุ่งดวงใหม่ที่ 'เขียนเหี้ยเป็นเหี้ย' ให้เราได้ชื่นชม" อาวุโสวัย 70 ปีเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
ผลงานที่อาจารย์ถวัลย์พูดถึงเป็นภาพที่มีชื่อว่า "ภาพ ลักษณ์สะท้อนพฤติกรรมมนุษย์" ผลงานของธนากร บัวปลอด ศิลปินดาวเด่นจิตรกรรมบัวหลวงยอดเยี่ยมปีแรก (ปี 2551) ซึ่งผู้เขียนต้องการสื่อถึงสิ่งที่อยู่ก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์ผ่านภาพ สัตว์เดรัจฉาน อย่างตัวเงินตัวทอง หมาขี้เรื้อน และเห็บหมัด ที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการดิ้นรนต่อสู้แก่งแย่งชิงดีกัน
สำหรับผลงานปีนี้ แม้จะไม่โดดเด่นด้านชั้นเชิงทางจิตรกรรม แต่ภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปีนี้ก็ชนะใจกรรมการอย่างเป็นเอกฉันท์ในเรื่องความคิดสดใหม่และเทคนิคการนำเสนอแบบ "ทำน้อยได้มาก"
ภาพเด็กน้อยในเสื้อขาวสีหม่นที่มีนกพิราบเกาะบนไหล่บนเฟรมผ้าใบที่ดูคล้ายถูกปิดทับด้วยผ้าขาวบาง แต่เมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ จะเห็นภาพความขัดแย้งทางการเมืองร่วมร้อยภาพถูกปะติดกันภายในผ้าขาวบางผืนนั้น
การจัดวางองค์ประกอบของภาพดูเรียบง่าย แต่กลับส่งเสียงสะเทือนความรู้สึกรวดร้าวของคนในสังคมไทย อันเนื่องมาจากบาดแผลและความร้าวฉานทางการเมือง ซึ่งเป็นปมอยู่ในหัวใจของจุฑารัตน์ กอบนวรักษ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เจ้าของรางวัลศิลปินดาวเด่นจิตรกรรมบัวหลวงยอดเยี่ยมแห่งปี 2552
ขณะที่รางวัล "ดาวเด่นบัวหลวง" ด้านความคิดสร้างสรรค์ ปีนี้ตกเป็นของสุนันทา วินทอง นักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ เจ้าของผลงาน "แรด เลิศ เชิด" ภาพเขียนแนวอีโรติกสีสันฉูดฉาด สไตล์ป็อบอาร์ต สะท้อนอารมณ์ช่างประชดประชันของผู้วาดได้เป็นอย่างดี โดยเป็นภาพหญิงสาวสมองกลวงแต่งหน้าจัด โดยมี หน้าตาถึงสามหน้า หน้าแรกเป็นใบหน้าตัวเอง หน้าที่สองเป็นใบหน้าที่แต่งเติม และหน้าที่สามคือใบหน้าที่เห็นแล้วก็อยากเป็นแบบนั้น
"ทั้งสองภาพได้รับรางวัลด้วยความคิดที่ทันสมัย ในงาน ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์สำคัญ เพราะนั่นหมายถึงความพยายาม แสวงหาตัวตนที่จะนำไปสู่ความเป็นศิลปินในอนาคต สำหรับทักษะ หรือฝีมืออาจฝึกฝนกันได้เพราะเด็กเหล่านี้ยังเรียนอยู่ พอโตขึ้นมา มีทักษะดีขึ้น พวกเขาอาจกลายเป็นศิลปินใหญ่ของไทยก็ได้" อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์กล่าวในฐานะกรรมการตัดสิน
ทั้งนี้ หากรางวัลจิตรกรรมบัวหลวงคือเวทีสนับสนุนศิลปิน ไทยหน้าใหม่ที่มีทักษะ แนวคิด และความสามารถในการสร้าง สรรค์งานด้านจิตรกรรมที่มีคุณค่า รางวัล "ดาวเด่นบัวหลวง" ก็เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถ ทางศิลปะ โดยไม่จำกัดขอบเขตในการสร้างสรรค์ผลงาน
ทั้งสองเวทีเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพและหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เหมือนๆ กัน
ขณะที่เป้าหมายของเวทีรุ่นใหญ่คือโอกาสแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ส่วนหัวใจสำคัญของเวที "ดาวเด่นบัวหลวง" อยู่ที่การพัฒนาทักษะ ของศิลปินรุ่นเยาว์อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
"ทั้งอาจารย์ปรีชา เถาทอง และ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์เคยได้รับรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง แต่ทั้งสองท่านบอกว่าตอนที่ได้รับรางวัลช่วงแรกๆ ต้องฝ่าฟันอะไรมาเยอะมาก เพราะการเรียนศิลปะไม่ได้สอนว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะดำรง ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไร โครงการนี้จึงอยาก ให้ความรู้รอบด้านกับน้องที่เรียนศิลปะ" คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิชกล่าวในฐานะประธานโครงการดาวเด่นจิตรกรรมบัวหลวง
คล้ายกับการประกวด Academy Fantasia (AF) ผู้เข้าประกวดทั้ง 46 คน ซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษาสาขาศิลปะจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจะถูกพาไปเก็บตัวและใช้ชีวิตรวมกันภายในหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นเวลา 9 วัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิค เข้ารับ การอบรมเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นโบแดงสำหรับส่งเข้าประกวด
"การแข่งขันไม่สำคัญเท่ากับการให้ ความรู้ เพราะคนเรียนศิลปะมันแย่ตรงมันคับแคบ มันอยู่กับตัวเองมากเกินไป ยุคนี้คนเขียน รูปเก่งอย่างเดียวตายไม่มีจะกิน ฉะนั้นต้องสอนเด็กให้มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์กว้างขึ้น ให้เขาเรียนรู้ว่าในโลกนี้ยังมีสิ่งอื่นที่ต้องเรียนรู้ มีธุรกิจ สังคม การเมือง และปรัชญาของนานาอารยประเทศ เพื่อที่เราจะได้ไม่เป็นศิลปินกระจอก" อาจารย์เฉลิมชัยกล่าว
เวที AF มีครูเป็ดสอนเต้น ครูบีสอนร้องเพลง ครูซอสอนการแสดงบนเวที "ดาวเด่นบัวหลวง" ก็มีศิลปินชั้นบรมครูอย่างถวัลย์ ดัชนี, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, วิโชค มุกดามณี และธนะ เลาหะภัย เป็นต้น มาเป็นผู้ให้ความรู้และคำแนะนำทางด้านเทคนิค การสร้างสรรค์งานศิลปะ ตลอดจนแนวทางการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้ ยุวศิลปินทั้ง 46 คนยังได้รับความรู้และคำแนะนำจากนักสะสมงานศิลปะ และเจ้าของแกลเลอรี่ ตลอดจนผู้มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมและการตลาดมาช่วยเสริมสร้าง องค์ความรู้ด้านการตลาดและการบริหารจัดการงานศิลปะ รวมถึงการนำเสนอความคิดทางศิลปะให้เป็นระบบ
เรียลลิตี้แบบ AF ถ่ายทอดสดผ่านสื่อเคเบิลทีวีตลอด 24 ชั่วโมง และมีตัดบางช่วงมาออกฟรีทีวีบ้าง ส่วนเรียลลิตี้ประกวดวาดภาพของดาวเด่นบัวหลวงมีเวลาออกอากาศชั่วโมงครึ่ง ช่วงเวลา 13.00-14.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่วิทยากรมาให้ความรู้กับผู้เข้าประกวด โดยถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ kapok.com เพื่อให้บุคคลที่สนใจได้รับชมและรับความรู้ไปพร้อมกัน
"ถ้าปล่อยให้ศิลปินหรือนักเรียนศิลปะทำงานตามสถาบันการศึกษา โดยขาดความเชื่อมโยงกับสังคมภายนอกก็เกิดช่องว่างในการเข้าถึงศิลปะ ประชาชนทั่วไปก็ขาดความเข้าใจศิลปะแล้วก็ไม่สนใจที่จะสืบสานศิลปะอันทรงคุณค่า แต่ถ้าเราทำให้คนทั่วไปได้เห็น กระบวนการทำงานและถ่ายทอดงานศิลปะ อย่างน้อยก็เป็นการนำพาศิลปะไปสู่มวลชนมากขึ้น"
ถ้ารูปแบบรายการเรียลลิตี้แบบ AF มีส่วนช่วยให้นักร้องดาวรุ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมหาชนจนกลาย เป็นนักร้องดังในวันหน้าได้ รายการเรียลลิตี้ประกวดวาดภาพครั้งนี้ก็อาจจะทำให้ยุวศิลปินดาวเด่นกลายเป็นศิลปินที่สังคมจับตารอคอยติดตามผลงานก็เป็นได้
สำหรับรางวัลดาวเด่นบัวหลวงขวัญใจประชาชน ที่ได้จากผลโหวตทางเว็บไซต์ และ SMS ถือเป็นกลยุทธ์ ในการสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการประกวดงานศิลปะให้กับสังคม แม้ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมาการโหวตจะยังจำกัดอยู่ในวงแคบในหมู่ญาติมิตรของผู้เข้าประกวด และยังเป็นการโหวตที่ขาดวิจารณญาณเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี อาจารย์เฉลิมชัยแอบแย้มว่าปีหน้า จะเพิ่มรางวัลให้กับประชาชนผู้โหวตเข้ามาทายถูกว่าผลงานชิ้นไหนจะตรงใจคณะกรรมการมากที่สุด
"การโหวตปีนี้ คนอาจมองแค่รูปเหมือน เพราะเขายังไม่รู้ศิลปะก็เลยเลือกรูปเหมือน เอาไว้ก่อน แต่ปีหน้าเราอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมแบบต้องใช้วิจารณญาณมากขึ้นและ มีการถกเถียงเรื่องผลงานหรือความเป็นศิลปะที่ลึกขึ้นกว่าปีนี้"
รางวัลขวัญใจประชาชนปีนี้เป็นของธนินท์รัฐ เกตุแก้ว จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นภาพเหมือนของสถานที่อันเป็นมุมสงบท่ามกลางสังคมที่วุ่นวาย ที่ผู้เขียนมีไว้ใช้เป็นที่ผ่อนคลายจากจากปัญหาต่างๆ โดยเพิ่มลูกเล่นเข้าไปด้วยโทนสีทึบทึมให้ความรู้สึกราวกับกึ่งความฝัน
นอกจากผลงานที่ได้รางวัลทั้ง 3 ชิ้น ยังมีผลงานของผู้ร่วมโครงการอีก 43 ชิ้นให้ได้ชื่นชมจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2553 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จากนั้นตั้งแต่ 23 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2553 ผลงานเหล่านี้จะนำไปแสดง ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา
"พวกคุณเปรียบกับดอกตูมของบทเพลงที่ยังไม่ได้อุบัติ คงต้องใช้เวลาเดินทางอีกยาวไกลกว่าจะโตเป็นต้นไม้ให้ร่มเงาแก่แผ่นดิน อาจต้องเจอทุกข์เข็ญบนเส้นทางที่ไม่มีใครขานรับเสียงกู่ท่ามกลางสภาพสังคมเลวทรามที่คอยดูดกลืน ก็ได้แต่หวังว่าหนทางที่รุ่นผมแผ้วถางไว้จะทำให้เมล็ดพันธุ์อย่างพวกคุณงอกงามได้ในวันหน้า" ปรมาจารย์อาวุโส กล่าว
ไม่เพียงอาจารย์ถวัลย์ ดูเหมือนศิลปินใหญ่ในวงการศิลปะไทยอีกหลายคนที่เข้าร่วมเป็นวิทยากรในโครงการนี้ล้วนมีความหวังที่จะส่ง "ไม้" ต่อให้กับยุวศิลปินเหล่านี้ร่วมประคองดูแล...
|
|
 |
|
|