|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี เปิดรับผู้ถือหุ้นรายใหม่ แต่งตั้งเอ็มดี รีแบรนด์ เสริมโครงสร้างธุรกิจยุทธศาสตร์ครั้งนี้กำลังถูกคู่แข่งจับตามองอย่างไม่คลาดสายตา
บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด เริ่มทำธุรกิจประกันชีวิตเมื่อ 58 ปีที่แล้ว เดิมทีเดียวเป็นบริษัทให้บริการด้านวินาศภัย ภายใต้ชื่อบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด โดยมีชิน อัสสกุล และคณะร่วม กันก่อตั้งเมื่อปี 2492
ธุรกิจถูกสืบทอดกิจการต่อ กฤษณ์ อัสสกุลดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โชติ อัสสกุลเป็นประธานกรรมการ และธุรกิจก็ส่งเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกของกฤษณ์ อัสสกุล เข้ามาร่วมกันบริหารงาน 3 คน คือ กีรติ อัสสกุล ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ วีรวุฒิ อัสสกุล รองกรรมการผู้จัดการสายงานประกันชีวิต และนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ สายงานลงทุน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีที่ผ่านมาจึงบอกได้ว่าบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัวของ "ตระกูลอัสสกุล" อย่างแท้จริง
ธุรกิจครอบครัวพัฒนาและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคของกฤษณ์ อัสสกุล สามารถครองอันดับหนึ่งในธุรกิจประกันชีวิตในฐานะผู้ประกอบการคนไทย จากธุรกิจที่ติดลบมาก่อน
ตระกูลอัสสกุลยังได้ขยายกิจการออกไปอีกมากมายจนปัจจุบันมีบริษัทอยู่ในเครือถึง 14 บริษัท (ดูในตาราง) เน้นทำ ธุรกิจหลัก 3 ประเภท 1. ธุรกิจการเงิน 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3. ธุรกิจอุตสาห-กรรม
ด้วยธุรกิจที่แตกออกไปหลายสาขา ทำให้ผู้บริหารไม่ได้มีหน้าที่ดูแลกิจการในบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปดูแลกิจการอื่นใน ช่วงเวลาเดียวกัน เช่น กีรติ นอกจากนั่งใน ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการในบริษัทไทยสมุทร เขายังเป็นผู้บริหารอยู่ในบริษัทโอเชี่ยน กลาส จำกัด (มหาชน) ส่วนนุสรามีตำแหน่งเป็นประธาน กรรมการ บริษัทโอเชียนพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
แม้ว่ากิจการของบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต และบริษัทในเครือจะขยายเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยรูปแบบการบริหารงานของครอบครัวอัสสกุลเป็นแบบที่เรียกกันว่าอนุรักษนิยม (conservative) ไม่เปิดเผยตัวต่อสื่อสาธารณะมากนัก การทำงานจึงเป็นไปอย่างเงียบๆ
บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตพึงพอใจการทำงานในรูปแบบอนุรักษนิยมมายาวนาน ทว่าองค์กรแห่งนี้เริ่มตระหนักและ เห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศได้อย่างชัดเจน บริษัทหลาย แห่งเริ่มมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารสามารถให้บริการประกันชีวิตได้ นอกเหนือจากบริการรับ-ฝากเงิน หรือให้สินเชื่อ
บริษัทเริ่มรับรู้ว่าโครงสร้างธุรกิจการเงินได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิตใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นทุกๆ ด้าน คู่แข่งมีขนาดใหญ่ขึ้น เงินทุนหนาขึ้น ผลิต-ภัณฑ์และเทคโนโลยีเริ่มหลากหลาย และสิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งได้มีกฎหมายระบุไว้ว่าบริษัทประกันชีวิตจะต้องกลายเป็นบริษัทมหาชน
ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้กดดันให้บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างชนิดที่เรียกว่า 360 องศา
แต่เดิมรูปแบบการบริหารงานของตระกูลอัสสกุล ผู้บริหารจะเป็นศูนย์รวมความคิด เป็นผู้นำกำหนดวิสัยทัศน์แทบจะทุกเรื่อง โดยเฉพาะในยุคของกฤษณ์ อัสสกุล เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านธุรกิจประกันชีวิตและทำงานอย่างหนัก เขาจึงกลายเป็นตัวอย่างของพนักงานและยังเป็นแบบอย่าง หรือ Idol ของลูกๆ อีกด้วย
ระบบการทำงานในอดีตในยุคของกฤษณ์จนมาถึงรุ่นลูกจึงมีนโยบายการทำงานไม่เปลี่ยนไปมากนัก คือเน้นเจาะลูกค้าระดับรากหญ้า รายได้น้อย และมุ่งเน้นขายผ่านตัวแทนจำหน่ายผ่านกลุ่มข้าราชการ ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพนักงานบริษัท จึงทำให้ฐานลูกค้าของบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตในปัจจุบันร้อยละ 80 เป็นกลุ่มรากหญ้าและกระจายอยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก
นับว่าเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเอไอเอที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก และอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ พนักงานรายได้สูงและปานกลาง ซึ่งแนวทางนี้บริษัทประกันชีวิตอื่นๆ ก็เดินตาม
ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งธนาคารไม่ได้มองลูกค้าเฉพาะในเมืองอีกต่อไป แต่ได้เริ่มเจาะตลาดต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตหวั่นวิตกอยู่ไม่น้อย บริษัทจำเป็นต้องทบทวนและปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจ เพราะธุรกิจที่ให้บริการเป็นรูปแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนจนกลายเป็นธุรกิจหมุนวนในอ่างน้ำ จนทำให้บริษัทหล่น ไปอยู่ในอันดับ 8 จากเคยเป็นที่ 1
ตระกูลอัสสกุลได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเข้ามากำหนดแผนธุรกิจของบริษัท ทำให้บริษัทตัดสินใจปรับโครงสร้างใหม่ เริ่มต้นจากว่าจ้างดัยนา บุนนาคเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัด การแทนกีรติ อัสสกุล เมื่อเดือนตุลาคม 2550 ซึ่งบทบาทการทำงานของกีรติที่ผ่าน มาไม่ได้บริหารงานลงลึกในรายละเอียดขณะที่น้องอีก 2 คนคือ นุสราและวีรวุฒิจะบริหารงานในรูปแบบเต็มเวลา (full time)
ในเดือนกรกฎาคม 2551 ได้เปิดทางให้บริษัทไดอิจิ มิวชวลไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เข้าถือหุ้นในบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด ร้อยละ 24 จากตระกูลอัสสกุลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงทำให้ปัจจุบันตระกูลอัสสกุลและผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นเหลือร้อยละ 76
การว่าจ้างดัยนาและได้บริษัทไดอิจิ เข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าตระกูล อัสสกุลต้องการผู้บริหารที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการเงินและมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากกว่าต้องการเงินทุนจำนวนมาก เพราะธุรกิจ ของบริษัทในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้และเติบโตแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม
ในปี 2551 บริษัทมีรายได้ 12,633 ล้านบาท กำไรประมาณ 200 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2551 ที่มีรายได้ 11,941 ล้านบาท กำไร 178 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 60,096 ล้านบาท
เหตุผลที่คณะกรรมการสรรหาเลือก ดัยนา บุนนาคมาเป็นกรรมการผู้จัดการ อาจเป็นเพราะมีประสบการณ์อยู่ในวงการธุรกิจการเงินมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะเป็นรุ่นแรกที่บุกเบิกตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการ กองทุนธนาคารกสิกรไทย และทำงานอยู่ที่นั่นมา 15 ปี และยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นรองกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด รวมถึงเป็นที่ปรึกษาการลงทุน กองทุนไทยยูโรฟันด์ และรองกรรมการผู้จัดการบริษัทไมโครเนติค จำกัด
ไม่เพียงแต่ประสบการณ์ที่ยาวนั้นเท่านั้น แต่ด้วยตำแหน่งที่หลากหลายทำให้ เธอรู้จักคนในวงกว้างอาจทำให้สามารถเพิ่มพันธมิตรให้กับบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตต่อไปในอนาคต
ส่วนบริษัทไดอิจิเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับ 3 ในญี่ปุ่น จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ และเจาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่ประกอบการธุรกิจอยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีพนักงาน ญี่ปุ่นเข้าร่วมทำงานด้วยแต่ไม่ได้อยู่ในระดับผู้บริหาร
นุสรากล่าวกับ ผู้จัดการ 360 ํ ว่าในส่วนของญี่ปุ่นจะให้คำแนะนำทางด้านการลงทุนบางส่วน แต่สิ่งที่จะมาช่วยเหลือคือการจัดการเรื่อง RDC (risk dept the capital) เป็นเรื่องใหม่ในธุรกิจประกันชีวิต และสำหรับทั่วโลกซึ่งญี่ปุ่นอาจมีประสบ การณ์
สำหรับดัยนาถูกคัดเลือกมาจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งในฝั่งของผู้บริหาร ไม่เคยรู้จักมาก่อน และได้รับมอบหมายให้เข้ามาพัฒนาองค์กร บุคลากร ไอทีการตลาด และพัฒนาช่องทางขายใหม่ ดูเหมือนว่าเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เกือบทั้งหมด
ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ดัยนาใช้เวลาไปกับการพัฒนาโครงสร้างภายในและปรับภาพลักษณ์ใหม่ของบริษัท เสริมผู้บริหารใหม่ ก่อตั้งแผนกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ทีมบริหารความเสี่ยง ทีมกลยุทธ์ ทีมงานพัฒนาบุคลากร ฝ่ายไอที และทีมงานกำกับดูแลภายใน
ผู้บริหารทั้งหมดดัยนาเป็นผู้คัดเลือกเข้ามา ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ เช่น ยุพิน ลิ่วศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศมาจากบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเดต้าโฟร์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาเทคโนโลยี SAP และยิ่งยง นิลเสนา ผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร มาจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนาคารกสิกรไทย เคยร่วมงานกับดัยนามาก่อน
แม้ว่าดัยนาจะมีประสบการณ์ทาง การเงิน โดยเฉพาะสายงานลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลและสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นาน แต่สายงานด้านธุรกิจประกันชีวิตยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษาต่อไป
ดัยนาจึงจัดประชุมระดับผู้บริหารทุก 3 เดือน เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน ทำให้พบว่าจุดอ่อนของบริษัทไทยสมุทร มี 2 ประการ คือความเคลื่อนไหวของบริษัทค่อนข้างเงียบ ทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะวัยทำงานอายุต่ำกว่า 35 ปีรู้จักบริษัทน้อย เรื่องที่สอง ภาพลักษณ์องค์กร คนภายนอกมองว่าเหมือนผู้สูงอายุ และอนุรักษนิยม
นุสรา หนึ่งในตระกูลอัสสกุลยอม รับว่าภาพลักษณ์ของบริษัทถูกมองว่าเป็นผู้สูงอายุมาก่อนที่จะมีการทำวิจัย จึงทำให้ เธอยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ยาก
จากผลวิจัย บริษัทเริ่มหันมาโฆษณา ประชาสัมพันธ์บริษัทเพิ่มขึ้น ส่วนภาพลักษณ์ได้หันมาปรับหลายส่วน เช่น ตราสัญลักษณ์ใหม่ ด้วยการเปลี่ยนให้มีสีสันมากขึ้น แต่สัญลักษณ์ยังคงเป็นรูปเรือลำใหญ่ในวงกลมเช่นเดิม ความหมายของรูปทรงคือ
วงกลม หมายถึงการหมุนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด
เรือเดินสมุทรลำใหญ่ เปรียบเสมือน องค์กรไทยสมุทรประกันชีวิตที่มีพลังและมั่นคง
ธงที่โบกสะบัด หมายถึงความเคลื่อนไหวไปข้างหน้าขององค์กร
ส่วนความหมายของสีที่เพิ่มเป็น 3 สี จากเดิมที่มีเพียงสีเดียว คือสีน้ำเงินได้เปลี่ยนไปคือ
สีฟ้าน้ำทะเล มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์ และเป็นตัวแทนของธาตุน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต
สีขาวภายในวงกลม หมายถึงการบริหารธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และมีจริยธรรม
หัวใจหลักส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น คือการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) จึงทำให้ฝ่ายไอทีใช้งบประมาณถึง 220 ล้านบาท จากงบพัฒนาทั้งหมด 600 ล้านบาทที่ต้องใช้ภายในระยะ 3 ปี (ปี 2551-2553)
ระบบไอทีจะเข้าไปพัฒนาการบริหารงานและบริการเกือบทุกส่วน เริ่มตั้งแต่พัฒนาฐานข้อมูลหลักประกันชีวิต วางระบบคอลเซ็นเตอร์ ระบบคณิตศาสตร์ ระบบบิสิเนส อินเทลลิเจนท์ (BI) ระบบบัญชี และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับพอร์ต โฟลิโอเพื่อดูแลด้านการลงทุน
การรื้อระบบไอทีครั้งนี้นับว่าเป็นการปรับครั้งใหญ่ในรอบหลาย 10 ปี เพราะระบบการทำงานที่ผ่านมาระบบเชื่อมโยงการทำงานยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะเอกสารการซื้อขายประกันของลูกค้า แต่เดิมการส่งข้อมูลเข้ามาสำนักงานใหญ่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 วัน เพราะตัวแทนประกันจะส่งผ่านไปรษณีย์ ในขณะนี้มีนโยบายให้ส่งข้อมูลให้ได้ภายในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ขายประกัน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์
อำนาจ พูลทรัพย์รองผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทไทยสมุทรมาเป็นเวลา 37 ปี ในส่วนของฝ่ายขายประกันชีวิต บอกว่าเขาเริ่มเห็นพนักงานตัวแทนมีโน้ตบุ๊กเป็นของตัวเองประมาณ 1 พันราย จากตัวแทนจำหน่าย 15,000 คน เขามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา เครื่องใหม่ไม่สามารถรับข้อมูลเก่าที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ทำให้การทำงานต้องใช้เวลามาก
ในขณะที่ดัยนาเริ่มพัฒนาองค์กร เธอยังต้องพัฒนาทางด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย ในปี 2552 ที่ผ่านมาใช้กลยุทธ์รักษาฐานลูกค้าเก่า เพราะมองว่าจุดแข็งของบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต คือฐานลูกค้าจำนวน 2,155,000 กรมธรรม์ (กรกฎาคม 2552) หรือมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12-18 บริษัทจึงใช้แผนนำสินค้าใหม่เข้าไปเสริม และส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการเข้าไปเจาะตลาดของคู่แข่ง
แม้ว่าฐานลูกค้ากว่า 2 ล้านกรมธรรม์จะเป็นจุดแข็งของบริษัทไทยสมุทรฯ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นจุดอ่อนที่บริษัทรับรู้เป็นอย่างดี เพราะฐานลูกค้าจำนวน 1.8 ล้านกรมธรรม์ หรือที่เรียกว่ากรมธรรม์แบบ "อุตสาหกรรม" มี ทุนประกันต่ำ รองรับกลุ่มเป้าหมายระดับรากหญ้าอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดร้อยละ 80
ลูกค้ากลุ่มระดับรากหญ้าทำให้กระบวนการทำงานของบริษัทมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะเบี้ยประกันที่เก็บในแต่ละเดือนมีราคาตั้งแต่ 500 บาท ซึ่งตัวแทนจะต้องไปเก็บตามบ้าน จึงเป็นเรื่องหลักอีกส่วนหนึ่งที่บริษัทกำลังมองหาช่องทางการชำระเงินให้กับลูกค้า
การพัฒนาช่องทางใหม่จึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ต้องเร่งสร้าง ไม่ว่าจะเป็นบริการรับชำระเงินให้กับลูกค้า รวมไปถึงเพิ่มช่องทางการขายใหม่ เช่นไตรมาส 2 ของปีนี้ได้ร่วมมือกับธนาคาร 2 แห่ง คือธนาคารเกียรตินาคิน และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
ในส่วนของไดอิชิ ในฐานะผู้ถือหุ้นเข้ามาช่วยขายประกันชีวิตประกันกลุ่มในรูปแบบเวิร์คไซต์ โดยบริษัทส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปขายสินค้าที่ทำงานหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบริษัท
การพัฒนาช่องทางใหม่แทบจะเรียก ได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านทางธนาคารหรือขายในรูปแบบเวิร์คไซต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับขายผ่านตัวแทนจำหน่ายมีถึงร้อยละ 90 จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปรับช่องทาง การขายให้มีความสมดุล
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาโครงสร้างของบริษัทไทยสมุทรฯ เปลี่ยนแปลงไปเกือบจะทุกมิติ ทำให้ในปีหน้าบริษัทมีเป้าหมายจะบุกทั้งตลาดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มจากปีนี้ ที่ได้พัฒนาถึง 20 ประเภท
แม้ว่าบริษัทไทยสมุทรฯ จะเตรียมตัวพร้อมเพื่อเข้าสู่สนามรบในปีหน้าก็ตาม แต่ตลาดในกรุงเทพฯ ยังถือว่าเป็นจุดอ่อนที่ยังต้องแก้ไข โดยเฉพาะตัวแทนจำหน่ายที่มีเพียง 500 คนเท่านั้น
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เกิดจะไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบอนุรักษนิยม เพราะดัยนาเชื่อว่าธุรกิจประกันชีวิตยังต้องการความน่าเชื่อถือ แต่ยอมรับว่าจะปรับให้มีบุคลิกที่กระฉับกระเฉง มีสีสันน่าสนใจขึ้น
"เราอยากเป็นวัยกลางคน น่าเคารพ นับถือ เป็นวัยคนทำงานที่ไม่ใช่หนุ่มสาว เป็นคนทันสมัย ในเรื่องข้อมูล ข่าวสารความรู้ ไม่ใช่แต่งตัวเปรี้ยว แต่เป็นคนเก่งในแง่ความรู้ เป็นคนสุขภาพดี ดูแลตัวเอง"
สิ่งที่ทำให้ดัยนาเชื่อมั่นในความเป็นอนุรักษนิยมที่ยังต้องรักษาไว้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรสามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้จากผลตอบแทนลงทุนมีถึงร้อยละ 6.61
จุดแข็งของบริษัทไทยสมุทรประกัน ชีวิตฯ คือประสบการณ์ที่ยาวนาน 60 ปี กับการมองเห็นโอกาสธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตไปได้ดี เพราะตลาดโดยรวมยังมีผู้ใช้ บริการประกันชีวิตในประเทศไทยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนประชาชน 60 กว่าล้านคน
โอกาสที่รออยู่ข้างหน้าทำให้บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตต้องเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
|
|
|
|
|