Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2552
Getting Credit Under Lao PDR Laws             
โดย รับขวัญ ชลดำรงกุล
 


   
search resources

Commercial and business
Law




ฉบับที่แล้ว ดิฉันมีโอกาสเขียนถึงระบบสถาบันการเงินของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งถือเป็นแกนหลักหนึ่งที่สำคัญของระบอบเศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมากประเทศนี้ไปแล้ว ฉบับนี้จึงตั้งใจที่จะเขียนถึงเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากเนื้อหาในฉบับที่แล้ว โดยจะเขียนถึงวิธีการในการหาสินเชื่อของนักลงทุนที่มีแผนการจะดำเนินการลงทุนในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหาสินเชื่อจากนิติบุคคล หรือบุคคลทั่วไป และการหาสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยนำเสนอทั้งในด้านของสิทธิของทั้งฝ่ายผู้ให้กู้ยืม และฝ่ายผู้กู้ยืมการให้หลักประกันภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว วิธีการสร้างหลักประกันให้สมบูรณ์ อุปสรรค และโอกาสที่มีภายใต้ระบบกฎหมายที่กำลังเติบโตและได้รับการพัฒนาของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์กฎหมายในส่วนนี้อยู่มาก ทำให้ไม่ได้รับการปกป้องสิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ตามกฎหมาย

สัดส่วนการกู้ยืมเงินและส่วนของผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย

โดยหลักการธุรกิจทั่วไป การระดมทุนของบริษัทนั้นสามารถทำได้ 2 ส่วนหลัก คือส่วนของการระดมทุนภายในบริษัท โดยการลงทุนส่วนทุน (Equity) และการระดมทุนจากแหล่งภายนอก ซึ่งได้แก่การกู้ยืมเงิน (Debt) สำหรับหลักการภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้น ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความฉบับที่แล้วว่า การระดมทุนภายใน บริษัทนั้นมีข้อจำกัดที่ค่อนข้างมาก และ

มีรูปแบบที่ไม่หลากหลายมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดในส่วนของกฎหมายและความไม่สมบูรณ์ของการเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศลาว ทำให้การระดมทุนโดยการกู้ยืมเงินมีความสำคัญมากสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในประเทศ สปป.ลาว

แต่ทั้งนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจพิจารณาการกู้ยืมเงินนั้น คือสัดส่วนการกู้ยืมเงินและส่วนของผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย ซึ่งภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศนั้น มีการกำหนดสัดส่วนของการกู้ยืมเงิน (Debt) และสัดส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) สำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ โดยภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว มีการกำหนดระดับของทุนที่นักลงทุนต้องรักษาตลอดระยะเวลาการลงทุนใน สปป.ลาว ไว้ 2 ส่วน คือทุนทั้งหมด และทุนจดทะเบียน

ความแตกต่างระหว่างคำว่า "ทุนทั้งหมด" และ "ทุนจดทะเบียน" นั้น จากการตีความเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไปของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบพิจารณาการลงทุนของนักลงทุนภายนอก ประเทศว่า "ทุนทั้งหมด" หมายถึงต้นทุนโครงการ (Project Cost) ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนรวมทั้งส่วนของการกู้ยืมเงิน และสัดส่วนของผู้ถือหุ้น ส่วน "ทุนจดทะเบียน" หมายถึงสัดส่วนการลงทุนจากการระดมทุนภายในทั้งหมดเพียงส่วนเดียว โดยภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนต่างประเทศนั้น กำหนดว่าทุนจดทะเบียนของบริษัทลงทุนจากต่างประเทศต้องมีการรักษาระดับของทุนจดทะเบียนให้ไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของทุนทั้งหมด

จากการกำหนดสัดส่วนการรักษาทุนจดทะเบียนเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อสัดส่วนของทุนทั้งหมดดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลลาวได้ตีความเพิ่มเติมเป็นหลักเกณฑ์ว่า เป็นการกำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ส่วนของการกู้ยืมและสัดส่วนการระดมทุนของผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งด้วย ดังนี้ เมื่อทุนจดทะเบียนคือสัดส่วนของผู้ถือหุ้น และทุนทั้งหมดคือสัดส่วนรวมทั้งของผู้ถือหุ้นและ จากการกู้ยืม จึงเท่ากับว่าแต่ละบริษัทต้อง มี Equity เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนทุนทั้งหมด ซึ่งเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ส่วนที่เหลือจาก Equity จากการคำนวณทุนทั้งหมด คือ 70 เปอร์เซ็นต์ จึงจัดเป็นส่วนของ Debt ที่บริษัทนั้นๆ จะกู้ยืมได้

หลักการสัดส่วน Debt ต่อ Equity ที่ 70:30 นี้ได้รับการปฏิบัติและยึดถือกันมาตลอดสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ โดยนอกเหนือจากที่กระทรวงแผนการและการลงทุนจะพิจารณาสัดส่วนดังกล่าว สำหรับการอนุญาตการลงทุนและการตั้งบริษัทแล้ว ทางธนาคารแห่ง สปป.ลาว ผู้พิจารณาการนำเข้าและการกู้ยืมเงินของนักลงทุนจากต่างประเทศอีก ก็ให้ความสำคัญกับการรักษาสัดส่วนดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะ หากเป็นการกู้ยืมเงินจากภายนอกประเทศเข้าไปใน สปป.ลาว โดยมีการกำหนดชัดเจนว่าการที่บริษัทใน สปป.ลาว จะกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากสถาบันการเงินของต่างประเทศ หรือจะเป็นนิติบุคคลอื่น เช่นบริษัทแม่ในต่างประเทศได้ การกู้ยืมดังกล่าวต้องอยู่ในสัดส่วน Debt : Equity ดังกล่าวเช่นกัน หากสัดส่วนการกู้ยืมเงินและสัดส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นักลงทุนดังกล่าวต้องดำเนินการขอความเห็นดีเฉพาะจากกระทรวงแผนการและการลงทุน ในการกู้ยืมเงินเกินสัดส่วนดังกล่าวก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้ และต้องดำเนินการเพิ่ม ทุนให้สอดคล้องกับกฎหมายในภายหลัง

การกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามกฎหมายดังกล่าวนั้น ยังขาดความชัดเจนอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวชัดเจนในบทบัญญัติ ของกฎหมาย เพียงแต่อยู่บนพื้นฐานหลักการปฏิบัติและการตีความของเจ้าหน้าที่เป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีการกำหนดถึงโทษ หรือบทบังคับในกรณีที่ไม่สามารถรักษาระดับทุนดังกล่าวไว้ได้ รวมทั้งไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนที่บริษัทต่างๆ จะต้องดำเนินการรักษาสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด อีกด้วย

การขออนุญาตกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ

ดิฉันมีโอกาสเขียนถึงข้อกำหนดที่นักลงทุนใน สปป.ลาว ต้องดำเนินการขออนุญาตกู้ยืมเงินที่มีแหล่งเงินมาจากต่างประเทศ จากธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในบทความฉบับก่อนนี้บางส่วนแล้ว ในฉบับนี้จะขออธิบายรายละเอียดของข้อกำหนดการกู้ยืมเงินดังกล่าวมากขึ้น สำหรับการยื่นเอกสารในการขออนุญาตกู้ยืมเงินจากต่างประเทศนี้ นักลงทุนต้องประกอบ ด้วยเอกสารต่างๆ เช่น เอกสารบริษัทต่างๆ แผนการกู้ยืมเงิน แผนการชำระคืนภายใต้สัญญากู้ยืมเงินที่ทำขึ้นนั้น รวมถึง Financial Statement ย้อนหลังของบริษัท ดังกล่าวด้วย โดยธนาคารแห่ง สปป.ลาวจะพิจารณาความสามารถในการชำระคืนของบริษัทดังกล่าวเป็นหลัก แต่ทางธนาคารแห่ง สปป.ลาวจะไม่รับประกันการปฏิบัติการใช้หนี้ต่างๆ ของนิติบุคคลลาวดังกล่าว

สำหรับข้อสังเกตสำคัญสำหรับการ ขออนุญาตกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว ดังกล่าวนั้น คือนักลงทุนจะต้องได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว ก่อนการลงนามใน สัญญากู้ยืม โดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนดชัดเจนว่านักลงทุนต้องส่ง "ร่าง" สัญญากู้ยืมที่จะได้มีการดำเนินการลงนาม กันระหว่างนักลงทุนและนิติบุคคลต่างประเทศนั้นให้ธนาคารแห่ง สปป.ลาว พิจารณาก่อน หากนักลงทุนไปลงนามในสัญญาดังกล่าวก่อน แล้วจึงมาขออนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาวภายหลัง หากเป็นครั้งแรกจะได้รับการตักเตือนเป็นหนังสือจากธนาคารแห่ง สปป.ลาวก่อน แต่หากยังคงทำผิดอีกในครั้งต่อมา อาจต้อง เสียค่าปรับ ซึ่งกำหนดไว้ค่อนข้างสูงตามกฎหมาย โดยกำหนดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินทั้งหมดที่กู้ยืมเงินกัน โดยสูงสุดคือ 100 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่กู้ยืมทั้งหมด

สำหรับระยะเวลาในการอนุญาตกู้ยืมเงินของธนาคารแห่ง สปป.ลาว นั้นขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการกู้ยืมของนักลงทุนและความครบถ้วนของเอกสาร ที่ยื่นเพื่อขออนุญาตของนักลงทุนดังกล่าวเป็นหลัก โดยหลักใช้ระยะเวลา 15 วันทำการธนาคาร หากนักลงทุนสามารถยื่นร่างสัญญากู้ดังกล่าวที่แปลเป็นภาษาลาวแล้ว ไปพร้อมกับเอกสารอื่นๆ ที่ยื่นเพื่อพิจารณา จะทำให้ระยะเวลาในการ พิจารณาของธนาคารแห่ง สปป.ลาวเร็วขึ้นส่วนหนึ่ง

ดอกเบี้ยที่อนุญาตให้คำนวณได้
ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว

กฎหมายว่าด้วยข้อผูกพันในสัญญา กำหนดหลักการสำหรับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะคิดได้ภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาวไว้ โดยกำหนดแยกออกเป็น 3 กรณีคือ 1) ดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว กำหนดให้เป็นไปตามเพดานอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมแต่ละธนาคารกำหนดขึ้น 2) ดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ กำหนดว่าคู่สัญญาสามารถตกลงกันได้เองตามความตกลงกัน โดยทั่วไปการคำนวณดอกเบี้ยจากแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศนี้ มีจำนวนมากที่ใช้อัตราดอกเบี้ยของ LIBOR+ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินจากต่างประเทศ และ 3) ดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินจากบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน กฎหมายกำหนดว่าให้คำนวณดอกเบี้ยได้เท่ากับอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งรัฐเรียกเก็บ +3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลของการที่คู่สัญญาตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ตามแนวการตีความและพิจารณาของศาลทั่วไป จะพิจารณาตัดสินให้มีการชำระ คืนส่วนของเงินต้น และส่วนของดอกเบี้ยจะคิดให้ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีการกำหนดหลักการที่จะให้การคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดดังกล่าวเป็นโมฆะไป ดังที่เป็นอยู่ภายใต้แนวคำพิพากษาศาลฎีกาของไทย

สำหรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน สำหรับการกู้ยืมจากบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่สำหรับการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้น กำหนดคิดดอกเบี้ยผิดนัดสูงกว่าอัตราสูงสุด ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาวประกาศเป็นเพดานสูงสุดที่สถาบันการเงินใน สปป.ลาวจะสามารถคิดเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ได้ และหลักการสุดท้ายในการคิดดอกเบี้ยภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว คือห้ามคิดดอกเบี้ย ทบต้น และห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยเป็นอันขาด แต่หากเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลภายนอก สปป.ลาวยังขาดความชัดเจนในการตีความของเจ้าหน้าที่ว่าการคิดคำนวณดอกเบี้ยทั้งหมดในทุกกรณีนั้น จะต้องอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมายดังกล่าว หรือสามารถคิดเป็นอย่างอื่นได้ โดยขึ้นอยู่กับการตกลงของคู่สัญญา

การสร้างหลักประกันภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว

กฎหมายว่าด้วยการค้ำประกัน การปฏิบัติตามสัญญา กำหนดรูปแบบของหลักประกันไว้ 2 แบบ คือหลักประกันที่กฎหมายสร้างขึ้น ซึ่งได้แก่หลักประกันการชำระค่าจ้างแรงงาน และการชำระเงิน ให้แก่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นค่าภาษีอากรหรือค่าภาคหลวงต่างๆ และหลักประกันที่คู่สัญญาสร้างขึ้น โดยภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว กำหนดจัดลำดับบุริมสิทธิของหลักประกันทั้งสองประเภทไว้ว่า ให้บุริมสิทธิแก่หลักประกันตามกฎหมายก่อนหลักประกันตามสัญญา เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย ของวิสาหกิจ ซึ่งให้บุริมสิทธิกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายก่อนเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญา

สำหรับการสร้างหลักประกันตามการตกลงของคู่สัญญานั้น สามารถสร้างหลักประกันได้จาก 3 ส่วนหลัก คือจากสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์หลายประเภทมาทำหลักประกันได้ จากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่สิทธิเหนือที่ดิน ทั้งในแง่ของกรรมสิทธิ์และในแง่ของสิทธิในการเช่าและจากบุคคลหรือนิติบุคคล ในรูปแบบของการค้ำประกัน สำหรับการสร้างหลักประกันด้วยทรัพย์สินนั้น แม้ทรัพย์สินที่จะนำมาค้ำประกันเป็นของบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่คู่สัญญาของทั้งสองฝ่าย ก็สามารถให้หลักประกันได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของทรัพย์ที่เป็นบุคคลภายนอกดังกล่าว

การสร้างหลักประกันด้วยสังหาริมทรัพย์ ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้น นักลงทุนสามารถสร้างหลักประกันจากสังหาริมทรัพย์ได้จากทรัพย์สินหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่

1. การจำนำด้วยสิ่งของ ซึ่งภายใต้หลักการจำนำสิ่งของของ สปป.ลาวนั้น มีการกำหนดหลักการว่า ลูกหนี้อาจส่งมอบการครอบครองสิ่งของที่จำนำดังกล่าว ให้เจ้าหนี้ หรือบุคคลภายนอกที่คู่สัญญาตกลงกันนั้นถือไว้ หรือลูกหนี้อาจไม่ส่งมอบการครอบครองทรัพย์ดังกล่าวได้ แต่ต้องได้มีการระบุชัดเจนในสัญญาจำนำว่า มีทรัพย์สินใดบ้างที่ติดจำนำอยู่ หลักการดังกล่าว แตกต่างจากหลักการจำนำของประเทศไทย ซึ่งกำหนดว่าการจำนำจะสิ้นสุดหากทรัพย์สินที่จำนำไปตกอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ แต่ในส่วนของความมั่นคงในสิทธิของเจ้าหนี้ของ สปป.ลาว ในกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการส่งมอบการครอบครองนั้น มีค่อนข้างน้อย เนื่องจากทรัพย์ที่จำนำนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ ไม่มีการจดทะเบียนสิทธิที่ได้จำนำไว้เฉพาะที่ตัวทรัพย์สินดังกล่าวชัดเจน ย่อมมีความเสี่ยง ในการบังคับหลักประกันอยู่ค่อนข้างมาก

2. การจำนำด้วยเอกสาร ซึ่งได้แก่การจำนำด้วยเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของสิ่งของ เช่น ใบหุ้น พันธบัตร เป็นต้น การจำนำด้วยเอกสารนี้จะสร้างได้เฉพาะเอกสาร แสดงกรรมสิทธิ์บางชนิดเท่านั้น วิธีการในการสร้างหลักประกันนี้ยังขาดรายละเอียดในส่วนของการดำเนินการให้สมบูรณ์อยู่ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการจำนำหุ้นนั้น แม้ในกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจเอง ก็ไม่ได้กำหนดชัดเจนถึงวิธีการในการสร้างหลักประกันให้สมบูรณ์ว่าต้องได้มีการสลักหลังใบหุ้นหรือไม่ ต้องได้มีการจดทะเบียนการจำนำไว้อย่างไร ดังนั้น โดยทั่วไปหากมีการจำนำใบหุ้นดังกล่าว เจ้าหนี้อาจใช้วิธีการสร้างหลักประกันตามกฎหมายของประเทศไทยไปปรับใช้ได้ เพื่อความมั่นคงในสิทธิของตน

3. การจำนำสินค้าในโกดัง โดยการ จำนำผ่านใบยั่งยืนสินค้าในโกดัง ส่วนของการจำนำสินค้าในโกดังดังกล่าวนี้ กฎหมายระบุไว้กว้างมาก และไม่ได้มีการระบุวิธีการในการสร้างหลักประกันที่ชัดเจนไว้ เท่าที่ได้มีการสอบถามจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังไม่มีกรณีศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการสร้างหลักประกันดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายในหลายส่วน เช่น ขาดความชัดเจนว่าโกดังสินค้าดังกล่าวต้องเป็นของบุคคลอื่น และทำการจำนำสินค้าในโกดังดังกล่าวผ่านทาง ใบประทวนสินค้า ดังเช่นที่ทำกันทั่วไปตามกฎหมายของประเทศไทย หรือสามารถ เป็นโกดังของผู้กู้ยืมดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ในบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดว่า ทางรัฐบาลจะได้กำหนดรายละเอียดระเบียบในการออกใบยั่งยืนสินค้าในโกดังที่จะนำใช้เป็นหลักการละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่รัฐบาล ระเบียบในการออกใบยั่งยืนดังกล่าวยังไม่ได้มีการกำหนดออกมาแต่อย่างใด

4. การจำนำด้วยทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน เช่น เงินฝากธนาคาร ทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์ต่างๆ สำหรับการจำนำทรัพย์สินไม่มีตัวตนดังกล่าวนั้น ก็เช่นกัน ยังคงขาดหลักการที่ชัดเจนในการดำเนินการสร้างหลักประกันดังกล่าวให้สมบูรณ์เช่นกัน สำหรับทางออกสำหรับเจ้าหนี้ต่างๆ ดิฉันเสนอให้ดำเนินการปรับใช้หลักการที่มีอยู่ของประเทศไทยไปปรับใช้ และนำหลักการดังกล่าวเข้าไปในการนำเสนอและอธิบายกับเจ้าหน้าที่ของ สปป.ลาว เพื่อความเข้าใจทางเจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่จะยอมรับหลักการที่นำเสนอของประเทศไทย แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างมาก และ

5. การจำนำด้วยผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต สำหรับหลักการ ดังกล่าว ถือว่ากฎหมายของ สปป.ลาวนี้มีความทันสมัยค่อนข้างมาก ในการให้สร้างหลักประกันเหนือ future receivables ได้ แต่แม้จะมีหลักการดังกล่าวไว้ในกฎหมาย แต่เนื่องจากความไม่ชัดเจนของวิธีการในการสร้างหลักประกัน และปัญหาจากกรณีที่ไม่เคยมีกรณีศึกษาก่อนหน้า เว้นแต่เป็นกรณีการสร้างหลักประกันของโครงการสร้างโรงไฟฟ้า หรือโครงการสร้างสาธาร-ณูปโภคขนาดใหญ่มาก ซึ่งได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม อย่างเต็มกำลังของรัฐบาลและสภาแห่งชาติ ทำให้การดำเนินการสร้างหลักประกันดังกล่าวสำหรับโครงการกู้ยืมเงินทั่วไปนั้น ยังขาดความแน่ชัดอยู่มาก

การสร้างหลักประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว กำหนดให้ผู้กู้ยืมสามารถสร้างหลักประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในส่วนของที่ดิน และอาคาร ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ ในแง่ของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าได้ สำหรับการสร้างหลักประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้กู้ยืมมีกรรมสิทธิ์เหนือนั้น มีหลักการที่ชัดเจนตามกฎหมาย และทำกันอยู่ทั่วไปใน สปป.ลาว นอกจากการสร้างหลักประกันเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว หลักการการสร้างหลักประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ของ สปป.ลาว นั้นมีการกำหนดหลักการที่ค่อนข้างทันสมัย ให้มีการสร้างหลักประกันเหนืออาคารที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง แต่มีแผนการที่จะลงทุนก่อสร้างได้อีกด้วย แต่ส่วนของการสร้างหลักประกันเหนือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น มีปัญหาในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ การสร้างหลักประกันจากสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น กรณีศึกษา ส่วนมากจะเป็นการสร้างหลักประกันของโครงการสร้างโรงไฟฟ้า และโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างสาธารณูปโภคมากกว่าโครงการขนาดเล็ก โดยจะทำในรูปแบบของ Conditional Assignment โดยต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวด้วย สำหรับส่วนของการให้ความยินยอมของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีของการเช่าที่ดินของรัฐ และการเช่าที่ดินของเอกชนนั้นก็จะมีความยุ่งยากที่แตกต่างกันไป สำหรับสิทธิการเช่าที่ดินของรัฐนั้น มีขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะเมื่อมีดำรัสว่าด้วยการเช่าและการสัมปทานที่ดินรัฐออกมา โดยดำรัสดังกล่าวมีประเด็นความไม่ชัดเจนอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการให้หลักประกันด้วยสิทธิการเช่าที่ดินรัฐกับธนาคารที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว

การสร้างหลักประกันด้วยบุคคล หรือนิติบุคคล ภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาวนั้น ไม่แตกต่างจากหลักการค้ำประกัน ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นส่วนของสิทธิของผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือการสิ้นสุดของการค้ำประกันดังกล่าว แต่บทบัญญัติดังกล่าวจะไม่มีความละเอียดเท่ากับที่เป็นอยู่ของกฎหมายประเทศไทย

สำหรับการสร้างหลักประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ มีหลักการที่สำคัญร่วมกัน คือจะต้องมีการกำหนดลักษณะ มูลค่าของทรัพย์สินที่นำมาสร้างหลักประกันให้ชัดเจนลงในสัญญา ต้องมีการทำบัญชีทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาดังกล่าวด้วย เมื่อมีการเพิ่มเติมหลักประกัน ดังกล่าวขึ้น ทางคู่สัญญาต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารแนบท้ายดังกล่าว เพื่อรวบรวมทรัพย์สินหลักประกันเข้าในบัญชีการสร้างหลักประกันเดิมด้วย

การสร้างหลักประกันที่สมบูรณ์ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้นต้องมีการจดทะเบียนศาลสัญญาดังกล่าว เพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายกับหน่วยงานทะเบียนศาล สังกัดกระทรวงยุติธรรม และจดทะเบียนการสร้างหลักประกันดังกล่าวกับหน่วยงานคุ้มครองทรัพย์สิน สังกัด กระทรวงการเงิน สำหรับกรณีของหลักประกันทั่วไป และจดทะเบียนกับหน่วยงานคุ้มครองที่ดินแห่งชาติ สำหรับกรณีของการสร้างหลักประกันด้วยที่ดินอีกด้วย หากมีการทำสัญญาเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาลาว ต้องมีการแปลสัญญาดังกล่าว เป็นภาษาลาว เพื่อดำเนินการจดทะเบียนศาลและจดทะเบียนเอกสารดังกล่าวด้วย หากไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียน สัญญาดังกล่าวจะไม่สามารถรับฟังเป็นพยานในศาลได้ และมีปัญหากับการบังคับหลักประกัน

การบังคับหลักประกัน ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้นไม่มีความยุ่งยาก หากเป็นสังหาริมทรัพย์ และอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็เข้ายึดขายทอดตลาดได้ แต่ทั่วไปแล้ว เจ้าหนี้ จะใช้วิธีการฟ้องศาลของ สปป.ลาว เพื่อบังคับให้และให้ดำเนินการขายทอดตลาดด้วย กรณีของการสร้างหลักประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้กู้ยืมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และการสร้างหลักประกันด้วยบุคคลหรือนิติบุคคล ก็เช่นเดียวกันที่ส่วนมากเจ้าหนี้จะใช้วิธีการบังคับหลักประกันด้วยการฟ้องศาล และให้ศาลบังคับให้ แต่การบังคับหลักประกันสำหรับหลักประกันชนิดใหม่ที่กฎหมายยังขาดความชัดเจนแน่นอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น การบังคับ หลักประกันอาจมีปัญหาค่อนข้างมาก ต้องใช้เวลาในการอธิบายต่อศาล รวมถึงผู้ดำเนินการบังคับคำพิพากษาเข้าใจในการบังคับหลักประกันนั้นๆ ให้

เมื่อพิจารณาจากหลักการกฎหมาย ทั้งหมดของ สปป.ลาวที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนจากภายนอกของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวแล้ว จะเห็นว่ายังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่พอสมควร เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ระบบกฎหมายของ สปป.ลาวนั้น มีหลักการที่ทันสมัยและเปิดกว้าง แต่ยังขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาและการปฏิบัติให้สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ความไม่ชัดเจนของกฎหมายดังกล่าวกำลังจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว จากโครงการปรับปรุงกฎหมายของรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ซึ่งจากการศึกษาและสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม จะได้มีการปรับปรุง ตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ กฎหมายว่าด้วยข้อผูกพันในสัญญา และกฎหมายว่าด้วยการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยทางรัฐบาลมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ที่นักลงทุนต้องเผชิญในปัจจุบันให้หมดสิ้น ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างระบบกฎหมายดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ย่อมจะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้นอย่างแน่นอน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us