|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและกัมพูชาช่วงกว่าเดือนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่คนไทยเป็นจำนวนมาก สิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวดังกล่าวคือเวทีเสวนาที่หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูดที่เกิดขึ้นหลากหลายเวทีด้วยกัน
ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาช่วงเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดเวทีวิพากษ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างหลากหลาย หัวข้อที่พูดคุยกันในบางเวทีก็มีความน่าสนใจ เพราะมุ่งถกกันในเรื่องการค้า-การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ท่ามกลางกระแสข่าวที่มุ่งเน้นนำเสนอในประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
อย่างวงประชุมของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการประชุมได้พูดคุยถึงโอกาสการลงทุน ในอินโดจีน โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศ กัมพูชา เป็นประเด็นร้อนแรงที่ได้รับการถกกันอย่างเข้มข้น
ดวงใจ จันทร กรรมการการส่งเสริมเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตราด ที่ปรึกษาของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงลู่ทางลงทุนในกัมพูชาที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกในวันข้างหน้า
โดยอะไหล่ยานยนต์คือสินค้าที่ยังมี ความต้องการสูงในพื้นที่ 3 เขตการปกครอง ของกัมพูชา คือพนมเปญ พระตะบอง (บัตดัมบอง) กำปงจาม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสำคัญในระบบโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงกันได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นสามารถเชื่อมโยงออกไปยังกลุ่มประเทศใกล้เคียงได้ และกำลังซื้อของคนในพื้นที่ยังมีมาก บวกกับนิสัยของคนเขมรที่ "ถ้าของไม่ดีจริงเขาไม่ซื้อ"
แม้จะมีนักวิชาการบางท่านเห็นว่าพื้นที่และโอกาสการลงทุนน่าจะมีมากกว่านี้โดยเฉพาะในพื้นที่เสียมเรียบ
สำหรับดวงใจมองว่าที่นักวิชาการบางคนเสนอว่าในพื้นที่เหล่านี้มีคู่แข่งจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งเธอก็ไม่มองข้าม
ข้อเสนอและการหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ยังไม่มีข้อสรุปจากที่ประชุม แต่มีข้อสังเกตว่าในที่ประชุม ไม่มีการพูดถึงหรือวิเคราะห์ถึงแนวโน้มความขัดแย้งที่อาจจะส่งผลต่อการลงทุนของพวกเขาเองแม้แต่น้อย
ที่สำคัญ การลงทุนในกัมพูชาที่วิทยากรนำเสนอ มองเพียงพื้นที่ติดต่อชายแดนไทยกัมพูชาแถบตะวันออก แต่มองข้ามการลงทุนตามชายแดนทางภาคอีสานตอนล่าง
ดวงใจบอกว่า พื้นที่ในแถบชายแดนทางภาคอีสานเหมาะสมกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านช่องสะงำ บริเวณอำเภอ ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และช่องจอม บริเวณอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีเส้นทางที่สะดวกสบาย สามารถเชื่อมไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชา เช่น นครวัด นครธมได้
แต่นักท่องเที่ยวกลับนิยมมาพักในโรงแรมบริเวณชายแดนภาคตะวันออกของไทยที่สะดวกสบายกว่า เพราะพื้นที่นี้ยังไม่มีการขยายการลงทุนทางอุตสาหกรรมมากนัก
ในวันถัดมา (11 พ.ย.) ในเวทีเสวนา หัวข้อ "หัวอกคนไทยและธุรกิจในกัมพูชา" ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งทศวรรษ ของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
วิทยากรในเวทีนี้ประกอบด้วยวิชัย กุลวุฒิวิลาศ กรรมการผู้จัดการบริษัท สไมล์ภัณฑ์ จำกัด สม ไชยา บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ CTN กัมพูชา สมศักดิ์ รินเรืองสิน นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา ปรีดา สามแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัททีดี อินเตอร์เทรด 92 จำกัด ประภา พรรณ ศรีสุดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดไทย-กัมพูชา โดยมี รศ.ดร.พิภพ อุดร เป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ.เกศินี วิฑูรย์ชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และเมื่อเสร็จสิ้นการเสวนา รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้กล่าวปัจฉิมกถา ระหว่างการเสวนา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ได้อยู่ร่วมฟังตลอดการเสวนาด้วย
วงเสวนานี้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังจำนวนมากมีทั้งนักธุรกิจ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประชาชนคนทั่วไปมีไม่มากนัก การประชุมมุ่งความสำคัญไปที่การทำธุรกิจในกัมพูชา ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทาง การเมือง โดยบนเวทีได้แสดงความกังวลเรื่องการปิดจุดผ่านชายแดนที่อาจจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชนคนไทยในแนวตะเข็บชายแดน และคนกัมพูชาทั้งประเทศที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แม้สถานการณ์จะเกิดจาก ผลพวงของการกระทำของคนเพียงไม่กี่คน
นักธุรกิจที่อยู่บนเวทีเสวนาคาดการณ์ว่าการปิดด่านมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น เวทีการเสวนาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในวันต่อมา (12 พ.ย.) ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนไทย ใน คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่า ด้วยสิทธิมนุษยชน ในกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนได้พูดในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนกับประชาชนอาเซียน" โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ซึ่งได้พูดถึงประเทศไทยกับ "ดินแดน" ในกัมพูชา และลาว ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อธิบายเกี่ยวกับสงครามการค้าและชาตินิยม ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
แม้ว่าพื้นที่สำหรับจัดการเสวนาครั้งนี้ไม่ค่อยกว้างขวางสักเท่าไร แต่ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังมากทีเดียว โดยเฉพาะมีคนที่เป็นประชาชนกัมพูชาเข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้ด้วย เช่น บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ของกัมพูชา รวมถึงนักศึกษากัมพูชาที่เกิดในกำปงจาม แต่ได้รับทุนการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาให้มาเรียนสาขาอุษาคเนย์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนจากกรุงพนมเปญของกัมพูชาอีกหนึ่งคนมาร่วมรับฟังอยู่ด้วย
วงเสวนาเกี่ยวกับปัญหาไทย-กัมพูชา ยังคงมีตามมีอีกต่อเนื่อง โดยในวันที่ 19 พฤศจิกายน มีกิจกรรมด้านเสวนาในหัวข้อ "หยุดศึก ชักศึก หรือเปิดศึก: ความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชาฯ" ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 22 พฤศจิกายน มีการเสวนา หัวข้อ "ยกเลิก MOU กับกัมพูชา-ไทยได้อะไร-เสียอะไร" จัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และวันที่ 27 พฤศจิกายน มีการจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "รัฐชาติ-พรมแดน: ความขัดแย้งและข้อยุติบนเส้นทางสันติภาพ อาเซียน" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคม ศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
|
|
|
|
|