|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

โครงข่ายคมนาคมตามระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ในมุมมองของภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ ล้วนเห็นตรงกันว่าเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่ที่เป็นความหวังใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่เมื่อย้อนกลับมาดูการก้าวย่างของรัฐไทย หลายคนบอกว่าอาจจะทำให้เส้นทางสู่สวรรค์สายนี้กลายเป็นเส้นทางลงสู่นรกในไม่ช้า
ท่ามกลางภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การกำเนิดขึ้นของเส้นทาง R3a เปรียบได้ดังการค้นพบเส้นทางแห่งความหวังสายใหม่ในใจของหลายๆ คน
เส้นทางสายนี้เชื่อมต่อกรุงเทพฯ-คุนหมิง ระยะทางร่วม 2,000 กม. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2551 คาดว่าจะสมบูรณ์ตลอดสายในกลางปีหน้า (2553)
หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่นี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวการพัฒนาด้านการเกษตร และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มประเทศในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งของ GMS: Greater Mekong Sub-region
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับความจริงกันว่า ที่ผ่านมาไทยเรายังเป็นฝ่ายตั้งรับและเสียเปรียบประเทศคู่มิตรอื่นๆ ไม่ว่า จะเป็นจีน พม่า และลาว แทบทุกด้าน
ทั้งที่ศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และบุคลากรของไทยไม่ได้เป็นรองประเทศ ใดในโลก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคของเรากลับกลายเป็นเรื่องขาดความพร้อมด้านยุทธศาสตร์ และการวางแผนระยะยาว อันเนื่องมาจากความไม่ต่อเนื่องและความล่าช้าของภาครัฐเป็นสำคัญ
ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากเวทีเสวนาที่ตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่ ภาคเหนือ โดยเฉพาะคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ และสำนักงาน จังหวัดเชียงราย เพียรจัดขึ้นในรอบปี 2552 มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะเวทีระหว่างไทยกับประเทศภาคี ที่มีขึ้นแล้ว 3 ครั้ง คือ
วันที่ 29 มิถุนายน 2552 การประชุมร่วมไทย-สปป.ลาว ที่โรงแรมน้ำโขง ริเวอร์ไซด์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 การประชุมไทย-จีน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
วันที่ 6 กรกฎาคม 2552 การประชุมไทย-พม่า ณ โรงแรมวังทอง อ.แม่สาย จ.เชียงราย
แน่นอน ทุกครั้งมีข้อมูลบ่งชี้ชัดเจน ว่าเราควรจะต้องทำอะไรบ้าง อะไรที่เรายังขาด เพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต จากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจสายใหม่ของภูมิภาคนี้
ในเวทีการประชุม "ยุทธศาสตร์เมืองคู่มิตร สานสัมพันธ์สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-สปป.ลาว" ที่นับเป็นครั้งแรกของการจัดเวทีตามยุทธศาสตร์ "เมืองคู่มิตร" ที่กำหนดเป็นนโยบายของเมืองชายแดนทั่วประเทศ งานนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 105 คน ประกอบด้วยบุคลากรทั้งจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการและผู้ที่สนใจปัญหาการพัฒนา เศรษฐกิจชายแดนทั้งจากฝ่ายไทย-สปป. ลาว โดยมีทางจังหวัดเชียงราย และ คสศ.-หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือเป็นเจ้าภาพ ร่วม
ในคราวนั้นวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงของเป็นตัวแทนบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง "สะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 4" ได้ชี้ให้เห็นถึงกรอบการดำเนินงานกว้างๆ ของรัฐ ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของไทยทางชายแดนด้าน อ.เชียงของที่กำลังจะกลายเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนสำคัญแห่งใหม่ เช่นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่จะมีการวางศิลาฤกษ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2555
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมด้วยการบรรจุโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีกหลายโครงการในแผนระยะ 3-5 ปี เช่น โครงการก่อสร้าง ถนนเลี่ยงเมือง (By Pass) โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขง โครงการก่อสร้างถนนสี่เลนเชื่อมสะพานแม่น้ำโขง (แห่งใหม่)-อ.ขุนตาล รวมทั้งโครงการเส้นทางสายขนส่งสินค้าพิเศษ หรือ Gate Way เชื่อมเชียงแสน-เชียงของ-เวียงแก่นด้วย
ขณะที่พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ บรรยายพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์เมืองคู่มิตร และอนาคตความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว" ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นสำคัญของการพัฒนาที่เกิดขึ้นใหม่ ในย่านนี้จะต้องอาศัยการมองในกรอบใหญ่ หรือในภาพรวมของกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และ GMS พร้อมๆ กับการพัฒนาขีดความสามารถ และความเป็นชุมชนของแต่ละประเทศควบคู่กันไปด้วย เช่นเมื่อฝ่ายจีนได้กำหนดยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้เช่นนี้ ทำอย่างไรไทยและ สปป.ลาวจะได้ประโยชน์ด้วย ทำอย่างไรไทย-ลาวจะสามารถนั่งลงกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเส้นทางสายหลักนี้ (R3a)
เช่น การวางแผนความร่วมมือเรื่องซัปพลายเชน-โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การเกษตร เป็นต้น อาจต้องลงไปถึงรายละเอียดว่าหากมีการเปิดใช้เส้นทางแล้ว อำเภอเชียงของ-แขวงบ่อแก้วจะมีหน้าตาอย่างไร จะมีนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ จะมีที่พักสินค้า หรือกระจายสินค้าหรือไม่ การขนถ่ายสินค้าจากเดิมที่มีการตั้งจุดตรวจ ซ้ำซ้อนต่างคนต่างตรวจ จะพัฒนาไปเป็นแบบตรวจปลายทางได้หรือไม่ ปัญหาด้านการพัฒนาชุมชนของทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นอย่างไร ผังเมืองรวมหน้าตาอย่างไร จะเกิด ปัญหาและอุปสรรคอะไรตามมาบ้าง และจะวางแนวทางแก้ไขกันอย่างไร เป็นต้น
พัฒนาบอกว่าในส่วนภาคเอกชน ได้ปฏิบัติการเชิงรุกแล้ว โดยหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือได้เข้าไปลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสภาการค้าและอุตสาหกรรมของ สปป.ลาว ตอนเหนือ 7 แขวง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2551 มีกรอบ ความร่วมมือร่วมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน 7 ด้านคือ 1) ด้านการเกษตร (Contract Farming) 2) ด้านการท่องเที่ยว 3) ด้านขนส่งและโลจิสติกส์ 4) ด้านสินค้า หัตถอุตสาหกรรม 5) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6) การพัฒนาด้านการลงทุน และ 7) ด้านการพัฒนาตลาด เป็นต้น
ด้านตัวแทนจากฝ่าย สปป.ลาว นำโดยสุพอน ปันยาดา ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้นำเสนอภาพรวมพื้นฐานของการพัฒนา เศรษฐกิจในแขวงบ่อแก้ว รองรับเส้นทาง R3a และสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 พร้อมกับนำเสนอประเด็นปัญหาจากมุมมองของฝ่ายลาว (แขวงบ่อแก้ว) ไว้หลายประการ เช่น
1) ความร่วมมือด้านการพัฒนา การเกษตร-Contract Farming ที่ดำเนินการ่วมกันระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายลาวยังไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 70 ยังเป็นเรื่องของผลผลิตจากภาคการเกษตร และขาดการส่งเสริม พัฒนาทั้งด้านกระบวนการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ จึงอยาก เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรหรือสมาคมขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านนี้
2) ปัญหาด้านการท่องเที่ยวนอกระบบยังมีอยู่มากและมีการเอารัดเอาเปรียบ กันอย่างมาก ต้องเร่งแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น
3) ลาวยังขาดประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์ และต้องการรับความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ แต่ในระยะแรกที่อยู่ระหว่างการรอข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบการขนส่งสินค้าระหว่างกันนี้ ขอให้รัฐบาลไทย-ลาวเร่งแก้ปัญหาเรื่องการผ่านแดนของคนทั้ง 2 ฝ่ายก่อน
และ 4) เสนอให้มีการวางแผนระยะยาวรองรับผลกระทบที่ตามมาหลังการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เช่น ปัญหาเรื่องคนข้ามแดน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มลภาวะ ขยะ และปัญหาด้านอาชญากรรมต่างๆ เช่น การลักลอบขนยาเสพติด ว่าจะมีมาตรการดำเนินการกันอย่างไรต่อไป เป็นต้น
ซึ่งประเด็นปัญหาเรื่องยาเสพติดนี้ นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ฝ่ายไทย-สปป.ลาว จะต้องร่วมมือในการแก้ไขให้มากขึ้น เนื่อง จากปัญหายาเสพติดด้านนี้ทวีความรุนแรงเพิ่ม ขณะที่ความร่วมมือระหว่างไทย-สปป. ลาว ด้านนี้แทบจะเป็นศูนย์
นอกจากนี้ในที่ประชุมสัมมนายังได้วางกรอบเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการค้า-บริการ ที่ประชุมเสนอให้มีการจับคู่ ทางธุรกิจระหว่างกัน เช่น 1) ด้านการ เกษตรกรรม-การแปรรูป โดยมีบริการอย่าง ครบวงจร รวมทั้งการส่งเสริมด้านสินเชื่อด้วย 2) ด้าน Contract Farming มีการเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรหรือสมาคมร่วม กัน เพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมผลผลิต การตลาดและการขนส่งสินค้าได้อย่างครบวงจร 3) ด้านโลจิสติกส์ เสนอให้มีการจัดตั้งจุดขนถ่ายสินค้าร่วมกัน โดยมีการวางกรอบ กติกาและระเบียบกฎหมายร่วมกันโดยเร็ว 4) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างสะพานและถนนสายต่างๆ ที่ จะก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะและสิ่งแวด ล้อมตามมา รวมทั้งปัญหาด้านการขยายตัวของชุมชนเมืองตามมา จะต้องมีการวางแผนแม่บทและผังเมืองรวมที่ดีรองรับปัญหาเหล่านี้แต่เนิ่นๆ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต่อไป
ขณะที่เวที "ยุทธศาสตร์เมืองคู่มิตร สานสัมพันธ์สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน (ตอนใต้)" ซึ่งผู้ร่วมประชุม 118 คน เป็นฝ่ายไทยเสีย 98 คน และฝ่ายตัวแทนจากจีน 20 คนนั้น
หากมองจากนัยของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ต้องถือว่าไทยตกเป็นฝ่ายตั้งรับเป็นส่วนใหญ่ เพราะจีนดำเนินการขับเคลื่อนสรรพกำลังและกองทัพด้านเศรษฐกิจรุกเข้ามายังไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ "มุ่งตะวัน ตก หรือ Go West" ที่มุ่งกระจายความมั่งคั่งไปสู่ภาคตะวันตกของประเทศ และยุทธศาสตร์ "ตงหมง" ที่จะเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับมณฑลหยุนหนัน และอีก 4 มณฑลใกล้เคียง
ขณะที่ไทยเราเพิ่งจะขยับตัวเท่านั้น
การสัมมนาครั้งนี้ รัชกฤช สถิรา-นนท์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงราย ในฐานะตัวแทนภาครัฐจังหวัดเชียงราย ขึ้นบรรยายเปิดนำ ในการสัมมนา โดยมุ่งโชว์วิสัยทัศน์ของจังหวัดเชียงรายว่าเป็น "เมืองทองของวัฒนธรรมล้านนา นำการค้าสู่สากล ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข" โดยมียุทธศาสตร์ รองรับคือ
1) การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค
2) ด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และการแสวงหา ตลาดใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้น ตลอดจนพัฒนาด้านโลจิสติกส์ และ Supply Chain รองรับการเชื่อมโยงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
3) การสร้างความแข็งแกร่งให้ภาค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทั้ง ด้านปริมาณ และคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพด้านการศึกษาวิจัย การสร้างนวัตกรรม และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
4) ดำรงฐานวัฒนธรรมและทุนทาง สังคมของล้านนาที่มีความหลากหลาย ทั้งเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไปพร้อมๆ กัน
5) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพ ชีวิต และสร้างความเข้มแข็งของกระบวน การประชาสังคม
6) ดำรงฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และการจัดการที่เป็นระบบ เกิดสมดุล
7) สร้างความมั่นคงในพื้นที่ปกติและพื้นที่ตามแนวชายแดน
8) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้น
ในมุมของพัฒนา สิทธิสมบัติ ที่ใช้เวทีนี้กล่าวถึง "ยุทธศาสตร์เมืองคู่มิตรไทย กับ สป.จีน" ว่า เชียงรายมีความสัมพันธ์กับ สป.จีนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน เช่นมีการพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำโขงร่วมกัน การเปิดเส้นทางการบินเชื่อมโยงระหว่างสิบสองปันนา-เชียงราย รวมทั้งการติดต่อค้าขายระหว่างภาคเอกชน ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ถึงแม้ว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างไทย-จีนทางด้านนี้ยังถูกครอบงำโดบบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ในระยะยาวจะต้องมีการสร้างความร่วมมือของกลุ่มผู้ค้ารายย่อย หรือ SME เพิ่มมากขึ้น
แต่สิ่งสำคัญคือในการกำหนดยุทธศาสตร์ใดๆ ของเชียงราย ในฐานะเมืองหน้าด่านนั้น จะต้องคำนึงถึงภาพรวม ของภูมิภาคในลุ่มน้ำโขงด้วย เช่นการจะพัฒนาเมืองเชียงแสนขึ้นมาเป็นเมืองท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ทำอย่างไรจะสามารถ เชื่อมโยงไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในภูมิภาค เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน มีบูรณาการเป็น package ซึ่งจะทำให้ตลาดด้านการท่องเที่ยวขยายใหญ่ขึ้น เป็นต้น
ขณะที่หลี่ หลิง จาก หจก.อำไพลี และปังฉาย เซี่ยง จากบริษัท PX Import-Export จำกัด นักธุรกิจจากสิบสองปันนา-คุนหมิง กลับใช้เวทีนี้สะท้อนปัญหาการติดต่อค้าขายว่า ปัญหาปัจจุบันคือต้นทุนการขนส่งผ่านแดนทางบกสูงมาก โดยเฉพาะต้องจ่ายค่าผ่านแดนฝั่งลาวและพม่า ในอัตราสูง ส่วนการขนส่งผ่านทางน้ำโขง ถึงแม้จะมีราคาถูก แต่ใช้เวลานานกว่า ทำให้นักธุรกิจนิยมหันไปใช้การขนส่งทางทะเลแทน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตนำเข้าส่งออกสินค้าด้านการเกษตรอีกหลายอย่าง เช่น ข้าว ผลไม้ เนื่องมาจากนโยบายของแต่ละ ประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้การขนส่งสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถส่งตรงเข้าจีนได้โดยตรง แต่ต้องส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้าน เช่นผ่านเข้าลาว เวียดนาม หรือพม่า แม้จะมีการลงนามในข้อตกลง FTA ร่วมกันแล้ว ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น จึงต้องอาศัยภาครัฐมานั่งเจรจาหาข้อยุติโดยเร็ว
สำหรับเวที "ยุทธศาสตร์เมืองคู่มิตร สานสัมพันธ์สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-สหภาพพม่า" ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้เป็นการสัมมนา ครั้งสุดท้ายในรอบปีงบประมาณตามแผนงานของจังหวัดเชียงราย มีผู้เข้าร่วมประชุม สัมมนาประมาณ 105 คน (ฝ่ายไทย 85 คน ฝ่ายพม่า 20 คน)
แต่เวทีนี้กลับต้องหยิบปัญหาเก่าแก่ ที่แก้กันไม่ตกมาหารือร่วมกัน แทนที่จะร่วมกันวาดเส้นทางในอนาคต
โดยวิสิทธิ์ สิทธิสมบัติ นายอำเภอแม่สาย เพียรย้ำว่า แม่สายเป็นหน้าด่านสำคัญของชายแดนด้านเหนือสุด นับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่รัฐพยายาม เร่งดำเนินการคือ บูรณาการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการค้าชายแดนและความมั่นคงประมาณ 7
หน่วยงาน ทำงานประสานสอดคล้องและมีเอกภาพมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก และไม่กลายเป็นปัญหาอุปสรรรคต่อการค้า และการลงทุนเสียเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่นักลงทุนและผู้นำเข้าส่งออกเรียกร้องมานานเหลือเกินแล้ว
แต่ดูแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ยากที่สุดเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นเหลือบคอยเกาะกินและเรียกรับผลประโยชน์จากพ่อค้าทั้งฝ่ายไทยและพม่าอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
จนกล่าวกันว่า ใครได้ย้ายมาอยู่แม่สาย ถือว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง แต่ก็มีราคาที่ต้องตอบแทนให้กับผู้มีอำนาจเบื้องบนตามลำดับชั้นด้วย
นายอำเภอแม่สายยังกล่าวถึงความพยายามผลักดันและพัฒนาเส้นทาง R3b เพื่อให้กลายเป็นเส้นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงจากพรมแดน อ.แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-เชียงรุ้ง โดยเฉพาะช่วงเชียงตุงนั้นจะพัฒนา เป็นเส้นทางพิเศษต่อไปถึงเมืองตองยี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวสำคัญของรัฐฉาน (ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร) ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับภูมิภาคนี้ได้อย่างมาก
วิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย บอกไว้ว่าภาคเอกชนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับชายแดนด้าน อ.แม่สาย เป็นลำดับต้นๆ มาตลอด ด้วยมูลค่าการค้าที่มีสม่ำเสมอสูงถึงปีละ 20,000 ล้านบาท จึงเชื่อมั่นว่าด่านชายแดนด้านนี้ยังเป็นจุดแข็งสำคัญของการค้าขายต่อไป
ส่วนตัวแทนจากหอการค้าท่าขี้เหล็ก ของพม่าออกมาตอกย้ำว่าปัญหาสำคัญของการค้าด้านนี้คือเรื่องของระบบการชำระเงินที่ยังไม่เป็นระบบสากล ไม่สามารถ ดำเนินการผ่านระบบธนาคารที่ถูกต้องได้ ยังต้องพึ่งพาอาศัยระบบโพยก๊วนเหมือนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็นปัญหาต่อไปอีกนาน เนื่องจากต้องอาศัยอำนาจสั่งการของรัฐบาลทหารพม่า และกลไกการบริหารการปกครองแบบ "พม่า" ซึ่งคงต้องใช้เวลา ปรับตัวอีกพักใหญ่ๆ เพื่อเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น
สัมมนาเสร็จแล้วก็แล้วกันไป?
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่ได้จากการประชุมสัมมนาร่วมทั้ง 3 ครั้ง (ต่างกรรมต่างวาระนับตั้งแต่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2552) ได้บ่งชี้ถึงศักยภาพและความพร้อมภาคเอกชนไทยว่ามีไม่แพ้ชาติใด แน่นอนจุดประสงค์ของการประชุมสัมมนาไม่ได้อยู่ที่ข้อสรุปอันสวยหรู แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การนำเอาแนวทางที่สรุปร่วมกันไปปฏิบัติในวันข้างหน้า
แต่ดูเหมือนว่าการขยับตัวของภาครัฐ ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้าเหมือนเดิม
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าถึงวันนี้ การรุกคืบไปข้างหน้าของนักธุรกิจไทย จึงเป็นไปอย่างอ้างว้าง โดดเดี่ยว ตัวใครตัวมัน และต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลักเหมือนเดิม
คำถามคือเราจะมีเรี่ยวแรงและพลัง ไปต่อกรกับชาติอื่นๆ ในเวทีการแข่งขันที่เข้มข้นนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือแม้ว่าการประชุมสัมมนาทั้ง 3 ครั้งจะผ่านพ้นไปเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ผลการสัมมนาและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ยังคงเป็นเพียงเอกสารที่เพิ่งจะสรุปแล้วนำเสนออยู่บนโต๊ะทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (คนปัจจุบัน) เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2552 นี้เอง
พูดง่ายๆ ว่ายังไปไม่ถึงไหนเลย...
ดูเหมือนว่าเรากำลังเอาอนาคตไปฝากไว้กับกลไกของระบบราชการมากเกิน ไปหรือไม่... รัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกลไกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวม ก็ต้องถูกถามเช่นกันว่า กำลังทำอะไรกันอยู่?
เพราะการเปิดพรมแดนเศรษฐกิจผ่านเส้นทางสายคุน-มั่น กงลู่ มีคนไทยทุกคนเป็นตัวประกัน ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม คนไทยก็ต้องรับผลกระทบจากการเปิดเส้นทางสายใหม่นี้
การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งไทยเรามีความพร้อมมากเท่าใด โอกาสที่เราจะเป็นผู้รับประโยชน์จากเส้นทางสายใหม่นี้ก็จะมีมากเท่านั้น
กลับกัน หากเราไม่มีความพร้อมเส้นทางสายในฝันนี้จะกลายเป็นเส้นทางดิ่ง สู่นรกของภาคการผลิตไทยได้เช่นกัน
|
|
 |
|
|