
เขาเคร่งเครียดกับการป้ายสีน้ำตาลบนกระดาษปอนด์ แต่ละครั้งที่ปลายพู่กันปาดลงไปภาพลวดลายสีอิฐก็ค่อยๆชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่นานสะพานในรูปแบบวัฒนธรรมจีนก็ปรากฏเป็นรูปร่าง
Abdul Rani Bin Abdul Majid ศิลปินชาวมาเลย์
ไม่ปริปากอธิบายความหมายของภาพที่เขากำลังจดจ่อวาดอยู่ บอกแต่เพียงว่าภาพสีน้ำชิ้นนี้เขาตั้งใจวาดเพื่อมอบให้กับเพื่อนคนไทย ที่แม้จะเพิ่งรู้จักกัน แต่ก็มีเหตุบังเอิญให้ได้มานอนร่วมห้องพักค้างแรมเดียวกันในแดนมังกรเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ภาพสีน้ำรูปสะพานข้ามห้วงน้ำเล็กๆ ในทะเลสาบซีหู ทะเลสาบที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนสวรรค์บนดินแห่งเมืองหังโจวของจีนชิ้นนี้ อาจจะเป็นหนึ่งในภาพจินตนาการที่ศิลปินชาวเอเชีย ผู้เป็นต้นคิดและผลักดันให้เกิดเครือข่ายศิลปินข้ามโลกกลุ่มนี้ ต้องการอธิบายความเกี่ยวกับคำว่า "Foot Bridge" ก็เป็นได้
ขณะที่ถ้าเป็นศิลปินในเครือข่ายเดียวกัน แต่มาจากคนละซีกโลก หากให้เขาสะท้อนภาพจินตนาการชื่อกลุ่มดังกล่าว ภาพวาดที่เขาถ่ายทอดอาจจะเป็นสะพานแขวนข้ามสายน้ำกลางหุบเขาที่ทอดยาวไกลก็เป็นได้
แต่ถ้าให้ศิลปินจากไทยลองดูบ้าง ลวดลายเส้นสีที่พู่กันตวัดวาดลงบนกระดาษ อาจจะเป็นภาพของสะพานไม้ไผ่ข้ามคลองอย่างที่เห็นได้ดาดไปในบ้านเมืองเราก็เป็นได้
ไม่ว่าจะเป็นสะพานเล็กๆ แบบจีนสไตล์ สะพานแขวน หรือสะพานไม้ไผ่ แต่ทั้งหมดทั้งปวงแล้วเชื่อกันว่า สิ่งที่เหล่าศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์อยากสะท้อนออกมาก็คือ สะพานที่ใช้ข้ามผ่านไปยังที่ไหนๆ ในโลกใบนี้ได้นั่นเอง
แท้จริงแล้ว กิจกรรมการแสดงผลงานศิลปะของเครือข่ายศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์ในประเทศต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นตลอดเกือบ 10 ปีมานี้นั้น สิ่งนี้แหละคือนิยามความหมายที่ปรากฏเป็นรูปธรรม
การจัดแสดงงานศิลป์ของสมาชิกในกลุ่มฟุตบริดจ์ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ก็คือการแสดงเดี่ยวผลงานภาพจิตรกรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ Night Dream ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ของมูฮำมัด โรจนอุดมศาสตร์ ศิลปินจากไทย ณ แกลเลอรี่ TAM Art Centre ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โดยธนะ ดวงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลา ลัมเปอร์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2552 และภาพเขียนของมูฮำมัดชุดนี้ยังจะนำไปจัดนิทรรศการต่อที่สถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อร่วมฉลองกิจกรรมวันชาติไทย (5 ธันวาคม) ที่สถานทูตจัดขึ้นทุกปี
แต่ละปีศิลปินในเครือข่ายฟุตบริดจ์จะจัดแสดงงานศิลป์วนเวียนกันไปในหลายประเทศ มีทั้งแบบแยกตัวไปจัดขึ้นกันเองโดยไม่ได้ใช้ชื่อกลุ่ม แต่ก็จะมีศิลปินในเครือข่ายข้ามน้ำข้ามทะเลไปให้กำลังใจกันอย่างอบอุ่น อย่างที่มูฮำมัดเพิ่งจัดขึ้นที่มาเลเซีย และการจัดอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อฟุตบริดจ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดขึ้น 7 ครั้งด้วยกัน ประกอบด้วย
ครั้งที่ 1 ประเดิมจัดขึ้นในปี 2545 ที่สาธารณรัฐมอริเชียส มีศิลปินร่วมแสดงผลงาน 3 คน ประกอบด้วย Said Aniff Hosanee ศิลปินเจ้าถิ่นผู้ที่ร่วมตั้งเครือข่ายนี้ขึ้นมา และจากมาเลเซีย 2 คน คือ Abdul Rani Bin Abdul Majid กับ Abdul Ghani Ahmad
ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2546 ที่สมาคมฝรั่งเศส ในรัฐปีนัง มาเลเซีย มีศิลปินเข้าร่วมแสดงผลงาน 2 คนคือ ศิลปินเจ้าถิ่น Abdul Rani Bin Abdul Majid และ Said Aniff Hosanee
ครั้งที่ 3 ปี 2547 ย้อนไปจัดขึ้นที่สมาคมฝรั่งเศสในสาธารณรัฐมอริเชียส มีศิลปินเข้าร่วมแสดงผลงาน 3 คน ประกอบด้วย ศิลปินเจ้าถิ่น Said Aniff Hosanee และจากมาเลเซีย 2 คนคือ Abdul Rani Bin Abdul Majid กับ Dr.Mohamed Najib Bin Ahmad Dawa
ครั้งที่ 4 ปี 2549 หลังจากทิ้งช่วงไปหนึ่งปีก็ถูกดึงมาจัดขึ้นในไทย ที่หอศิลป์สยาม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานก็คึกคักขึ้นเป็น 9 คน โดยเป็นศิลปินเจ้าถิ่น 3 คนคือ มูฮำมัด โรจนอุดมศาสตร์, ธนากร (ศิลา) บุญรัตน์, ศตวรรษ ช่วยนุ่ม จากมาเลเซีย 3 คน คือ Dr.Mohamed Najib Bin Ahmad Dawa, Abdul Rani Bin Abdul Majid, Chong Hip Seng จากรียูเนียน ไอส์แลนด์ ของฝรั่งเศส 2 คน คือ Charly Lesquelin, Andree Beton และจากสาธารณรัฐมอริเชียส 1 คนคือ Said Aniff Hosanee
ครั้งที่ 5 ปี 2550 เป็นครั้งแรกที่ศิลปินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วม โดยกระโดดกลับไปจัดที่สมาคมฝรั่งเศส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มีศิลปินเข้าร่วมแสดงผลงานเพิ่มเป็น 10 คน ประกอบด้วย ศิลปินเจ้าถิ่น 3 คนคือ Dr.Mohamed Najib Bin Ahmad Dawa, Abdul Rani Bin Abdul Majid, Chong Hip Seng ศิลปินจากไทย 3 คนคือ มูฮำมัด โรจนอุดมศาสตร์, ธนากร (ศิลา) บุญรัตน์, ศตวรรษ ช่วยนุ่ม จากรียูเนียน ไอส์แลนด์ ของฝรั่งเศส 2 คนคือ Charly Lesquelin, Andree Beton จากสาธารณรัฐมอริเชียส 1 คนคือ Said Aniff Hosanee และจากจีน 1 คนคือ Luo Qi
ครั้งที่ 6 จัดขึ้นเมื่อต้นปี 2552 นี้เอง โดยข้ามไปจัดที่ Gaya Art Space แกลเลอรี่บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย มีศิลปินร่วมแสดงงานเพิ่มอีกเป็น 15 คน ประกอบด้วย ศิลปินเจ้าถิ่น 3 คนคือ Achmad Sopandi, Anas Etan, Antonius Kho ศิลปินจากไทย 3 คนคือ มูฮำมัด โรจนอุดมศาสตร์, ธนากร (ศิลา) บุญรัตน์, ศตวรรษ ช่วยนุ่ม จากมาเลเซีย 3 คนคือ Dr.Mohamed Najib Bin Ahmad Dawa, Abdul Rani Bin Abdul Majid, Chong Hip Seng จากจีน 4 คนคือ Luo Qi, Cui Xian Ji, Wang Huaxiang, Xing Qingren,Zhang Haizhou และจากเกาหลีใต้ 1 คนคือ Helen Kim Yeon Tae
และครั้งที่ 7 ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2552 คราวนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลสู่ชาติมหาอำนาจไปจัดขึ้นที่หอศิลปะและวัฒนธรรม เมืองหังโจว ประเทศจีน ศิลปินที่เข้าร่วมก็ดูยิ่งใหญ่ตามไปด้วย มีถึง 24 คน ประกอบด้วยศิลปินเจ้าถิ่น 7 คน ได้แก่ Luo Qi, Liu Chunjie, Wang Huaxiang, Jiang Pin, Luo Xianyao, Zhang Haizhou, Zhang Janchun ศิลปินจากไทย 5 คนคือ มูฮำมัด โรจนอุดมศาสตร์, ธนากร (ศิลา) บุญรัตน์, ศตวรรษ ช่วยนุ่ม, กมล คงทอง, มณี มีมาก จากมาเลเซีย 5 คนคือ Dr.Mohamed Najib Bin Ahmad Dawa, Abdul Rani Bin Abdul Majid, Chong Hip Seng, Wong Siew Lee, Dr.Foo Yong Kong จากอินโดนีเซีย 2 คนคือ Elisha, William จากสิงคโปร์ 2 คน คือ Thang Kiang How, Goh Beng Kwan จากสาธารณรัฐมอริเชียส 1 คน คือ Said Aniff Hosanee จากรียูเนียน ไอส์แลนด์ ของฝรั่งเศส 1 คนคือ Charly Lesquelin และจากพม่า 1 คนคือ Smith Sein Lynn
ตลอด 7 ครั้งที่ศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์ร่วมกันก้าวเดินไปบนสะพานข้ามใบโลกนี้ จากบาทก้าวแรกเริ่มที่เกิดขึ้นจากคน 2 คน และเป็นคนจากคนละฟากฝั่งโลก เมื่อมีคนเห็นว่าทุกย่างก้าวเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น จึงค่อยๆ มีคนเข้าไปสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ณ เวลานี้ศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์มีด้วยกันรวมแล้ว 32 ชีวิต จากแผ่นดินในซอกมุมและดินแดนลานกว้างใหญ่บนโลกใบนี้รวมแล้ว 9 ชาติ จึงต้องนับว่ามีความมั่นคงและเข้มแข็งพอสมควรที่จะร่วมก้าวเดินไปข้างหน้าดังใจที่มุ่งมาดปรารถนากันต่อไป
"การรวมที่เกิดจากกลุ่มบรรดาเพื่อนๆ ศิลปินจากหลากเชื้อชาติ หลายภาษา ทำให้เรามีความคิดที่กว้างไกลขึ้น การที่ได้พบปะเพื่อนใหม่ ได้รู้จักกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ในชาติที่เราไปร่วมแสดงผลงานศิลป์นั้น สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าเป็นกำไรชีวิต" Chong Hip Seng ศิลปินมาเลย์กล่าว
ด้าน Abdul Rani Bin Abdul Majid ศิลปินมาเลย์เช่นกันเสริมว่า การจัดแสดงงานศิลป์ของฟุตบริดจ์แต่ละครั้งจะพยายามเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในหมู่ศิลปินด้วยกันเองและกับคนนอกกลุ่ม จึงมีสิ่งดีๆ ที่นอกจากศิลปินจะได้รับแล้ว ยังทำให้ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย อยากจะบอกว่าการไปแสดงงานที่จีนครั้งนี้ ประทับใจที่สุดคือการอนุรักษ์วัฒนธรรม
"ฟุตบริดจ์คือเส้นทางสายศิลปะที่เราได้ก้าวเดินเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผองเพื่อนศิลปิน จากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง ต่างสถานที่ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่ไม่ผิดแผกแตกต่างในสายธารของการสร้างงานศิลป์ นั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อที่จะให้เกิดการแตกขยายเครือข่ายและขอบเขตออกไปเรื่อยๆ" ธนากรให้ทัศนะ
ขณะที่มูฮำมัดเสริมว่า แต่ละย่างก้าวในการเดินทางของเครือข่ายฟุตบริดจ์ เราจะไม่มีการบังคับว่า ศิลปินคนใดหรือประเทศสมาชิกใดต้องเข้าร่วม โดยให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมเป็นหลัก ใครไม่พร้อมก็สามารถหยุดพักก่อนได้ ดังนั้นการจัดแสดงงานศิลป์แต่ละครั้ง จำนวนสมาชิกอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ เรื่องนี้ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญของกลุ่มเรา
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ถือว่าน่าจะเป็นเรื่องสำคัญของเครือข่ายฟุตบริดจ์ก็คือ นอกจากความพยายามที่จะเติมเต็มพลังสร้างงานศิลป์ให้แก่กันและกันแล้ว แต่ละคนยังควรที่จะดึงศิลปินเข้ามาเติมให้กับกลุ่มด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เครือข่ายได้ขยายไปยังทุกมุมโลกใบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
|