โลกของศิลปะกับโลกทุนนิยม แม้ภาพภายนอกอาจดูต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ในความเป็นจริง ทั้งงานศิลป์กับวิธีคิดทางทุนนิยม กลับเป็นของคู่กันอย่างชนิดแยกจากกันไม่ออก เรื่องราวของศิลปินกลุ่ม Foot Bridge สะท้อนข้อเท็จจริงนี้ได้เป็นอย่างดี
หากเครือข่ายผู้คนที่มุ่งมั่นทำงานศิลป์หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณได้มารวมตัวกัน ซึ่งประกอบขึ้นจากศิลปินหลากหลายเชื้อชาติในย่านเอเชีย ที่เชื่อมร้อยไปยังศิลปินในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรป จากนั้นให้แต่ละคนนำเอาความรู้สึกนึกคิดของการรวมกลุ่มมาถ่ายทอดเป็นภาพที่ทุกคนได้วาดร่วมกันแล้ว
เชื่อได้ว่า ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละศิลปินที่ถ่ายทอดผ่านพู่กันและเนื้อสีไปละเลงบนผืนผ้าใบร่วมกันนั้น จะต้องเป็นภาพจิตรกรรมที่ใครๆ ได้ชมแล้ว คงจะตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
เนื่องเพราะจะต้องเป็นภาพที่มากมายไปด้วยลายเส้นและสีสัน สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากหลายประเทศ หลากภูมิภาค แม้อยู่คนละซีกโลก แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมบนโลกใบเดียวกันได้อย่างลงตัว
ถ้านำภาพเขียนชิ้นนี้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ พินิจพิจารณา แล้วให้ถ่ายทอดเป็นคำพูดในเชิงเล่าสู่กันฟัง ก็น่าจะเชื่อได้ว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่กลั่นความคิดเห็นผ่านความถนัดของแต่ละคน จะต้องมากมายไปด้วยคำชื่นชมในเรื่องราวต่างๆ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคงเป็นความชื่นชมที่ศิลปินกลุ่มนี้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาได้อย่างเท่าทันกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ยิ่งถ้าเป็นนักการตลาด หรือนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่ทรงภูมิในเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนบนโลกใบนี้ด้วยแล้ว คงจะทำให้เขาจินตนาการได้ถึงวิถีการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเลื่อนไหลถ่ายเทของแหล่งความเจริญข้ามซีกโลก การหลั่งไหลของเงินทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
แน่นอนก็ย่อมต้องมีจินตภาพถึง "มูลค่า" และ "ตลาด" ของงานศิลปะ ซึ่งขับเคลื่อนอย่างสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ ของโลกด้วย
เนื่องจากการก่อเกิดของศิลปินกลุ่มนี้ล้วนเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ทุนนิยม โลกเป็นตัวกำหนด
"Foot Bridge"
คือชื่อที่ใช้เรียกขานเครือข่ายศิลปิน ที่เชื่อมร้อยโยงใยข้ามซีกโลก อยู่ในหลายประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว
ชื่อเสียงของศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์อาจจะยังไม่ดังกระฉ่อนในระดับสากลและแม้แต่ตัวศิลปินที่เกี่ยวร้อยกันอยู่แต่ละคนใช่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับก้องฟ้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของศิลปินกลุ่มนี้กำลังเป็นที่จับตาของผู้คน ในหลายภาคส่วนบนโลกพอสมควร
เพราะเหตุว่าก่อเกิดเป็นเครือข่าย การเกี่ยวร้อยเพิ่มมวลหมู่สมาชิก รวมถึงรวมกลุ่มที่ดำรงอยู่ได้ของศิลปินกลุ่มนี้นับว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย
จากจุดเริ่มต้นที่ใช้การสานสายสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีความเชื่อและความศรัทธาที่เหมือนกัน ก้าวพ้นปริมณฑลทางภาษาที่ผิดแผกแตกต่างอย่างไม่ให้เป็นอุปสรรคขวางกั้น หล่อหลอมและโยงใยซึ่งกันและกันบนฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เลื่อนไหลในระดับโลก จากคนเพียงไม่กี่คนกลายเป็นกลุ่มก้อนที่นับวันจะขยับขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
จนกลายเป็นกลุ่มคนที่มี "คอนเน็กชั่น" ระดับโลกที่หลายประเทศกำลังจับตามอง
ปัจจุบันฟุตบริดจ์มีศิลปินชาติต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วถึง 32 ชีวิต จากทั้งหมด 9 ประเทศ โดยครอบคลุมอย่างเชื่อมโยงกันได้ระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตก
ประเทศที่มีศิลปินเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มฟุตบริดจ์ส่วนใหญ่อยู่ในย่านเอเชีย หนึ่งในนั้นคือจีน ชาติที่มีผืนแผ่นดิน กว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ปัจจุบันถูกยกให้เป็นมหาอำนาจที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ชาติใกล้กันคือเกาหลีใต้ ก็มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และพม่า ล้วนเป็นสมาชิกสมาคม ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กลุ่มประเทศที่กำลังมีความเคลื่อนไหวจนเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งโลกในเวลานี้
ขณะที่อีก 2 ประเทศที่เหลือได้แก่ สาธารณรัฐมอริเชียส (Republic of Mauritius) และรียูเนียน ไอส์แลนด์ (Reunion Island) แผ่นดินอันเป็นส่วนหนึ่ง ของฝรั่งเศส สามารถที่จะเป็นสะพานสานสัมพันธ์เชื่อมไปยังประเทศในแถบแอฟริกา และยุโรปได้
จากที่ว่าบนเส้นทางการเกิดขึ้นของฟุตบริดจ์ เป็นไปตามแรงขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ครอบโลกอยู่ สิ่งนี้ ดูได้จากแหล่งความเจริญของโลกที่เคยกระจุกอยู่ในโลกตะวันตก แต่เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ได้ขยับขยายถ่ายเทมาสู่โลกตะวันออก และนี่ก็เป็นเสมือนภาพร่างที่จุดพลุให้ กับแนวคิดที่นำไปสู่การรวมตัวของเครือข่ายศิลปินกลุ่มนี้
Said Aniff Hosanee ศิลปินจากสาธารณรัฐมอริเชียส หรือชาติเกาะนอกชายฝั่งแอฟริกา ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ความที่เขานับถือศาสนาอิสลาม จึงมีแนวคิดที่จะขยายตลาดภาพวาดไปยังประเทศมุสลิมต่างๆ และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เขาได้เดินทางไปยังมาเลเซียเพื่อหาแกลเลอรี่แสดงผลงานด้วยเล็งเห็นว่าเป็นชาติมุสลิมที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าสนใจ แต่ในช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ
จนเมื่อเดินทางเข้าสู่มาเลเซียถึงหนที่ 3 จึงประสบผล มีเจ้าของแกลเลอรี่รายหนึ่งแนะนำให้เขาได้รู้จักกับ Abdul Rani Bin Abdul Majid ศิลปินอิสระในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่เป็นมุสลิมเหมือนกัน ความช่วยเหลือที่ได้รับทำให้เขาหาสถานที่แสดงผลงานได้ และความสัมพันธ์ก็ได้รับการสานต่อจนกลายเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาถึงวันนี้
2 ศิลปินจากคนละฟากฝั่งโลกที่ได้เข้าเกี่ยวร้อยสัมพันธ์กัน นอกจากจะอาศัยความเป็นมุสลิมด้วยกันแล้ว ทั้ง 2 ประเทศที่เป็นแผ่นดินเกิดต่างก็เคยตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ การสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
จากการที่ Abdul Rani รับรู้ว่าศิลปินจะไปจัดแสดงงานนอกประเทศถ้าไม่มีเครือข่ายเกื้อหนุนถือเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผล เขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษา Said ซึ่งก็เห็นตรงกันที่จะร่วมผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายศิลปินขึ้นมา
ในส่วนของ Abdul Rani ได้นำเรื่องนี้ไปหารือเพื่อนๆ ศิลปินชาวมาเลเซียด้วยกัน และทุกคนเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ และนั่นก็นำไปสู่คำเรียกขานชื่อกลุ่มว่า "ฟุตบริดจ์" อันมีนัยว่าต่อจากนี้ไปเหล่า ศิลปินในเครือข่ายจะมี "สะพานข้ามโลก" เกิดขึ้นแล้ว
ความหมายของชื่อกลุ่มที่สมาชิก เห็นร่วมกัน ผู้ที่อธิบายได้ดีก็น่าจะเป็นศิลปิน และนักวิชาการในเครือข่ายคือ Dr.Mohamed Najib Bin Ahmad Dawa ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์แห่งชาติของมาเลเซีย อดีตอาจารย์สอนศิลปะที่ Universiti Sains Malaysia (USM) ในรัฐปีนัง
"ที่เสนอให้ใช้ชื่อกลุ่มว่า Foot Bridge เพราะต้องการให้หมายถึงทุกการ ก้าวย่างไปทีละก้าวต้องเป็นไปอย่างเข้มแข็ง และมั่นคง การแสดงงานศิลปะไม่ว่าจะที่ประเทศไหนๆ พวกเราจะเดินทางร่วมกันเป็นหมู่คณะ จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง และ ก็จะมีการพบปะแลกเปลี่ยนทัศนะในวงการ ศิลปะกันด้วย ส่วนปีไหนใครจะเป็นเจ้าภาพ จัดเราก็ไม่เจาะจง ใครพร้อมและประกาศออกมาสมาชิกคนอื่นๆ ก็ยินดีจะไปร่วม นอกจากนี้เราก็พร้อมที่จะเปิดรับสมาชิกใหม่ๆ เพิ่มด้วย" Dr.Mohamed Najib กล่าว
ทั้งนี้ ศิลปินมาเลเซียที่จับมือสานฝันรวมกลุ่มให้เป็นจริงในช่วงแรก นอกจาก Abdul Rani กับ Dr.Mohamed Najib แล้วก็ยังมี Abdul Ghani Ahmad ศิลปินมุสลิมอีกคน กับ Chong Hip Seng ศิลปินอิสระเชื้อสายจีนรวมอยู่ด้วย จากนั้นก็มีสมาชิกเพิ่มมาอีกคือ Dr.Foo Yong Kong ศิลปินและนักวิชาการ ปัจจุบันนั่งเป็นประธานสมาคมแกลเลอรี่และศิลปินร่วมสมัยแห่งมาเลเซียกับ Wong Siew Lee ศิลปินอิสระ
เวลานี้มีศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์ในมาเลเซียรวม 6 คน ซึ่งนอกจากจะสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษที่พูดได้ทุกคนแล้ว ยังมีภาษามลายูและภาษาจีนเป็นตัวช่วยเติมเต็มความเข้าใจระหว่างกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย
สำหรับการเชื่อมร้อยสู่ไทยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นๆ เนื่องจากแก่นแกนศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์ในมาเลเซียเป็นเพื่อนกับกลุ่มศิลปินหลายคนในภาคใต้ตอนล่างของไทยมานานนับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะศิลปินไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อย่างมูฮำมัด โรจนอุดมศาสตร์ กับธนากร (ศิลา) บุญรัตน์
ปัจจุบันมูฮำมัดเป็นเจ้าหน้าที่สังกัด งานโสตทัศนศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยา เขตหาดใหญ่ ความที่เขาเป็นไทยมุสลิมใน พื้นที่ จึงพูดภาษามลายูได้อย่างคล่องแคล่ว และมีโอกาสเดินทางไปมาเลเซียบ่อยครั้ง ทำให้หลายต่อหลายครั้งเขาต้องทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมและล่ามให้กับศิลปินไทยคนอื่นๆ
ส่วนธนากรนอกจากจะเขียนภาพขายเป็นอาชีพแล้ว เขายังเป็นเจ้าของหอศิลป์สยาม ซึ่งถือเป็นแกลเลอรี่ของเอกชนรายใหญ่และรายเดียวในภาคใต้ตอนล่าง ตั้งอยู่บนถนนปุณณกัณฑ์ด้านข้าง มอ. หาดใหญ่ เขาเป็นไทยพุทธที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีพอควร แถมเวลานี้ก็กำลังมุ่งมั่นเรียนภาษาจีนเพื่อเสริมการ go inter ในนามศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์
ศิลปินในภาคใต้อีกคนที่ถูกดึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกยุคเริ่มของฟุตบริดจ์ในไทย คือ ศตวรรษ ช่วยนุ่ม อดีตครูสอนศิลปะในโรงเรียนเทศบาลเมืองพัทลุง ตอนนี้เออรี่ รีไทร์แล้ว อาศัยความเป็นศิลปินเปิดร้านเล็กๆ อยู่ใน อ.เมืองพัทลุง
อีกทั้งมีศิลปินไทยที่ เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามมา คือ กมล คงทอง ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่โรงเรียนสาธิต มอ.วิทยาเขตปัตตานี และมณี มีมาก อาจารย์จากคณะศิลป-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา รวมแล้วเวลานี้มีศิลปินไทยเป็นสมาชิกฟุตบริดจ์ 5 คน
การเกี่ยวร้อยเข้าสู่ชาติมหาอำนาจอย่างจีน คอนเน็กชั่นที่สาน สัมพันธ์เข้าไปก็ย่อมต้องอาศัยภาษาจีนเป็นตัวเชื่อม ซึ่งก็คงต้องเป็นศิลปินเชื้อสายจีนในมาเลเซีย ผู้ที่รับบทหนักจึงเป็น Chong Hip Seng โดยเขาต่อสายไปยังโต้โผใหญ่ของศิลปินในจีนคือ Luo Qi ผู้ที่นอกจากจะเป็นศิลปินมีชื่อ เขายังเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยด้านศิลปะของจีน ซึ่งตั้งอยู่ใน เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียงด้วย
ขณะนี้มีศิลปินจีนเข้าสังกัดฟุตบริดจ์ 9 คน ถือเป็นชาติที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด ซึ่งนอกจาก Luo Qi แล้วก็ยังมี Liu Chunjie, Wang Huaxiang, Jiang Pin, Luo Xianyao, Zhang Haizhou, Zhang Janchun, Cui Xian Ji และ Xing Qingren
ว่ากันว่า การร้อยรัดเอาศิลปินชาติอื่นๆ ในเอเชียที่เหลือเข้าเป็นเครือข่ายฟุตบริดจ์เกือบจะทั้งหมดเป็นการต่อสายไป จากศิลปินมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินจากอินโดนีเซียที่มีอยู่ด้วยกัน 5 คน ได้แก่ Achmad Sopandi, Anas Etan, Antonius Kho, Elisha, William ศิลปินจากสิงคโปร์ 2 คน ได้แก่ Thang Kiang How, Goh Beng Kwan ศิลปินจากเกาหลีใต้ 1 คนคือ Helen Kim Yeon Tae และศิลปินจากพม่า 1 คนคือ Smith Sein Lynn คนสุดท้ายนี้ ศิลปินไทยก็น่าจะมีส่วนช่วยสานสัมพันธ์ด้วย เนื่องจากอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
ด้าน Said อาศัยภาษาฝรั่งเศสที่พูดได้คล่องต่อสายไปชักชวนศิลปินในประเทศเพื่อนบ้านจากรียูเนียน ไอส์แลนด์ แผ่นดินนอกชายฝั่งแอฟริกาที่เทียบเท่าเป็นจังหวัดหนึ่งของฝรั่งเศส ให้เป็นสมาชิก ฟุตบริดจ์ไว้ 2 คน ได้แก่ Charly Lesquelin กับ Andree Beton ให้มาร่วมช่วยกันเปิด ตลาดสู่ประเทศในแถบเอเชียด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การสื่อสารกันระหว่าง 2 ฟากโลกจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง แต่ทุกครั้งเมื่อศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์มารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง พิธีเปิดงานแสดงภาพวาด หรือในวงน้ำชากาแฟ เสียงเจี๊ยวจ๊าวในภาษาพูดของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมักจะสอดแทรกให้ได้ยินเสมอๆ
นอกจากศิลปินจากแอฟริกาที่เชื่อม โยงไปได้ถึงยุโรป จะเปิดฉากรุกตลาดงานศิลป์ในเอเชียแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกว่า เวลานี้ประเทศใหญ่ในเอเชียอย่างจีน ได้รุกก้าวไปเปิดประตูเชื่อมการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศในแอฟริกา โดยตั้งโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการกับหลายประเทศในย่านนั้นมาตั้งแต่ปี 2549 แล้วด้วย
จีนใช้มาตรการสำคัญๆ เพื่อดึงใจชาติในแอฟริกา ทั้งในลักษณะของการยกเลิกหนี้สิน การให้สิทธิพิเศษต่างๆ ทาง การค้าและการลงทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับทรัพยากรและโอกาสในการเข้าไปลงทุนของกลุ่มทุนจากจีนในพื้นที่นั้น ซึ่งก็ย่อมมีผลต่อการเชื่อมโยงและขยับขยายตลาดงานศิลป์ระหว่างกันด้วย
ห้วงเวลาเกือบทศวรรษมานี้ กิจกรรมของกลุ่มฟุตบริดจ์เป็นที่ประจักษ์แล้ว ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะของเหล่าสมาชิกไปแล้วหลายสิบครั้ง ทั้งในลักษณะเดี่ยวและเป็นกลุ่ม รวมทั้งที่ใช้ชื่อกลุ่มฟุตบริดจ์และไม่ใช่ชื่อกลุ่มในการจัดโดยหมุนเปลี่ยนวนเวียนไปในหลาย ประเทศ
แต่ถ้านับเฉพาะการจัดอย่างเป็นทางการที่ใช้ชื่อกลุ่มฟุตบริดจ์ ก็มีด้วยกันถึง 7 ครั้งแล้ว โดยล่าสุดเพิ่งจัดขึ้นในจีนช่วงเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง และก่อนหน้าในครั้งที่ 6 ก็จัดขึ้นเมื่อต้นปีนี้เช่นกัน ในเดือน กุมภาพันธ์ บนเกาะบาหลี อินโดนีเซียครั้งที่ 5 จัดขึ้นเมื่อปี 2550 ที่สมาคมฝรั่งเศสในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
ครั้งที่ 4 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นในปี 2549 ที่หอศิลป์สยาม อ.หาด ใหญ่ จ.สงขลา ครั้งที่ 3 จัดขึ้นในปี 2547 ที่สมาคมฝรั่งเศส สาธารณรัฐมอริเชียสครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2546 ที่สมาคมฝรั่งเศส ในรัฐปีนัง มาเลเซีย และครั้งที่ 1 จัดขึ้นในปี 2545 ที่สมาคมฝรั่งเศส สาธารณรัฐมอ-ริเชียส
ทั้งนี้ทั้งนั้นในเรื่องการ go inter ของศิลปินเป็นที่ยอมรับกันว่า หากใครมีโอกาสไปแสดงงานศิลปะในประเทศใหญ่ๆ ชาติที่พัฒนาแล้ว หรือที่มีตัวเลขการพัฒนา ทางเศรษฐกิจในระดับสูงๆ ซึ่งกำลังซื้อของผู้คนในประเทศเหล่านั้นก็ย่อมมีมาก โอกาสที่ศิลปินจะทำราคาและขายงานศิลปะได้ก็มีอยู่ในอัตราที่ทะยานขึ้นตามไปด้วย
ในความรู้สึกนึกคิดนี้ สมาชิกกลุ่มฟุตบริดจ์ก็ไม่มียกเว้น
จะว่าไปแล้ว นอกจากชาติที่เป็นเป้าหมายตลาดของศิลปินส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกตะวันตก อย่างอเมริกาและยุโรป แต่เวลานี้ประเทศในเอเชียที่กำลังเป็นที่ถวิล หาของเหล่าศิลปินในการบุกไปเปิดตลาดมากที่สุด ก็คือจีน เพราะแค่มองจากอัตรา การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชา ชาติ (GDP) ที่มีตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 10 ปีมานี้อย่างเดียว สิ่งนี้ก็ทำให้ศิลปินตาลุกวาวได้แล้ว
อีกทั้งประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย ก็เป็นที่ต้องตาต้องใจของศิลปินไม่น้อย เพราะแต่ละปีมีการขยายตัวของ GDP ในอัตราค่อนข้างสูง แถมมีกลยุทธ์ฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจได้ทุกครั้ง อย่างเมื่อคราเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งก็ใช้นโยบายการเงิน แบบแข็งกร้าว ไม่เกรงใจอิทธิพลจากตะวันตก จนข้ามพ้นไปได้แบบแทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย อีกทั้งภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานขึ้นช่วง 2 ปีมานี้ก็ส่งผลให้มั่งคั่งเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้สิงคโปร์ อินโดนีเซียและ ไทย ซึ่งต่างก็ล้วนอยู่แถวหน้าของกลุ่มอาเซียน ศิลปินต่างก็เล็งแลที่จะเข้าไปบุกตลาดสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน
"ผมมองว่าการเติบของตลาดงานศิลป์ในเวลานี้ดีกว่าแต่ก่อนมาก และก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นในแทบจะทุกประเทศ โดย เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ของมาเลเซีย อย่างในกัวลาลัมเปอร์ และปีนัง เดี๋ยวนี้ศิลปินจำนวนมากสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายงานศิลปะ โดยสามารถยึดอาชีพศิลปิน ได้อย่างสมภาคภูมิ เพราะตลาดงานศิลป์ผูกโยงกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับโลกด้วย Abdul Rani เล่าให้ฟัง
ความจริงงานศิลป์ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของโลกทุนนิยมมานานแล้ว นักธุรกิจ หรือโดยเฉพาะนักการเงินมองงานศิลป์เป็นเสมือนสินทรัพย์ที่มีแต่เพิ่มมูลค่าอยู่ตลอดเวลา ไม่แตกต่างจากเงินสด หุ้นหรือพันธ-บัตร การซื้องานศิลป์มาเก็บไว้จึงไม่แตกต่าง จากการฝากเงิน สะสมหุ้นหรือที่ดินหรือซื้อ พันธบัตร เพราะถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง
ยิ่งในระยะหลังเริ่มมีแนวคิดที่ให้องค์กรธุรกิจต้องเข้ามารับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ก็เริ่มมีองค์กรหลายแห่งที่มองถึงการผสมผสานแนวคิดเรื่องการสะสมงานศิลป์กับการ ทำ CSR ควบคู่กันไป นั่นคือความพยายาม จะสนับสนุนศิลปิน นัยหนึ่งจะทำให้บริษัทได้ภาพลักษณ์ที่ดีในแง่การให้โอกาสกับศิลปินที่ยังไม่มีชื่อ พร้อมๆ กับการได้มีโอกาสเลือกซื้องานศิลป์ในราคาต่ำ แต่ในอนาคตศิลปินอาจจะมีชื่อขึ้นมา ซึ่งก็ย่อมหนุนส่งมูลค่างานศิลป์ให้ถีบตัวสูงขึ้นด้วย
ในเรื่องนี้มีตัวอย่างองค์กรในไทยที่เข้ามามีบทบาทในการทำ CSR กับงานศิลป์ มากมาย อาทิ กลุ่มอมตะ บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซ็ท พลัส บริษัทพีซีเอส บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) บริษัท ปตท. บริษัทโตชิบาไทยแลนด์ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทยและกสิกรไทย เป็นต้น
"มีตัวอย่างที่บางประเทศมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเอารูปภาพของศิลปินไปประดับในอาคาร หรือบางประเทศออกเป็นกฎหมายเลยว่า หากก่อสร้างอาคารมีพื้นที่เท่านั้น จะต้องเอา งานศิลปะไปประกอบเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เท่านี้ หรืออาจจะต้องให้ศิลปินเข้าไปมีส่วนร่วมกับนักออกแบบตกแต่งภายใน เพื่อกำหนดว่าต้องมีงานศิลปะหรือภาพเขียนติดตั้งในพื้นที่ตรงไหนบ้าง" Abdul Rani กล่าวเสริม
ทั้งหมดทั้งปวงคือโอกาสทางการตลาดของงานศิลป์ที่ถูกเปิดให้กว้างขวางขึ้น และคือปัจจัยที่หนุนเกื้อชีวิตความเป็นอยู่ของศิลปิน ซึ่งในห้วงเกือบทศวรรษมานี้ ก็มีรูปธรรมที่ปรากฏขึ้นในหมู่ศิลปินกลุ่มฟุตบริดจ์มากมาย
เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในบรรดาสมาชิกฟุตบริดจ์ว่า จากที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะและกิจกรรมอื่นๆวนเวียนไปในหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดงานศิลป์ในทุกชาติสมาชิกมีความเคลื่อนไหวคึกคักขึ้น ซึ่งก็มีตัวชี้วัดที่น่าสนใจคือ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางศิลปะแต่ละครั้งสมาชิกในเครือข่ายที่เข้าร่วมมักจะขายภาพวาดได้ 1-2 ชิ้นเป็นอย่างน้อย
"เคยมีการประเมินกันว่า ตลอดหลายปีมานี้ราคางานศิลป์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างในเครือข่ายฟุตบริดจ์ ภาพ วาดศิลปะจีนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50 เท่าตัว จากที่ศิลปินจีนเคยนำไปเร่ขายในประเทศอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้ แต่ไทย ราคาเคยอยู่ที่แค่ภาพละ 1-2,000 บาท เดี๋ยวนี้ถีบตัวขึ้นไปอย่างต่ำสุดก็หลักหมื่น บางภาพขยับขึ้นหลักแสน ยิ่งถ้าศิลปินมีชื่อเมื่อไหร่ก็อาจจะทะยานไปถึงหลักล้านบาทเลยด้วย" ธนากรประเมินให้ฟัง
ศิลปินและเจ้าของหอศิลป์ในหาดใหญ่เล่าต่อไปว่า ในส่วนของภาพเขียน ของศิลปินไทยเราก็เพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดจีน เพียงแต่ราคาที่ขยับขึ้นมีตัวเลขน้อยกว่า โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการเพิ่มอยู่ที่ไม่เกิน 20 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงประมาณ 10 ปีมานี้ หรือจากพันบาทก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่หลักหลายหมื่นบาท
ทว่า มีเรื่องเล่าขานหนาหูในหมู่สมาชิกฟุตบริดจ์ด้วยกันคือ เมื่อไม่นานมานี้ Luo Qi ไปเปิดแสดงภาพวาดบนเกาะฮ่องกง เขาสามารถขายภาพได้ไม่ต่ำกว่า 5 ภาพ แต่นั่นไม่น่าสนใจเท่าเงินที่เขาได้รับนั้น เมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้วมีมูลค่าถึงกว่า 5 ล้านบาท
ว่ากันว่า ศิลปินจีนในวันนี้แค่ระดับ ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก ก็สามารถที่จะดำเนินอาชีพนี้ได้อย่างไม่ขัดเขิน ถ้าพอจะมีชื่อเสียงก็จะได้ยกระดับสู่คนมีฐานะได้สบายๆ แต่ถ้าหากชื่อชั้นกระฉ่อนติดลมบน แล้ว เรื่องรายได้แทบไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บสิบล้านหรือร้อยล้านถือว่าเป็นเรื่องเล็ก
ขนาดผลงานเก่าๆ ที่เคยรังสรรค์ไว้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว สนนราคาไม่กี่ร้อยกี่พันที่ไปเร่ขายในต่างประเทศ เดี๋ยวนี้มีนักสะสมชาวจีนตามไปกว้านซื้อเก็บในราคาขึ้นหลายล้านบาท
สำหรับศิลปินไทยที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ฟุตบริดจ์ในวันนี้ แม้จะยังกระจุกตัวอยู่แต่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง แต่ที่ผ่านมาด้วยศักยภาพของตนเอง และการดึงกลุ่มเพื่อน ศิลปินในเครือข่ายเข้ามาเสริม ทั้ง 5 ชีวิตก็สามารถสร้างความคึกคักให้กับแผ่นดินปลายด้ามขวานทองได้พอสมควร
ณ เวลานี้จึงอาจกล่าวได้ว่า โอกาส ยังคงเปิดกว้างอีกมากสำหรับบรรดาศิลปิน ไทยที่มีฝีไม้ลายมือ จะไปใช้ "Foot Bridge" เป็นสะพานก้าวข้ามไปเที่ยวท่องในโลกที่กว้างขวางขึ้น
|