เมื่อแรกที่ได้รับการ assign จาก "บรรณาธิการ" ให้เขียนเกี่ยวกับมิติใหม่ทางด้านการตลาดของธุรกิจโรงพยาบาล
สองมือของผู้เขียนกุมขมับทันที คำว่า "โรงพยาบาล" ธุรกิจเกี่ยวกับความเป็น ความตาย
แค่ฟังก็เครียดแล้ว แล้วจะนำเสนอด้วยวิธีไหนให้น่าสนใจ (กันล่ะ)
แต่พอเริ่มทำก็สนุก เพราะได้มีโอกาสไปสัมผัสโรงพยาบาลหลายแห่งที่แข่งขันกันตกแต่งในเรื่องรูปลักษณ์
เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ และยุทธวิธีใหม่ๆ ทางด้านการตลาดที่น่าติดตาม และที่สำคัญ
"ผู้จัดการ" เองก็ได้มีโอกาสเปิดตัวกับแหล่งข่าวกลุ่มใหม่ในธุรกิจโรงพยาบาลเช่นกัน
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นแห่งแรกในการไปเก็บข้อมูล ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
เพราะเมื่อชัย โสภณพนิช ซึ่งคุ้นเคยอย่างดีกับทาง "ผู้จัดการ" รับนัดอย่างทันที
นายแพทย์ท่านอื่นก็ดูจะง่ายขึ้น
แม้แต่การถ่ายรูปที่ช่างภาพเกิดได้ไอเดียสดๆ ร้อนๆ ขึ้นมาว่า ต้องการภาพชัยพร้อมกับผู้บริหารท่านอื่น
(ที่ไม่ได้มีคิวนัดสัมภาษณ์) ในวันนั้น ทีมงานประชาสัมพันธ์ก็สามารถไปเชิญนายแพทย์ชาตรี
ดวงเนตร ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และ มร.เคอร์ติส เจ ชโรเดอร์ ผู้อำนวยการด้านบริหารมาได้ทันทีเช่นกัน
ด้านโรงพยาบาลธนบุรี เฉลิมกุล อภิบุณโยภาส ผู้อำนวยการคนใหม่ อาจจะไม่เคยคุ้นกับนิตยสารแนวนี้
แต่ก็ได้เตรียมตัวในการให้ข้อมูลมาอย่างดี และพร้อมที่จะนัดช่างภาพให้บันทึกภาพทีมงานทันที
นายแพทย์บุญ วนาสิน เป็นอีกคนที่รู้จัก "ผู้จัดการ" การนัดหมายทางโทรศัพท์จึงเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ
และพอได้ไปนั่งฟังข้อมูลและแนวคิดของโรงพยาบาลปิยะเวท ก็รู้ว่า เขากำลังสนุกและต้องการเล่าอย่างมากทีเดียว
เช่นเดียวกับทีมงานของโรงพยาบาลกรุงเทพที่อาจจะสงสัยว่า ทำไมการเก็บข้อมูลยังไม่เสร็จเสียที
หลายครั้งที่ต้องเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ในที่สุดก็จบลงได้ด้วยดี พร้อมภาพที่แสนจะอารมณ์ดีของผู้บริหาร
จบลงที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ที่นัดนักข่าวแถลงข่าวเกี่ยวกับแผนงานและจุดขายใหม่ของ
"โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์" ก่อนวันปิดต้นฉบับเพียง 3 วัน แต่แล้วก็โทรมาบอกว่าเลื่อนออกไปก่อนแล้ว
จะยอมได้อย่างไร "ผู้จัดการ" ก็กลัวการ "ตกข่าว" เหมือนกัน ในที่สุด ทีมงานประชาสัมพันธ์ก็โทรมาบอกว่า
ผู้บริหารได้เลื่อนนัดประชุม เลื่อนตรวจคนไข้ ให้เวลา "ผู้จัดการ" เป็นพิเศษ ก่อนวันปิดต้นฉบับเพียง
1 วัน
เรื่องราวทั้งหมดก็เลยสามารถจบลงได้