|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

เดือนตุลาคมที่ผ่านมาถือเป็นความจงใจปนกับความบังเอิญที่ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือนดินแดนทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ภายในรอบเดือนเดียว
ชาวจีนเรียกจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวันกันสั้นๆ ว่า "เหลี่ยงอั้นซานตี้ " หรือ "สองฝั่งสามแผ่นดิน" โดยคำว่า "สองฝั่ง" นั้น หมายความถึงดินแดนสองฝั่งซึ่งถูกคั่นกลางไว้ด้วยช่องแคบไต้หวัน (Taiwan Strait) และมีนัยถึงการแบ่งแยกการปกครองระหว่างดินแดนสองฝั่ง โดยฝั่ง หนึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐไต้หวัน ขณะที่คำว่า "สามแผ่นดิน" นั้นหมายความ ถึงดินแดน 3 แห่ง อันประกอบไปด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ เกาะฮ่องกง และเกาะไต้หวัน ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของชาวจีนโดยสมบูรณ์
แม้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตัวผมเองจะได้ใช้ชีวิตและผูกพันอยู่กับประเทศจีนมาระยะหนึ่ง แต่การไปไต้หวันครั้งนี้ของผม ถือเป็นการเดินทางไปครั้งแรก กระนั้นแม้จะเป็นการไปไต้หวันครั้งแรก แต่ก็มีความพิเศษตรงที่ผู้นำทางผมไปครั้งนี้คือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ซึ่งมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันในช่วงทศวรรษ 60 ของศตวรรษที่ 20 โดยท่านได้ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) หรือ ไถต้า มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของไต้หวันและมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของเอเชีย
เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว คุณสนธิใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันราวหนึ่งปี ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยท่านเล่าให้ฟังว่านอกจากตึกและอาคาร ต่างๆ ในบริเวณรั้วไถต้าแล้ว สภาพบ้านเมืองและสถานที่ต่างๆ ของกรุงไทเปนั้นเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจำไม่ได้
"ไต้หวันเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างญี่ปุ่นกับฮ่องกง เนื่องจากช่วงหนึ่งญี่ปุ่นเคยเข้ามายึดครองไต้หวัน ทำให้อิทธิพลของญี่ปุ่นนั้นมีสูงมากบนเกาะไต้หวัน เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าอาคารบ้านเรือนหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะหน่วยราชการจะคล้ายๆ กับอาคารของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นสร้างทิ้งเอาไว้" คุณสนธิกล่าวพร้อมอธิบายต่ออีกว่า ในส่วนของนิสัย ใจคอของผู้คนไต้หวันก็เป็นส่วนผสมระหว่างชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวฮ่องกง และชาวญี่ปุ่น
"สังเกตได้ว่าวิธีการบริการของคนไต้หวันจะไม่กระแทกกระทั้นเหมือนกับคนฮ่องกงที่มีความเป็นตะวันตก เป็นสากลมากเพราะเคยตกเป็นดินแดน ในปกครองของอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้อ่อนน้อม เวลาคำนับทีก็โค้งตัวเสียจนขนานกับพื้นดินเหมือนคนญี่ปุ่น" ศิษย์เก่าไต้หวันตั้งข้อสังเกต
ระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบริเวณชั้นในและชั้นนอกของกรุงไทเป เรามีโชเฟอร์เป็นชายชาวไต้หวันวัย 60 แซ่เหยียน เป็นผู้แนะนำสถานที่ต่างๆ โดยระหว่างทางผมกับลุงเหยียนก็มีโอกาสได้พูดคุยกันในหลายๆ เรื่อง เรื่องเมืองไทย เรื่องไต้หวัน เรื่องเมืองจีน อาหาร ผู้คน การเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมือง ฯลฯ
ในตอนหนึ่งเมื่อผมถามว่า ปัจจุบันค่าเช่าห้องพักต่อเดือนในกรุงไทเปนั้นราคาขั้นต่ำประมาณเท่าไร และบัณฑิตที่จบปริญญาตรีในไต้หวันนั้นมีรายได้ต่อเดือนประมาณเท่าใด?
ลุงเหยียนให้คำตอบว่าตอนนี้ราคาห้องพักในไทเปอย่างต่ำก็ประมาณ 1 หมื่นเหรียญไต้หวัน (NT$) ต่อเดือน ขณะที่บัณฑิตชาวไต้หวันที่เรียนจบจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ราว 2-3 หมื่นเหรียญไต้หวัน (1 NT$ = 1.03 บาท)
"เมื่อก่อนเงินเดือนเริ่มต้นของคนไต้หวันสูงกว่านี้นะ แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้เศรษฐกิจไต้หวันแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โรงงานต่างๆ ก็ย้ายไปอยู่แผ่นดินใหญ่กันหมด ตอนนี้คนว่างงานก็มีเยอะขึ้น อย่างว่าล่ะนะเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ไปอยู่ที่จีนกันหมด" โชเฟอร์วัยใกล้เกษียณเล่าแกมบ่นถึงความเปลี่ยน แปลงของสภาพชีวิตและความเป็นอยู่
นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศเมื่อ 30 ปีก่อน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสองฝั่งจะลุ่มๆ ดอนๆ แต่นักธุรกิจจากไต้หวันก็ถือเป็นนักธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่แผ่นดินใหญ่ โดยในแต่ละ ปีเงินลงทุนทางตรง (FDI) ส่วนใหญ่ของไต้หวันนั้นถูกเทไปตามมณฑลต่างๆ บริเวณชายฝั่งของจีน ซึ่ง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมารวมแล้วคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปริมาณการค้าระหว่างสองฝั่งก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว
ในอดีตสมัยที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีน แผ่นดินใหญ่กับรัฐบาลไต้หวันยังไม่ราบรื่น เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างสองฝั่งนั้นมีเกาะฮ่องกงเป็นตัวเชื่อม แต่ด้วยพัฒนาการและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีส่วนทำให้ทิศทางของการเมืองภายในของไต้หวันนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่พรรคก๊กมินตั๋งกลับมา กุมอำนาจในการบริหารอีกครั้งทำให้ความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝั่งนั้นถือว่าราบรื่นที่สุดในรอบหลายสิบปีและส่งผลให้มีการเปิดเที่ยวบินตรง เส้นทางการขนส่งทางทะเลตรงระหว่างสองฝั่ง รวมไปถึงการลงทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งนั้นเปลี่ยนรูปแบบไปมากพอสมควร
กล่าวคือ จากแต่ก่อนที่ไต้หวันเป็นฝ่ายขนเงิน ไปลงทุนในจีน ปัจจุบันนี้จีนกลับเป็นฝ่ายที่เรียกร้อง ให้ไต้หวันเปิดประตูรับการลงทุนจากจีนบ้าง จนทำให้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวัน ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าฯ เมืองไทเปและสังกัดพรรคก๊กมินตั๋งต้องเริ่มทยอยเปิดทางให้ทุนจากแผ่นดินใหญ่สามารถเข้ามาลงทุน ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและสาธารณูปโภคถึง 99 สาขา
เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการทรัพยากรต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน เพื่อมาหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นประเทศมีเงินทุนสำรองประเทศมากที่สุดในโลกถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจัยเหล่านี้เมื่อผนวกเข้ากับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินกลางของโลก อีกทั้งเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความล่มสลายของสภาวะ "ขั้วอำนาจเดียว" ของโลกภายใต้การชี้นำของสหรัฐ อเมริกา จีนในฐานะเจ้าหนี้คนสำคัญของสหรัฐอเมริกา (เนื่องจากเป็นประเทศที่สะสมเงินสำรองในรูปพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุด) จึงต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการนำเงินไปลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศอื่นๆ ทั้ง ในรูปแบบของการลงทุนทางตรงและทางอ้อม
รายงานของนิตยสารฟอร์จูน (เอเชียแปซิฟิก) ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ระบุว่า ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนและบริษัทสัญชาติจีนทุ่มเงินในการซื้อกิจการในต่างประเทศไปแล้วมากถึง 115,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีที่แล้ว (2551) เพียงปีเดียว จีนลงทุนในกิจการต่างประเทศมากถึงราว 25,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการลงทุนดังกล่าวเป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในหลากหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น การลงทุน/ปล่อยกู้ในอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไนจีเรีย คองโก บราซิล คาซัคสถาน อิรัก อิหร่าน อุตสาห-กรรมเหล็กในออสเตรเลีย อุตสาหกรรมสิ่งทอในเลโซโท ภาคการเงินในสหรัฐฯ ความพยายามการซื้อ กิจการบริษัทรถยนต์ชื่อดังอย่างวอลโว่จากเครือฟอร์ด ไม่นับรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง อาหาร ซอฟต์แวร์ โทรคมนาคม เป็นต้น
การสยายปีกทางเศรษฐกิจจีนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์และพัฒนาศักยภาพทางด้านการเมือง การต่างประเทศและการทหารให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยชาวจีนและผลประโยชน์ของตัวเองที่กระจายอยู่ทั่วโลกให้ได้
แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะกล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของผู้อื่น ทว่าอิทธิพลและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนที่แผ่ขยายไปทั่วโลกได้บีบให้รัฐบาลจีนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเข้ามามีส่วนกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ/ภูมิภาคต่างๆ ที่ตัวเอง มีผลประโยชน์ให้ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยวิธีการทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย อย่างที่เกิดขึ้นในไต้หวัน ตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศในแอฟริกา เป็นต้น
แน่นอนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคนี้ เราจึงมีความจำเป็นต้องรู้เท่าทัน "อิทธิพล จีน" ระลอกใหม่ที่กำลังจะโถมทับท่วมโลก
|
|
 |
|
|