|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารในโลกปัจจุบัน ได้ผลักดันให้การพัฒนาของสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ให้ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารได้สะดวกและรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลก
พัฒนาการในระยะแรกอาจเป็นเพียงการให้บริการหนังสือพิมพ์รูปแบบออนไลน์ควบคู่กับการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดั้งเดิม จนผู้อ่านมีความเคยชินกับการติดตามข่าวสารทางเว็บไซต์ ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์จึงเริ่มหันมาพัฒนาสู่การเป็นสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยมีการจัดเก็บค่าบริการสมาชิกเพื่อชดเชยรายได้ ที่สูญเสียไปจากการจำหน่ายสิ่งพิมพ์ฉบับที่ลดลง และในบางกรณีจำนวนสมาชิกที่สมัครในระบบออนไลน์มีมากกว่าจำนวนสมาชิกที่สมัครในแบบฉบับกระดาษหลายเท่าตัว
สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ของไทย ยังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อ่านให้เคยชินกับการอ่านข่าวบนหน้าเว็บไซต์ โดยปัจจุบันให้บริการแก่ผู้อ่านโดยไม่คิดค่าบริการ แต่สร้างรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มเติบโตจากปีที่แล้วถึง 2 เท่าตัว ซึ่งสวนทางกับมูลค่าตลาดโฆษณาโดยรวมในประเทศที่หดตัวลง ซึ่งเป็นการเติบโตตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สอดคล้องกับข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2551 ที่มีจำนวนถึง 18.3 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงร้อยละ 18
ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าในช่วง 4-5 ปีนี้ สื่อสิ่งพิมพ์เกือบทุก ฉบับจะปรับตัว เตรียมพัฒนาระบบเว็บไซต์ข่าวให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลและการเรียกใช้ข้อมูล เพื่อเป็นการรองรับรูปแบบการบริการข่าวสารที่จะเข้าสู่ระบบเก็บค่าสมาชิกในอนาคต โดยเน้นการนำเสนอข่าวที่รวดเร็ว ละเอียด สามารถสืบค้นข่าวย้อนหลัง
ขณะเดียวกันการพัฒนาความเร็วในการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถรับชม/รับฟัง คลิปวิดีโอ/คลิปเสียงข่าว หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ได้ ซึ่งเป็นบริการที่สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความคุ้มค่ากับค่าบริการที่ต้องจ่าย
นอกจากนี้ การพัฒนาด้านโทรคมนาคมสื่อสารประกอบกับในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง การให้บริการข่าวสารในรูปแบบข้อความสั้น (Short Message Service: SMS) และข้อความมัลติมีเดีย (Multimedia Message Service: MMS) จึงเป็นช่องทางบริการข่าวสารที่ผู้ให้บริการข่าวเริ่มหันมาพัฒนาขยายตลาดในส่วนนี้มากขึ้นด้วย
อนาคตเมื่อการให้บริการข่าวทางสื่อออนไลน์และส่งข้อความข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือขยายตัวมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อยอดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับลดลงอย่างแน่นอน ผู้ผลิตจึงต่างเร่งพัฒนารูปแบบการนำเสนอข่าวที่สามารถตอบสนอง ความต้องการของผู้อ่านในทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่หนุนส่งการขยายตัวของสื่อออนไลน์อยู่ที่ราคาคอมพิวเตอร์ ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และการพัฒนาของอุปกรณ์สื่อสาร และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีสัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้ได้ฟรีในบางสถานที่ หรือแม้แต่การจะเปิดให้บริการเทคโนโลยี 3G ที่มีแผนจะพัฒนาให้ครอบคลุมหลายพื้นที่ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถรองรับการรับส่งข้อมูลทั้งภาพและเสียงให้มีคุณภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การขยายตัวของสื่อโฆษณาออนไลน์ ซึ่งทำให้หลายบริษัทมีนโยบายตัดลดงบโฆษณาลง โดยหันมาเน้นช่องทางการตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องมาจากใช้งบน้อยกว่า สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และที่สำคัญสามารถวัดผลได้โดยตรง เนื่องจากการทำโฆษณาออนไลน์บริษัทจะเลือกลงโฆษณาในเว็บไซต์ที่คาดว่าเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายของตัวผลิตภัณฑ์ การโฆษณาออนไลน์จึงเป็นช่องทางใหม่ที่หลายบริษัทต่างเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น
ข้อน่าสังเกตก็คือตลาดโฆษณาออนไลน์ของไทยยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เห็นได้จากสัดส่วนโฆษณาออนไลน์ของไทยที่คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของตลาดโฆษณาทั้งหมด ขณะที่ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8 และจากในปัจจุบันบริการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ของไทยยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้อ่าน แต่มีรายได้หลักมาจากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์
ดังนั้น ตราบใดที่แนวโน้มการทำการตลาดของบริษัทต่างๆ เริ่มเน้นช่องทางตลาดออนไลน์มากขึ้น ก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วย สนับหนุนให้สื่อออนไลน์ยังคงขยายตัวได้เช่นกัน และช่วยสร้างรายได้ให้แก่สื่อสิ่งพิมพ์อีกช่องทางหนึ่ง
นอกจากนี้ การที่ผู้อ่านเริ่มหันมาอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สะดวก สามารถอ่านได้ทุกที่ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ซึ่งเป็นการสร้างความเคยชินแก่ผู้อ่าน จึงคาดว่าต่อไปในอนาคตหนังสือพิมพ์ออนไลน์อาจพัฒนาเข้าสู่ระบบสมาชิกและมีการจัดเก็บค่าบริการ เพื่อแลกกับการที่ผู้อ่านข่าวสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วทันที พร้อมรายละเอียดอย่างครบถ้วนในทุกประเด็น
แต่ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้การขยายตัวของธุรกิจ ออนไลน์ของไทยไม่รวดเร็วนัก เพราะต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งเสริมการเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชน และพัฒนาวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับยังสามารถจำหน่ายได้ต่อไป โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง หรือสำหรับผู้อ่านที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ กระนั้นก็ดี ในระยะยาวหากความนิยมสื่อ สิ่งพิมพ์รูปแบบใหม่ขยายตัวสูงขึ้น คาดว่าในอนาคตผู้ผลิตของไทย ต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับการให้บริการในรูปแบบเก็บค่าสมาชิกจากผู้อ่าน ควบคู่กับการสร้างรายได้ส่วนหนึ่งจากการขาย พื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์
ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น ผู้อ่านจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ให้บริการสื่อรายใดนำเสนอข่าวสารที่มีคุณภาพคู่ควรกับการเสียค่าสมาชิก หรือควรจะปล่อยให้ล้มหายจากไปในยุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างมากแล้วนี้
|
|
|
|
|