บล.ไอบีเดินหน้านำธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าตลาด คาดภายในสิ้นปีนี้ไม่ต่ำกว่า 4 แห่ง
อาร์เค มีเดีย จ่อคิวเป็นตัวต่อไปชี้บริษัทขนาดเล็กเป็นตัวจักรสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ
ดังนั้น รุกให้ความร่วมมือชี้แจงการระดมทุนผ่านหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันวอลุ่มตลาดดีรายได้ค้าหลักทรัพย์มาอันดับหนึ่งกว่า
50%
นายชาญชัย กุลถาวรากร ประธานกรรมการ บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไอบี จำกัด เปิดเผยถึงการทำธุรกิจวาณิชธนกิจ
ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปีนี้ว่า
คาดว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) ได้ 4 แห่ง จากที่ตั้งเป้าไว้
4-5 แห่ง โดยบริษัทอาร์เค มีเดีย จะยื่นเสนอข้อมูล(ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
ในเดือนหน้า
ส่วนอีก 2 บริษัท ในกลุ่มพาณิชย์ และธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน อยู่ระหว่างรอยื่นไฟลิ่ง
และคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ในเดือน ธันวาคม ส่วนบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหญ่อาจจะมีบ้างในปีหน้า
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางราย
การที่บริษัทมุ่งเน้นนำธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) เข้าจดทะเบียนในตลาด
หลักทรัพย์ เนื่องจากหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพดีที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีน้อย
ซึ่งงานส่วนใหญ่ของธุรกิจเหล่านี้จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้
ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งไม่สนใจ แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีบางแห่งมีศักยภาพดี
มีธุรกิจหลากหลาย และขนาดตลาดที่ใหญ่ รูปแบบการให้คำปรึกษามีรูปแบบเดียวกันในธุรกิจ
ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะเป็นตัวหนุนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
โดยที่ผ่านมาบริษัทเป็นบริษัทหลักทรัพย์เพียงแห่งเดียว ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับสภาอุตสาหกรรม
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ในการให้ความร่วมมือในการให้ความรู้ความเข้า
ใจกับธุรกิจเอสเอ็มอี ในการเตรียมตัวเพื่อการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ที่ผ่านมามีบริษัทหลายแห่งให้ความสนใจ
แต่ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการเข้าไปจดทะเบียนคงต้องขึ้นอยู่กับการเข้าไปพัฒนาโครงสร้าง
รวมถึงระบบบัญชี เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีปัญหาเรื่องระบบบัญชีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะทำผิดกฎหมายแต่จะทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มากกว่า
ส่วนการให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจเอสเอ็มอีอื่นๆ เช่น แบงก์เอสเอ็มอีนั้น
ไม่ถือเป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะเป้าหมายของแบงก์เอสเอ็มอีต้องการนำให้เอสเอ็มอีแข็งแรงและสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องใช้บริการของโบรกเกอร์
เพราะฉะนั้น รายได้ด้านวาณิชธนกิจโดยรวมในปีนี้จึงยังมีกำไรอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจวาณิชธนกิจต้องใช้เวลาลงทุนในระยะหนึ่ง
โดยในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ได้นั้น สัดส่วนรายได้ของบริษัทการซื้อขายตราสารหนี้จะมาอันดับหนึ่ง
อันดับสองธุรกิจวาณิชธนกิจ และอันดับสามธุรกิจค้าหลักทรัพย์
ปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นดีธุรกิจด้านค้าหลักทรัพย์มีสัดส่วนรายได้สูงสุด 50% ธุรกิจวาณิชธนกิจ
25-30% ธุรกิจตราสารหนี้ 10-20% โดยงานด้านค้าหลักทรัพย์นั้นยังมุ่งเน้นที่ลูกค้ารายย่อย
100% ปัจจุบันบริษัทมีสาขา 20 แห่ง เป็นสาขาในกรุงเทพ 7 แห่ง ซึ่งการทำงานแยกกันอิสระกับบริษัทแม่คือบริษัทหลักทรัพย์แอดคินซัน
ที่ถือหุ้นอยู่ 99.99% ส่วนแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คงต้องรอให้พร้อมในเรื่องของผลประกอบการก่อน
เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์