|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"กสท" จับมือ "ทีโอที" ใช้โครงข่ายโทรศัพท์มือถือร่วมกัน หวังชิงความได้เปรียบ 3G ก่อนกทช.เปิดประมูล ‘จิรายุทธ’ซีอีโอ กสทแจงเป็นมิติใหม่หน่วยงานรัฐแชร์ค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ผนึกพลังสู้เอกชน
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคมกล่าวว่า กสทกับบริษัท ทีโอที ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการให้ความร่วมมือระหว่างกัน ในลักษณะการใช้โครงข่ายโทรศัพท์มือถือร่วมกันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้ ทั้ง 2 องค์กรมีความแข็งแรงพร้อมที่จะแข่งขันกับเอกชนได้
‘ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นตอนเดินทางไปดูงาน 3G ที่ประเทศเกาหลี โดยรมว.ไอซีทีเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว เพราะทั้งสองต่างมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่เหมือนกัน และความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการทำธุรกิจของ ทั้ง 2 องค์กร’
ทั้งนี้ทีโอทีได้ส่งร่างข้อตกลงมาให้กสทแล้ว โดยเป็นการเสนอขอเช่าใช้สถานีฐานโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอของกสทที่มีจำนวน สถานีฐาน 1,600 แห่งใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทีโอทีมีแผนที่จะขยายโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ TOT 3G ทั่วประเทศ ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ทีโอทีสามารถนำอุปกรณ์ 3G มาติดตั้งที่สถานีฐานของ CAT CDMA ได้ โดยทีโอทีเสียเพียงค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟในขณะที่กสทจะลดต้นทุนได้ทันที ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการเงินของกสทดีขึ้นอย่างทันตาเห็น
‘ทีโอทีจะได้ประโยชน์ในด้านไม่ต้องไปหาทำเลติดตั้งสถานีฐาน ในขณะที่ถ้าลงทุนสถานีฐานละประมาณ 4-5 ล้านบาท มาเช่าของกสทจะเสียค่าน้ำค่าไฟอาจจะประมาณ 1 ล้านบาทหรือประหยัดได้ 3-4 เท่า เงินที่เหลือก็สามารถนำไปติดตั้งสถานีฐานเพิ่มเติมได้อีก ในพื้นที่ซึ่งกสทไม่มีโครงข่ายแล้วเปลี่ยนมาให้กสทเช่าบ้างก็ได้’
วิธีใช้โครงข่ายร่วมกันเชื่อว่าจะทำให้ทีโอทีติดตั้งโครงข่าย 3G ได้เร็วมากขึ้น ในขณะที่เงินลงทุนเท่าเดิม รวมทั้งทีโอทีจะได้จำนวนสถานีฐานติตตั้งเพิ่มมากขึ้นจากแผนที่วางไว้เดิม ประมาณ 3,800 ไซต์ โดยไปลงทุนเพิ่มในพื้นที่เป็นจุดบอดที่ CAT CDMA ไม่มีสถานีฐาน แล้วเปลี่ยนมาให้กสทเช่า เป็นการแชร์ต้นทุนระหว่างกันความร่วมมือดังกล่าวยังจะขยายผลไปสู่โครงข่ายซี ดีเอ็มเอของฮัทช์ที่มีอยู่อีกประมาณ 1,300 สถานีฐานที่อยู่ใน 25 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งกสทกำลังตีมูลค่าเพื่อซื้อโครงข่ายโดยมีที่ปรึกษาคือ บล.บัวหลวงและ เอิร์นแอนด์ ยัง โดยในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ที่ปรึกษาจะนำราคาประเมินมาให้บอร์ดกสทเพื่อพิจารณาหลังจากนั้นก็จะ เสนอขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ฯเพื่อพิจารณาต่อไป
‘กสทยังมีแผนที่จะขยายโครงข่ายซีดีเอ็มเอเพิ่มขึ้น รวมของกสทกับที่จะซื้อฮัทช์แล้วกสทจะมีสถานีฐานมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทุกสถานีฐานพร้อมให้ทีโอทีเข้ามาใช้โดยแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกัน ซึ่งรายละเอียดจะต้องมาคุยกันว่าจะใช้ไซต์ไหน จะคิดค่าเช่าอย่างไร ซึ่งเป็นรายละเอียดตกลงกันไม่ยาก เพราะผู้บริหารทั้งสองต่างเห็นชอบในหลักการร่วมกันแล้ว’
นายจิรายุทธกล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างความได้เปรียบและสร้างความ เข้มแข็งให้กสทกับทีโอที ในขณะที่การประมูลใบอนุญาต 3G ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะประมูลได้เมื่อไหร่ แต่ทั้งสององค์กรจะมีบริการ 3G ก่อนโอเปอเรเตอร์เอกชนในส่วนของกสทเอง ก็มีเป้าหมายที่จะเข้าร่วมประมูล 3G ของ กทช.แต่จะต้องเสียเงินน้อยที่สุดหรืออาจไม่ต้องเสียเงินเลย โดยใช้ศักยภาพของจำนวนสถานีฐานที่กสทจะมีครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่งเป็นมูลค่าในการเข้าร่วมประมูลกับพาร์ตเนอร์
‘ตอนนี้ในกทม.จะไปหาที่ติดตั้งสถานีฐานได้ที่ไหนอีก เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละรายวางกันเต็มไปหมดแล้ว แต่ถ้าใครมาเป็นพาร์ตเนอร์กับกสท ก็จะได้ที่ตั้งสถานีฐานทันที พร้อมฐานลูกค้าของฮัทช์และ CAT CDMA รวมกันอีกกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจะเป็นมูลค่าในการเข้าร่วมประมูล 3G กทช.กับพาร์ตเนอร์’
นอกจากนี้จิรายุทธยังมองว่าในอนาคตหากเทคโนโลยี 4G หรือ LTE (Long Term Evolution) ถูกพัฒนาไปบนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ มีเวนเดอร์ผลิตอุปกรณ์และเครื่องลูกข่ายจำนวนมากราคาถูก กสทก็จะเกาะเกี่ยวไปกับเทคโนโลยีบนย่านความถี่นี้ด้วย แต่ถ้าไม่ใช่กสทก็ยังมีซีดีเอ็มเอ 2000 1X EV-DO เป็นอีกด้านของเทคโนโลยี เพื่อให้กสทมีความถี่และระบบทั้ง 2ด้านที่จะสามารถพัฒนารองรับอนาคตของเทคโนโลยีได้โดยไม่ตกกระแส
นอกจากนี้กสทยังมีแผนที่จะวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วในกทม.ด้วยเงินลงทุน ประมาณ 6 พันล้านบาทเพื่อเป็น Last Mile ในการเข้าถึงบ้านผู้เช่าหรือกลุ่มลูกค้าโดยตรง ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯโดยคาดว่าหากได้รับการ อนุมัติจะสามารถติดตั้งได้ภายในปี 2553 และจะเริ่มมีรายได้ในปี 2554
‘ผมพยายามวาง Core Network ให้กสททั้งมีสายและไร้สาย เพื่อหาบริการมาวิ่งบนเน็ตเวิร์กเหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ๆอย่างโมบายล์ บรอดแบนด์ ที่จะเป็นรายได้หลักในอนาคต จากปัจจุบันที่กสทมีรายได้หลักจากบรอดแบนด์ประมาณ 50% ของรายได้รวม ตามมาด้วยบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ’
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าความร่วมมือของกสทกับทีโอที จะเป็นเหตุผลสำคัญและสร้างความชอบธรรมให้กสทในการซื้อฮัทช์และทีโอทีในการ ขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศ เพราะผู้บริหารทั้ง 2 องค์กรไม่ได้มองเฉพาะองค์กรตัวเอง แต่มองถึงการสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน (Synergy)ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่วันนี้พัฒนาเป็น 3G เป็นโมบายล์ บรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงที่ได้ประโยชน์ทั้งด้านธุรกิจ และด้านสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลหรือระบบโทรคมนาคมของ คนในประเทศ
|
|
|
|
|