ดีทแฮล์ม ยักษ์ใหญ่กลุ่มอุปโภคบริโภคจากแดนมะกัน ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ บริษัทแม่ยื่นมือคุมบริษัทลูกแต่ละประเทศโดยตรง
ยุบรูปแบบเดิม ที่ให้แต่ละประเทศบริหารงานอิสระ (Country Base) ปรับสู่ระบบรูปแบบธุรกิจ
(Business Unit) แทน ให้แต่ละยูนิตรายงานตรงสำนักงานใหญ่แต่ละกลุ่มในต่างประเทศ
ซึ่งขึ้นกับสำนักงานใหญ่โดยตรง เพื่อทำตลาดเชิงลึก เข้าถึงลูกค้าโดยตรงมากขึ้น
หวังเพิ่มยอดขาย ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจนี้ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก เผยกลุ่มอุปโภคบริโภค
ที่ทำรายได้สัดส่วนสูงที่สุด 50% ของรายได้กลุ่มทั้งหมดจาก 5 ยูนิต 8 เดือนแรกปีนี้
ยอดขายโต 13% ตามเป้าหมาย
การปรับตัวของยักษ์คอนซูเมอร์ โปรดักส์อย่างดีทแฮล์ม ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ หลังจากธุรกิจนี้แข่งขันกันอย่างรุนแรงทั่วโลก
เพราะค่ายยักษ์ใหญ่จากทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ต่างขยับแย่งชิงเค้กก้อนมหึมานี้ทั่วโลก
ซึ่งประเทศไทยยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคจากตะวันตกมองว่าเป็นตลาดใหญ่ เพราะมีโอกาสส่งออกสินค้าเหล่านี้จากไทย
ไปสู่อินโดจีน รวมถึงประเทศอาเซียนอื่นๆ ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ผู้ผลิตสินค้า
หากใช้ร่มเงานี้ จะเสียภาษีเพียง 0-5% ประกอบกับตลาดรวมย่านนี้ ใหญ่กว่า 320 ล้านคนขึ้นไป
หลายค่ายจึงส่งคนจากสำนักงานใหญ่ หรือคนที่แต่ละค่ายไว้ใจเต็มที่ เข้ามาคุมตลาดย่านนี้โดยตรง
นายสมบุญ ประสิทธิ์จูตระกูล รองประธานอำนวยการ บริษัท ดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัด
เปิดเผยว่าดีทแฮล์มฯ ปรับโครงสร้างบริหารใหม่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งเริ่มทยอยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงกลางปีแล้ว คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ปลายปีนี้
ซึ่ง พ.ย. นี้ ซีอีโอดีทแฮล์มจะเดินทางมาไทย เพื่อร่วมประชุมด้วย
รายงานตรงนายฝรั่ง
โครงสร้างใหม่ของดีทแฮล์มฯ จะใช้ระบบ Business Unit บริหารงานจากเดิมที่เป็นระบบ
Country Base ซึ่ง ลักษณะโครงสร้างใหม่นี้ จะแยกแต่ละยูนิตออกจากกันชัดเจน แล้วให้ผู้รับผิดชอบที่คุมแต่ละยูนิต
รายงานตรงต่อผู้ควบคุมของแต่ละยูนิต ที่สำนักงานใหญ่ของแต่ละยูนิตในภูมิภาคนี้
โดยไม่ต้องผ่านผู้บริหารคนไทย เช่น บางยูนิต สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ บางยูนิตตั้งอยู่ที่ไทย
บิสซิเนสยูนิตจะมีทั้งสิ้น 5 ยูนิต ประกอบด้วย 1.ยา 2.อุปโภคบริโภค 3.แผนกพิเศษและเคมิคอล
4.อาหารและส่วนผสม 5.เทคโนโลยี ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัท ดีทแฮล์ม
โดยยังไม่นับรวมกิจการอื่น ที่มีอีกมากในนามบริษัทอื่น เช่น ท่องเที่ยว เป็นต้น
ซึ่ง 5 ยูนิตนี้ ยอดขายรวมกันมากกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค
รายได้มากที่สุดกว่า 17,000 ล้านบาท หรือสัดส่วนรายได้มากกว่า 50% ซึ่งเป็นรายได้เฉพาะจากการที่บริษัทเป็นผู้จำหน่ายเท่านั้น
เนื่องจากบริษัทมี 2 บริการ คือ รับจำหน่ายสินค้า กับการบริหารสต็อคสินค้าให้ลูกค้า
ขณะที่โครงสร้างเดิม ป็นการบริหารงานแบบคันทรีเบส คือมีกรรมการผู้จัดการในไทยรับผิดชอบดูแลทุกยูนิต
ไม่ได้ขึ้นตรงต่อแต่ละยูนิตในต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ "ผู้จัดการรายวัน" เคยรายงานข่าวการปรับโครงสร้างของดีทแฮล์มไปแล้ว
แต่เป็นเฉพาะการปรับในประเทศเท่านั้น ในส่วนการจัดจำหน่าย คือ เดิมดีทแฮล์มแบ่งการทำงานจัดจำหน่ายสินค้าเป็น
2 ฝ่าย แยกกัน 2 แห่ง คือ ฝ่าย 1 รับผิดชอบกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค นายสมบุญเป็นผู้ดูแล
สำนักงานอยู่ที่ถนนหลานหลวงและคลังสินค้าอยู่ที่บางนา ดูแลรับผิดชอบสินค้าประเภทลูกอม
หมากฝรั่งชิคเคล็ทช์ ยาสีฟันฟลูโอคารีล ผลิตภัณฑ์นมมี้ดจอห์นสัน เป็นต้น
อีกฝ่าย คือ ฝ่าย 2 เป็นสินค้าอาหารและสินค้าพิเศษ ซึ่งมีนายนีล โฮม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสินค้าประเภทน้ำดื่มทิปโก้
โอวัลติน คราฟท์ ซอสไฮนซ์ โอรีโอ เป็นต้น สำนักงานอยู่ที่บางจาก คลังสินค้าอยู่ที่บางปะอิน
พระนครศรีอยุธยา
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ช่วงต้นปีนี้ รวม 2 ฝ่ายนี้เข้าด้วยกัน ทั้งหมดขึ้นตรงต่อนายสมบุญ
เพียงคนเดียว ในตำแหน่งรองประธานอำนวยการ เพราะนายโฮม ได้รับการโปรโมตให้บริหารที่ดีทแฮล์มมาเลเซียแทน
ขณะเดียวกัน ยังเริ่มใช้ระบบคอมพิวเตอร์ SAP ที่ดีทแฮล์มลงทุนไปแล้วมากกว่า 100
ล้านบาท เพื่อสร้างเสริมการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังลงทุนด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ
อีกกว่า 60 ล้านบาทด้วย ในการเชื่อมต่อออนไลน์ข้อมูลต่างๆ
ผลประกอบการปีที่แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายเติบโตยอดขายรวมกันเฉลี่ย 10% จากรายได้รวม
2 ฝ่าย นี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้จะโตมากกว่านี้ หลังจากที่รวมกันแล้ว
อีกทั้งยังเป็นผลจากการที่จะขยายรับจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับผลดำเนินงานบริษัทฯ รอบ 8 เดือนแรกปีนี้ ยอดขายเติบโตมากกว่า 13% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย
เป็นการเติบโตบนฐานของสินค้าเดิม ยังไม่นับรวมสินค้าใหม่ที่รับจำหน่าย และยังไม่มีสินค้าใดที่หลุดจากการเป็นผู้จัดจำหน่าย
นายสมบุญกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้สินค้ารับจำหน่ายเพิ่มขึ้นหลายผลิตภัณฑ์เช่น
แป้งปริกลี่ฮีทหรือแป้งอังกฤษตรางู ก.พ. บิสกิตดานอน เพิ่งเริ่มเมื่อไม่นานนี้
นอกจากนั้น มีผลิตภัณฑ์โอวัลตินยูเอชทีที่ได้เป็นผู้จำหน่าย จากเดิมโฟร์โมสต์เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย
เนื่องจากบริษัท โนวาร์ติส เจ้าของโอวัลติน ขายโอวัลตินให้บริษัทเอบีฟู้ดทั่วโลก
เพื่อเน้นหนักธุรกิจยาอย่างเดียว จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่โฟร์โมสต์ยังคงเป็นผู้ผลิตเหมือนเดิมในประเทศไทย
นอกจากนั้น สินค้าอีกตัวที่เตรียมจะเปิดตัววันพุธที่ 1 ต.ค.นี้ คือแคมเปญโฆษณาและพรีเซ็นเตอร์ใหม่
ผลิตภัณฑ์เอนแชนเทอร์ แป้งหอมของบริษัท อุนซ่า (ประเทศไทย) จำกัด โดยดีทแฮล์มเป็นผู้จำหน่าย
สินค้าล่าสุดที่รับผิดชอบ คือผลิตภัณฑ์บะหมี่อบแห้งกึ่งสำเร็จรูปตราเมียวโจ้
ซันมัย ของ บริษัท ทีเอ็ม ฟู้ดส์ จำกัด โดยบริษัทฯ มั่นใจสินค้า ตัวนี้อย่างมาก
เพราะสินค้ามีเอกลักษณ์เพียงยี่ห้อเดียวในตลาด ที่เป็นบะหมี่อบแห้งกึ่งสำเร็จ รูป
จากการที่วางสินค้าสู่ตลาดประมาณเดือนครึ่งที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดี อีกทั้งสินค้าตัวนี้
ปรับปรุงใหม่ ทั้งเพิ่มเมนู และปรับแพกเกจจิ้ง ทำให้โอกาสการตลาดมากกว่าแต่ก่อน
โดยดีทแฮล์มจะใช้ทีมงานขายกลุ่มอาหาร ซึ่งมีมากถึง 15 ทีม และจะเน้นช่องทางจำหน่ายโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก
ทั้งซูเปอร์มาร์เกต คอนวีเนียนสโตร์ ดิสเคานต์สโตร์ ทั้งนี้ จะใช้แผนการเน้นตั้งโชว์สินค้าและการแจกชิมตัวอย่าง
ตามจุดขายต่างๆ
เขายังกล่าวปฏิเสธด้วยว่า ดีทแฮล์มยังไม่ได้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฟอร์มี
ในเครือสหพัฒน์ ร่วมกับเจ้าของกลุ่มแกรมมี่ แม้ว่าจะเจรจามาก่อนก็ตาม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายในของฟอร์มี
ทำให้การเจรจาต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพราะสหพัฒนพิบูลเข้ามาเป็นผู้จัดจำหน่าย
ส่วนกรณีเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ เขายอมรับว่ามีการเจรจากันกับกลุ่มโออิชิ แต่ถึงวันนี้
ยังไม่มีการสรุปว่าจะเป็นอย่างไร