|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“มาร์ค” เด็ดขาด สั่ง สศช.-คลัง ร่างทีโออาร์พร้อมเปิดประมูลภายใน 3 เดือน หากไร้เงาเอกชนทำ ยุบทิ้งทันที ด้านชุมพลเปรยไม่ควรทำตั้งแต่แรกเปรียบเหมือนแชร์แม่ชะม้อย ด้านเอกชนเฮโละทิ้งได้ก็ดี อยู่ไปก็มีแต่ปัญหา ส่วนแอคทีฟสนซื้อกิจการ
วานนี้(17 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ หรือบัตรอีลิทการ์ด ของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดทำทีโออาร์หรือเงื่อนไขการเปิดประมูลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเปิดประมูลให้กับเอกชนที่สนใจ ส่วนเอกชนที่จะซื้อโครงการนี้ไปดำเนินการต่อต้องรับไปทั้งหมดทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดทางกฎหมาย
“สิ่งเดียวที่รัฐบาลยังให้การสนับสนุนคือสิทธิของสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐโดยตรง เช่นการตรวจลงตราคนเข้าเมืองหรือวีซ่า และบริการต่าง ๆ เท่านั้น หากภายใน 3 เดือนแล้วยังไม่มีบริษัทเอกชนรายใดแสดงความสนใจเข้ามา ก็จะใช้แนวทางที่ 2 คือการยกเลิกบริษัทและให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าไปดำเนินการดูแลสมาชิกทั้งหมดแทน”นายกฯกล่าว
อย่างไรก็ตามมีเอกชนรายหนึ่งเสนอตัวที่จะมาซื้อโครงการนี้เพื่อไปบริหารจัดการเอง แต่มีเงื่อนไขคือภาครัฐต้องช่วยเหลือในการออกวีซ่าให้กับภาคเอกชน 5 ปี ต่อคน
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.พิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษไทยแลนด์พริวิเลจคาร์ด(Thailand Privilege Card)หรืออีลิทการ์ด จาก 4 แนวทาง ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยแบ่งเป็น 2 ทางเลือกคือ 1.ปิดบริษัทไทยแลนด์พริวิเลจคาร์ด จำกัด และยุติโครงการฯโดยสิ้นเชิง หรือ 2.การดำเนินโครงการฯต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ การดำเนินโครงการฯต่อไป โดยการร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือ การดำเนินโครงการฯต่อไป โดยปรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือ การดำเนินภารกิจให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ดำเนินการต่อไป
นายวัชระ กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมพิจารณาวาระดังกล่าวว่า นายชุมพล ศิลปะอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ได้รายงานกับทื่ประชุมครม.ถึงที่มาที่ไปว่าโครงการดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะว่าการทำงานของโครงการดังกล่าวนี้เหมือนกับแชร์แม่ชะม้อย คือนำเอาเงินของสมาชิกคนอื่นมาปะหรือมาใช้ ซึ่งขณะนี้ยอดขาย 2 พันกว่าคนวันนี้เหลือเงินอยู่ 3 ร้อยล้านบาท และมีปัญหาเยอะมาก ซึ่งหน่วยงานที่ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์หรือหน่วยงานอื่นส่วนใหญ่เห็นพ้องให้ยุติโครงการ
“นายชุมพลบอกกับที่ประชุม ครม.ว่าขณะนี้ได้สกรีนในส่วนของสมาชิกเพราะจาก 2 พันกว่าราย อย่างน้อยวันนี้มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีประมาณ 700 รายที่อาจจะไม่เข้าข่ายคุณสมบัติของการเป็นสมาชิก ซึ่งนายชุมพลย้ำว่าขณะนี้กระบวนการตรวจสอบยังดำเนินต่อไป ขณะนี้มีการปรับค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งในเรื่องปริมาณของบอร์ด พนักงานลงไปเรื่อยๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายขณะนี้อยู่ที่เดือนละประมาณ 20 ล้านบาท”นายวัชระ กล่าว
รองโฆษก กล่าวอีกว่า นายชุมพล กล่าวในที่ประชุมอีกว่าในขณะที่มีการร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลใหม่นั้นสมาชิกเดิมยังไม่ถูกตัดสิทธิ์หรือยกเลิก ยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติ
**อดีตบอสอีลิทค้าน
นายอุดม เมธาธำรงค์ศิริ รักษาการรองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อดีตรักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พรีวิเลจ คาร์ด กล่าวแสดงความมั่นใจว่า จะมีเอกชนสนใจเข้ามาดำเนินการแน่นอน เพราะอีลิท การ์ด ยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องให้วีซ่าฟรี 5 ปีที่ถือว่าคุ้มค่า โดยที่ผ่านเอกชนที่สนใจลงทุน คือ บริษัท การบินกรุงเทพ ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และมีกระแสข่าวว่าบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นเนล ก็สนใจเช่นกัน
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าไม่เห็นด้วยที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเพราะพิจารณาจากแผนการดำเนินงานแล้ว อีลิท การ์ด ยังเติบโตได้ และที่ผ่านมาได้ปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในองค์กรต่อเนื่อง หากดำเนินการต่อไปภายใต้แผนที่กำหนด จะส่งผลให้ อีลิท การ์ด ดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพแน่นอน
**เอกชนไชโยรัฐสั่งอีลิทพ้นอก
ทางด้านนายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ) และโฆษก สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย(เฟสต้า) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่ขายกิจการอีลิทการ์ดออกไป เพราะอยู่ไปก็สิ้นเปลืองงบประมาณของภาครัฐ ที่จะไปใช้อุ้มกลุ่มผู้มีเงิน ซึ่งภาคเอกชนท่องเที่ยวมีแนวคิดว่าต้องขายหรือยุบกิจการมาโดยตลอดอยู่แล้ว
ทั้งนี้มองว่าบริษัทอีลิทการ์ดนี้ยากที่จะฟื้นกลับมาโด่งดังเหมือนในอดีตได้ แม้จะเปลี่ยนไปเป็นของเอกชน เพราะชื่อเสียงและการทำงานที่ล้มไปแล้วจะฟื้นยาก และก็จะไม่มีความเป็นบัตรเทวดาอีกต่อไป แต่หากขายกิจการไม่ได้แล้วจะมาฝากไว้กับ ททท.นั้นเอกชนไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะบริษัทนี้รัฐไม่ควรจัดสรรงบประมาณมาอุ้มอีกต่อไป
**แอคทีฟแย้มสนใจซื้อกิจการ
นางสุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทแอคทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายบัตรอีลิทการ์ดรายใหญ่ กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลจะไม่กระทบต่อสมาชิกผู้ถือบัตร เพราะตอนนี้เชื่อว่าทุกคนเฝ้ารอแต่ว่าผลการตัดสินใจของรัฐบาลจะเป็นเช่นใด และถ้าเอกชนเป็นเจ้าของก็จะได้ไม่ถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับการเมืองให้วุ่นวายอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 6-7 ราย เคยชวนแอคทีฟให้ร่วมหุ้นเพื่อเข้าซื้อกิจการของอีลิทการ์ดอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้คงต้องกลับไปศึกษาก่อนว่า จะทำเช่นนั้นหรือไม่ โดยจะขอดูเงื่อนไขของรัฐบาลในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ ต่างๆจากภาครัฐ เช่น ฟรีวีซ่าตลอดชีวิต โดยต่ออายุทุก 5 ปี และเงื่อนไขอื่นๆ เพราะต้องให้แน่ใจก่อนว่าเมื่อซื้อกิจการไปแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆอีกแม้จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
โดยส่วนตัวมองว่าอีลิทการ์ดสามารถทำเงินได้จำนวนมาก หากมีนโยบายที่นิ่งพอ ก็สามารถเพิ่มราคาขายบัตรได้ อีกทั้งศักยภาพของสมาชิกที่มีอยู่และจะเป็นต่อไปในอนาคต เชื่อว่ากว่า 50% เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพด้านการลงทุนสูง แต่เรายังไม่ได้นำประโยชน์จากคนกลุ่มนี้มาใช้ให้เกิดกับประเทศ หากผู้ที่เข้าใจในศักยภาพตรงนี้มั่นใจว่า เมื่อรัฐบาลประกาศขายจะมีเอกชนสนใจซื้อแน่นอน
**บางกอกแอร์-คิงเพาเวอร์ไม่สนอีลิท
มล.นันทกา วรวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า เคยหารือกับผู้บริหารอีลิทการ์ด ว่าสนใจเข้าไปร่วมบริหารโครงการในรูปแบบการร่วมทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไปประกอบกับบริษัทได้ทบทวนก็ได้ล้มเลิกแนวคิดดังกล่าว เพราะบริษัทมองว่ายังไม่พร้อมที่จะรับภาระหนี้สินของอีลิทการ์ดประกอบกับเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลงบวกกับชื่อเสียงที่เสียหาของบริษัท ทำให้การทำตลาดเพื่อหาผู้ซื้อคงจะลำบาก
"ช่วงที่ทีพีซีปรับโครงสร้างองค์กร ก็เคยเข้าไปคุยกับผู้บริหาร เพราะเห็นว่าต้องการให้เอกชนเข้าไปบริหาร หรือเป็นที่ปรึกษา แต่ตอนนี้มองว่ามันเลยจากจุดที่จะเข้าไปดำเนินการแล้ว ก็คงไม่สนใจแน่นอน”
ทางด้าน นายสมบัตร เดชาพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทคิง พาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป กล่าวว่า จาก กระแสข่าวลือที่ว่า คิงพาวเวอร์ จะเข้าไปซื้อกิจการอีลิทการ์ดนั้นไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยมีแนวคิดดังกล่าวเลย
|
|
|
|
|