นายอาจิต เวนคาทารามัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า รถยนต์ของทาทาที่จะเปิดตัวภายใต้เงื่อนใขของโครงการอีโคคาร์หรือรถยนต์ประหยัดพลังงานของไทยที่บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอเข้าไปแล้วนั้น จะสามารถเปิดตัวเป็นทางการได้ในปี 2012 อย่างแน่นอน โดยจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car) รุ่นแรกของทาทาในการทำตลาดเมืองไทยอีกด้วย ทั้งนี้ แม้จะเปิดตัวหลังคู่แข่ง แต่บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำตลาดและได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า เนื่องจากเราผลิตตามความต้องการของผู้บริโภค โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล”
สำหรับรอบปีแรกของการเข้ามาทำตลาด ทาทาเปิดตัวรถยนต์ใหม่ในเซกเมนท์ปิกอัพถึง 3 รุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทย ไม่ว่าจะเป็น ซีนอน, ซีนอน ซีเอ็นจี และซีนอน ไจแอนท์ โดยมีเป้าหมายภายในระยะเวลา 5 ปีจะสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์ได้ 5%
ส่วนยอดขายรถของทาทาช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ทำได้กว่า 1,000 คัน แล้ว จึงคาดหมายว่าตลอดทั้งปีนี้จะสามารถทำยอดได้ถึง 1,500 คัน โดยปัจจุบันบริษัทฯ มียอดการผลิตรถเดือนละ 300-400 คัน ตามการสั่งของดีลเลอร์ที่ได้รับมาจากลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ จะไม่ให้ดีลเลอร์สั่งรถไปเก็บสต็อกเอาไว้
นายอาจิต กล่าวว่า ในการออกแสดงงานมหกรรมยานยนต์ บริษัทจะนำรถรุ่น ทาทา นาโน เข้ามาโชว์ ซึ่งถือเป็นการโชว์รถนาโนครั้งแรกในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวรถใหม่อีกหนึ่งรุ่นคือ “ซีนอน ไจแอนท์ ซูเปอร์ ซีเอ็นจี” เพื่อตอบสนองความนิยมของลูกค้าที่มีต่อรถปิกอัพใช้เชื้อเพลิงซีเอ็นจี และตอกย้ำความพยายามพัฒนารถยนต์เพื่อผู้ประกอบธุรกิจที่มีความต้องการรถปิกอัพเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะ
สำหรับทาทา ซีนอน ไจแอนท์ ซูเปอร์ ซีเอ็นจี ใช้เครื่องยนต์ 2.1 ลิตร DOHC หัวฉีดมัลติพอยต์ แรงม้าสูงสุด 115 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 175 นิวตันเมตร ที่รอบต่ำ 3,750 รอบต่อนาที โดยเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้กับเชื้อเพลิงซีเอ็นจีเพียงอย่างเดียวทั้งระบบ โดยรถรุ่นดังกล่าวได้รับการออกแบบติดตั้งถังก๊าซและยางอะไหล่ไว้ใต้กระบะท้าย จึงไม่กินพื้นที่บรรทุกของกระบะ สามารถใช้พื้นที่ในการบรรทุกสัมภาระต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
ด้าน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดย นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส รายงานยอดขายรถยนต์ 10เดือน(ม.ค.-ต.ค.2552) รวมทุกยี่ห้อ ว่ามีปริมาณ 419,755 คัน ลดลง 17.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง 175,552 คัน ลดลง 5.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 244,203 คัน ลดลง 25.0% รวมทั้งรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ในเซ็กเมนท์นี้มีจำนวน 211,377 คัน ลดลง 24.2%
“ยอดขายสะสม 10 เดือน ที่ลดลง 17.7% นั้น เป็นอัตราการเติบโตที่หดตัวน้อยที่สุดของปี ทั้งยังเป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในท้ายไตรมาส 3 ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ดำเนินการในครึ่งปีหลัง ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น”
สำหรับตลาดรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะมีปริมาณการขายดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ๆ ตลอดจนข้อเสนอพิเศษต่างๆ ที่แต่ละค่ายนำมาเสนอต่อผู้บริโภค เพื่อหวังบรรลุเป้าหมายทางการขายในช่วงสิ้นปี ประกอบกับราคาสินค้าการเกษตรที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการประกันราคาพืชผล ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน แต่อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
|