ผลพวงเศรษฐกิจ โลก 10 เดือนแรกปีนี้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมีมูลค่า 3.3 แสนล้านบาทลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การลงทุนตรงต่างประเทศหรือ FDI มีมูลค่า 1.57 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9 หมื่นล้านบาทแต่สัญญาณช่วงก.ย.-ต.ค.เริ่มขยับจำนวนโครงการยื่นสูงสุดรอบ 10 เดือน บอร์ดบีโอไอเตรียมอนุมัติ 3 โครงการมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท เผยผลสำรวจนักลงทุน ต่างชาติยันไม่มีการถอนลงทุนจากไทย
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยถึงยอด ขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ ในรอบ 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า มีโครงการยื่นขอทั้งสิ้น 930 โครงการคิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 330,000 ล้านบาทโดยหากเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนโครงการลดลงประมาณ 10% ส่วนมูลค่าการลงทุนลดลงประมาณ 9% โดยมูลค่าการลงทุนช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 367,000 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมมากสุดเป็น อุตสาหกรรม บริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุนรวม 180,600 ล้านบาท รองลงมาอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มี มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 47,400 ล้านบาท อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 39,700 ล้านบาท
ส่วนกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางหลังบีโอไอปรับเงื่อนไขและราคาจำหน่ายมีผู้สนใจยื่น 42 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 3,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ที่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมเพียง 3 โครงการ ลงทุนรวม 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการ ลงทุนสร้างคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮาส์
สำหรับยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากตรงจากต่างประเทศ(FDI) ช่วง 10 เดือน(ม.ค.-ต.ค.52) พบว่ามีมูลค่า 157,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียว กันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 247,962 ล้านบาทคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงประมาณ 90,000 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนประสบ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้การขยาย กิจการและการลงทุนใหม่ต้องชะลอออกไป
ทั้งนี้นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงสุด ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน มีมูลค่า 52,000 ล้านบาท รองมาคือ การลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า การลงทุนรวม 25,500 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่ารวม 12,300 ล้านบาท และกลุ่มประเทศในยุโรป มีมูลค่ารวม 18,400 ล้านบาท ตามลำดับ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แจ้งว่าในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนวันที่ 16 พ.ย. นี้จะมีการพิจารณา อนุมัติโครงการลงทุน 3 โครงการมูลค่ารวม 44,500 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1. บริษัท ชาร์พ แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตเครื่องปรับอากาศปีละประมาณ 850,000 เครื่อง ตู้เย็นปีละประมาณ 750,000 เครื่อง และเครื่องปรับคุณภาพอากาศ ปีละประมาณ 1,000,000 เครื่อง มูลค่าเงิน ลงทุน 2,600 ล้านบาท 2. บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 40,700 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 1,600 เมกะวัตต์ 3. บริษัท บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ลงทุนให้บริการ ทดสอบและสำรวจโครงสร้างของแท่นขุดเจาะและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,160 ล้านบาท
สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยประจำปี 2552 ซึ่งสำรวจระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2552 มีบริษัทฯ ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 576 ราย พบว่า ไม่มีนักลงทุนรายใดจะถอน การลงทุนออกจากประเทศไทย โดยนักลงทุน 58.9% ระบุว่า จะคงระดับการลงทุน ในไทยเท่ากับปัจจุบัน ในขณะที่นักลงทุน 24.7% จะขยายกิจการเล็กน้อย และนักลงทุน 5.2% มีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก เหตุผลในการตัดสินใจขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป คือ อัตราค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม สิทธิประโยชน์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุน ความพร้อม ของโครงสร้างพื้นฐานในไทย แรงงานที่มีฝีมือ ความพร้อมของวัตถุดิบและชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม พบว่า นักลงทุน 7.7% มีแผนลดขนาดการลงทุนลงเล็กน้อย และนักลงทุนประมาณ 3.6% จะลดขนาดการลงทุนในไทยลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และเสถียรภาพ ทางการเมืองของไทย
|