ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังพูดกันถึงเรื่องของ การพัฒนา SMEs ให้เป็นตัวจักรสำคัญใน
การนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติ ชื่อของ สำเริง เกรียงปรารถนา ก็น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของ
SME ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้วคนหนึ่ง เขามีแนวคิดต่อเรื่องนี้อย่างไร
เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
ขณะที่เทคโนโลยี ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญอยู่ในวงการธุรกิจทุกวันนี้
การลงทุน ด้านเทคโนโลยี สิ่งหนึ่งที่ทุกบริษัทไม่สามารถขาดได้ คือ เครื่องยูพีเอส
ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่จ่ายกำลังไฟฟ้าฉุกเฉิน กรณีที่เกิดไฟฟ้าดับ ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้
ปัจจุบันสามารถผลิต ได้โดยฝีมือคนไทย ภายใต้ยี่ห้อ "ลีโอนิค"
บริษัทลีโอนิค ผู้ผลิตยูพีเอส "ลีโอนิค" ก่อตั้งขึ้นโดยสำเริง เกรียงปรารถนา
เมื่อปี 2536 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท
สำเริง เกรียงปรารถนา ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ บริษัทลีโอนิค เขามีอดีตเป็น
ถึงผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล ตำแหน่งล่าสุดก่อนลาออก
เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนระหว่างสหกรุ๊ป
กับบริษัทไลอ้อน จากประเทศญี่ปุ่น
ก่อนลาออก แม้บทบาทของสำเริงในสหกรุ๊ปจะไม่โดดเด่นเหมือนกับผู้บริหารที่เป็นคนในตระกูล
"โชควัฒนา" แต่ก็ถือว่าเขามีบทบาทในการคุมกลไกการผลิตที่สำคัญของสหกรุ๊ป
เพราะบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) ทำหน้าที่หลักในการผลิตแชมพูและผงซักฟอก ซึ่งเป็นสินค้าธงนำของกลุ่ม
โดยเฉพาะผงซักฟอก "เปา"
สำเริงเป็นหลานชายแท้ๆ ของนายห้างเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งสหกรุ๊ปที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว
โดยเขาเป็นลูกชายคนที่ 2 ของเฮงหมง เกรียงปรารถนา พี่ชายต่างมารดาของ นายห้างเทียม
ซึ่งถือเป็น "โหงวฮก" หรือโชคทั้ง 5 ของสหกรุ๊ปในยุคเริ่มต้น
ช่วงปี 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่สหกรุ๊ป กำลังเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่ายในประเทศ
เป็นการร่วมทุนกับคู่ค้าตั้งโรงงานผลิตสินค้าในประเทศ สำเริงได้รับทุนจากญี่ปุ่น
ให้ไปศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว
เมื่อเขาเรียนจบ เป็นช่วงที่ไลอ้อนเพิ่งตั้งโรงงานในประเทศไทยได้ไม่นาน
นายห้างเทียมได้ส่งเขาเข้าไปฝึกงานอยู่กับบริษัทไลอ้อนที่ญี่ปุ่นระยะหนึ่ง
ก่อนกลับมาเมืองไทยในปี 2514 และเขาได้เข้าทำงานอยู่ในบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย)
มาตลอดจนได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่
ชีวิตการทำงานกว่า 20 ปีในสหกรุ๊ป ทำให้สำเริงได้สั่งสม ประสบการณ์ จนในที่สุดได้ตัดสินใจออกมาบุกเบิกธุรกิจของตัวเอง
"สมัยอยู่สหพัฒน์ เราได้เห็นอะไรมามาก เห็นทั้งการทำงาน การวางแผนงาน ในที่สุด
หัวใจมันเรียกร้อง มันสนุกที่จะได้มาทำอะไรของเราเอง" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"
ถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทลีโอนิค
"ผมจบด้านวิศวกรรม ชอบงานด้านเทคนิค มีบางคนบอกผมว่า ทำไมไม่ออกมาทำค้าขาย
ซื้อมาขายไปได้กำไรชัวร์ๆ แต่เขาไม่ได้เป็นวิศวกรอย่างเรา เราอยากลองของ
ร้อนวิชา"
ก่อนการตัดสินใจลาออกมาเปิดกิจการเป็นของตนเอง สำเริงใช้เวลาพิจารณาอยู่นานว่าสินค้าอะไรที่น่าจะมีอนาคตมากที่สุด
แต่ไม่ต้องลงทุนสูงมาก เพราะเป้าหมายของเขา ต้องการเริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ
ก่อน
"ผมตั้งใจว่า เมื่อออกจากสหพัฒน์แล้ว สิ่งที่เราจะไม่ทำคือ อาชีพเก่า เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นเหมือนก๋วยเตี๋ยวเรือ
ที่มีโกฮับ แล้วยังมีหลานโกฮับตามออกมา แต่สิ่งที่เราจะทำ ต้องเป็นสิ่งที่เราถนัด"
เขามีความเชื่อประการหนึ่งว่าการจะลงทุนทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องดูว่าผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด
เปิดช่องว่างอะไรเอาไว้บ้าง "เราต้องดูว่าสิ่งที่เราจะทำ ต้องเป็นสิ่งที่ยักษ์ใหญ่เขาไม่ทำ
หรือเขาสามารถทำได้ แต่มันไม่คุ้ม แต่หาก ให้เราซึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ ทำ มันคุ้ม
การที่ออกมาแล้วจะไปสู้กับยักษ์ใหญ่เลย มันก็เหมือนขี่จักรยานไปชนสิบล้อ
สุดท้ายก็เหลือแต่เศษเหล็ก"
ซึ่งประเด็นนี้ เขายอมรับว่าประสบการณ์ที่เคยอยู่ในสหพัฒน์ โดยเฉพาะช่วงต้นที่จะต้องต่อสู้กับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่จากต่างชาติ
เช่น คอลเกต ปาล์มโอลีฟ หรือลีเวอร์บราเธอร์ ที่เริ่มเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย
มีส่วนช่วยเขาในการตัดสินใจค่อนข้างมาก
ปี 2536 เป็นปีที่ระบบคอมพิวเตอร์ เพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทสูงในการทำธุรกิจ
ด้วยความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับเทคโนโลยีทำให้สำเริงคิดว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้
น่าจะเป็น สิ่งที่เขาถนัด แต่ด้วยความที่พัฒนาการของคอมพิวเตอร์มีการ เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนเกรงว่าจะตามไม่ทัน
เขาจึงมองไปที่อุปกรณ์ตัวอื่น
ในที่สุดเขาก็พบว่าในระบบคอมพิวเตอร์ทุกระดับ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องยูพีเอส
ซึ่งเป็นอุปกรณ์พาวเวอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และในอนาคตยูพีเอส จะกลายเป็นหัวใจสำคัญ
ของทุกบริษัทที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนในการทำงาน โดยเฉพาะในวงการตลาดหุ้น
และภาคการเงิน เพราะหากเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ในธุรกิจดังกล่าว
จะสามารถสร้างความปั่นป่วน และเสียหายให้เกิดขึ้นได้ทั่วทั้งวงการ
"ตอนนั้นผมมองว่า ยูพีเอสมีอนาคต เพราะต่อไปทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีเครื่องยูพีเอส
เพราะแม้ระบบไฟฟ้าบ้านเราจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่การมียูพีเอส
ก็เหมือนกับการซื้อประกัน เพราะทุกคนก็ต้องการความมั่นคง ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของระบบไฟฟ้า"
ที่สำคัญเทคโนโลยีของอุปกรณ์ชิ้นนี้ ยังสามารถพัฒนา ต่อไปได้ โดยไม่หวือหวาเหมือนกับคอมพิวเตอร์
และแม้ว่าในช่วงนั้น ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตเครื่องยูพีเอสใช้เองได้ แล้ว
แต่ยังไม่มีการพัฒนาเพียงพอ
บริษัทลีโอนิค จึงก่อตั้งขึ้นดำเนินการผลิตยูพีเอสออก มาจำหน่ายภายในประเทศ
เริ่มต้นจากพนักงานเพียง 9 คน ใช้เงินลงทุนขั้นต้นประมาณ 5 แสนบาท โดยสำเริงจะให้ความ
สำคัญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากที่สุด รองลงมาจากการวางสายการผลิต
"เราตั้งชื่อบริษัท และชื่อสินค้าเป็นชื่อเดียวกัน เพราะเราเป็นบริษัทเล็ก
เราไม่ต้องการให้ผู้บริโภคสับสน การมีชื่อเดียวทั้งสินค้าและบริษัท ทำให้เราต้องระมัดระวัง
ไม่ทำให้เสีย ชื่อ และให้ลูกค้าสามารถไว้ใจเราได้"
แนวคิดดังกล่าว ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สำเริงได้รับจาก ประสบการณ์กว่า
20 ปีที่อยู่ในสหพัฒน์ ซึ่งมีการผลิตสินค้าหลากหลายยี่ห้อ เพื่อนำออกมาทดลองตลาด
หากสินค้าแบรนด์ ใดออกมาแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ก็เลิกผลิต ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย
กับแนวทางนี้เท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในสหพัฒน์ ก็ยังมีด้านดีที่ ประทับอยู่ในจิตใจของสำเริง
เขายอมรับว่าในความรู้สึกส่วนตัว เขายังมีความผูกพันอยู่กับสหพัฒน์ค่อนข้างมาก
"ชื่อ "ลีโอนิค" คำว่า ลีโอ หมายถึง สิงโต ผมเคยอยู่ไลอ้อน จึงมาตั้งชื่อบริษัทเป็นลีโอนิค
เพื่อทำให้นึกถึงตลอดว่า ผมเคยอยู่ไลอ้อนมาก่อน"
การออกมาเปิดบริษัทลีโอนิค ในช่วงที่ระบบคอมพิว เตอร์กำลังขยายบทบาทเข้ามาในทุกจุดของภาคธุรกิจ
และเป็น ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในยุคเฟื่องฟู ประกอบกับการเน้นหนักในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
ทำให้ยูพีเอสของลีโอนิค ประสบความสำเร็จด้วยเวลาอันรวดเร็ว สามารถครองตลาดผู้ใช้ส่วนใหญ่ในประเทศได้ในระยะเวลาไม่นาน
หลังจากเปิดบริษัทมาได้ประมาณ 2 ปี ลีโอนิคก็เริ่มส่งยูพีเอสออกไปขายในตลาดต่างประเทศ
โดยมีตลาดอยู่ในประเทศย่านอาเซียน
ในปี 2543 ยูพีเอสที่ลีโอนิคผลิตได้ 70% จะป้อนตลาด ในประเทศ ที่เหลืออีก
30% เป็นการส่งออก ส่วนในปีนี้ สำเริง ได้วางแผนขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยจะไปเปิดตลาดในกลุ่ม
ประเทศยุโรปตะวันออก และออสเตรเลีย และสัดส่วนการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 50%
ปัจจุบันลีโอนิค มีกำลังการผลิตยูพีเอสเดือนละ 20,000 เครื่อง มีพนักงานเพิ่มขึ้นมาเป็น
200 คน เป็นพนักงานประจำ โรงงาน 130 คน ทำงานเพียงกะเดียว ซึ่งหมายถึงความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตขึ้นอีกในอนาคต
หากมีออร์เดอร์เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ สำเริงกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อขยายไลน์สินค้า โดยที่มองไว้จะเข้าไปในกลุ่มพลังงานทดแทน
โดยจะผลิตตัวแปลงพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นไฟฟ้า กระแสตรง ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อนำพลังงานมาใช้ภายในบ้าน
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับยูพีเอส
ในความรู้สึกของสำเริง เขามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาได้ทำในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)
ที่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่เขาได้เริ่มต้นขึ้นก่อนในจังหวะที่ดีกว่า
แม้ปัจจุบัน เขายังครองความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว อยู่ในบริษัทลีโอนิค
และยังสนุกอยู่กับการบริหารกิจการที่ กำลังค่อยๆ โตวันโตคืนอยู่ในขณะนี้
แต่สำหรับอนาคตแล้ว เขายังหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะปล่อยมือจากการบริหาร
และหากปัจจัยหลายๆ อย่างเกื้อหนุน เขาตั้งเป้าหมายว่าจะนำบริษัทลีโอนิค
เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในวันนี้ ถ้ามีใครถามสำเริง เกรียงปรารถนา เกี่ยวกับอนาคตของลีโอนิคแล้ว
เขาตอบได้เลยว่า "ผมอยากเห็นลีโอนิคอยู่ต่อไปอีก 100 ปี"