ศูนย์ข้อมูลฯชี้สัญญาณเก็งกำไรเริ่มกลับมา หลังเศรษฐกิจฟื้น ระบุคอนโดฯ 1-2 ล้านบาท พบนักลงทุนซื้อปล่อยเช่ามากถึง 10% เตือนเสี่ยงสูงเหตุตลาดห้องเช่ามีเพียงพอถึง 7 แสนหน่วย ห่วงเงินทุนไหลเข้าจากสิงคโปร์ –ฮ่องกง เข้ามาเก็งกำไรอสังหาฯในไทย หลังรัฐบาลทั้งสองประเทศคุมเข้ม ฟันธงปีหน้าไม่ฟองสบู่ แถมตลาดบ้านหรูยังทรุดต่อ
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. ) เปิดเผยว่า หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้นักลงทุนเริ่มกลับมาซื้อคอนโดมิเนียมราคา 1-2 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สามารถซื้อหาได้ง่าย ทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อลงทุนปล่อยเช่าได้ไม่ยาก
โดยขณะนี้บางโครงการมีสัดส่วนการซื้อเพื่อเก็งกำไรสูงถึง 10% จากก่อนหน้านี้ที่จะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงเป็นหลัก ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง เพราะอาจจะหาผู้เช่าไม่ได้อย่างที่คาดไว้ เนื่องจากตลาดเช่าที่เป็นคอนโดฯ และอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนสูงถึง 700,000 หน่วย ถือว่าเพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในอสังหาฯของสิงคโปร์ ฮ่องกงและจีน จนมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาประมาณ 15-40% โดยเฉพาะตลาดระดับบนทำให้ธนาคารกลางของฮ่องกง ต้องออกมาตรการจำกัดการลงทุนโดยกำหนดเพิ่มเงินดาวน์จาก 30% เป็น 40% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรเกินควรหลังจากที่ธนาคารโลก ออกมาเตือนเรื่องฟองสบู่ในสินทรัพย์ คือ ทองคำ หุ้น และอสังหาฯ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเมืองไทยนั้นเชื่อว่า ยังมีเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัจจัยกระทบต่อการลงทุน จึงยังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาซื้ออสังหาฯในระดับไฮเอนด์ และแม้ว่าตลาดอสังหาฯหลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว แต่สินค้าระดับไฮเอนด์คาดว่าจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นภายในปี 2553 เพราะกลุ่มเป้าหมายของตลาดระดับบน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติทางฝั่งยุโรป อเมริกา อังกฤษ ซึ่งกำลังซื้อยังไม่กลับเข้าสู่ตลาด
“ ทางศูนย์ข้อมูลฯเห็นว่า ปี 2553 คงไม่เกิดฟองสบู่อสังหาฯแน่ เพราะบ้านบีโอไอจะทำให้ตลาดแข่งกัน โดยหากสินค้าที่ราคาสูงจะปรับลงมาให้ใกล้เคียงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แต่สำหรับปี 2554 ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเกิดหรือไม่ เพราะจะมีเงินทุนไหลเข้ามาจากสิงคโปร์และฮ่องกงเข้ามาเมืองไทย ซึ่งเป็นสองประเทศหลักที่ราคาอสังหาฯเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินมาที่ไทยได้ “
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นแล้วสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะยังมีผลกระทบต่อตลาด เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่มีเงินสดอยู่ในมือ ไม่เหมือนยุคฟองสบู่แตก ที่ผู้ซื้อใบจองไม่พร้อมรับโอน แต่ยุคนี้ผู้ซื้อพร้อมรับโอน เพราะธนาคารและผู้ประกอบการต่างตรวจสอบลูกค้าอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ยังได้เปิดเผยข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์สำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล พบว่า มีการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯทุกประเภทรวมกันประมาณ 146,300 หน่วย ลดลง 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะประเภทที่อยู่อาศัยทั้งใหม่และมือสอง รวมกันประมาณ 107,600 หน่วย ลดลง 2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
จาก ที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นประเภทห้องชุดคอนโดฯประมาณ 38,200 หน่วย คิดเป็น 36% ของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน ประเภทบ้านเดี่ยว ประมาณ 22,600 หน่วย คิดเป็น 21% ประเภททาวน์เฮาส์ประมาณ 32,900 หน่วย คิดเป็น 31% ประเภทอาคารพาณิชย์ประมาณ 10,400 หน่วย คิดเป็น 10% ที่เหลือเป็นประเภทอื่น และสำหรับในส่วนที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคอนโดฯนั้น มีการโอนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9%
|