ถ้าเป็น 4-5 เดือนที่แล้ว มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ คงมีเวลาว่ายน้ำ ออกกำลังกายที่โรงแรมสุโขทัย
ริมถนนสาทร เป็นกิจกรรมยามว่างที่เขาทำเป็นประจำได้มากกว่านี้ แต่เพราะงานประจำที่รัดตัว
ทำให้สมาชิกประจำอย่างมิ่งขวัญต้องว่างเว้นกิจกรรมที่เขาตั้งใจจะทำจนแก่ มาแล้วหลายเดือน
"หยุดว่ายน้ำมา 4 เดือนกว่าๆ แล้ว" มิ่งขวัญบอกกับ "ผู้จัดการ" หลังจากลงจากรถโตโยต้า
Lexus สีดำคันหรู รถประจำตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส
มอบให้เป็นโบนัส
หลังเลิกงานที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส เขาจะดิ่งตรงมาที่นี่เพื่อว่ายน้ำออกกำลังกาย
ทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นที่ใช้ออกกำลังกายประจำทุกเย็น ยังถูกใช้เป็นสถานที่นัดหมายบุคคลต่างๆ
ในช่วงข้อต่อระหว่างสมัครเข้าเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ที่เขาเป็นตัวเต็งหนึ่ง
"ก่อนจะเข้าเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ผมไปที่นี่ทุกวัน ช่วงนั้นผมต้องพูดคุยกับคนเยอะมาก"
มิ่งขวัญบอกถึงสถานที่ที่มีความหมายต่อการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าเขาจะเดินไปไหน
พนักงานของโรงแรมยกมือไหว้ตลอดทาง เพราะส่วนใหญ่จะรู้จักเขาเป็นอย่างดี
แต่หลังจากขึ้นรับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนในการพลิกโฉมหน้าใหม่สถานีโทรทัศน์ช่อง
9 ให้กลายเป็น สถานีแห่งความทันสมัย หรือ Modernine เวลาที่หมดไปกับการทำงานที่แข่ง
กับเวลา ทำให้เขาไม่มีเวลามากนัก แต่ยังแวะเวียนมาบ้างเป็นครั้งคราว
"ผมทำงานตลอด 7 วัน เร็วที่สุดของผมคือกลับบ้าน 5 ทุ่มครึ่ง แต่มาตรฐานเท่ากันบางวันตี
1 ตี 2" มิ่งขวัญบอกถึงความทุ่มเทตลอดช่วง 4 เดือนกว่าๆ ของการเข้าไปทำงานใน อ.ส.ม.ท.
ที่มีเป้าหมายชัดเจน
นอกจากงานใหม่ที่เขาต้องทุ่มเทเวลาไปกับการพลิกฟื้นสถานีโทรทัศน์แห่งนี้แล้ว
มิ่งขวัญอยู่ระหว่างตกแต่งบ้านหลังใหม่ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี
บ้านหลังนี้ เป็นบ้านจัดสรรในหมู่บ้านปัญญา ถนนพัฒนาการ ที่มิ่งขวัญซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิมที่สร้างเป็นบ้านสไตล์ยุโรป
ทุบทิ้งนำมาสร้างใหม่ออกแบบสไตล์ Cottage เขาใส่ใจในรายละเอียด คุยกับมัณฑนากรเป็น
ประจำแต่ด้วยภาระหน้าที่งานที่รัดตัว ดูแลงานตกแต่งภายในได้เฉพาะแค่เสาร์และอาทิตย์
กำหนดเสร็จจึงล่วงเลยมาปีกว่า
แม้จะไม่ใช่บ้านหลังแรก เพราะเขามีบ้านที่ซื้อทิ้งไว้อีก 4 หลัง แต่ที่มาของบ้านหลังนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลายอย่างในชีวิต
มิ่งขวัญพูดถึงบ้านหลังนี้อย่างมีความสุข แม้จะไม่เปิดเผยมากนัก แต่ก็บอกความพิเศษของบ้านหลังนี้
ไม่ได้อยู่ที่สระว่ายน้ำ ซึ่งขณะนี้เสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้งาน แต่เป็นผนังสีขาวหลังคาสูงโปร่ง
ที่เขาตั้งใจออกแบบให้เป็นแกลลอรี่ และห้องอาหารเช้า เย็น ถูกแยกที่ แยกสัดส่วนออกจากกัน
แม้ว่าเขาไม่ขอเปิดเผยถึงจำนวนเนื้อที่ และราคาของบ้าน แต่น่าจะคาดเดาถึงความพิเศษได้ไม่ยาก
"บ้านไม่ได้สวย แต่เป็นเรื่องเป็นราว เวลานี้มีคนมาขอใช้บ้านเป็นที่เดิน แฟชั่น
ศิลปินบางคนขอเปิดบ้านแสดงรูปวาด" มิ่งขวัญบอก
บุคลิกส่วนตัวของมิ่งขวัญมีความอ่อนโยนสูง วัย 50 ปีที่ยังเป็นโสดของเขา พิถีพิถันในเรื่องการแต่งกายเป็นพิเศษ
มิ่งขวัญเชื่อว่านี่คือการลงทุนอย่างหนึ่งของเขากับอาชีพที่ต้องพบปะผู้คน รสนิยมการเลือกเสื้อผ้าเป็นเรื่อง
จำเป็น สีของชุดสูทที่ต้องเข้ากันได้กับสีของรองเท้า เข็มขัด ไม่น่าแปลกที่เขา
จะมีเนกไทอยู่มากมาย ผูก 6 เดือนได้ไม่ซ้ำกัน แต่เขาย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์เนมจากต่างประเทศ
"ไม่จำเป็นต้องเป็นของต่างประเทศ ถ้าสวย และชอบก็ซื้อ" แต่วันที่พบกับ "ผู้จัดการ"
เนกไทเส้นที่ใช้อยู่ในวันนั้นเป็นเส้นที่ซื้อมาจากประเทศอิตาลี และเสื้อเชิ้ตซื้อมาจากกรีก
อย่างไรก็ตาม การทำงานอยู่ในบริษัทข้ามชาติอย่างญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ ให้อำนาจกับคนใดคนหนึ่งอย่างเต็มที่
และเมื่อเข้ามาอยู่ในวงราชการ ทำให้มิ่งขวัญระมัดระวังในการพูดจา และไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงมากนัก
มิ่งขวัญเป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกในแผนกการตลาดที่บริษัทโตโยต้า
มอเตอร์ส ประเทศไทย ในเบื้องต้นเขาตั้งใจทำงานเพียงแค่ปีเดียว เพื่อเก็บเงินไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศ
และมีความหวังว่าจะร่ำเรียนไปถึงระดับดอกเตอร์ แต่เขากลับปักหลักอยู่ที่นี่ถึง
21 ปีเต็ม
10 ปีครึ่งที่อยู่ในแผนกการตลาดเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะวิชาความรู้ ทำให้มิ่งขวัญเข้าใจภาพของธุรกิจ
การตลาด และการเรียนรู้ความคิดของผู้คนจากการพบปะกับเจ้าของเอเย่นต์รถจำนวนมากมาย
อันเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในตำรา
"เอเย่นต์รถบางคนจบเบิร์กเลย์ บางคนแทบไม่มีความรู้ แต่ทุกคนมีวิธีคิดบางอย่างที่บอกว่า
เจอคนแบบนี้ เราต้องเป็นแบบนี้ เราได้ไปเจอไปฟังอะไรเยอะมาก ต้องนับว่าเป็นช่วงบ่มเพาะความรู้การตลาดอย่างแท้จริง"
บทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ การที่เขาถูกเลือกให้เป็นพนักงานยอดเยี่ยมด้านการตลาด
เป็นใบเบิกทางชั้นเยี่ยมของการไต่เต้าในองค์กรธุรกิจลักษณะนี้
ก้าวที่เป็นจุดเปลี่ยนและกลายเป็นบันไดหกให้กับเขาคือ การได้รับทาบทามจากรองประธานบริษัทโตโยต้า
มอเตอร์ส ที่เป็นชาวญี่ปุ่นให้ย้ายจากแผนกการตลาดไปดูงานด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อ
20 กว่าปีที่แล้วนั้นเป็นเพียงแค่แผนกเล็กๆ มีพนักงาน 4 คน เทียบไม่ได้กับแผนกฝ่ายการตลาด
และขายที่เป็นหัวหอกหลักของธุรกิจ แน่นอนว่าหลายคนอาจเลือกที่จะปฏิเสธ
"ผมไปคิด 3 วัน ปรึกษารุ่นพี่ๆ ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะบริษัทรถยนต์ เวลานั้นแผนกการตลาดใหญ่มาก
แผนกประชาสัมพันธ์แทบไม่มีใครรู้จัก" แต่มิ่งขวัญกลับเลือกที่จะย้าย "คิดแล้วว่าอยู่การตลาดได้ความรู้
แต่อยู่ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ผมได้เจอผู้คนเป็นการเปิดโลกออกไป"
การตัดสินใจของเขาในครั้งนั้น ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของเมืองไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น กำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนจำนวนคู่แข่งย่อมมากไปด้วย
การทำตลาดด้วยวิธีคิดในรูปแบบเดิมๆ ในภาวะที่ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น เช่น แคมเปญลดแลกแจกแถมไม่เพียงพออีกต่อไป
จำเป็นต้องก้าวเข้าสู่การตลาดแนวใหม่ ที่เป็นเรื่องของการสร้าง brand image และ
product image สร้างความจดจำให้กับตัวสินค้าและองค์กร เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
และนี่เองทำให้มิ่งขวัญมีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลง ในเชิงความคิดของการบริหารจัดการสมัยใหม่ในองค์กรข้ามชาติอย่างโตโยต้า
ซึ่งเป็นช่วงที่คำว่า brand image ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมธุรกิจของเมืองไทย ในยุคนั้น
หลังจากใช้เวลาศึกษางาน 2 เดือนเต็มในแผนกประชาสัมพันธ์ สิ่งที่เขาเลือกทำเป็นลำดับแรกคือ
ทำความรู้จักกับสื่อมวลชน "การรู้จักนักข่าวสำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่มีคนรู้จัก คุณไม่มีวันได้ลงข่าวแน่
ถามผู้จัดการคนเก่า ปกติส่งไป 10 ได้ลง 2 ข่าวก็ดีแล้ว"
แทนการเดินสายไปแนะนำตัวกับสื่อมวลชนทีละฉบับ มิ่งขวัญเลือกจัดงานแถลงข่าวแนะนำตัวเองต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก
ซึ่งเขาได้วิธีคิดมาจากการเปิดตัวศิลปินนักร้อง ปรากฏว่าวิธีคิดของเขาได้ผล เพราะหลังจากเปิดตัวในครั้งนั้น
ชื่อของมิ่งขวัญเริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปของสื่อมวลชน เป็นความสัมพันธ์อันดีที่เขารักษาไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
และนี่เป็นครั้งแรกที่เขารู้จักถึงคำว่า "ทำอะไรก็ตามต้องทำให้ดังด้วย"
ความสามารถในการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการตลาด ที่ถูกทำขึ้นภายใต้กิจกรรมและแคมเปญต่างๆ
สายสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชนที่มิ่งขวัญสามารถถ่ายทอดภาพลักษณ์ขององค์กร และผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นขึ้น
ทำให้ภาพการเป็นนักประชาสัมพันธ์ของเขาเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของยอดขายโตโยต้าในไทย
แคมเปญที่ประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับในระดับกว้างอยู่ในช่วงที่เขาเข้าเป็น
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ โตโยต้า ประเทศไทย เริ่มโครงการบริจาคหนังสือมือสอง
ทำในรูปแบบเดียวกับแคมเปญรถยนต์ โดยนำเอากลยุทธ์การตลาดและโฆษณาเข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งในแง่เครือข่ายรับบริจาค การชักจูงใจให้บริการ เช่นเดียวกับโครงการถนนสีขาว
การพิสูจน์ฝีมือด้านเดียวย่อมไม่ได้ ธุรกิจมีขึ้นย่อมมีลง ผลงานที่ทำให้ มิ่งขวัญได้รับการยอมรับในฐานะของผู้บริหาร
จึงเป็นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มิ่งขวัญถูกส่งให้มากู้สถานการณ์การตกต่ำของโตโยต้าที่หล่นวูบจาก
5 แสนกว่าคัน เหลืออยู่เพียงแค่ 1.4 แสนคัน ซึ่งเขาสามารถผลักยอดขายรถโตโยต้า เพิ่มขึ้น
34.2% ได้เป็นผลสำเร็จ
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เขากระโดดข้ามขั้นจากผู้อำนวยการฝ่าย ไปเป็นกรรมการบริหารโดยไม่ต้องเป็นกรรมการสมทบก่อน
นอกจากเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมากๆ แล้วยังทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้งานในระดับการบริหารองค์กร
ที่ทำให้เขาได้ใช้ประโยชน์ในเวลาต่อมา
นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่ในบริษัทโตโยต้าแล้ว มิ่งขวัญยังมีธุรกิจส่วนตัวหลายประเภท
ซื้อรถบรรทุกรับจ้างขนหินดินทรายขายให้กับหมู่บ้านจัดสรร ทำธุรกิจขายเพชรรัสเซีย
ซึ่งทำรายได้ให้เขามากกว่างานประจำ
ธุรกิจที่เข้ากันได้ดีกับความเป็นนักประชาสัมพันธ์และตัวตนของเขาก็คือ ธุรกิจปั้นดารา
ที่ทำมา 20 กว่าปีแล้ว นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับเขา ยังทำให้เขาเป็นเจ้าของฉายา
"Image maker" และกลายเป็นเจ้าของผับชื่อ ท็อกซิก ที่โด่งดังมากๆ ของวัยรุ่นขาเที่ยว
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
"ในเมื่อผมขายรถยนต์ได้ตั้งเยอะแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะมาขายคน เพราะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์
สบู่ ยาสีฟัน หรือคน ก็มีวิธีคิดของการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่แตกต่างกัน เป็นงานอดิเรกที่ทำเงินให้ผมมาก
ดารารู้จักเกือบทุกคน ผมเคยนั่งดูโทรทัศน์ กดรีโมตไป ดาราที่ผมปั้นขึ้นมา เล่นชนกันเกือบทุกช่อง"
มิ่งขวัญเปิดเผยถึงที่มาของการขยับจากการสร้างภาพลักษณ์รถยนต์มาเป็น "คน" ที่มาจากความสำเร็จในการสร้างยอดขายให้กับ
โตโยต้า บวกกับการได้อ่านหนังสือของฟรานซิสฟอท คอร์ปโปล่า ผู้สร้าง The Outsider
วิลลี่ แมคอินทอช, คัทลียา แมคอินทอช, จอห์นนี่ แอน โฟเน่, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง,
วรุฒ วรธรรม, ดอม เหตระกูล, ปีเตอร์ คอปไดเรนดอน คือ ส่วนหนึ่งของผลงานการเป็นผู้ปั้นดารา
ที่มีชื่อเสียงและรายได้เป็นการันตี
ธุรกิจนี้ โดยใช้วิธีคิดของการสร้างภาพลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ชื่อเสียงของความเป็น
image maker ของเขายิ่งเด่นชัดมากขึ้นในอีกมิติหนึ่ง
ผลงานที่สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เข้าไปช่วยงาน
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวด้วยแคมเปญที่เขาถนัด
งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ เทศกาลตรุษจีนที่เยาวราช เทศกาลดนตรีที่พัทยา ที่เขานำมาใช้อย่างเห็นผล
นับเป็นการเพิ่มประสบการณ์ในมุมกว้าง ที่ได้ประสานงานกับหน่วยงานจำนวนมาก และความ
สัมพันธ์ในระดับลึกที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการขยับเข้าสู่การบริหารองค์กรในระดับรัฐวิสาหกิจ
ที่เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ย่อมมีความหมายมากกว่าการเป็นนักการตลาด และประชาสัมพันธ์เหมือนที่แล้วมา
"ผมคิดว่าผมพอแล้ว หาเงินได้ตั้งเยอะแล้ว ถึงเวลาที่จะเอาประสบการณ์ชีวิตมาทำประโยชน์ให้ประเทศ
คิดไว้ตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้วว่า อยากไปทำงานที่สร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศชาติ
ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ยังไม่มี หน่วยงานดูแลชัดเจน"
เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน วันเซ็นสัญญารับตำแหน่งในวันที่ 17 กรกฎาคม 2544 เป็นวันที่มิ่งขวัญเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
เขาใช้เวลาศึกษางานของ อ.ส.ม.ท. นอกจากงานวิจัยจำนวนมากแล้ว แผนวิสาหกิจตั้งแต่บรรทัดแรกจน
บรรทัดสุดท้าย
4 เดือนนับจากวันนั้นคือกำหนดการ kick off ของการแปลงโฉมสถานีโทรทัศน์ช่อง 9
ไปสู่ความเป็นโมเดิร์นไนน์ทีวี ที่ต้องปรากฏโฉมใหม่สู่สาธารณชน
เป็น 4 เดือนที่มีความหมายในการเรียนรู้ของมิ่งขวัญ แม้ว่าเขาจะเรียนรู้พลังของสื่อโทรทัศน์
ใช้ประสบการณ์การตลาดในเชิงรุก สร้างและการปรุงแต่งช่องรายการให้มีสีสัน แต่สิ่งที่มิ่งขวัญต้องเรียนรู้คือ
เนื้อหาเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เขายังต้องเรียนรู้ต่อไป