Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤศจิกายน 2552
ระบบสถาบันการเงินใน สปป.ลาว             
โดย รับขวัญ ชลดำรงกุล
 


   
search resources

Banking and Finance
Laos
Law
Greater Mekong Subregion




ในฉบับก่อนหน้านี้ ดิฉันได้เขียนถึง 5 คำควรรู้สำหรับการลงทุนใน สปป.ลาวมาแล้ว ในฉบับนี้ดิฉันจะมุ่งเน้นที่การนำเสนอภาคส่วนของธุรกิจหนึ่งซึ่งกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดภาคส่วนหนึ่งใน สปป.ลาว ซึ่งได้แก่ ระบบสถาบันการเงินใน สปป.ลาว ซึ่งรวมทั้งส่วนของระบบธนาคารพาณิชย์ บริษัทไฟแนนซ์ แผนการในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ใน สปป.ลาว ทั้งในแง่ของระบบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแผนการในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในทุกด้านของ สปป.ลาว

- รูปแบบของสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว

รูปแบบของสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก คือรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นภาคส่วนของสถาบันการเงินที่มีการดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน และรูปแบบของบริษัทจัดไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาบันการเงินที่เพิ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นอย่างจริงจังในเวลาไม่นานมานี้

1. ธนาคารพาณิชย์

ในปัจจุบันมีการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารร่วมทุนของประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารลาวเวียดนาม หรือสาขาของธนาคารต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารจากไทยซึ่งมีเกือบครบทุกธนาคารก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย เป็นต้น ธนาคารลงทุนที่เป็นสาขาของธนาคารจากประเทศเกาหลี อินโดนีเซียก็มีจำนวนมาก นอกจากธนาคารที่เป็นการลงทุนจากภายนอกประเทศแล้ว ธนาคารของรัฐบาล สปป.ลาวเองก็มีการขยายตัวมากขึ้น จากเดิมมีเพียงธนาคารการค้าต่างประเทศ ปัจจุบันมีการจัดตั้งธนาคารของรัฐเพิ่มขึ้นอีกเช่น ธนาคารลาวพัฒนา

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นี้ จากการศึกษาแหล่งข้อมูลทางด้านสถิติที่ทางธนาคารแห่ง สปป.ลาวได้จัดทำสำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธนาคารนั้น ปัจจุบันมีธนาคารต่างๆ เกิดขึ้นมากมายถึงเกือบสิบกว่าธนาคาร

สำหรับเหตุผลของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น จากการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมภายใน สปป.ลาวเองแล้วนั้น ดิฉันคิดว่ามีปัจจัยหลักมาจากบทบาทที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์สองประการ คือ

บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในแง่มุมของการเป็นแหล่งการลงทุนของประชาชนของ สปป.ลาว การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนสำหรับประชาชนของ สปป.ลาว ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันการจัดตั้งตลาด หลักทรัพย์ของ สปป.ลาวนั้นยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา ยังไม่ได้มีการดำเนินการแปรสภาพบริษัทที่ลงทุนใน สปป.ลาว ให้มีความพร้อมสำหรับการจดทะเบียนออกหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ และกฎหมายของ สปป.ลาว ในปัจจุบันยังขาดความชัดเจนในส่วนของระบบการดำเนินการในทางปฏิบัติที่แท้จริงสำหรับการที่จะให้บริษัทต่างๆ ออกหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นทุน หรือหุ้นกู้ เพื่อเสนอขายแก่ประชาชนในวงกว้าง

ประกอบกับภายใต้หลักกฎหมายของ สปป.ลาว การเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินการธุรกิจอยู่ใน สปป.ลาวนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระเท่าที่เป็น แตกต่างจากระบบกฎหมายบริษัทภายใต้กฎหมายไทย ที่เพียงทำการซื้อขายกันและเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเท่านั้น ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต้องผ่านขั้นตอนการได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐบาลค่อนข้างมาก เนื่องจากหลักการ Project-based และนโยบายของรัฐบาลที่การอนุญาตให้มีการประกอบกิจการหรือโครงการนั้น จะเป็นการออกให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะเชื่อถือในความสามารถของนักลงทุนแต่ละคน การเปลี่ยนผู้ดำเนินโครงการจึงต้องมีการแจ้งให้รัฐบาลรับทราบและอนุญาตก่อนจึงจะสมบูรณ์

ด้วยปัจจัยความยุ่งยากและความไม่สมบูรณ์ในการลงทุนด้วยรูปแบบอื่นๆ การลงทุนเพียงรูปแบบเดียวเท่าที่มี ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนชัดเจน สำหรับประชาชนในประเทศย่อมหนีไม่พ้นการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ใน สปป.ลาวก็ให้ดอกเบี้ยที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเสนอให้

บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในแง่มุมของการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เนื่อง จากในปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวจำนวนมาก เมื่อมี การลงทุนย่อมต้องมีการระดมทุน สำหรับวิธีการในการระดมทุน โดยหลักย่อมมี 2 รูปแบบ คือ การลงทุนจากผู้ถือหุ้น และการกู้ยืมเงินจากภายนอกประเทศ ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว ได้มีการเปิดช่องให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว สามารถกู้ยืมเงินก่อหนี้ได้ในอัตราส่วน 3 ส่วนต่อการลงทุนจากผู้ถือหุ้น 1 ส่วน สำหรับวิธีการในการระดมทุนที่นักลงทุนจำนวนมากที่มาลงทุนใน สปป.ลาวทำคือ การกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ

การกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของธนาคารที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หรือเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศนั้น มีข้อได้เปรียบที่สำคัญกว่าการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ภายนอกประเทศโดยตรงในหลายด้าน ดังเช่นที่ดิฉันได้กล่าวถึงในเดือนก่อน แล้วว่าหากเป็นการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศต้องมีการดำเนินการขออนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาวก่อน จึงจะกู้ยืมได้ โดยจะต้องมีการส่งร่างสัญญากู้ยืมที่จะทำกับธนาคารต่างประเทศมาให้ธนาคารแห่ง สปป.ลาวพิจารณาก่อนการลงนามระหว่างคู่สัญญา หากไม่ได้รับอนุญาตนักลงทุนนั้นย่อมไม่สามารถกู้ยืมเงินจากภายนอกประเทศได้ แม้ว่าจะได้รับการอนุญาตก็ต้อง ใช้ระยะเวลานานในการรอขั้นตอนการอนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว เป็นต้น

แตกต่างจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมาย ของ สปป.ลาวซึ่งทำได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัด

นอกจากข้อได้เปรียบในมุมของนักลงทุนแล้ว ธนาคารที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวซึ่งปล่อยกู้ให้แก่นักลงทุนที่ลงทุนใน สปป.ลาวเองนั้น ยังมีข้อได้เปรียบเหนือธนาคารต่างประเทศ ที่ปล่อยกู้ให้แก่นักลงทุนรายเดียวกันอีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างหลักประกัน การกู้ยืมเงินของนักลงทุนที่มาลงทุนใน สปป.ลาวให้แก่ธนาคารเหล่านั้น

กล่าวคือภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาว การสร้างหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินซึ่งเช่ามาจากรัฐบาลนั้น กฎหมายอนุญาตโดยหลักให้ก่อขึ้นได้เฉพาะ เพื่อประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวเท่านั้น หากจะสร้างหลักประกันให้กับธนาคารที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาวต้องมีการดำเนินการขอความยินยอม และการอนุญาตจากรัฐบาลของ สปป.ลาวเฉพาะต่างหาก

การเจรจาเพื่อขอรับความยินยอมและการอนุญาตจากรัฐบาลนั้นสร้างความยุ่งยากและใช้เวลาค่อนข้างมากในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการลงทุนที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ขนาดที่จะได้รับการยกเว้นกฎหมายจากสภาแห่งชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการในการสร้างหลักประกันรูปแบบนี้ใน สปป.ลาว นั้นถือเป็นสิ่งใหม่ และยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ค่อนข้างนาน

ด้วยปัจจัยความสะดวกกับทั้งนักลงทุน และประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวเองที่มีมากกว่า การเป็นธนาคารที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว ดังที่กล่าวมาแล้ว ธนาคาร พาณิชย์จากต่างประเทศจำนวนมาก จึงตัดสินใจจัดตั้งสาขา หรือลงทุนตั้งบริษัทย่อยใน สปป.ลาวจำนวนมากขึ้น

2. บริษัทจัดไฟแนนซ์ (Finance Company) นอกเหนือจากรูปแบบของธนาคารพาณิชย์แล้ว ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว มีการพัฒนาอนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทไฟแนนซ์ขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจการซื้อขายรถยนต์และเครื่องจักรต่างๆ ขึ้นอีก โดยหลักการในการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวนั้นได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งตั้งแต่ปี 1999 แล้ว และในปัจจุบันจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองและส่งเสริมสถาบันการเงินของธนาคารแห่ง สปป.ลาว พบว่ามีการจัดตั้งบริษัทไฟแนนซ์ขึ้นมากพอสมควร ส่วนมากจะเป็นการลงทุนใน สปป.ลาวมากกว่าการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่งด้วยกัน

การจัดตั้งบริษัทจัดไฟแนนซ์นี้เพิ่ง ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในระยะหลังนี้ เนื่องจากในสมัยก่อนการซื้อขายรถยนต์ และเครื่องจักรต่างๆ ของประชาชน สปป. ลาวมักนิยมจ่ายเงินสดก้อนเดียวมากกว่าการดำเนินการจัดไฟแนนซ์ หรือผ่อนชำระ แต่ในระยะหลังได้มีการนำเสนอรูปแบบการจัดไฟแนนซ์ หรือการผ่อนชำระเข้าสู่ระบบ สร้างอำนาจซื้อให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น รูปแบบของบริษัทจัดไฟแนนซ์จึงถือว่าเป็นสถาบันการเงินอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

ปัญหาสำคัญของการจัดตั้งบริษัทจัดไฟแนนซ์ใน สปป.ลาวนั้นเกิดมาจากการขาดความชัดเจนในกรอบกฎหมาย ในด้านของการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้ง และข้อบัญญัติบางส่วนในดำรัสค่อนข้างสับสน ต้องอาศัยการตีความค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของรูปแบบการดำเนินธุรกรรมและการบังคับหลักประกัน ในกรณีมีการผิดนัดตามสัญญาที่ได้มีการจัดไฟแนนซ์ ทำให้มีความจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงดำรัสฉบับดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่คาดว่า ดำรัสที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทจัดไฟแนนซ์จะชัดเจนมากขึ้นไม่เกินต้นปีหน้า

- หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลระบบสถาบันการเงินทั้งหมดภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว

ภายใต้กฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้มีการมอบอำนาจภายใต้กฎหมายดังกล่าวให้ธนาคารแห่ง สปป.ลาวเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบการจดทะเบียนจัดตั้งสถาบันการเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทจัดไฟแนนซ์ควบคุมการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบของสถาบันการเงินดังกล่าวและออกกฎระเบียบ เฉพาะสำหรับการประกอบกิจการให้ชัดเจนขึ้นจากกฎหมายว่าด้วยธนาคารธุรกิจ ซึ่งควบคุมการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ และดำรัสว่าด้วยการเช่าสินเชื่อ ซึ่งควบคุมการดำเนินการของบริษัทจัดไฟแนนซ์

โดยเป็นผู้ควบคุมระบบนโยบายเงินตราของประเทศทั้งระบบ เป็นผู้อนุมัติการตั้งสถาบันการเงินต่างๆ เป็นผู้กำหนด กรอบการเสนออัตราดอกเบี้ยต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ ควบคุมการกำหนดเงินสำรองสะสมของแต่ละธนาคาร รักษาอัตราส่วนการรับฝากเงินและการให้กู้ยืม และมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและบริหารกองทุนปกป้องผู้ฝากเงิน เพื่อคุ้มครองการฝากเงิน ซึ่งถือว่าเป็นระบบการปกป้องผู้ฝากเงินที่ค่อนข้างทันสมัยเลยทีเดียว

นอกจากธนาคารแห่ง สปป.ลาวจะรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการคุ้มครอง และควบคุมสถาบันการเงินในแง่ของระบบ แล้ว ธนาคารแห่ง สปป.ลาวยังมีการจัดตั้งหน่วยงานย่อยภายใต้การควบคุมของธนาคารในการที่จะรับผิดชอบควบคุมการหมุนเวียนของเงินตราในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อป้องกันการฟอกเงินอีกด้วย นโยบายการป้องกันการฟอกเงินของ สปป.ลาวนั้นเป็นความรับผิดชอบหนึ่งของธนาคารแห่ง สปป.ลาวที่กำลังได้รับการพัฒนาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ภายใต้ดำรัสว่าด้วยการต้านการฟอกเงินที่ออกและนำใช้ตั้งแต่ปี 2006 มีการกำหนดหน่วยงานสถาบันที่มีหน้าที่รายงานที่มีหน้าที่หลักในการแจ้งธนาคารแห่ง สปป.ลาวทราบ กรณีมีเหตุการณ์ธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติต่างๆ

นิยามของหน่วยงานสถาบันที่มีหน้าที่รายงานนี้ครอบคลุมเครือข่ายค่อนข้างกว้าง ไม่จำกัดเพียงสถาบันการเงิน แต่รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาทั้งที่ปรึกษาทางบัญชีและที่ปรึกษากฎหมาย ระบบการคุ้มครองการต่อต้านการฟอกเงินของ สปป. ลาว ถือว่าได้รับการจัดตั้งปฏิบัติพอสมควร และถือว่าได้รับการยอมรับค่อนข้างมากในระดับนานาชาติเลยทีเดียว

กล่าวโดยสรุป ธนาคารแห่ง สปป. ลาวมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการดำเนิน การของสถาบันการเงินต่างๆ ใน สปป.ลาว ไม่แตกต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ว่าความซับซ้อนในการควบคุมนั้นอาจต่ำกว่า เพราะรูปแบบธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาวนั้นยังมีค่อนข้างน้อย

- กฎหมายว่าด้วยธนาคารธุรกิจ

กฎหมายว่าด้วยธนาคารธุรกิจที่ออก มาในปี 2006 มุ่งเน้นที่จะกำหนดหลักการและระเบียบการบริหาร การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย สปป.ลาว โดยนิยามของคำว่า "ธนาคารพาณิชย์" ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้นครอบคลุมวิสาหกิจทั้งหมดที่จัดตั้งขึ้น ดำเนินธุรกิจในด้านการระดมเงินฝาก การให้สินเชื่อ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

การเสนอขออนุญาตตั้งธนาคารพาณิชย์นั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนด เอกสารที่ต้องเสนอเพื่อขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไว้ชัดเจน โดยจะมีการพิจารณาในส่วนของประสบการณ์การบริหารงานธนาคารพาณิชย์ของนักลงทุนที่เสนอลงทุนเป็นหลัก ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะเป็นผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวในการออกใบอนุญาตการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ โดยในขั้นแรกธนาคารแห่ง สปป.ลาวจะออกใบอนุญาตตั้งธนาคารชั่วคราวให้ก่อน และภายหลังหากนักลงทุนดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การจัดตั้งบริษัทให้ถูกต้อง ได้รับใบอนุญาตการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ได้มีการนำทุนจดทะเบียนเข้าบริษัท การชำระค่าหุ้นของผู้ถือหุ้น การจัดตั้งระบบการบริหารงานให้ สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้แล้ว ธนาคารแห่ง สปป.ลาวจะดำเนินการออกใบอนุญาตตั้งธนาคารถาวรให้ในภายหลัง ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารถาวรนั้นจะสามารถใช้ได้ตลอดการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวเลย

ภายใต้กฎหมายว่าด้วยธนาคารธุรกิจได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ตั้งแต่ทุนจดทะเบียน ซึ่งต้องมีทุนจดทะเบียนต่ำสุดมากกว่า 5,000,000 ล้านกีบ ต้องมีการส่งกฎระเบียบของธนาคารพาณิชย์นี้ให้แก่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ตรวจสอบให้ความเห็นชอบรับรองก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้ได้สมบูรณ์ นอกเหนือจากที่ต้องส่งกฎระเบียบบริษัทให้แก่กระทรวงแผนการและการลงทุนพิจารณาตามหลักการปกติแล้ว นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องได้มีการจัดรูปแบบองค์กรให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด เช่น สัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกำหนดว่าห้ามผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ใดเกินกว่าร้อยละ 10 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาวก่อน

ธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ธุรกิจทางด้านธนาคารทั่วไป และธนาคารด้านการเงินอื่นๆ เช่น การออกหลักทรัพย์ การเป็นตัวแทนทางด้านการเงิน ธุรกิจประกันภัย ที่ปรึกษาด้านการเงิน เป็นต้น

สุดท้าย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยธนาคารธุรกิจนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดต้องดำเนินการให้โปร่งใส ต้องมีการส่งรายงานแก่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว และต้องมีการนำส่งรายงานงบการเงินของธนาคารให้แก่ประชาชนรับทราบและตรวจสอบได้

- การดำเนินการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว

สปป.ลาวมีนโยบายที่จะจัดตั้งตลาด หลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว เพื่อพัฒนาระบบ การเงินโดยรวมและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้สูงสุด โดยแผนการดำเนิน การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์นี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเกาหลี และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานนานาชาติ เช่น ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย ทั้งทางด้านความรู้ความชำนาญและทางด้านแหล่งเงินทุน

ปัจจุบันการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ แห่ง สปป.ลาวนี้เป็นแผนงานหนึ่งที่ธนาคาร แห่ง สปป.ลาว รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาศึกษา โดยในระยะแรกนี้ธนาคารแห่ง สปป.ลาวมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาบริษัทที่มีความพร้อมที่จะจดทะเบียนเสนอ ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เป้าหมายของบริษัทที่จะเสนอขายหลักทรัพย์เป็นอันดับแรกคือบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprises) ซึ่งมีอยู่จำนวนมากพอสมควร แต่ทั้งนี้ต้องมีการปรับปรุงการบริหาร การจัดระเบียบรายงาน ต่างๆ โดยเฉพาะรายงานด้านการเงินของบริษัทเหล่านี้อีกค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ปัญหาหลักของการเสนอขายหลักทรัพย์ของบริษัทรัฐวิสาหกิจเหล่านี้คือ ความเชื่อมั่นของบริษัทเหล่านี้ และการบริหารจัดสรรเงินทุนของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากทรัพย์สินทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจ และเงินรายได้ที่ก่อได้ของรัฐ วิสาหกิจทั้งหมดนี้ ถูกตีความว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐจึงต้องนำไปรวมในบัญชีงบประมาณก่อน ภายหลังจากนั้นจึงจะสามารถดำเนินการจัดสรรออกไปให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลอื่นได้ การสร้างหลักประกันเหนือหลักทรัพย์ที่จะออกของรัฐ วิสาหกิจเหล่านี้จึงถือว่าทำได้ลำบาก เพราะอุปสรรคทางด้านกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินรัฐและงบประมาณรัฐ ซึ่งในขณะนี้ทางรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ก็ให้ความสนใจกับประเด็นนี้และพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่

บริษัทอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทางรัฐบาลลาวอยากให้มีการนำเสนอขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ คือบริษัทที่เข้ามาดำเนินโครงการสัมปทานขนาดใหญ่ๆ ใน สปป.ลาว เช่น บริษัทที่เข้ามาดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ แต่ปัญหาหลักของการออกหลักทรัพย์ของบริษัทประเภทนี้คือนโยบายการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศนั้น การมอบสิทธิในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใด มารับสัมปทานนั้นเป็นไปในลักษณะของ Project-based company ซึ่งเป็นการให้สิทธิแต่ผู้เดียวแก่นักลงทุนนั้นๆ ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ถือหุ้นจึงเป็นไปได้ยาก ต้องผ่านขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากรัฐบาลค่อนข้างมาก ประกอบกับข้อจำกัดทางด้านระยะเวลาการดำเนินการของบริษัทผู้รับสัมปทานเหล่านี้ ซึ่งทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 25-30 ปีเท่านั้น

แม้ในปัจจุบันการจัดตั้งตลาดหลัก ทรัพย์นั้นจะมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก แต่รัฐบาลแห่ง สปป.ลาวก็ได้ดำเนินการพัฒนาที่สำคัญ ด้วยการออกระเบียบการว่าด้วยการออกหลักทรัพย์ของวิสาหกิจขึ้นในปลายปี 2008 ซึ่งนำหลักการทั้งการออกหุ้นทุนและหุ้นกู้ รวมถึงระบบ Script-less มาใช้กับการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชนต่างๆ ภายใต้ระเบียบการดังกล่าว การที่บริษัทใดจะเสนอขายหลักทรัพย์ ได้นั้น บริษัทดังกล่าวต้องมีการบริหารที่ดีมีทุนจดทะเบียนต่ำสุด 200 ล้านกีบ โดยต้องเสนอแผนการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวมายังธนาคารแห่ง สปป.ลาว เพื่อพิจารณาอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์ แต่ระเบียบการดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีปัญหาในด้านของระบบการดำเนินการหลักการปฏิบัติอยู่ค่อนข้างมาก

จากการพิจารณาระบบกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของระบบสถาบันการเงิน ทั้งในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ บริษัทจัดไฟแนนซ์ และการดำเนินการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาวแล้ว จะเห็นได้ว่าระบบกฎหมาย ของ สปป.ลาวกำลังพัฒนาเพื่อให้สอด คล้องกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยการศึกษาและเรียนรู้ จากประสบการณ์ของเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการลงทุน จากต่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยในปี 2010 ถึง 2011 สปป.ลาวมีแผนการที่จะพัฒนาระบบของตลาดหลักทรัพย์ได้สมบูรณ์ เมื่อถึงเวลาที่ระบบสถาบันการเงินพัฒนาสมบูรณ์แบบเศรษฐกิจของ สปป.ลาว คงจะเข้าสู่ช่วงเวลาก้าวกระโดดแน่นอน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us