|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นับตั้งแต่ CIMB เข้าซื้อกิจการของไทยธนาคารจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทย ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 6 พันล้านบาท จังหวะก้าวของ CIMB สถาบันการเงินซึ่งมีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสถาบันการเงินในกลุ่ม ASEAN ที่ดำเนินผ่าน CIMB Thai กำลังสะท้อนมิติที่เกี่ยวเนื่องและสอดรับกับโครงข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาคที่น่าสนใจยิ่ง
การเปิดตัวบัตร CIMB Preferred ของ CIMB Thai เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การเป็นบัตรซึ่งสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเครือข่ายสาขารวมกว่า 1,150 สาขาของ CIMB ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค และนับเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดใน ASEAN บ่งบอกเป้าหมายของ CIMB ที่ต้องการเป็นสถาบันการเงิน ระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน CIMB กำลังปรับเปลี่ยนสถานะของ CIMB Thai จากสถาบันการเงินที่ขาดทุนต่อเนื่อง มาสู่การเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนการลงทุนของ CIMB ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน หลังจากที่ CIMB เข้ามามีอำนาจในการบริหารและผนวกสถาบันการเงินแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย
กรณีดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดจากผลประกอบการของ CIMB Thai ในไตรมาส 3 ของปี 2009 ที่สามารถบันทึกผลกำไรรวมเป็นเงินกว่า 461 ล้านบาท จากที่มีผลประกอบการขาดทุนรวมกว่า 246 ล้านบาทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนศักยภาพความสามารถและวิธี การบริหารของ CIMB ได้อย่างน่าสนใจ
ท่วงทำนองของ CIMB Thai ที่พยายามปรับลดสัดส่วนของเงินฝากจากเดิมที่มีอยู่ในระดับ 1.4 แสนล้านบาทให้เหลือเพียง 1.1 แสนล้านบาทภายในสิ้นปี 2009 เพื่อเป็นการตัดลดต้นทุนภาระดอกเบี้ย ขณะเดียวกันก็พยายามเร่งปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เปิดให้เห็นมิติของเงินทุนที่สถาบันการเงินแห่งนี้กำลังบริการจัดการ
การประกาศผลกำไรและเป้าหมายการลดยอดเงินฝาก เพิ่มวงเงินสินเชื่อของ CIMB Thai เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประกาศขายอาคารสำนักงาน CIMB Thai ที่สาทรซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวน การในปลายปีนี้
"ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน CIMB มุ่งหมายที่จะใช้เงินทุนให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารงบดุลเพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อและสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการขายอาคารดังกล่าวจะทำให้ CIMB Thai สามารถกระชับการบริหารได้จากสำนักงานหลังสวน และเป็นการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป" สุภัค ศิวะรักษ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ CEO ของ CIMB Thai ระบุ
ขณะเดียวกัน วิสัยทัศน์ของ CIMB ที่ต้องการเป็น "Southeast Asia's Most Valued Universal Bank" ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูแต่จับต้องไม่ได้ หากกำลังดำเนินไปอย่างจริงจังและในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น
โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ CIMB เป็นประหนึ่งเรือธงในธุรกิจการเงินให้กับ Khazanah Nasional บรรษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและรับผิดชอบยุทธศาสตร์การลงทุนระดับชาติของรัฐบาลมาเลเซีย ที่กำลังเร่งขยายบทบาทในระดับภูมิภาค รวมถึงการมีเครือข่ายของกลไกระดับรัฐทั้ง EPF (Employees Provident Fund) และ KWAP (Kumpulan Wang Amanah Pencen-Pensions Trust Fund) เป็นผู้ถือหุ้นที่พร้อมสนับสนุนการรุกทางยุทธศาสตร์ของสถาบันการเงินแห่งนี้
เครือข่ายของ CIMB สถาบันการเงินอันดับสองของมาเลเซีย มีกระจายอยู่ในเกือบทุกประเทศของ ASEAN ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในสิงคโปร์และบรูไน หรือการลงทุนใน CIMB Thai รวมถึงการซื้อหุ้นธนาคาร Niaga และควบรวมกับ Lippo Bank ในอินโดนีเซียเพื่อตั้งเป็น CIMB Niaga ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ในอินโดนีเซียในปัจจุบัน
นอกจากนี้เครือข่ายของ CIMB ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านธนาคารเท่านั้น หาก CIMB ยังมีเครือข่ายผ่านกลไกของ CIMB-GK กิจการด้านหลักทรัพย์ที่ CIMB เข้าซื้อกิจการจากกลุ่ม GK Goh Securities ในสิงคโปร์และมีเป้าหมายจะพัฒนาให้ CIMB-GK ก้าวขึ้นเป็นวาณิชธนกิจระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
เป้าหมายของ CIMB ที่ดำเนินภายใต้ ASEAN's Brand Strategy ไม่ใช่ความลับทางธุรกิจ หาก CIMB ได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความชำนาญการด้านธนาคารอิสลาม ซึ่งอาจเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะผลักดันให้ CIMB บรรลุสู่เป้าหมายในระดับภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น
CIMB Islamic อาจจะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในประเทศไทย หากแต่ในกลุ่มประเทศชาติสมาชิก ASEAN แห่งอื่นๆ ที่มีกลุ่มประชากรมุสลิมอยู่หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน หรือในสิงคโปร์ และการเชื่อมประสานเครือข่ายการให้บริการทางการเงินไปสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นฐานของเงินทุนขนาดใหญ่ ของโลกในปัจจุบัน ก็เป็นไปโดยอาศัยกลไกของ CIMB Islamic เช่นกัน
บทบาทของ CIMB กำลังเป็นประหนึ่งการท้าทายสถานะของทั้ง MayBank ธนาคารอันดับหนึ่งของมาเลเซีย หรือแม้กระทั่ง DBS และ UOB สองสถาบันการเงินจากสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ในภูมิภาคและก่อให้เกิดคำถามต่ออนาคตและความเป็นไปของสถาบันการเงินของไทยไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ ASEAN กำลังมุ่งหน้าสู่การเปิดเสรีและการมุ่งเน้น Connectivity หลากหลายประการ ไม่เว้นแม้ในภาคบริการและการเงินเช่นนี้ เพราะวิถีที่ดำเนินไปของสถาบันการเงินเหล่านี้ ได้ข้ามพ้นข้อจำกัดทางธุรกิจที่เคยตีบแคบอยู่เฉพาะ ในพื้นที่ของประเทศใดประเทศหนึ่งให้กลายเป็นผู้ประกอบการที่กำลังมีบทบาทในระดับ ภูมิภาคและระดับนานาชาติ ซึ่งพร้อมจะดำเนินการสอดประสานกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ ด้วย
วิถีที่ดำเนินไปของ CIMB จึงไม่ใช่เพียงความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมไทยเท่านั้น หากยังเป็นการสะท้อนภาพในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ของมาเลเซียที่พร้อมเข้าแสวงประโยชน์จากพื้นที่รอบภูมิภาคที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|