|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภาพรถยนต์ Proton Savvy คันเล็กกะทัดรัด รวมถึง Proton Persona Gen-2 ที่วิ่งสัญจรอยู่บนถนนเมืองไทยอาจไม่ได้ก่อให้เกิดภาพประทับใจในระดับที่ทำให้ผู้พบเห็นให้ความสนใจหรือเพ่งพินิจความเป็นไปที่อยู่เบื้องหน้ามากนัก
หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง การโลดแล่นของ Proton กลับสะท้อนภาพลักษณ์ในเชิงยุทธศาสตร์การผลิตที่มีนัยความหมายมากกว่ากรอบวิธีคิดที่ดำเนินไปภายใต้วาทกรรมว่าด้วยการเป็น Detroit แห่งเอเชียของรัฐไทยไปไกลอย่างไม่เห็นฝุ่น
การเกิดขึ้นของ Proton ในฐานะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย เป็นภาพสะท้อนวิถีในการวางแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ระดับชาติของมาเลเซียได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในชั้นต้นกรณีของ Proton จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นเพียงประหนึ่ง "ของเล่น" หรือ pet project ของท่านผู้นำที่เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานอย่าง Dr.Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในขณะนั้นก็ตาม
ความสำเร็จของฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจนได้รับการกล่าวถึงในฐานะ 4 เสือเอเชีย (4 Asian Tigers) ในช่วงทศวรรษ 1970 ต่อเนื่องถึง 1980 ทำให้มาเลเซียในยุคของ Dr.Mahathir Mohamad วางเป้าหมายไว้ที่การเป็นเสือตัวที่ 5 ด้วยการพัฒนามาเลเซียให้ก้าวขึ้นสู่สถานะของการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country: NICs) ตามรอยทางดังกล่าว
มิติทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้เป็นนโยบาย ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การพัฒนามาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางทางการผลิตด้วยเทคโนโลยี ชั้นสูงในระดับภูมิภาค การเป็นศูนย์กลางทางการเงินและศูนย์กลาง ด้านโทรคมนาคมได้รับการเรียกขานต่อมาว่า Malaysia Plans และเป็นเป้าหมายระยะกลางของแผนพัฒนามาเลเซียทั้งระบบ
The Heavy Industries Corporation of Malaysia Berhad หรือ HICOM ถูกจัดตั้งขึ้นมารองรับและสอดประสานกับแผนการพัฒนาระดับรัฐดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และเป็นจักรกลสำคัญที่บูรณาการพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ แห่งชาติของมาเลเซีย ซึ่งรวมถึง Proton ด้วย
เป้าประสงค์ของโครงการที่มี code name ว่า Proton ซึ่งมีรากฐานมาจากคำว่า PeRusahaan OTOmobil Nasional หรือ National Automobile Enterprise ที่ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งในปี 1983 จึงมิได้มีสิ่งใดซับซ้อนหรือเกินเลยไปจากความมุ่งหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่กลายเป็นเครื่องมือ หลักในการบริหารของ Dr.Mahathir Mohamad ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ
Proton เริ่มต้นด้วยการพึ่งพิงเทคโนโลยีทั้งระบบจาก Mitsubishi Motors เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นแรกในนาม Proton Saga ในปี 1985 ซึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้อาจกล่าวได้ว่า Proton เริ่มต้นขึ้นจากการจ้างให้ Mitsubishi ผลิตรถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของมาเลเซีย แทนที่จะปล่อยให้มาเลเซียอยู่ในสถานะของการเป็นฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้
แต่สิ่งที่สำคัญมากในจังหวะก้าวของ Proton มิได้อยู่ที่การได้เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ เท่านั้น หากแต่เป็นกลไกว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและความสามารถในเชิงวิศวกรรมยานยนต์ที่จะเป็นพื้นฐานในการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติมาเลย์อย่างแท้จริงในอนาคต
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอะไหล่และอุปกรณ์จากผู้ประกอบการในมาเลเซีย ก็ได้รับการส่งเสริมให้ทวีบทบาทและกลายเป็นจักรกลสำคัญที่เข้ามาประกอบส่วนในการร่วมพัฒนา Proton ให้เป็นบรรษัทยานยนต์แห่งชาติในเวลาต่อมา
กรณีดังกล่าวทำให้ความเป็นไปของ Proton ข้ามพ้นมิติในเชิงสัญลักษณ์ว่าด้วยการเป็นโครงการรถยนต์แห่งชาติ ไปสู่รูปธรรมของการสร้างงานจำนวนมหาศาล ซึ่งส่งผลทางบวก โดยตรงต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของชาติ และผลสืบเนื่องทวีคูณซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้
ขณะเดียวกันมิติทางการตลาดและการขยายการรับรู้ในระดับสากลของ Proton เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะ Proton มิได้ขายความภาคภูมิใจที่จะครอบครองรถยนต์แห่งชาติให้กับชาวมาเลเซียเท่านั้น หากยังพยายามส่งออก Proton สู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกาด้วย
การขยายตลาดสู่ระดับนานาชาติ ทำให้ Proton ต้องเร่งแสวงหาทางเลือกในมิติของเครื่องยนต์และเทคโนโลยียนตรกรรมให้มากขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การซื้อเทคโนโลยีและหุ้นส่วนใหญ่ของ Lotus จาก A.C.B.N. Holdings S.A. ในปี 1996 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Proton GEN-2 ในปัจจุบัน
ทศวรรษที่ 2 ของ Proton ดำเนินไปอย่างน่าสนใจเพราะนอกจากจะซื้อเทคโนโลยีจาก Lotus ผู้ผลิตรถสปอร์ตระดับหรูแล้ว Proton ยังพยายามแสวงหาพันธมิตรในโลกยนตรกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Volkswagen จากเยอรมนีในปี 2004 ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่ Proton จะได้รับกับการที่ Volkswagen จะอาศัย Proton เป็นฐานในการรุกเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าพันธมิตรระหว่าง Proton และ Volkswagen จะสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา หลังจากที่ Volkswagen พยายามเข้าครอบครอง Proton ด้วยการเสนอตัวเข้าถือหุ้น 51% ใน Proton ซึ่งย่อมไม่ใช่สิ่งที่ Proton ประสงค์จะให้เป็น และทำให้พันธมิตรคู่นี้ต้องมีอันเป็นไปอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2007
กระนั้นก็ดี พัฒนาการด้านยนตรกรรมของ Proton มิได้หยุดชะงักลงไปด้วย หากแต่ Proton ได้อาศัยจังหวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วงปี 2008 ประกาศจะพัฒนาเครื่องยนต์แบบผสมที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน (fuel-efficient hybrid)
สิ่งที่ Proton ประกาศสู่สาธารณชน ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยเหนือจริงหรือจับต้องไม่ได้ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ความร่วมมือระหว่าง Proton กับ Detroit Electric ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจาก Detroit, Michigan สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง
ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ Detroit Electric ลงทุนเพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่อง ยนต์ขับเคลื่อน Detroit Electric Advanced Propulsion Lab และโรงงานผลิตระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในอาณาบริเวณที่ต่อเนื่องกับศูนย์ประกอบรถยนต์ของ Proton พร้อมกับแผนในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Proton รวม 30,000 คันภายในปี 2010 และระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากว่า 400,000 ชุดภายในปี 2012
กรณีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการดึงเงินลงทุนและการวิจัยพัฒนามาสู่มาเลเซียอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการจ้างงานจำนวนมากแล้ว ก้าวย่างดังกล่าวยังทำให้ Proton กลายเป็นผู้ประกอบการด้านยานยนต์ลำดับต้นๆ ของภูมิภาค ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแนวความคิดว่าด้วย Cool ASEAN ที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและประเด็นว่าด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาของประเทศในกลุ่ม ASEAN ได้อย่างลงตัว
การเติบโตขึ้นของ Proton มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติของเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์เท่านั้น หากแต่จังหวะก้าวของ Proton ยังผูกพันต่อพัฒนาการทางสังคมและผังเมืองไปในคราวเดียวกันด้วย
โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมภายใต้ชื่อ Proton City ทางเหนือของเมือง Tanjung Malim ในรัฐ Perak ซึ่งได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่เมื่อปี 1996 ด้วยเงินลงทุนมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านริงกิตและมีกำหนดแล้วเสร็จเต็มโครงการในปี 2020
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2020 (Vision 2020 หรือ Wawasan 2020) ที่ Dr.Mahathir Mohamad เคยประกาศในการประชุมเพื่อร่างแผนพัฒนามาเลเซียฉบับที่ 6 (Sixth Malaysia Plan) ตั้งแต่เมื่อปี 1991 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การพัฒนาให้มาเลเซียบรรลุสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มั่นคงแข็งแรงด้วยศักยภาพในการพึ่งพากลไกภายในประเทศอย่างมีพลวัตและเปี่ยมด้วยความสามารถในการแข่งขัน
เมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงในฐานะเมืองแห่งอนาคต (City of the Future) เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบรถยนต์ Proton มูลค่ากว่า 1.8 พันล้านริงกิตแล้ว พื้นที่โดยรอบยังจัดสรรไว้ให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่จะมีมากถึง 81 โรงงาน
ขณะเดียวกันเมืองใหม่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Universiti Pendidikan Sultan Idris (UPSI: Sultan Idris University of Education) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากสถาบันฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
ควบคู่กับการออกแบบจัดวางระบบสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งในส่วนของศาสนสถาน โรงเรียน รวมถึงสวนสาธารณะที่จะเป็นแหล่งสันทนาการและพักผ่อนสำหรับประชากรที่คาดว่าจะย้ายเข้ามาอยู่ใน Proton City แห่งนี้มากถึง 250,000-300,000 คน
แม้ว่า Proton City จะไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็น Detroit แห่งเอเชีย หากแต่วิถีที่ดำเนินไปของเมืองใหม่แห่งนี้กำลังผลิตสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่แตกต่างจากสถาปนาศูนย์อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทที่ ASEAN กำลังเปิดกว้างต้อนรับการลงทุนจากกรอบการค้าเสรี รวมถึง ASEAN Comprehensive Investment Area (ACIA) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2010
ความเป็นไปของ Proton City ในห้วงขณะนี้จึงเป็นประหนึ่งการวางรากฐานเพื่อรองรับกับกลไกที่จะเกิดขึ้นภายใต้กรอบ ASEAN อย่างมั่นคง เป็นการเตรียมความพร้อมที่สามารถหนุนนำให้มาเลเซียก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศ "แถวหน้า" ของ ASEAN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เส้นทางที่ Proton ในฐานะยนตรกรรมอาจจะดำเนินไปในท่วงทำนองที่ไม่สะดุดตามากนัก แต่ Proton ในฐานะจักรกลที่หนุนนำยุทธศาสตร์การพัฒนา อาจส่งผ่านข้อความที่น่าสนใจไม่น้อย หากแต่วิสัยทัศน์ของสังคมไทยจะผลิตสร้างจักรกลในลักษณะนี้ขึ้นมาได้เมื่อใด ดูจะเป็นกรณีที่ยากจะคาดหวัง
|
|
|
|
|