
เป็นที่ทราบแน่นอนแล้วว่าโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 31 ในปี 2016 กำหนดจัดขึ้นที่ Rio de Janeiro เมืองหลวงเก่าของประเทศบราซิล ซึ่งจะกลายเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้กลับนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์จากหลายมุมโลกที่กังขาคำตอบสุดท้ายของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชุดนี้ว่าแท้จริงแล้วเป็น Best Choice หรือ Bloc-voting* Choice กันแน่
การได้สิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกนั้นมิได้จำกัดเพียงแค่การนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อเกิดรายได้จากค่าผ่านประตู การขายสิทธิในการถ่ายทอดโทรทัศน์ไปทั่วโลก ค่าลิขสิทธิ์จากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รวมถึงสนามกีฬาที่คงอยู่หลังจบการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่ได้จากการพัฒนากีฬาภายในประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยว
ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขลาภสำหรับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการจัดการที่ไม่แข็งแกร่งพอที่จะแบกรับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการสร้างสนามกีฬา ค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยและอื่นๆ อีกจิปาถะ ไม่ว่าจะเกิดผลกำไรหรือขาดทุนก็จะต้องปันรายได้ส่วนหนึ่งให้กับคณะกรรมการโอลิมปิก สากล (International Olympic Comittee: IOC) ตามข้อพันธสัญญาที่ตกลงกันไว้
แม้ตัวอย่างของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาระหนี้สินท่วมตัวภายหลังมหกรรมกีฬาจบสิ้นลงซึ่งมีให้เห็นมากมายก็ตาม แต่สถานภาพ "เจ้าภาพโอลิมปิก" ก็ยังคงหอมหวนในมโนสำนึกของหลายเมืองที่ปรารถนาจะได้ครอบครองสิทธิดังกล่าวแม้เพียงสักครั้ง
คำแถลงของ IOC เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2007 ตอบรับเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพรับจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2016 ในฐานะ Applicant City อันประกอบด้วย Baku สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน, Chicago สหรัฐอเมริกา, Doha รัฐการ์ตา, Madrid ราชอาณาจักร สเปน, Prague สาธารณรัฐเช็ก, Rio de Janeiro สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลและ Tokyo ญี่ปุ่น Applicant City ทั้ง 7 แห่งนี้จะต้องส่งไฟล์โครงการและตอบคำถามเพื่อให้ IOC Working Group และ IOC Executive Board ประเมินศักยภาพและความพร้อมพิจารณาจาก 1) การสนับสนุนจากรัฐบาลและความเห็นชอบของประชาชนในเมืองนั้น 2) โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป 3) สนามกีฬา 4) หมู่บ้านนักกีฬา 5) สิ่งแวดล้อม 6) จำนวนโรงแรมและที่พักรองรับ 7) ระบบขนส่งมวลชน 8) ความปลอดภัย 9) ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าภาพกีฬา 10) งบประมาณสนับสนุน และ 11) โครงการโดยภาพรวมซึ่งจะคิดคำนวณ Technical Analysis ออกมาเป็นคะแนนเต็ม 10
ผลปรากฏว่า Baku (4.3 คะแนน), Prague (5.3 คะแนน) และ Doha (6.9 คะแนน) ถูกคัดออก ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุว่าเมืองที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 6.0 ไม่สามารถผ่านเข้าสู่ Short List (ดูกราฟประกอบ)
แต่กรณีของ Doha ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเกือบ เท่ากับ Chicago และยังสูงกว่า Rio de Janeiro ถึง 0.5 คะแนนต้องเป็นอันหมดสิทธิผ่านเข้ารอบถัดไปเนื่องเพราะเหตุผล 2 ประการคือ Doha ตั้งอยู่ใกล้กับกลุ่มประเทศอาหรับมากเกินไป และเสนอช่วงเวลาจัดการแข่งขันในเดือนตุลาคมเพื่อหลีกเลี่ยง สภาพภูมิอากาศที่ไม่อำนวยซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขัดต่อข้อกำหนดของ IOC
ส่วนเมืองที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนจาก Applicant City เป็น Candidate City ที่ต้องผ่านการพิจารณา อีกหลายขั้นตอนก่อนถึงวันประกาศผลครั้งสุดท้ายซึ่งกำหนดให้มีขึ้นที่ Bella Center กรุง Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก ในวันที่ 2 ตุลาคม 2009
ข้อเท็จจริงอันน่าตกใจที่ลบความตั้งใจและรอยยิ้มของชาว Chicago ให้หายไปในพริบตาเมื่อ Jacques Rogge ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนปัจจุบัน ประกาศผลการลงคะแนน (Ballot) อย่างลับๆ ในรอบแรก ซึ่งเป็นไปภายใต้เงื่อนไขของ Olympic Charter โดยการตัดสิทธิ Chicago ออกไปเป็นอันดับแรก (ดูตาราง Ballot of 2016 Olympic Host City ประกอบ)
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี Barack Obama, Michelle Obama สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา และ Oprah Winfrey พิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ ซึ่งเดินทางไป Copenhagen เพื่อร่วมการนำเสนอ Chicago 2016 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินนั้นจัดเป็นทีมโปรโมตที่น่าจะเรียกคะแนนได้มากที่สุด อีกทั้งยังมี Michael Phelps นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทอง 14 เหรียญ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก กับ Michael Jordan นักบาสเกตบอลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกช่วยสนับสนุนอยู่อีกแรงก็ตาม
แม้ว่า Chicago เคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ การแข่งขันโอลิมปิกในปี 1904 แต่ในความเป็นจริง Olympic 1904 กลับถูกย้ายไปจัดที่ St.Louis เพื่อร่วมกับงาน World's Fair ในปีเดียวกัน และหลังจากนั้น Chicago ก็ผิดหวังในการได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพในปี 1952 และ 1956 มาโดยตลอด
การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมโอลิมปิกในครั้งนี้ Chicago ได้ทุ่มงบประมาณขั้นต้นกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชนและยังได้รับการสนับสนุนจากชาวเมือง Chicago เป็นอย่างดี
คงไม่ต้องอรรถาธิบายถึงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและความพร้อมของมหานคร Chicago เพราะอย่าง น้อยศูนย์กลางการบินอย่าง O'Hare International Airport ซึ่งเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินขึ้นลงหนาแน่นเป็นอันดับ 2 ของโลกคงเพียงพอที่จะเป็นประจักษ์พยานขั้นต่ำยืนยันศักยภาพของ Chicago ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในเมื่อคู่แข่งที่ดูน่าเกรงขามที่สุดในสายตาชาวญี่ปุ่นได้อันตรธานไปอย่างไม่น่าเชื่อ ความหวังทั้งมวลจึงตกอยู่ที่ Tokyo 2016 ราวกับความหมายที่บ่งบอกอยู่ในวลี "Because it is Japan, we can contribute the New Olympic" ที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมตครั้งนี้
ในฐานะหนึ่งเดียวจากทั้งหมด 7 Applicant City ที่มีประสบการณ์เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกมาก่อน เมื่อครั้ง Tokyo 1964 กอปรกับที่ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวอีก 2 ครั้งคือ Sapporo 1972 และ Nagano 1998 และยังไม่นับรวมวาระของเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกับประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2002 และมหกรรมกีฬาระดับโลกอื่นๆ อีกหลายรายการทำให้ Tokyo มั่นใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ดูเหมือนว่าการชูจุดขาย "Compact Olympic" สร้างความโดดเด่นให้กับ Tokyo 2016 ที่จะจัดการแข่งขันทั้งหมดภายในรัศมี 8 กิโลเมตรซึ่งช่วยให้นักกีฬา, เจ้าหน้าที่, สื่อมวลชน และผู้ชมเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วด้วยระบบขนส่งมวลชนของมหานครโตเกียวซึ่งได้ชื่อว่าทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลก
สอดคล้องกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นความชำนาญพื้นฐานของญี่ปุ่น โดยใช้สนามกีฬามาตรฐานโอลิมปิกที่มีอยู่แล้ว 22 แห่งซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก Recycle สนามกีฬาที่เปิดใช้มาแต่ครั้ง Tokyo Olympic 1964 และสร้างสนามกีฬาเพิ่มเติมเพียง 10 แห่งซึ่งช่วยลดต้นทุนโอลิมปิกลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้ธีม "Forest and Sea" ซึ่งนำ Hybrid Car System และ Solar Technology ล่าสุดของญี่ปุ่นเข้าช่วยจัดการภายใน Solar Stadium และ Tokyo Olympic Park ทั้งระบบเพื่อลดปริมาณก๊าซ CO2 ควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของมหานครโตเกียวซึ่งจะแสดงต้นแบบของ "Green Metropolitan" สู่สายตาชาวโลกไปพร้อมๆ กับ "Green Olympic" อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ Tokyo 2016 ได้คะแนนด้านความปลอดภัยสูงสุดจากการประเมินของ IOC รอบแรก ในขณะที่คะแนนต่ำสุดในบรรดา Applicant City ทั้งหมด 7 เมืองคือ Rio de Janeiro ซึ่งติดอันดับเมืองที่มีอาชญากรรมสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก
กระนั้นก็ตาม IOC ได้กล่าวอ้างตัวเลขที่ไม่ทราบ แหล่งที่มาซึ่งแสดงค่าความเห็นชอบของพลเมืองโตเกียว ต่อการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในเดือนพฤษภาคม 2009 ลดลงเหลือ 56% จากเดิมอยู่ที่ 72% ในเดือนมีนาคม 2008 อันกลายเป็นข้อด้อยเพียงข้อเดียวที่อาจเป็นเหตุให้ Tokyo ถูกตัดสิทธิออกไปเป็นอันดับสอง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ Ballot ซึ่งโหวตอย่างลับๆ ในรอบสองและถูกเปิดเผยภายหลังการตัดสินเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วนั้น พบว่าคะแนนโหวตเกือบทั้งหมด 18 เสียงที่เคยโหวตให้กับ Chicago เทไปให้กับ Rio de Janeiro (ดูตาราง Ballot of 2016 Olympic Host City ประกอบ)
คงเหลือแต่ Madrid กับ Rio de Janeiro ที่ทั้งคู่เคยพลาดหวังจาก Olympic Bid เมื่อ 4 ปีก่อนซึ่งในคราวนั้น London ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ในปี 2012 ในขณะที่ Madrid เป็น Candidate City อันดับ 3 รองจาก Paris และ Rio de Janeiro เป็นได้เพียง Applicant City เท่านั้น
หากพิจารณาในประเด็นความพร้อมโดยรวมแล้วเห็นได้ชัดว่า Madrid ซึ่งเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2005 ย่อมมีศักยภาพที่เหนือกว่า ยกเว้นเพียงตัวเลข "การสนับสนุนจากรัฐบาลและความเห็นชอบของประชาชนในเมือง" ที่เป็นรอง Rio de Janeiro อยู่เล็กน้อย
นอกจากนี้ Madrid เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบตัดสินในปี 1982 ขณะที่ Rio de Janeiro กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรายการเดียวกันในปี 2014
อย่างไรก็ตาม Madrid ก็มีความมั่นใจสูงพอที่จะกลบข้อเสียเปรียบที่สำคัญ 2 ประการคือ ทำเลที่ตั้งและ Timing ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพต่อจาก London 2012 ซึ่งเป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นในทวีปเดียวกันต่อเนื่อง 2 ครั้ง และหากนับรวมโอลิมปิกฤดูหนาว Sochi 2014 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศ รัสเซียเข้าด้วยแล้วเท่ากับว่าเป็นการจัดโอลิมปิกต่อเนื่อง กันถึง 3 ครั้งในทวีปยุโรป
ในที่สุดชัยชนะก็เป็นของ Rio de Janeiro ด้วย คะแนนเสียง Ballot (อย่างลับๆ อีกครั้ง) ซึ่งเป็นเอกฉันท์ 66 ต่อ 32 เสียง
เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งที่ Madrid มีข้อด้อยที่เด่นชัดกว่า Candidate City อื่นๆ แต่ด้วยเหตุผลกลใดจึงผ่านเข้ามาได้จนถึงรอบสุดท้าย?
ถ้า Madrid ตกรอบแรก (หรือรอบสอง) ไปเสียก่อนอาจทำให้มองเห็นความแตกต่างของทั้ง Chicago หรือไม่ก็ Tokyo เมื่อเทียบกับ Rio de Janeiro เด่นชัดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่?
นอกจากนี้ประเด็นการปฏิเสธข่าวการล็อบบี้ของประธานาธิบดี Luiz Incio Lula da Silva ของบราซิลต่อสมาชิก IOC ที่มาจากชาติในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกานั้นมีมูลเท็จจริงอย่างไร?
ในกรณีของ Doha นั้นหากทั้งภูมิศาสตร์และภูมิอากาศรวมถึงประเด็นการเมืองเป็นอุปสรรคที่ไม่เหมาะสมแล้ว ไม่ว่าจะเสนอตัวอีกกี่ครั้งก็คงจะหมดสิทธิ ในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไปโดยดุษณีอย่างนั้นหรือ?
ด้วยเหตุผลใดจึงต้องลงคะแนน Ballot กันอย่างลับๆ?
ประเด็นที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อกังขาที่ไม่สามารถนำมากล่าวได้ครบความ
หากความโปร่งใสของตรรกะเหล่านี้ยังคงถูกบิดเบือนอย่างที่ปรากฏอยู่ แล้วความพยายามในการนำเสนอมาตรฐานใหม่ "Green Olympic" ก็คงเป็นวาทกรรมที่เลื่อนลอยไร้ความหมาย เพราะว่าแม้แต่ "Clean Olympic" ก็อยู่ไกลเกินสัมผัสได้เสียแล้ว
หมายเหตุ
*Bloc-voting การลงคะแนนเสียงของสมาชิกที่มาจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดทางการเมืองในทิศทางเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับเมษายน 2552
|