Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤศจิกายน 2552
“เกียรติยศสังหาร” เพื่อเกียรติของใคร             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Social




การแต่งงานในสังคมอินเดียกางกั้นด้วยม่านประเพณีอันทึบหนาดังม่านเหล็ก ขณะที่ข้อดีเสียระหว่างการแต่งแบบจับคู่โดยพ่อแม่ (Arranged Marriage) และแบบชอบพอกันเอง (Love Marriage) ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ถึงศตวรรษหน้า ทั้งพอเข้าใจได้ว่าสังคมที่ยังยึดโยงอยู่กับจารีตประเพณีโดยเฉพาะเรื่องตระกูลและวรรณะอย่างอินเดีย คนทั่วไปย่อมถือว่าการแต่งแบบจับคู่เป็นเรื่องดีงามกว่า แต่ใครจะคาดคิดว่าในศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ การขัดต่อจารีตหรือฝ่าม่านประเพณีจะนำไปสู่การฆ่าในนามของเกียรติยศ

กรอบกำหนดสำคัญในการเลือกคู่แต่งงานโดยทั่วไปของคนอินเดียคือ ศาสนา และวรรณะ การแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนาเป็นเรื่องยากจนเรียกได้ว่าต้องห้าม เรื่องของวรรณะก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากวรรณะใหญ่ทั้งสี่แล้ว ในแต่ละวรรณะยังแยกเป็นตระกูลย่อยที่มีการถือลำดับชั้นสูงต่ำ และการแต่งงานระหว่างคนต่างวรรณะหรือต่างชั้นตระกูลกันมากเกินไปก็มักถือว่าไม่เหมาะสม เรื่องวรรณะและชั้นตระกูลนี้ยึดถือกันเหนียวแน่นในหมู่ชาวฮินดูและซิกข์ รวมถึงชาวมุสลิมในบางท้องถิ่น


การหาคู่แต่งงานที่เหมาะสมเป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ โดยทุกฉบับจะมีพื้นที่โฆษณาหาคู่อย่างน้อย 2-3 หน้า บ้างก็หนาจนแทบจะเป็นซัพพลีเมนต์ ซึ่งจะแยกหมวดชัดเจนตามศาสนาและวรรณะ อีกช่องทางที่มาแรงคือเว็บไซต์หาคู่ อาทิ www.shaadi.com (shaadi แปลว่า แต่งงาน) www.bharatmatrimony.com เป็นต้น โดยตัวเลขผู้ใช้บริการหาคู่ออนไลน์ของอินเดียสูงถึง 12 ล้าน รวมเป็นมูลค่าทางธุรกิจราว 1,400 ล้านรูปี ส่วนรายการหาคู่ออกอากาศทางเคเบิลทีวี เช่น Star Vivaah, Lux Perfect Bride ที่มาแรงคือเรียลลิตี้โชว์ Rakhi Ka Swayamvar (swayamvar เป็นชื่อประเพณีโบราณที่พระราชาหาคู่ให้ธิดาโดยการเชิญราชบุตรจากแว่นแคว้นต่างๆ มาประลองยุทธ์) ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ ตอนนี้ Airtel บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของอินเดียกำลังนำร่องเปิดบริการหาคู่ในลักษณะ Interactive Voice Response System คล้ายๆ กับบริการดูดวงทางโทรศัพท์มือถือ

ขณะเดียวกันเรื่องการแต่งงานก็มีด้านมืดที่เรียกกันว่าเกียรติยศสังหาร (Honour Killing) ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่คู่หนุ่มสาวแต่งงานโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากครอบครัว หรือครอบครัวเห็นชอบแต่ขัดต่อจารีตบางอย่าง เช่น แต่งกับคนต่างศาสนา คนต่างวรรณะ หรือในทางตรงข้ามแต่งกับคนในสายตระกูลเดียวกัน ซึ่งในบางชุมชนถือเป็นเรื่องต้องห้าม ตัวอย่างเช่นกรณีที่ตกเป็นข่าวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เหตุเกิดขึ้นเมื่อ Ravindar Gehlout ซึ่งโตในเดลี กลับมาชอบพอกับ Shilpa หญิงสาวจากหมู่บ้านของพ่อแม่ในรัฐฮาร์ยานา ทั้งคู่แต่งงานกันโดยความเห็นชอบของครอบครัว แต่ชาวบ้านโดยการนำของ Khap panchayat (กรรมการหมู่บ้านแบบประเพณี) รวมตัวกันประท้วง ด้วยเหตุผลว่าตระกูลทั้งสองสืบสายเชื่อมกัน การแต่งงานของคนคู่ เป็นเสมือนการแต่งระหว่างพี่ชายกับน้องสาวที่เป็นเรื่องต้องห้าม ในวันที่ 13 กรกฎาคม ชาวบ้านกลุ่มใหญ่เข้าล้อมบ้านของครอบครัว Gehlout กดดันให้การแต่งงานดังกล่าวเป็นโมฆะ และมีคำสั่งขับครอบครัวดังกล่าวและเครือญาติออกจากหมู่บ้าน เว้นแต่จะยอมจ่ายค่าปรับหัวละ 21,000 รูปี ทำให้ทางการต้องส่งเจ้าหน้าที่ราว 450 คน เข้ามาควบคุม สถานการณ์

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนุ่มสาวหลายคู่ไม่ได้โชคดีเช่นนี้ ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Ved Pal Maun หมอหนุ่มชอบพอกับ Sonia หญิง สาวจากหมู่บ้านในเขตจินด์ รัฐฮาร์ยานา ทั้งคู่ตัดสิน ใจจดทะเบียนแต่งงานกันเอง ครอบครัวฝ่ายหญิงไม่พอใจจึงกักตัวโซเนียไว้ หมอหนุ่มจึงยื่นคำร้องต่อ ศาลและเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่นำหมายศาล หวังจะรับตัวภรรยาไปอยู่ด้วยกัน แต่กลับถูกชาวบ้านกลุ่มใหญ่ภายใต้การนำของกรรมการหมู่บ้าน รุมประชาฑัณฑ์จนเสียชีวิตต่อหน้าภรรยาและเจ้าหน้าที่ศาล ความผิดของเขาไม่ใช่การแต่งงานข้ามวรรณะหรือสายตระกูล หากเป็นความถือดีที่จะเลือกคู่ครองเอง ซึ่งกรรมการหมู่บ้านชุดเดียวกันนี้เคยมีคำสั่งฆ่า คู่สามีภรรยาจากตำบลใกล้เคียง เมื่อปี 2007 แม้ทั้งคู่จะยื่นเรื่องขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ทางการ แต่ต่อมาก็ถูกพบเป็นศพอยู่ในคูน้ำ

เหตุฆ่าอีกรายในเดือนเดียวกันเกิดขึ้นในรัฐอุตตรประเทศ เป็นกรณีความรักระหว่างหนุ่มฮินดูชาวดาลิต (จัณฑาล) กับสาวมุสลิม เมื่อพี่ชายและญาติของฝ่ายหญิงทราบเข้า ก็ทำการสังหารคนทั้งคู่ เพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว

การสังหารในเพื่อรักษาเกียรตินี้แบ่งได้คร่าวๆ เป็นสองลักษณะ คือหนึ่งลงมือโดยคนในครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวฝ่ายหญิง และสองเป็นคำสั่งของ panchayat หรือกรรมการหมู่บ้านแบบประเพณี ตัวอย่างของลักษณะแรกเช่น เหตุที่เกิดในตำบล Etah เมื่อปี 2008 โดยพ่อของฝ่ายหญิงลงมือฆ่าบุตรสาวของตนเอง คู่รัก และน้องชายของฝ่ายชาย ลักษณะที่สองเช่นที่ตำบล Nehra เมื่อปี 2007 กรรมการอาวุโสของหมู่บ้าน มีคำสั่งให้การแต่งงานระหว่างคนคู่หนึ่งเป็นโมฆะ เพราะขัดกฎเรื่องสายตระกูล เมื่อทั้งคู่ปฏิเสธก็ถือกฎหมู่สั่งประหารคนทั้งคู่โดยฟันด้วยดาบ สับเป็นชิ้นๆ ก่อนนำไปเผา

การฆ่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดในรัฐทางภาคเหนืออย่างปัญจาบ ฮาร์ยานา และอุตตรประเทศ แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่ารัฐทางใต้อย่างทมิฬ-นาฑูก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิทานพื้นบ้านชี้ว่าบรรดาศาลเจ้าแม่ใหญ่น้อยที่มีอยู่กว่า 300 แห่งในรัฐ ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อการสังหารในนามเกียรติยศที่เกิดขึ้นในช่วง 300-400 ปีที่ผ่านมา โดยผู้สังหารมักกลบเกลื่อนเรื่องราว โดยการยกย่องเชิดชูผู้หญิงเหล่านั้นว่ากล้าหาญและยอมพลีชีพเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ศรีของตนและครอบครัว พร้อมกับอุปโลกน์ให้กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จนมีคนกราบไหว้ เหยื่อสังหารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบุตรสาวชาวบ้านที่ถูกหมายปองโดยเศรษฐีหรือพวกเจ้าที่ดิน ทางครอบครัวที่ไม่อยากให้ลูกสาวตกไปเป็นเมียน้อย หรือนางบำเรอให้เสื่อมเกียรติ จึงตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการสังหารเธอเสีย

ที่ผ่านมา เมื่อใดที่กรณีเหล่านี้เป็นข่าวขึ้นมา บรรดานักการเมืองมักปิดปากเงียบเพราะผู้อยู่เบื้องหลังเหตุฆ่าส่วนใหญ่คือกรรมการหมู่บ้านหรือปัญชายาต ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพวกตนกระทั่ง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา บรินด้า การัต ส.ส.หญิงจากพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ได้เปิดกระทู้ถามรัฐบาลว่ามีมาตรการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร และมี ส.ส.อีก 14 รายจากพรรคต่างๆ ร่วมเสริมประเด็น นับเป็นครั้งแรกที่ปัญหานี้ได้รับความสนใจ ในการเมืองระดับชาติ ทำให้นักกฎหมายและผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีออกมาร่วมให้ความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมารับมือกับอาชญากรรมที่กระทำต่อคู่แต่งงานโดยใช้จารีตประเพณีเป็นข้ออ้าง นับจากการข่มขู่ ลักพาตัว ทำร้ายร่างกายไปจนถึงการสังหาร เพราะตามกฎหมายในกรอบของรัฐธรรมนูญแล้ว หญิงที่มีอายุเกิน 18 ปี ชาย 21 ปี มีสิทธิที่จะจดทะเบียนสมรสได้ตามความพึงพอใจของตน

ขณะที่บางฝ่ายมีความเห็นว่าอาชญากรรมใดๆ ที่เกิดขึ้น สามารถดำเนินคดีได้ด้วยกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้ว แต่ผู้ที่สนับสนุนการมีกฎหมายเฉพาะชี้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงผู้บงการในลักษณะของสถาบันองค์กร ซึ่งในที่นี้คือบรรดาปัญชายาต กฎหมายเฉพาะที่ว่านอกจากจะชี้ขาดว่าปัญชายาตหรือสถาบันประเพณีใดๆ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะตัดสินคดีความหรือออกคำสั่งลงโทษผู้ใด ในระยะยาวยังอาจช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน และชี้ประเด็นแก่สังคม เช่นที่คำตัดสินของศาลสูงในคดีหนึ่งกล่าวไว้ว่า

"ไม่มีสิ่งใดที่เรียกได้ว่าเกียรติในการฆ่าเหล่านี้ หากเป็นแต่ฆาตกรรมอันป่าเถื่อน น่าละอายที่กระทำ โดยผู้มีจิตยึดติดกับชั้นชนและเหี้ยมเกรียม สมควรแต่จะได้รับโทษอันสาสม"

ในโลกศตวรรษที่ 21 เช่นทุกวันนี้ สังคมอินเดียโดยรวมคงเห็นพ้องกับความเห็นดังกล่าว แต่ บางส่วนคงต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติด้วยการช่วยย้ำถามโดยสังคมส่วนใหญ่ ว่าการฆ่าในนามเกียรติยศนั้น ทำเพื่อเกียรติของใคร และแท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงซากจารีตของสังคมชายเป็นใหญ่ใช่หรือไม่   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us